การค้าผ่านชายแดน สู่ตลาดภูมิภาคบูมต่อเนื่อง…โอกาสที่ SMEs ไทยไม่ควรมองข้าม

การค้าผ่านชายแดน สู่ตลาดภูมิภาคบูมต่อเนื่อง...โอกาสที่ SMEs ไทยไม่ควรมองข้าม

การค้าผ่านชายแดน สู่ตลาดภูมิภาคบูมต่อเนื่อง…
โอกาสที่ SMEs ไทยไม่ควรมองข้าม

ด้วยบริบททางการค้าภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ในปัจจุบันผู้ประกอบการ SMEs ของไทยจำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มองหาช่องทางการค้า และตลาดใหม่ๆเพื่อ รองรับการแข่งขันในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) โดยตลาดประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับไทยอย่างเมียนมาร์ สปป.ลาว และกัมพูชา (CLM) นับว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพและน่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ไทย เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ด้วยทิศทางและแนวนโยบายของทางการที่สนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น

รวมไปถึงปัจจัยด้านจำนวนแรงงาน ต้นทุนแรงงาน ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีอากรจากประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences: GSP) เป็นต้น ที่ล้วนดึงดูดเงินทุนจากต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านพลังงาน อุตสาหกรรมการผลิต การก่อสร้าง การท่องเที่ยว การเกษตร และภาคบริการ

นอกจากนี้ รัฐบาลของประเทศในกลุ่ม CLM ยังได้มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อผลักดันเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ให้เติบโตได้ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศให้ดีขึ้น อาทิ เมียนมาร์ มีแผนการพัฒนาประเทศในระยะ 5 ปี (2555-2559) โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะเพิ่มอัตราการเติบโตของจีดีพีให้อยู่ที่ร้อยละ 7.7 ต่อปี และทำให้จีดีพีต่อหัว (GDP per capita) เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปัจจุบัน (ตัวเลขจีดีพีต่อหัวของเมียนมาร์ในปี 2556 ประมาณการโดย IMF อยู่ที่ 915 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี) ส่วน สปป.ลาว มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 (2554-2558) ซึ่งกำหนดกรอบตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่ร้อยละ 8.0 ต่อปี และพัฒนาให้ประชากรมีจีดีพีต่อหัวอยู่ที่ 1,700 ดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2558 ในขณะที่ กัมพูชา ได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์พัฒนาพาณิชยกรรมฉบับที่ 3 (2557-2561) ที่มุ่งดำเนินวิธีการต่างๆ ให้กัมพูชาได้รับผลประโยชน์จากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียนและเตรียมพร้อมรองรับมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต ทั้งนี้ รัฐบาลกัมพูชาคาดว่าในปี 2557 เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 7.0

นอกจากทั้ง 3 ประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยแล้ว เวียดนาม ก็เป็นอีกประเทศที่มีศักยภาพในการดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ ได้อย่างโดดเด่น เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในวัยแรงงาน ค่าแรงยังค่อนข้างต่ำ และมีการพัฒนาของโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เวียดนามมีการเติบโตทางเศรษฐกิจถึงร้อยละ 6.0-7.0 ต่อปี

การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ CLMV ตอกย้ำให้เห็นถึงโอกาสของธุรกิจ SMEs ไทยที่จะเข้าไปขยายตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงจีนตอนใต้ ด้วยข้อได้เปรียบด้านที่ตั้งซึ่งอยู่ใจกลาง เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค มีแนวชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านมากกว่า 5,000 กิโลเมตร ทำให้สะดวกในการทำการค้าชายแดน มีต้นทุนค่าขนส่งต่ำ และยังเป็นการลดผลกระทบของผู้ประกอบการในช่วงที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัว นอกจากนี้ โครงการลงทุนจากต่างชาติ รวมถึงชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานและใช้ชีวิตใน CLMV ย่อมทำให้ความต้องการใช้สินค้าเพื่อการก่อสร้าง สินค้าอุปโภคบริโภคที่เน้นคุณภาพเป็นหลัก และธุรกิจบริการ เช่น ร้านอาหาร และสปา เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนการส่งออกของไทยด้วย

การค้าผ่านชายแดน สู่ตลาดภูมิภาคบูมต่อเนื่อง...โอกาสที่ SMEs ไทยไม่ควรมองข้าม

การค้าผ่านชายแดนขยายตัวต่อเนื่อง แม้ในช่วงเศรษฐกิจโลกผันผวน

แม้มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน 4 ประเทศ จะมีสัดส่วนที่ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับการค้าระหว่างประเทศโดยรวมของไทย แต่ก็ถือว่าขยายตัวต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.4 ของมูลค่าการค้ารวมในปี 2550 เป็นร้อยละ 6.6 ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 นอกจากนี้ หากพิจารณาในมิติของการส่งออก ก็พบว่า ไทยสามารถประคับประคองการส่งออกสินค้าผ่านชายแดนให้เติบโตได้ แม้การส่งออกโดยรวมของไทยประสบปัญหาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ รวมถึงเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2557 การส่งออกผ่านชายแดนของไทยมีมูลค่าถึง 1.51 แสนล้านบาท เติบโตร้อยละ 4.7 YoY โดยการส่งออกไปเมียนมาร์ผ่านทางชายแดนขยายตัวถึงร้อยละ 18.4 YoY ซึ่งด่านแม่สอดเป็นด่านที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด ในขณะที่กัมพูชา และสปป.ลาวก็เติบโตสูงเช่นกันที่อัตราร้อยละ 13.6 YoY และ 10.1 YoYตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปมาเลเซียยังหดตัว เนื่องจากการชะลอตัวของราคายางพาราในตลาดโลก ดังนั้น หากพิจารณามูลค่าการส่งออกผ่านชายแดนของไทยไปยังเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ (สปป.ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา) จะพบว่ามีการเติบโตอย่างโดดเด่นมาโดยตลอด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2557 มูลค่าการค้าชายแดนของไทยจะเติบโตเพิ่มขึ้นแตะ 9.5 แสนล้านบาทจากระดับ 9.2 แสนล้านบาท ในปี 2556 หรือขยายตัวร้อยละ 2.8 YoY และน่าจะเติบโตได้ถึง 1 ล้านล้านบาทในปี 2559 และหากไม่นับรวมการค้าผ่านชายแดนไทย-มาเลเซีย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปีนี้มูลค่าการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ คือ สปป.ลาว เมียนมาร์ และกัมพูชา จะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 9.0 YoY โดยมีปัจจัยสนับสนุนด้านการส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ การก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมเมืองมากขึ้น การส่งเสริมจากภาครัฐผ่านกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ รวมถึงการเติบโตของชนชั้นกลางในประเทศกลุ่ม CLM ที่ยังคงมีความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าไทยเป็นทุนเดิม สำหรับด่านชายแดนที่จะเติบโตเป็นดาวเด่นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ด่านแม่สอด-เมียวดี ด่านหนองคาย-เวียงจันทน์ และด่านอรัญประเทศ-ปอยเปต

นอกจากการค้าชายแดนแล้ว ผู้ประกอบการ SMEs ยังสามารถทำการค้าผ่านแดน โดยขนส่งผ่านประเทศเพื่อนบ้านไปยังเวียดนาม จีนตอนใต้ และสิงคโปร์ แม้ในปัจจุบัน การค้าผ่านแดนยังมีมูลค่าไม่สูงมากนัก ประมาณ 1.1 แสนล้าน

การค้าผ่านชายแดน สู่ตลาดภูมิภาคบูมต่อเนื่อง...โอกาสที่ SMEs ไทยไม่ควรมองข้าม

บาท (คิดเป็นร้อยละ 1 ของมูลค่าการค้ารวมของไทย) แต่ในอนาคต การพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่ง และการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเป็นตัวกระตุ้นให้การขนส่งผ่านแดน โดยเฉพาะเส้นทางไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม มีมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2557 มูลค่าการค้าผ่านแดนจะขยายตัวได้ร้อยละ 12.0 YoY ส่งผลให้ในปีนี้มูลค่าการค้าชายแดนผนวกกับการค้าผ่านแดนจะมีมูลค่าราว 1.1 ล้านล้านบาท

ยกระดับความร่วมมือภายในภูมิภาค…หนุนบทบาทการค้าผ่านแดนในอนาคต

ในระยะยาว การค้าชายแดนยังเติบโตได้ต่อเนื่อง เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย รวมทั้งไทยเองได้มีการปรับตัวในหลายมิติเพื่อรองรับการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เช่น การพัฒนาพื้นที่ชายแดน การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม การลดขั้นตอนกระบวนการผ่านแดน การปรับลด/ยกเลิกภาษี รวมถึงการขยายเวลาเปิด-ปิดด่านต่างๆ อันจะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยขยายตลาดสินค้าไทยให้กว้างขวางขึ้นได้

ทั้งนี้ แนวทางการพัฒนาการค้าชายแดนควรใช้โอกาสจากกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เช่น โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (The Greater Mekong Subregional Economic Cooperation : GMS) ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของ 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย เมียนมาร์ สปป.ลาว เวียดนาม กัมพูชาและจีนตอนใต้ เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาและเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมระหว่างกัน โดยกำหนดเส้นทางหลักใน 3 แนวเขตเศรษฐกิจ (North-South Economic Corridor, East-West Economic Corridor และ Southern Economic Corridor) รวมทั้งบรรลุข้อตกลงระหว่างประเทศในการขนส่งสินค้าผ่านแดน เช่น การกำหนดโควตารถที่อนุญาตให้ผ่านแดน และการอำนวยความสะดวกในพิธีสารผ่านแดน โดยการตรวจปล่อยสินค้าในบริเวณเดียวกัน (Single Stop Inspection)/การตรวจสินค้าแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (Single Window Inspection) เป็นต้น

ความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement: ATIGA)
เป็นความตกลงในเรื่องการลดภาษีที่อาเซียนลงนามในปี 2552 โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2558 กลุ่มประเทศ CLMV จะต้องยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าที่ผลิตในอาเซียน แต่จะมีสินค้ากลุ่มอ่อนไหวกลุ่มเล็กๆที่ CLMV จะลดภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 0 ในปี 2561

จะเห็นได้ว่า กรอบความร่วมมือต่างๆระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านจะช่วยหนุนให้การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนก้าวเข้ามามีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม แม้การบังคับใช้ข้อตกลงต่างๆอย่างเต็มรูปแบบอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ผู้ประกอบการ SMEs ไทยก็ควรติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เสียโอกาส โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้ขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ก็ควรมองหาลู่ทางที่จะส่งสินค้าไปจำหน่ายในต่างประเทศเพื่อขยายตลาดออกไป และอาจไปลงทุนเพื่อลดต้นทุนการผลิตโดยอาศัยวัตถุดิบ/ปัจจัยการผลิตด้านแรงงานที่มีอยู่มากในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการแข่งขันในประเทศและในภูมิภาคที่นับวันยิ่งจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเริ่มจากประเทศเพื่อนบ้านก่อน เพราะถือว่าไม่ยากนักสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังไม่เคยทำการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ธุรกิจไทยที่คาดว่าจะมีโอกาสเติบโตผ่านช่องทางการค้าชายแดน ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้า ธุรกิจบริการ เช่น ท่องเที่ยว ค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า เป็นต้น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
มิถุนายน 2557

แสดงความคิดเห็น


One comment

  1. Howdy! Do you know if they make any plugins to assist with
    SEO? I’m trying to get my site to rank for some targeted
    keywords but I’m not seeing very good success. If you know of any please share.
    Cheers! You can read similar article here: Warm blankets

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *