สรุปกระแสการเปลี่ยนแปลงการบริโภคของโลก

สรุปกระแสการเปลี่ยนแปลงการบริโภคของโลก

สรุปกระแสการเปลี่ยนแปลงการบริโภคของโลก

1. จากกระแสความต้องการสินค้า…สู่ความต้องการภาคบริการมากขึ้น
พฤติกรรมการบริโภคของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียเริ่มปรับเปลี่ยนไปสู่ความต้องการสินค้าและบริการที่ไม่จำเป็นมากขึ้น แนวโน้มการเติบโตของรายได้และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นเร็วส่งผลให้พฤติกรรมการใช้จ่ายเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วใกล้เคียงกับประเทศพัฒนาแล้วในเอเชีย โดยหากดูจากสัดส่วนการใช้จ่ายในหมวดสินค้าจำเป็น อาทิ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด ตรงกันข้ามกับการใช้จ่ายสินค้าและบริการที่ไม่จำเป็น อาทิ สินค้าและบริการเกี่ยวกับการตกแต่งซ่อมแซมบ้าน ท่องเที่ยว บันเทิงและสันทนาการ สื่อสาร และขนส่ง มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 50-60% ของการใช้จ่ายทั้งหมด

2. ความต้องการสินค้าไลฟ์สไตล์ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด
พบว่าประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียมีการใช้จ่ายสินค้ากลุ่มนี้เร่งตัวขึ้นมาก โดยเฉพาะสินค้าเกี่ยวกับบ้านและหมวดขนส่งที่เติบโตมากที่สุดถึงราว 15% ต่อปี เทียบกับประเทศพัฒนาแล้วในเอเชียที่เติบโตราว 6% ต่อปี รวมถึงมีการใช้จ่ายด้านไลฟ์สไตล์มากขึ้นด้วย ซึ่งเห็นได้จากการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวและโรงแรมที่เติบโตอย่างรวดเร็วราว 12% ต่อปี ทั้งนี้ คาดว่าหากแนวโน้มนี้มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นนี้อีก 5 ปีข้างหน้า สัดส่วนการใช้จ่ายด้านไลฟ์สไตล์จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 15% ของการใช้จ่ายทั้งหมดซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับประเทศพัฒนาแล้วในเอเชีย

3. กว่า 30% ของผู้บริโภคในเอเชียมีความต้องการสินค้าที่ปรับแต่งเองได้
เทรนด์การบริโภคเปลี่ยนจากความต้องการสินค้าและบริการที่ออกแบบมาสำหรับความต้องการเฉพาะกลุ่ม (mass customization) ไปสู่สินค้าและบริการที่สามารถปรับแต่งตามความต้องการได้เอง (personalization) เนื่องจาก ผู้บริโภคยุคใหม่มีความต้องการที่ซับซ้อนและช่างเลือกมากขึ้นเพื่อสร้างความแตกต่างและเอกลักษณ์ของตนเอง ส่งผลให้สินค้าที่เน้นขายเป็นปริมาณมาก (mass products) ไม่ได้รับความนิยมเช่นเดิม แต่ผู้บริโภคกลับต้องการสินค้าและบริการ ที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับความต้องการเฉพาะกลุ่มและมีแนวโน้มจะปรับเปลี่ยนไปสู่สินค้าและบริการที่ออกแบบตรงตามความต้องการของแต่ละคนได้  จากผลสำรวจของ The Economist Intelligence Unit (EIU) พบว่ากว่า 30% ของผู้บริโภค โดยเฉพาะในเอเชียมีความต้องการสินค้าเฉพาะกลุ่มและสินค้าที่ปรับแต่งเองได้ นอกจากนี้ ราว 50% ของผู้บริโภคยังยอมจ่ายเงินมากขึ้นอีกประมาณ 30% เพื่อให้ได้สินค้าเหล่านี้ สะท้อนถึงแนวโน้มพฤติกรรมการบริโภคที่ต้องการความแตกต่างและมีเอกลักษณ์มากขึ้น

4. แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียได้รับความนิยมและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
ความนิยมของโซเชียลมีเดียที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้รูปแบบการแบ่งปันข้อมูลและการบอกต่อของผู้บริโภคยุคใหม่เปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบเดิมอย่างการพบปะพูดคุย (face to face) โดยจำนวนผู้ใช้โซเชียลมีเดียทั่วโลกในปี 2016 อยู่ที่ราว 2.8พันล้านคนเพิ่มขึ้น 21% จากปีก่อนหน้าและมีสัดส่วนเป็น 37% ของประชากรทั่วโลก ซึ่งแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ Facebook ที่มีจำนวนผู้ใช้บริการราว 1.86 พันล้านคน ทั้งนี้ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องจากการเป็นช่องทางสำหรับติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ใช้บริการเป็นหลัก สู่การเป็นแพลตฟอร์มเชิงพาณิชย์ (social commerce) ที่ธุรกิจมากมายใช้สำหรับสื่อสารกับผู้บริโภค ทั้งนี้ GlobalWebIndex เผยว่าปัจจุบันคนใช้เวลาบนโลกโซเชียลมีเดียโดยเฉลี่ยราว 2 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2015 ราว 8% ดังนั้น ธุรกิจจึงใช้ช่องทางนี้ในการสร้างความรับรู้ในแบรนด์ (awareness)และพัฒนาความผูกพันกับผู้บริโภคด้วย (engagement)

5. มูลค่าตลาดของ e-Commerce มีแนวโน้มการเติบโตสูงในขณะที่อัตราการเข้าถึงยังอยู่ในระดับต่ำ
e-Commerce ช่วยตอบสนองความต้องการความสะดวกรวดเร็วของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า ตลอดจนถึงการชำระเงินและขนส่ง ซึ่งส่งผลให้ช่วงเวลาที่ผู้บริโภคจะมีการเปลี่ยนใจจากการซื้อสินค้าลดลง (moment of truth)  โดย e-Commerce ได้รับความนิยมมากขึ้นทั่วโลก และเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วราว 24% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2014-2016  โดยเฉพาะแถบเอเชียแปซิฟิกที่เติบโตสูงสุดราวปีละ 33% นอกจากนี้ การซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม e-Commerce ระหว่าง ประเทศอย่าง eBay, Amazon และ Aliexpress ที่ง่ายขึ้น และการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพยังส่งผลให้มูลค่าการขายสินค้าผ่าน e-Commerce ระหว่างประเทศเติบโตขึ้นเช่นกันราว 31% ต่อปีในช่วงเดียวกัน  อย่างไรก็ตาม สัดส่วนมูลค่าตลาดของ e-Commerce ต่อมูลค่าตลาดค้าปลีกโดยเฉลี่ยของโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 9% สะท้อนว่าตลาดยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก โดยคาดว่าสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นจนถึงราว 13% ภายในปี 2019

6. อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า ภายในปี 2020
การก้าวเข้ามาของเทคโนโลยียุคใหม่อย่าง Internet of Things (IoT) ซึ่งเชื่อมโยงอุปกรณ์ต่างๆ เข้ากับโครงข่ายอินเทอร์เน็ต เป็นอีกกลไกสำคัญที่จะเข้ามาทำให้ผู้บริโภคใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายและชาญฉลาดมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น บ้านอัจฉริยะ (smart home) ที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าผ่านโทรศัพท์มือถือได้ทุกที่ทุกเวลา หรือรถยนต์อัจฉริยะ (smart car) ที่มีระบบช่วยนำทาง ทำให้ผู้บริโภคถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็ว ทั้งนี้ เทคโนโลยี IoT มีแนวโน้มได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เนื่องจากราคาอุปกรณ์ที่ถูกลง ประกอบกับผู้บริโภคเริ่มเล็งเห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีดังกล่าวมากขึ้น โดย Gartner บริษัทวิจัยด้านเทคโนโลยีชื่อดัง คาดว่าจำนวนอุปกรณ์ด้าน IoT มีโอกาสเติบโตมากกว่า 3 เท่าภายในปี 2020 โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับบ้านและรถยนต์ที่มีแนวโน้มเติบโตได้สูงถึง 68% และ 55% ต่อปี ตามลำดับ

7. ตลาด wellness ของโลกมีสัดส่วนถึงราว 1 ใน 3 ของตลาด health และ wellness โดยรวมและยังเติบโตสูงถึง 14% ต่อปี
พฤติกรรมผู้บริโภคไม่เพียงแค่ต้องการมีสุขภาพดีเท่านั้น แต่มีแนวโน้มที่ต้องการการอยู่ดีมีสุข สะท้อนจากตลาด wellness ของโลกที่เติบโตเฉลี่ยถึงราว 14% ต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2010-2015 ซึ่งเติบโตเร็วกว่าตลาด healthcare ทั่วโลกที่ขยายตัวเฉลี่ยราว 4% ต่อปี โดยมูลค่าตลาดอยู่ที่ 3.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็น 5% ของ GDP โลก ทั้งนี้ตลาด wellness มีแนวโน้มพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยจะหมายรวมตั้งแต่การดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่แบบองค์รวมทั้งในด้านรูปลักษณ์ภายนอก ไปจนถึงการดูแลจากภายใน อาทิ อาหารเพื่อสุขภาพ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การออกกำลังกาย การแพทย์ทางเลือกใหม่ๆ ตลอดจนถึงเทรนด์ใหม่ๆ อย่างที่อยู่อาศัยและที่ทำงานเพื่อสุขภาพ สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เริ่มให้ความสำคัญกับ wellness มากขึ้นและเริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ควบคู่ไปกับภาคธุรกิจที่มีการพัฒนาสินค้าและบริการที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น

แนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนจากการดูแลจากภายนอกไปสู่การดูแลจากภายในมากขึ้น โดยเฉพาะความต้องการที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ทั้งในด้านอาหารสุขภาพและการออกกำลังกาย ทั้งนี้ หากมองภาพตลาด wellness โดยรวม จะเริ่มเห็นเทรนด์ของตลาดเสริมความงามและ anti-aging ที่มีสัดส่วนลดลงจาก 35% ในปี 2010 มาอยู่ที่ 26% ในปี 2015 ขณะที่สัดส่วนของตลาด wellness ที่เน้นการมีสุขภาพดีจากภายในมีแนวโน้มเติบโตดี โดยตลาดอาหารสุขภาพยังคงมีสัดส่วนมากที่สุด โดยแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคไม่เพียงแค่ต้องการทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพเท่านั้น แต่ยังมีแนวโน้มเลือกรับประทานอาหารเสริมและอาหารสุขภาพที่มาจากธรรมชาติ โดยเฉพาะตลาดอาหารออร์แกนิคในเอเชียที่แม้จะมีสัดส่วนเพียง 4% ของตลาดโลก แต่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 17% ต่อปีเทียบกับทั่วโลกที่เติบโตโดยเฉลี่ยราว 7 % ในช่วงระหว่างปี 2011-2015 และยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการพัฒนาสินค้าที่หลากหลายมากขึ้นด้วย

8. จากการตัดสินใจแบบเดิม…สู่การสัมผัสประสบการณ์ไม่ซ้ำใคร
Experience-led consumption เป็นอีกเทรนด์ที่มีบทบาทมากขึ้น ในยุคที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับประสบการณ์ และมองหาสิ่งที่เติมเต็มความหมายของชีวิต เห็นได้จากเทรนด์ที่ผู้คนหันมาใช้จ่ายเพื่อประสบการณ์อย่างการออกไปทานอาหารนอกบ้าน ไปดูคอนเสิร์ต หรือท่องเที่ยวกันมากขึ้น ทั้งนี้ สถาบันวิจัยตลาด Mintel คาดการณ์ว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคสำหรับการทานอาหารนอกบ้านและท่องเที่ยวจะเติบโตสูงถึง 27% ในช่วงปี 2015-2019 สะท้อนถึงการที่ผู้บริโภคให้คุณค่ากับการเสพประสบการณ์มากขึ้นและกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สินค้าหรือบริการมีความโดดเด่น ทำให้ผู้บริโภคยอมใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อจะได้รับประสบการณ์พิเศษนั้น

กลุ่มคนยุค Millennial หรือกลุ่มคน Gen Y (เกิดในปี 1981-2000) คือแรงขับเคลื่อนหลักของเทรนด์การใช้จ่ายเพื่อประสบการณ์ การเติบโตท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก แต่อยู่ในยุคที่ไม่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก ทำให้คนยุค Millennial มีความต้องการที่ต่างออกไปจากคนรุ่นก่อนๆ โดยให้ความสำคัญกับการไล่ตามความฝันและออกไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อเติมเต็มความหมายของชีวิต นอกจากนี้ โซเชียลมีเดียยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้การแบ่งปันประสบการณ์เป็นไปได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทำให้คนรุ่นยุค Millennial อยากออกไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ เพราะไม่ต้องการตกเทรนด์

ขอบคุณข้อมูลจาก : ECONOMIC INTELLIGENCE CENTER

แสดงความคิดเห็น


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *