กลยุทธ์ รับมือกับกลโกงของลูกค้า
แม้ว่าลูกค้าจะเป็นผู้มีพระคุณทางธุรกิจ แต่ในทางกลับกันถ้าลูกค้าเกิดคิดไม่ซื่อขึ้นมา เขาก็อาจเป็นมิจฉาชีพของกิจการได้เช่นกัน ภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดก็คือผู้ประกอบการต้องแยกแยะให้ออกว่าใคร คือ “มิตรแท้” และใคร คือ “มิจฉาชีพ” ทางธุรกิจ
โบราณว่า “รู้หน้าไม่รู้ใจ” บางทีลูกค้าที่เราต่างก็มองว่าเป็นผู้มีพระคุณของกิจการก็กลับกลายเป็นมิจฉาชีพไป โดยที่ผู้ประกอบการไม่ทันได้ตั้งตัว วันนี้จึงได้รวบรวมสารพัดกลโกงซึ่งลูกค้าที่คิดไม่ซื่อมักจะงัดมาใช้ เป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์จากการทำธุรกิจมาให้ผู้ประกอบการได้ระวังตัวกัน ซึ่งกลโกงที่ว่ามีดังต่อไปนี้
เชิดเงิน เชิดสินค้า
เป็นมุขพื้นฐานที่บรรดาลูกค้าที่คิดจะโกงนิยมใช้กัน ก็คือการเชิดเงินและเชิดสินค้าแล้วหนีหน้าไปเลย จนไม่สามารถตามเจอ หรือถ้าเจอก็จะทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้หาว่าจ่ายอย่างครบถ้วนไปแล้ว ซึ่งเงินและสินค้าที่ถูกโกงไปนั้น ผู้ประกอบการสามารถทำได้ดีที่สุดก็แค่แจ้งความเอาผิดทางกฎหมาย แต่ก็เป็นการยากที่จะตามได้คืนจนครบ ดังนั้นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือผู้ประกอบการจะต้องตรวจสอบความน่าชื่อถือของลูกค้า ในทุกๆครั้งที่มีการทำธุรกิจร่วมกันด้วย อีกทั้งจะต้องเก็บเอกสารการสั่งซื้อและชำระเงินเอาไว้ให้ดี เพื่อที่ว่าถ้าเกิดตุกติกขึ้นมาจะได้มีหลักฐานอ้างอิง จึงจะเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องรัดกุมที่สุดนั่นเอง
สินค้ามาส่งไม่ครบและไม่ได้มาตรฐาน
อย่าหลงคิดว่าการที่สินค้ามาส่งไม่ครบและขาดมาตรฐาน จะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากเรื่องการขนส่งเท่านั้น เพราะบางทีปัญหานี้ก็มีที่มาจากความจงใจของลูกค้าที่คิดมิซื่อด้วยเช่นกัน ดังนั้นก่อนที่จะส่งสินค้าทุกครั้ง ผู้ประกอบการจะต้องตรวจนับและตรวจสอบมาตรฐานของสินค้า ให้ตรงตามสเปคที่สั่งก่อนที่จะส่งให้เรียบร้อยเสียก่อน และเมื่อส่งสินค้าแล้วต้องให้ลูกค้าตรวจสอบให้ดี พร้อมทั้งลงชื่อรับสินค้าในใบนำส่งเพื่อใช้เป็นเอกสารยืนยัน ว่าทางบริษัทได้ส่งสินค้าในจำนวนที่ครบถ้วนถูกต้อง และลูกค้าเองก็ได้ตรวจสอบแล้ว
อย่าให้สินเชื่อกับใครง่ายๆ
ด้วยความที่การทำธุรกิจเป็นเรื่องของการใช้หัวใจซื้อความเชื่อมั่นระหว่างกัน ซึ่งจุดนี้ได้กลายเป็นช่องว่างให้เหล่าบรรดามิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางในการโกงเป็นจำนวนมาก โดยอ้างเอาเรื่องความเชื่อใจระหว่างกัน เป็นข้อต่อรองเพื่อเอาเปรียบผู้ประกอบการ ทั้งในเรื่องของการขอสินเชื่อโดยการขอเอาสินค้าไปจำหน่ายก่อน หรือผ่อนชำระเงินเป็นงวดๆไป ซึ่งหากผู้ประกอบการไม่แน่ใจในความน่าเชื่อถือของลูกค้า ขอแนะนำว่าอย่าปล่อยสินค้า ด้วยวิธีการให้สินเชื่อหรือผ่อนชำระโดยเด็ดขาด มิเช่นนั้นผู้ประกอบการอาจจะตกเป็นเหยื่อไปโดยไม่รู้ตัวในทันที
เช็คเด้ง
ปัญหา “เช็คคืน” หรือที่เรียกกันว่า “เช็คเด้ง” เป็นกลโกงยอดฮิตในยุคสมัย ดังนั้นหากจะต้องรับเช็คจากลูกค้าแล้วล่ะก็ ก็ขอให้ใช้กับลูกค้าเก่าที่เป็นลูกค้าชั้นดีของกิจการจริงๆ สำหรับลูกค้าใหม่ขอแนะนำให้รับเป็นเงินสดก่อนน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
ระวังการทำนิติกรรมสัญญาในทุกรูปแบบ
อาจจะเป็นเรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นนิยายอยู่สักหน่อย แต่ปัญหานี้ก็ได้เกิดขึ้นจริงกับการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะกับบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่การเซ็นสัญญาทำธุรกิจ ถือเป็นวิถีปกติที่เกิดขึ้นเป็นประจำในการดำเนินงาน ดังนั้นก่อนที่ผู้ประกอบการจะทำสัญญาร่วมงานกับลูกค้า คุณจะต้องแน่ใจและตรวจสอบรายละเอียดในสัญญาเสียก่อน ว่ามันตรงกับความเป็นจริงที่ตกลงกันไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคา รูปแบบสินค้า จำนวน วิธีการ และระยะเวลาส่งมอบงาน เพราะถ้าอีกฝ่ายหนึ่งเกิดเล่นตุกติกขึ้นมา อย่างน้อยผู้ประกอบการก็จะมีหนังสือสัญญาไว้ใช้อ้างอิงในชั้นศาลได้
แม้ภัยจากลูกค้าจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากเช่นเดียวกับโรคภัยไข้เจ็บ แต่ก็ใช่ว่ามันจะไม่สามารถป้องกันได้เสมอไป โดยภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดที่จะป้องกันกิจการก็คือ ตัวผู้ประกอบการเองจะต้องรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยม และแยกแยะให้ได้ว่าลูกค้าคนไหนคือมิตรแท้ทางธุรกิจ และคนไหนคือสิบแปดมงกุฏกันแน่นั่นเอง
ขอบคุณข้อมุลจาก : Incquity (Incquity.com)