ทันทีที่มีการปลดล็อคกัญชาจากพืชที่เป็นสารเสพติดเราคนไทยสายพลังใบก็ได้เฮกัน และถือเป็นเรื่องแปลกใหม่มากสำหรับประเทศไทย แต่ถึงกระนั้นก็ใช่ว่าจะปลดล็อกทีเดียว 100% แบบวางขายกันได้ตามท้องถนนเหมือนในต่างประเทศ ด้วยความที่กัญชานั้นยังเป็นเรื่องที่ใหม่มากสำหรับคนไทย ความรู้ความเข้าใจในการนำมาใช้หรือการการปลูก ผลิต ให้ถูกกฏหมายนั้นก็ยังอยู่ในวงแคบๆ
ในอดีตประเทศไทยจัดว่ากัญชาเป็นสารเสพติดและเป็นพืชที่ผิดกฎหมายถึงแม้ว่าจะมีประโยชน์ในด้านทางการแพทย์ก็ตาม แต่หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ให้บางส่วนของกัญชา ไม่จัดว่าเป็นยาเสพติด อันได้แก่
- เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก
- เมล็ด น้ำมันจากเมล็ดหรือสารสกัดจากเมล็ด
- ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย
- สารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออล (Cannabidiol, CBD) เป็นส่วนประกอบ และต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนักแห้ง
- กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชาและต้องมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล(Tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนักแห้ง
ยิ่งไปกว่านั้นประชาชนยังสามารถปลูกกัญชา สกัดกัญชา แปรรูปและผลิตกัญชาได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องผ่านการขออนุญาตจากองค์กรอาหารและยา (อย.) เพื่อจะสามารถทำได้อย่างถูกกฎหมาย โดยตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดนั้น ผู้ที่มีคุณสมบัติ สามารถขออนุญาต ปลูก สกัด แปรรูปและผลิตกัญชาได้ ตัวอย่างเช่น หน่วยงานรัฐ เกษตรกร แพทย์ เภสัชกร วิสาหกิจชุมชน สถาบันอุดมศึกษา สหกรณ์ และแพทย์แผนไทย เป็นต้น
กัญชากับธุรกิจอาหาร
ธุรกิจอาหารจัดว่าตื่นตัวและคึกคักเมื่อกัญชาถูกกฎหมาย ร้านอาหาร เครื่องดื่มหลายๆร้าน เริ่มมีการนำกัญชามาปรุงร่วมกับวัตถุดิบอื่นๆ ทั้งยังมีการรังสรรค์เมนูใหม่ๆ ที่ใช้กัญชาเป็นวัตถุดิบออกมาวางขายแต่การปรุงเมนูกัญชานั้นยังคงต้องใช้อย่างระมัดระวัง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 425) พ.ศ. 2564 (ฉบับที่ 427) พ.ศ. 2564 และ (ฉบับที่ 429) พ.ศ.2564 กำหนดให้ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการใช้ประโยชน์จากเมล็ดกัญชง น้ำมัน จากเมล็ดกัญชง-กัญชา โปรตีนจากเมล็ดกัญชง-กัญชา ส่วนของพืช ได้แก่ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก และใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร
- ข้อปฎิบัติที่ต้องคำนึงถึง กฎหมายอนุญาตให้นำ ‘ใบกัญชา’ มาปรุงอาหารได้เท่านั้น เพราะเป็นส่วนที่มีสาร THC ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับส่วนอื่นๆของกัญชา อย่าใช้ช่อดอก
- ความเข้มข้นของกัญชา ต้องให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม หากกัญชามีความเข้มข้นมากเกินไป อาจทำให้มึนเมาได้
ความเข้มข้นของกัญชา วัดได้จากไหน?
ความเข้มข้นของกัญชาขึ้นอยู่กับปริมาณสาร THC ในใบกัญชา ใบกัญชาที่เพิ่งเก็บสดๆจากต้นนั้นจะไม่มีสาร THC แต่จะมีสารที่เรียกว่า THCA (Tetrahydrocannabinolic acid) ซึ่งไม่ทำให้เมา แต่ THCA สามารถเปลี่ยนเป็นสารมึนเมาหรือ THC ได้เมื่อผ่านการแปรรูป หมายความว่าหากนำใบกัญชามาปรุงผ่านความร้อนก็จะกระตุ้นให้เปลี่ยนเป็นสารมึนเมาได้ง่าย
ยิ่งปรุงใบกัญชาด้วยความร้อนสูง ใช้เวลาในการปรุงนาน สาร THCA ก็จะเปลี่ยนเป็นสาร THC ได้ง่ายขึ้น เรียกง่ายว่ายิ่งร้อนขึ้น นานขึ้น บวกกับปรุงในน้ำมัน ก็จะยิ่งสกัดสาร THC จากใบกัญชาได้มากขึ้นนั่นเอง นอกจากนั้น การปรุงใบกัญชาแก่ จะได้ปริมาณสาร THC มากกว่าการปรุงใบกัญชาอ่อน
คำแนะนำในการบริโภคกัญชา ควรบริโภคไม่เกิน 5-8 ใบต่อวัน ฉะนั้นก่อนนำกัญชามาทำอาหารหรือเครื่องดื่ม ควรวัดปริมาณใบกัญชาต่อจาน ต่อเมนูให้ดี หากมีความเข้มข้นมากเกินไป อาจทำให้ผู้บริโภคมีอาการมึนเมาได้
กัญชาไปทำอาหารซื้อได้ที่ไหน?
ตามกฎหมาย ระบุเอาไว้ว่า ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม ที่ต้องการนำกัญชาไปประกอบอาหาร หรือเครื่องดื่มเพื่อจำหน่าย ต้องซื้อมาจากแหล่งเพาะปลูกที่ได้รับอนุญาตจากองค์กรอาหารและยา (อย.) เท่านั้น และการขายต้องขายผ่านหน้าร้าน ไม่สามารถบรรจุในภาชนะ หรือหีบห่อแล้วกระจายสินค้าไปขายตามสถานที่อื่นๆได้ หากต้องการขายแบบใส่บรรจุภัณฑ์ติดฉลาก ต้องขออนุญาตจากองค์กรอาหารและยา (อย.) ก่อน
หน่วยงานที่ได้รับอนุญาตปลูกกัญชาถูกกฎหมาย ได้ที่ เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข หรือ คลิ้กที่ลิ้งนี้ >>> http://hemp.fda.moph.go.th/FDA_MARIJUANA
การลงทะเบียนคู่มือการยื่นคำขอรับอนุญาต มีดังนี้
- คู่มือการใช้งานระบบสารสนเทศและการยื่นขอรับอนุญาตและการอนุญาตผลิต (ปลูก) ผลิต (สกัด) นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือ ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชา คลิ้กที่ลิ้งนี้ >>> https://drive.google.com
- คู่มือการขออนุญาตผลิตกัญชาโดยการปลูก ตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 กัญชา พ.ศ 2564 คลิ้กที่ลิ้งนี้ >>> https://drive.google.com
อัพเดทล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนบนแอปฯพลิเคชั่น “ปลูกกัญ” และ เว็บไซต์ http://plookganja.fda.moph.go.th โดยแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ IOS และ Android เพื่อออกใบรับจดแจ้งในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 โดยจดแจ้งเพียง 3 ขั้นตอนง่าย ๆ คือ
- ลงทะเบียน
- จดแจ้งตามวัตถุประสงค์
- รับเอกสารจดแจ้ง อิเล็กทรอนิกส์
แบบฟอร์มขออนุญาติทั้งหมด
- ท่านที่สนใจสามารถดูคู่มือและดาวน์โหลดแบบฟอร์มทั้งหมดได้ที่ คลิ้กที่ลิ้งนี้ >>>https://cannabis.fda.moph.go.th/form
เงื่อนไขร้านอาหารที่มีเมนูผสมกัญชาต้องปฎิบัติ
- แสดงข้อมูลเป็นสถานประกอบกิจการอาหารที่มีการใช้กัญชา
- แสดงรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาทั้งหมด
- แสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหาร ตามประเภทการทำประกอบหรือปรุงอาหาร เช่น อาหารทอด แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1-2 ใบสดต่อเมนู อาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่ม แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1 ใบสดต่อเมนู
- แสดงข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัย ในการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ
- ห้ามแสดงข้อความหรือโฆษณาสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรค
- แสดงคำเตือนรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาให้แก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง หากรับประทานอาหารที่ใช้ใบกัญชาทราบ ด้วยการระบุข้อความดังนี้
- “เด็ก อายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน”
- “หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที”
- “ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล(Tetrahydrocanabionol ,THC) หรือสารแคนนาบิไดออล (Canabidiol, CBD) ควรระวังในการรับประทาน”
- “อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล”