หญิงสาวหลายคนที่อยากสวมใส่บิกินีในช่วงวันหยุดมักจะหนีไม่พ้นความหงุดหงิด อย่างชุดที่บอบบางเกินไปที่จะออกไปทำอะไรอื่น นอกจากนั่งนิ่งๆ บนเก้าอี้, จะเลือกระหว่างชุดที่อินเทรนด์สุดๆ แต่เสี่ยงสูงจากความไม่คุ้นเคย หรือสนุกและผ่อนคลายมากกว่าในชุดที่แฟชั่นจ๋าน้อยกว่า
จากเสียงบ่นของน้องสาวเรื่องชุดว่ายน้ำทูพีซ ทำให้ John Moran หนุ่มวัย 25 คนทำชุดว่ายน้ำ Vaya Island เห็นโอกาสในการสร้างธุรกิจทำชุดบิกินี ที่ทั้งสปอร์ตและมีสไตล์
เขาริเริ่มธุรกิจด้วยตัวคนเดียวในหอพักนักศึกษา ขณะกำลังเรียนด้านธุรกิจและการตลาดที่ Merrimack College เมื่อปี 2557 โดยใช้เงิน 700 ดอลลาร์ที่เขาสะสมจากการทำงานที่สนามกอล์ฟ
วันนี้ Moran ได้สร้างธุรกิจที่สร้างรายได้ 500,000 ดอลลาร์ในปี 2561 ไปแล้ว (ประมาณ 16,000,000 บาท) เขาบอกว่า เขาทำงานด้วยความสนุก เมื่อได้ทำอะไรที่รัก งานจะหนักแค่ไหน ถ้าได้เริ่มแล้ว มันก็เหมือนลูกของเรา แล้วเขามีเคล็ดลับอะไรบ้าง
1. “ใช้ทรัพยากรอะไรก็ตามที่มีอยู่ในมือ”
Moran เริ่มขายเคสมือถือที่มีรูปถ่ายของเขากับคนเดินหาดที่ Cape Cod ในปี 2557 แล้วก็ขยับไปขายเครื่องประดับที่ทำจากวัสดุริมหาดบนเว็บไซต์ในปี 2558-2559 เพราะลุงของเขาทำร้านเล็ก ๆ ที่ผลิตและขายเครื่องประดับเงิน เขาจึงคุ้นเคยกับอุตสาหกรรมนี้และรู้สึกมั่นใจในการออกแบบของเขา
แม้พื้นด้วยฐานจากครอบครัวจะทำให้เขาได้เปรียบ Moran ก็สร้างธุรกิจเงินตัวเอง และก็ต้องการที่จะต่อทุนอันจำกัดให้ธุรกิจไปต่อได้ คำสั่งซื้อเครื่องประดับ เพียงครั้งละ 20-30 ชิ้นในเวลานั้น ทำให้เกิดกระแสเงินสดพอจากการขายบนเว็บไซต์ เขาได้เงิน 30,000 ดอลลาร์ในปีแรก และ 45,000 ดอลลาร์ในปีที่สอง โดยใช้การโฆษณาบนโซเชียลมีเดียอย่างอินสตาแกรม เพื่อให้เกิดกระแส
2. “ทำ…จากการฟัง…ด้วยความกระตือรือร้น”
เมื่อ Moran ทำโพลล์กับลูกค้าว่า ต้องการให้เขาทำอะไรต่อ พวกลูกค้าโหวตให้เขาทำ “บิกินี” ปัญหาคือ “เขาไม่รู้วิธีออกแบบ”
เขาจึงเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยสั่งบิกินีมา 14 หรือ 15 ตัวอย่างจากซัพพลายเออร์ใน Alibaba มาร์เก็ตเพลสยักษ์ใหญ่สำหรับผู้ผลิต แล้วเขาก็ขอให้ผู้หญิงที่วิทยาลัยเขาลองกันดู ว่าแบบไหนที่เหมาะกับพวกเขา และก็พบว่า หาที่เหมาะไม่เจอเลย
“ชั้นต้องการบิกินีที่นุ่มและสบายจริง ๆ” น้องสาวของเขา ได้ลองเหมือนกัน และก็ไม่ชอบเลยสักชุด
หลังผ่านซัพพลายเออร์ไป 15 เจ้า เขาก็ได้รายที่เหมาะและมีคุณภาพตามที่ต้องการ “ใน Alibaba ก็เหมือนกับงมเข็มในมหาสมุทร” เมื่อได้รายที่ถูกใจแล้ว ก็เริ่มเดินหน้าการผลิต ด้วยแบบสเก็ตช์ของเขา
Moran จ้างบริษัทแห่งหนึ่งในฮาวาย ออกแบบภาพพิมพ์ เพื่อให้แน่ใจว่ามันใช้ได้ เขาก็เลือกแบบที่คาดว่าจะขายได้มาโพสต์บนอินสตาแกรมของเขา และขอให้ลูกค้าโหวตแบบที่ชอบ ซึ่งทำให้เขาได้สินค้าที่ลูกค้าต้องการอย่างแท้จริง “มันทำให้ผมมั่นใจมากขึ้น และลดความเสี่ยงจากการเจ๊งได้” ที่สำคัญคือ นี่คือวิธีคอนเน็กต์กับลูกค้าที่ดีจริง ๆ
เมื่อบิกินีชุดแรกของเขาขายหมดในปี 2560 เขาก็เอาเครื่องประดับทั้งหมดที่เหลืออยู่มาเซลลดราคา “เพราะบิกินี ได้ยึดเว็บไซต์ทั้งหมดไว้แล้ว”
ไม่ง่ายเลยที่จะปล่อยวางธุรกิจตั้งต้นของเขาไป “นั่นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยากสำหรับผม” Moran บอก “เหมือนติดกับเครื่องประดับและลิขสิทธิ์จากการออกแบบมากมาย”
อย่างไรก็ตาม เมื่อผลตอบรับตลาดเป็นจริงและตระหนักในเซนส์ทางธุรกิจที่จะให้ในสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้ ก็ช่วยให้ธุรกิจบิกินีที่เริ่มต้น สร้างรายได้ให้เขาถึง 110,000 ดอลลาร์ในปี 2560
3. “ฉายสปอตไลต์ไปที่ลูกค้า”
มอตโตของบริษัทเขาคือ “ใช้ชีวิตง่าย ๆ และมองอะไรให้เป็นบวก” ได้นำมาใช้กับภาพลูกค้าที่นำเสนอตัวเองในชุดที่ Moran ออกแบบ เมื่อเขาโพสต์ ก็มีคนส่งภาพมามากขึ้น “เหมือนปฏิกิริยาสโนว์บอลล์” (การเริ่มอะไรสักอย่างจากจุดเล็กๆ จนขยายไปใหญ่โตขึ้น) ขณะเดียวกัน Moran ก็จ้างช่างภาพในบาหลีและแหล่งท่องเที่ยวชายหาดอื่น ๆ เพื่อถ่ายนางแบบที่สวมใส่บิกินีและโพสต์กันต่อในฟีด
เป้าหมายของเขาคือการโตขึ้นของแบรนด์ไลฟ์สไตล์ แทนที่จะเป็นการจ่ายเงินให้คลิก และค่อย ๆ เปิดตัวโปรแกรม “แอมบาสซาเดอร์” หรือทูตของแบรนด์ ซึ่งคนที่เป็นแฟนตัวยงจะได้เห็นภาพสินค้าใหม่ล่าสุดก่อนใครและรับส่วนลด 30% เมื่อตัดสินใจซื้อ “มันคือคลับพิเศษที่จะแนะนำสไตล์ใหม่ ๆ และคนจะชอบเรื่องส่วนลด ชอบที่จะแชร์ ชอบที่จะเป็นทูตของ Vaya Island”
นอกจากนั้น เขายังสร้างแฮชแท็ก #goliveeasy เพื่อดึงดูดลูกค้ารายอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้าย ๆ กัน เพื่อสร้างชุมชนของเขาขึ้นบนอินสตาแกรม
4. “ทำการตลาดกับอินฟลูเอ็นเซอร์ให้มากที่สุด”
เมื่อสังเกตว่า ผู้มีอิทธิพลต่อสาธารณะหรืออินฟลูเอ็นเซอร์ (influencer) ด้านแฟชันโตขึ้นเรื่อย ๆ บนอินสตาแกรม Moran ก็เข้าหาอินฟลูเอ็นเซอร์ที่กำลังมาแรงและเสนอที่จะส่งชุดฟรีแลกกับการโพสต์
สำหรับอินฟลูเอ็นเซอร์ที่เป็นรู้จักซึ่งมีผู้ติดตาม 200,000-1,000,000 ทาง Moran ก็ยอมจ่ายเพื่อให้เขาโพสต์ ซึ่งเขาก็เข้าใจ เพราะเป็นวิธีทำมาหากินของคนที่มีชื่อเสียง
เขาต้องเลือกอย่างระมัดระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ทุนที่จำกัดอย่างเสียเปล่า โดยใช้เงินระหว่าง 1,000-9,000 ดอลลาร์ต่อโพสต์ ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของคนที่ใช้ และก็จำกัดไว้แค่ 500 ดอลลาร์สำหรับโพสต์ที่เขาจ่ายค่าโฆษณาเอง
บางครั้ง ชุดบิกินีก็ไม่ได้อินกับคนที่ติดตามใครบางคน คนที่มีฟอลโลเวอร์ 1 ล้านคนก็อาจไม่ได้สร้างการมีส่วนร่วมได้เท่ากับคนที่มีฟอลโลเวอร์ 40,000
ไม่เพียงใช้การตลาดด้วยอินฟลูเอ็นเซอร์ การโฆษณาบนเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมก็ได้ผล หากมีคูปองโค้ด แล้วก็มักเป็นการลงทุนที่ดี “ถ้าผมใช้เงิน 1,000 ดอลลาร์ต่อเซตโฆษณา ผมก็จะสามารถเห็นว่า ผมทำไปได้เท่าไรเมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ และเห็นทราฟฟิกที่สูงขึ้นบนเว็บไซต์ของผม”
5. “อย่าทำทุกอย่างตามลำพัง”
Moran ใช้ศูนย์ฟูลฟิลเมนต์สต็อกสินค้าและส่งของให้จากโกดังสินค้า เขาจะได้ออร์เดอร์ 80-100 ออร์เดอร์ต่อวัน การเอาต์ซอร์สทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น “มันทำให้ผมมีอิสระที่จะโฟกัสในเรื่องการเพิ่มยอดขายหรือการเจรจาข้อตกลงกับพวกอินฟลูเอ็นเซอร์”
นอกจากนั้น เขาก็ยังคิดจะจ้างทีมที่จะช่วยในเรื่องออร์เดอร์ แต่เพราะมันยังอยู่ในช่วงกำลังโต เป็นการดีที่สุดที่จะคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่โดยทำเองไปกอ่น อย่างไรเสียเขาก็ได้ประโยชน์จากเอาต์ซอร์สเหมือนกับมีลูกจ้างเหมือนกัน
6. “จดจ่อกับสิ่งที่ทำ”
แม้ธุรกิจนี้ไปได้ดีเกินคาด แต่เขาก็เผชิญกับช่วงฟุ้งและจิตตกเช่นเดียวกับผู้ประกอบการหน้าใหม่รายอื่น เขาบอกว่าการทำธุรกิจคนเดียว “เราต้องกุมชะตาชีวิตของเราด้วยการยอมรับอะไรหลาย ๆ อย่าง”
เมื่อเกิดอะไรผิดพลาด เขาต้องบอกตัวเองว่า “อย่าไปจมปลักกับมัน ผมต้องก้าวต่อไป และใช้มันเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานอย่างหนัก”
เมื่อพบอุปสรรค ก็บอกตัวเองว่า “ผมต้องพักงานไว้ ตอนนี้คงไม่ใช่เวลาที่เหมาะ” แล้วก็แวะไปยิมหรือไปวิ่งเพื่อรีชาร์จตัวเอง
“ผมพยายามเคลียร์ทุกเรื่องในหัว ก่อนกลับไปเผชิญกับมัน บ่อยครั้งที่มันได้ผล” ด้วยความคิดหรือ mindset ที่ตั้งไว้ในใจว่า ธุรกิจของเขายังจะต้องไปต่อ
อ้างอิงจาก “This Millennial Entrepreneur Built A $500,000, One-Man Business By Re-Thinking The Bikini” https://www.forbes.com/sites/elainepofeldt/2018/12/24/this-millennial-entrepreneur-built-a-500000-one-man-business-by-re-thinking-the-bikini/amp/?fbclid=IwAR2t_j81Oy5AgmMj20K_S7bPOFTYGF6a8MmhG-QsIbYrNF5PdwT1ks2IQ-Eเรียบเรียงโดย ETDA Staff : https://web.facebook.com/staff.etda/