ในวงการสื่อโฆษณา ณ ปัจจุบัน สื่อที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ สื่อนิตยสาร เพราะลุ่มๆ ดอนๆ มาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2005 จนถึงปี 2011 ในระยะหลังถึงกับดิ่งลงเหวยากที่จะหาทางไต่กลับขึ้นไปได้ ทั้งนี้เหตุก็น่าจะมาจากการเติบโตของอินเตอร์เน็ตทำให้ผู้บริโภคสามารถหาบทความที่น่าสนใจอ่านได้ง่ายขึ้น อีกทั้งการผันตัวเองเข้าสู่ธุรกิจแม็กกาซีนออนไลน์ ก็ยิ่งทำให้สื่อนิตยสารเริ่มมีรายได้ที่ลดลง แล้วโยกรายได้ไปรวมอยู่ในสื่ออินเตอร์เน็ตมากขึ้น ส่งผลให้ สื่อนิตยสาร กลายเป็นสื่อหลักที่รายได้หดหายไปมากที่สุด ดังนั้น I Connect ฉบับนี้ทีมงาน Strategy & Innovation ของ Initiative จึงขอมาอัพเดตในเรื่องของ “สื่อนิตยสาร” ว่าในปัจจุบันมีความเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง
ากข้อมูลในเรื่องรายได้ของสื่อนิตยสาร จะเห็นว่าเริ่มมีรายได้ตกลงมาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2005 ที่มีรายได้อยู่ที่ 6,775 ล้านบาท แล้วมาตกหนักสุดคือ ปี 2009 โดยรายได้ลดลงจากปีก่อนหน้าถึง 13% หรือจาก 6,582 ล้านบาทในปี 2008 ลงมาเหลือ 5,936 ล้านบาท ก่อนจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในปี 2010 และ 2011 แต่รายได้โดยรวมก็ยังต่ำกว่าปีที่ผ่านๆ มาอยู่ดี จนมาถึงปี 2014 ที่ผ่านมารายได้ลดลงเหลือเพียง 4,996 ล้านบาท หรือลดลงไปถึง 16% เมื่อเทียบกับปี 2013
จากกราฟยังจะเห็นได้ว่า ในปี 2014 ที่ผ่านมาการใช้งบเพื่อซื้อสื่อโฆษณาในนิตยสารลดลงในทุกกลุ่มธุรกิจ และดูเหมือนว่าในปี 2015 ก็มีแนวโน้มที่จะมีรายได้ลดลงอย่างมากเช่นกัน โดยพิจารณาจากการนำรายได้การซื้อสื่อโฆษณาตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนกันยายนของปี 2014 ที่มีรวมอยู่ที่ 3,892 ล้านบาทมาเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2015 ซึ่งมีรายได้เพียง 3,369 ล้านบาท พบว่ารายได้ติดลบไปแล้วถึง 12% และคาดว่าจากระยะเวลาที่เหลืออีกเพียง 3 เดือน ซึ่งเมื่อปิดงบดุลปลายปี สื่อนิตยสารคงไม่สามารถฝ่ากระแสมรสุมจนดันผลประกอบการให้เพิ่มขึ้นเทียบเท่าปีก่อนหน้าได้
อย่างไรก็ตามสื่อนิตยสารยังคงเป็นสื่อที่มีความสำคัญเป็นอันดับที่ 5 มีส่วนแบ่งในตลาดสื่ออยู่ที่ 3% เท่าๆ กับสื่อ Outdoor และ Transit เป็นรองกลุ่มโทรทัศน์ กลุ่มหนังสือพิมพ์ กลุ่มวิทยุ และกลุ่ม Cinema แต่ถ้ามองจากอดีตที่ผ่านมาย้อนไปในปี 2011 สื่อนิตยสารเคยบูมอย่างมากโดยมีสัดส่วนในตลาดสื่ออยู่ที่ประมาณ 6% สูงเป็นอันดับ 3 รองจากโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์เลยทีเดียว
ทั้งนี้ข่าวคราวล่าสุดในกลุ่มนิตยสารคือ นิตยสารเปรียว และหนังสือสตาร์นิวส์ ได้ปิดตัวลงโดยจะวางแผงฉบับสุดท้ายในเดือนธันวาคมนี้ ส่วนหนังสือทีวีพูล และนิตยสารสไปซี่ก็จะปรับไปเป็นฟรีก๊อบปี้ในต้นปี 2016 ทั้งนี้ในระยะ 2 – 3 ปีนี้นิตยสารหลายฉบับได้ปิดตัวลงโดยเฉพาะในกลุ่มนิตยสารวัยรุ่น บางฉบับปิดปรับปรุงชั่วคราว และบางฉบับหรือบางค่ายก็มีการปรับตัวจากนิตยสารไปเป็นเว็บไซต์ หรือปรับไปเป็นหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์แบบแจกฟรีตามสถานที่ต่างๆ เพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ และยังเป็นทางออกสำหรับการลงโฆษณาเป็นแพ็กเกจของบางค่ายอีกด้วย ทั้งนี้ดูเหมือนว่านิตยสารเฉพาะกลุ่มอย่างเช่น รถยนต์ บ้านและตกแต่ง รวมทั้งท่องเที่ยว ยังสามารถอยู่รอดได้เนื่องจากมีเป้าหมายทั้งด้านการตลาด และกลุ่มผู้อ่านที่ชัดเจน ดังจะเห็นได้จากตารางการใช้งบประมาณของกลุ่มธุรกิจที่เป็นกลุ่มเฉพาะเจาะจง
มาดูกันว่า กลุ่มธุรกิจประเภทไหนที่ยังเป็นขุมทรัพย์สำหรับสื่อนิตยสาร ไล่มาตั้งแต่ปี 2011 จนถึงปี 2014 จะเห็นว่า กลุ่มธุรกิจ Skincare กลุ่มธุรกิจ Retail Store กลุ่มธุรกิจ Motor Vehicle กลุ่มธุรกิจ Travel & Tour และกลุ่ม Entertainment ยังคงเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับสื่อประเภทนี้เป็นอันดับต้นๆ ติด 1 ใน 5 มาโดยตลอด ส่วนอันดับ 6 – 10 มีการเปลี่ยนแปลงสลับตำแหน่งไปบ้าง แต่กลุ่ม Communication กลับหลุดตำแหน่งท็อปเทนไปในปี 2013 และ 2014 โดยมีกลุ่ม Supplement Food เข้ามาสอดแทรกแทน และเมื่อมองถึงรายได้โดยรวมของสื่อนิตยสารที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา ดังนั้นในปี 2015 นี้จึงน่าจะเป็นอีกปีที่รายได้รวมของสื่อนิตยสารจะติดลบเป็นเลข 2 หลักอีกครั้ง
ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,105 วันที่ 15 – 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
ลิงค์บทความ : http://www.thansettakij.com/2015/11/16/18066