เปิดร้านขายซูชิ ต้องทำอย่างไรบ้าง?

เปิดร้านขายซูชิ เป็นช่องทางในการเริ่มต้นอาชีพที่ได้รับความนิยม เนื่องจากในระยะหลังมานี้มีราคาที่ถูกและมีหลากหลายหน้าให้เลือกรับประทาน เข้าถึงกลุ่มคนได้ทุกวัย รับประทานได้ทุกมื้อของวัน นั่นหมายความว่าสามารถเปิดขายได้ตลอดทั้งวันเช่นกันนั่นเอง และหากผู้ประกอบการหรือผู้เริ่มต้นธุรกิจท่านใดกำลังอยากเปิดร้านซูชิบาร์หรือเปิดร้านซูชิเล็กๆ ร้านขายซูชิตลาดนัด เรามีข้อมูลเบื้องต้นมานำเสนอดังต่อไปนี้

กำหนดรูปแบบ

  1. ทำซูชิขายเอง หากคุณอยากจะทำขายด้วยตัวเอง เริ่มต้นจากการไปเรียนทำซูชิซึ่งจะมีโรงเรียนสอนหรือมีสถาบันหรือคนที่มาเปิดสอนเองแบบตัวต่อตัวหรือสอนออนไลน์ ราคาค่าเล่าเรียนจะอยู่ที่เริ่มต้น 2,000 บาทขึ้นไป ส่วนใครที่ไม่อยากเสียเงินไปเรียนก็สามารถเรียนได้ด้วยตัวเองที่บ้านจากคลิปวีดีโอสอนทำซูชิที่มีอยู่อย่างมากมายในสื่อดิจิตอล ทั้ง YouTube, Facebook เป็นต้น
  2. เป็นตัวแทนจำหน่าย รับมาขายหรือซิ้อแฟรนไชส์ซูชิ ข้อดีของรูปแบบนี้คือผู้ประกอบการแทบจะไม่ต้องทำอะไรเองให้ยุ่งยาก มีทั้งอุปกรณ์และวัตถุดิบให้ครบ บางแฟรนไชส์ทำเสร็จพร้อมขายได้เลย

กำหนดกลุ่มเป้าหมาย

กลุ่มเป้าหมายหลักสำหรับซูชิจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นและหนุ่มสาววัยทำงานเสียเป็นส่วนใหญ่ จะชื่นชอบนิยมรับประทาน เนื่องจากมีขนาดที่พอดีคำรับประทานง่าย อิ่มท้อง รสชาติถูกปาก มีความแปลกใหม่ มีหลายแบบให้ลองรับประทาน  (กลุ่มเป้าหมายมีผลต่อคุณภาพวัตถุดิบและราคาขาย)

กำหนดทำเล

ทำเลขาย คือ “จุดยุทธศาสตร์” ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญต่อการเลือกสถานที่เปิดร้าน โดยเน้นเปิดขายตามจุดที่มีผู้คนพลุกพล่าน ย่านชมชน เช่น เปิดร้านขายซูชิในตลาดนัด ขายตามใต้หอพักหรืออพาร์ทเม้นต์ เป็นต้น  สำหรับในยุคนี้หากทำเลไม่โดดเด่น  สามารถประยุกต์เป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการเดลิเวอรี่ต่างๆ  เช่น Line Man, Grab food, Get , FoodPanda เป็นต้น  ก็สามารถเพิ่มยอดขาดและลดความสำคัญของทำเลลงได้

เปิดร้านขายซูชิ ลงทุนเท่าไหร่ ?

  • เปิดร้านขายเอง : ลงทุนเริ่มต้น 4,000 บาท (ไม่รวมค่าเช่าพื้นที่ประมาณวันละ 300 – 500 บาท)
  • ซื้อแฟรนไชส์หรือรับมาขาย : ลงทุนเริ่มต้น 2,900 บาท

อุปกรณ์ขายซูชิ มีอะไรบ้าง ?

  • ถาดใส่ซูชิ/กล่องใส่ซูชิ/ถาดอะครีลิคสีดำแดง ราคา 200 – 450 บาท
  • ถังไม้เก็บข้าวซูชิแบบญี่ปุ่น ราคา 1,500 – 2,000 บาท
  • เสื่อม้วนญี่ปุ่นสำหรับทำซูชิ ราคา 30 – 70 บาท
  • ถาดญี่ปุ่น ถ้วยญี่ปุ่น ขนาดเล็ก ราคา 50 – 80 บาท
  • หญ้าเทียม ราคา 80 บาท/แผ่น
  • เขียงไม้ขนาดเล็ก ราคา 100 – 200 บาท
  • ตะเกียบไม้ ราคา 100 บาท (ถุงละ 100 คู่)
  • โชยุ ราคา 50 บาท (6 กรัม แพ็ค 100 ซอง)
  • วาซาบิ ราคา 100 บาท (แพค 100 ซอง)
  • โต๊ะขนาดกลาง ราคา 350 – 500 บาท

ราคาดังกล่าวเป็นเพียงราคากลางตลาดทั่วไป สำหรับการสั่งทำเฉพาะหรือนำเข้ามาราคาก็จะแตกต่างกันไปตามคุณภาพของวัสดุที่นำมาทำ

วัตถุดิบเบื้องต้นสำหรับทำซูชิ

  • ข้าวญี่ปุ่นสำหรับทำซูชิ ข้าวปั้น ราคา 150 – 250 บาท (ขึ้นอยู่กับเกรดข้าว)
  • ไข่กุ้ง, ไข่มังกร ราคา 250 บาท/ถุง (500 กรัม)
  • ยำสาหร่าย ราคา 50 – 80 บาท/ถุง (500 กรัม)
  • ปูอัด, ปูอัดแฟนซี ราคา 50 – 100 บาท
  • ไข่หวาน, สโมคกี้, ชีสแผ่น ราคา 50 – 80 บาท
  • สลัดปรุงรส ทาโกะจังน้ำสลัด สลัดกุ้งล็สเตอร์ สลัดปูอัด สลัดเป๋าฮื้อ ราคา 120 – 250 บาท
  • ทาโกะ, หอย, แมงกระพรุน, กุ้ง, ปลา, ราคา 100 – 150 บาท
  • แซลมอน ราคา 300 – 500 บาท (ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของปลาแซลมอน)
  • โนรีสาหร่ายแผ่นห่อข้าว ราคา 200 – 300 บาท (แพค 100 แผ่น)

การตั้งราคาขาย

ซูชิจะขายกันในราคาตั้งแต่ ซูชิ 5 บาท, ซูชิ 10 บาท, ซูชิ 20 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดและหน้าของซูชิ รวมไปถึงต้นทุนวัตถุดิบแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้วผู้ประกอบการควรตั้งราคาให้สัมพันธ์หรือสอดคล้องกับความเป็นไปได้

แหล่งขายส่งวัตถุดิบเปิดร้านซูชิ

  • ร้านขายส่งแม็คโคร
  • ร้านขายส่งวัตถุดิบซูชิออนไลน์

เทคนิคเพิ่มเติม

  • แสงสว่างที่เพียงพอ : ใช้ไฟส่องไปยังซูชิ เพื่อทำให้ซูชินั้นเด่นขึ้นมาเมื่อสะท้อนกับแสงไฟ ยิ่งในเวลากลางคืนจะยิ่งทำให้ซูชิดูน่ากินมากขึ้น
  • ใช้ผ้าปูโต๊ะหรือของตกแต่งสไตล์ญี่ปุ่น : เพื่อสร้างอารมณ์ร่วมในการอยากรับประทานอาหารญี่ปุ่น
  • จัดวางซูชิให้เต็ม : ถาดไหนหรือซูชิหน้าไหนที่ขายหมดแล้วให้รีบนำออกทันที หากในถาดยังขายไม่หมดให้จัดวางซูชิในถาดให้เรียบร้อย สวยงาม
  • หน้าซูชิไม่เละ : บางครั้งลูกค้าอาจหยิบพลาดหรือไปโดนซูชิชิ้นอื่นทำให้หน้าซูชิเละ ไม่สวยงาม ดังนั้นต้องรีบแก้ไขให้ดูดีพร้อมขาย
  • ทำสดใหม่ : ซูชิโดยเฉพาะหน้าปลาดิบต้องทานตอนทำเสร็จใหม่ๆจึงจะอร่อย ดังนั้นไม่ควรทำทิ้งไว้คราวละมากๆ เพราะทำให้เสียรสชาติ
  • จัดโปรโมชั่น : จัดโปรโมชั่นบ้างเพื่อกระตุ้นการขาย อาจจะซื้อ 10 ชิ้น แถม 1 ชื้น หรือในช่วงเวลาที่ใกล้ปิดร้านก็จัดเซ็ทขายและลดราคาลง 50 เปอร์เซ็นต์ ได้กำไรน้อยกว่าแต่ก็ดีกว่าของเหลือต้องทิ้งไปเปล่าๆ
  • เพิ่มช่องทางจำหน่าย : รับออเดอร์ล่วงหน้าจากลูกค้า โดยให้ติดต่อผ่านทางช่องทางออนไลน์เพิ่มเติมทั้งใน Facebook และ Line เป็นต้น และยังสามารถใช้เป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ร้านแจ้งเมนูได้อีกด้วย

รวมข้อมูลแฟรนไชส์ซูชิ คลิ๊ก>>

รวมโรงเรียนสอนทำซูชิ คลิ๊ก>>

แสดงความคิดเห็น