การตลาดแฟรนไชส์ เพื่อการขาย

แต่เมื่อจะลงมือจริงๆ กลับขาดความมั่นใจว่าจะขายแฟรนไชส์ได้หรือไม่ เรื่องการตลาดเพื่อขายแฟรนไชส์ที่จะทำให้คุณเห็นแนวทาง การขายแฟรนไชส์ที่ง่ายดาย กว่าที่คุณคิด และได้ข้อแนะนำที่ช่วยให้คุณทำการตลาดที่ได้ผล ในงบประมาณที่ประหยัดที่สุด
ปัญหาที่พบ

ปัญหาที่พบเสมอสำหรับคนที่จะขายแฟรนไชส์ก็คือ
– เจ้าของกิจการมักจะคิดว่า จะหาคนที่ยอมจ่ายเงิน หลักหมื่น หลักแสน หลักล้าน ทันทีเพื่อมาซื้อแฟรนไชส์ได้หรือ ?
– จะทำอย่างไรให้คนรู้ว่าเยอะๆว่า ธุรกิจของเราขายแฟรนไชส์ ?
– จะมีคนที่ต้องการซื้อธุรกิจของเรามากน้อยแค่ไหน และจะใช้เวลานานเท่าไหร่ จึงจะขายได้ตามเป้าหมายที่ตั้งใจเอาไว้ ?
– จะมีวิธี ทำการตลาดอย่างไร เพื่อขายแฟรนไชส์ ?

จะมีคนมาซื้อธุรกิจของเราหรือไม่
สถานการณ์เรื่องแฟรนไชส์ ณ ขณะนี้ ตลาดยังเป็นของผู้ขายแฟรนไชส์อยู่ มีคนจำนวนมากต้องการทำธุรกิจ จากผลสำรวจของนิยสารโอกาสธุรกิจ&แฟรนไชส์ เมื่อต้นปี 50 นี้ เทียบกับปีที่แล้ว มีแฟรนไชซีเพิ่มขึ้นมากถึง 70% กว่า เพราะมีชุมนุมใหม่ๆเกิดขึ้นมามากมาย ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น บ้านจัดสรรเปิดใหม่ หน้าหอพัก หน้ามหาวิทยาลัย นิคมอุสาหกรรม ตลาดใหม่ แม้แต่ห้างสรรพสินค้าที่เปิดใหม่ ที่มีเกิดขึ้นตลอดเวลา ที่ต้องการหาธุรกิจไปเติมแหล่งธุรกิจใหม่เหล่านั้น อีกทั้งมีคนที่ทำธุรกิจอยู่แล้ว ก็จะมองหาธุรกิจอื่นเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เคยซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ไปทำ จะมีโอกาสมาซื้อแฟรนไชส์อื่นๆอีก

รวมทั้งกระแสความต้องการเป็นเจ้าของกิจการ กำลังมาแรง จึงส่งผลให้การขายแฟรนไชส์ยังมีโอกาสสูง
แต่อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของคุณจะเป็นที่ต้องการของผู้ลงทุนหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องคิดถึง แต่ความอยากซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ มีแน่

แฟรนไชส์แบบไหน ที่คนอยากซื้อ
1.มีแบรนด์ ตอบได้ง่ายๆ และชัดๆว่า มีแบรนด์ หมายความว่า คนที่จะซื้อแฟรนไชส์ในยุคนี้ แฟรนไชส์ดังก็จะขายได้ง่ายกว่า อย่างเช่น 7-อีเลฟเว่น แฟมิลี่มาร์ท สามารถไอโมบาย ร้านหนังสือนายอินทร์ แบบนี้จึงจะขายง่าย เพราะเป็นชื่อที่คนรู้จัก มีสาขามาก ร้านดูดี เป็นต้น

2.ราคาสมเหตุผล หมายถึง เป็นธุรกิจ ที่มีราคาเหมาะกับกำลังทรัพย์ของผู้ที่ต้องการทำกิจการ ถึงแม้ว่าชื่อเสียงอาจะไม่ได้ดังมากนัก แต่การลงทุนพอเหมาะ เช่น 1.5 ล้านบาท ลงไป แล้วแต่ประเภทของธุรกิจ ที่จะทำให้ตัดสินใจกล้าลงทุนได้ง่ายขึ้น ถ้าการลงทุนสูงในระดับ 5-10 ล้านขึ้นไป ถึงชื่อดัง ก็มีคนกลุ่มน้อยนิดที่จะทำได้ การลงทุนจะเกินกำลังของคนที่ซื้อแฟรนไชส์ทั่วไป

การตลาด เพื่อขายแฟรนไชส์
การตลาด เพื่อการขายแฟรนไซส์

3.เป็นธุรกิจที่อยู่ในความสนใจ แม้ว่าธุรกิจของคุณอาจมีจุดอ่อนในเรื่องแบรนด์ แต่แฟรนไชส์ของคุณก็อาจเป็นที่ต้องการได้ ถ้าตรงกับความสนใจของคนที่คิดจะทำธุรกิจประเภทนั้นพอดี เช่นว่า คนที่เป็นผู้ชาย อาจจะไม่ชอบร้านกาแฟ หรืออาจไม่ชอบร้านมินิมาร์ท แต่มีความสนใจเกี่ยวกับด้านไอที คอมพิวเตอร์ สมมุติว่าแฟรนไชส์ของคุณอาจไม่ได้เป็นที่รู้จักเลย แต่ผู้ซื้อให้ต้องการทำกิจการประเภทที่เขาสนใจ และมาตรงกับแฟรนไชส์ของคุณ แบบนี้ก็ขายแฟรนไชส์ได้

4.เป็นธุรกิจแปลกใหม่ น่าสนใจ ในกรณีที่แฟรนไชส์ของคุณ อาจไม่มีชื่อเลย แต่อาจเป็นธุรกิจแปลกแหวกแนวไม่เหมือนใคร ก็อาจจะประสบความสำเร็จในการขายแฟรนไชส์ได้เหมือนกัน อย่างเช่นธุรกิจเติมหมึก หรือร้านขายโทรศัพท์มือถือ ที่เปิดขายแฟรนไชส์ใหม่ๆ ก็ไม่ใช่กิจการที่ติดตลาดมาก่อน แต่ก็มาเปิดขายแฟรนไชส์เลย ก็มีคนสนใจซื้อแฟรนไชส์กันมาก เพราะเป็นกิจการที่มาใหม่ ที่ผู้ลงทุนเห็นโอกาสในการเป็นผู้เปิดตลาดรายแรกๆ

5.เป็นกิจการที่ยืนยันได้ ว่าทำกำไร บางธุรกิจ มีข้อด้อยทุกด้าน แต่มีหลักฐานที่ทำให้ผู้ลงทุนแน่ในได้ว่า สามารถทำกำไรได้ดี เช่น มีคนที่ซื้อแฟรนไชส์ไปแล้วก่อนหน้านี้รวยขึ้น หรือมีตัวเลขของจริงมาแสดงให้ดู ก็จะเป็นกิจการที่มีคนต้องการอย่างแน่นอน

จะทำการตลาดอย่างไร ?
ไม่ใช่เรื่องยาก ในการแนะนำธุรกิจของคุณให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้ที่ต้องการลงทุนธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว จุดที่เป็นปัญหาสำหรับคนที่ต้องการเปิดการขายแฟรนไชส์ที่หวังผลในเวลารวดเร็วที่พบเสมอคือ พวกเขามักจะหว่านเงินลงซื้อโฆษณาในสื่อหลักๆ โดยหวังว่า เมื่อลงไปแล้วจะได้รับการตอบรับที่ได้ผล แต่ผลที่ตามมาก็คือ เขาจะกลับมาคิดว่าจะมีวิธีการอื่นๆอีกมั๊ย ที่ดีกว่านี้ และประหยัดกว่านี้

ผู้เขียน มีประสบการณ์ ในการทำการตลาดเพื่อขายแฟรนไชส์ มาให้กิจการต่างๆ ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า ซึ่งเป็นวิธีการทำให้สามารถเปิดร้ายแฟรนไชส์ได้ตามเป้าหมาย ในเวลาที่จำกัด ได้เสมอ แต่ก็มีบางแฟรนไชส์ เปิดได้เต็มพื้นที่ไปแล้วก็หยุดการขายแฟรนไชส์ แต่บางรายก็น่าเสียดายที่เปิดร้านได้มากมาย แต่ต้องปิดตัวไปมากเพราะระบบการบริหารงานของบริษัท แม่ไม่ดี

การทำการตลาดเพื่อการขายแฟรนไชส์ที่ดีคือ ได้ผลตอบรับที่ดีที่สุด ในราคาที่ประหยัดที่สุด โดยมีข้อแนะดังต่อไปนี้
1.ควรนึกถึงหลายช่องทาง คนส่วนมากเมื่อถึงเรื่องทำการตลาดมักจะคิดได้แค่วิธีเดียว แล้วฝันว่าเมื่อลงมือแล้วจะเวิร์คมาก จะได้รับการติดต่อมากมายหลังจากที่ลงทุนไป แต่ผลปรากฏว่าได้รับการตอบรับกลับมาอย่างแผ่วเบา ดังนั้นการทำการตลาดใดๆก็ตาม คุณจะต้องคิดถึงหลายช่องทาง หลายวิธีการที่มี แล้วเลือกมาใช้ เช่นซื้อโฆษณา การทำประชาสัมพันธ์ การแสดงบูท การส่งไดเร็กเมล์ การทำกิจกรรม ฯลฯ คุณจะต้องทำหลายวิธีการ เพื่อสร้างโอกาสให้ได้รับการติดต่อมากที่สุด เท่าที่คุณจะสามารถทำได้ ในงบประมาณที่ประหยัด

2.ต้องมีจุดประสงค์ที่ชัดเจน มีหลายคน ใช้วิธีการแบบรวม เช่น สมมุติว่าเป็นแฟรนไชส์การศึกษาสำหรับเด็ก อาจจะมีการซื้อโฆษณานิตยสารลูกรัก แล้วผสมข้อความว่าขายแฟรนไชส์ แบบนี้ ก็จะได้รับการตอบรับบ้าง แต่ไม่ตรงกลุ่มนัก หรือบางคน จัดงานแถลงข่าวต้องการขายแฟรนไชส์ แต่สุดท้ายกับข่าวที่ออกมากลับกลายเป็นเรื่องอื่นๆ เสียมากกว่า มีข่าวสารเกี่ยวกับแฟรนไชส์นิดเดียว ไม่เด่น นั่นเป็นเพราะว่าคุณอาจจะตั้งจุดประสงค์ที่ไม่ชัดเจน หรือเผื่อแถลงข่าวที่เดียวหลายๆเรื่อง ทำให้ประเด็นหลักที่คุณต้องการไม่ถูกพูดถึง
ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจใดๆ คุณควรจะตั้งจุดประสงค์ที่แน่ชัดเอาไว้เสียก่อน เช่น
– ต้องการขายแฟรนไชส์ 100 สาขา ในระยะเวลา 6 เดือน
– หรือต้องการเปิดแฟรนไชส์ที่จังหวัดใหญ่ๆ คือ เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ ในเวลา 1 ปี เป็นต้น
– หรือ ต้องการขายแฟรนไชส์ 20 แห่ง เฉพาะ ในกรุงเทพฯ เท่านั้น การตั้งจุดประสงค์ที่ชัดเจนนี้ จะถูกนำมาวางแผนการทำการตลาดที่ถูกต้อง ตรงเป้า คุ้มค่าเงินและเวลา ในลำดับต่อไป คุณต้องเข้าใจว่า แผนการตลาดที่คุณจะทำนี้ คือเรื่องของการตลาดเพื่อขายแฟรนไชส์ล้วนๆ ไม่ใช่เรื่องของการขายสินค้า หรือเรื่องการสร้างแบรนด์ ซึ่งจะทำทำให้แผนงานที่คุณคิดออกมา เป็นไปตามจุดประสงค์ และได้ผลตามเป้า

3.ให้ข้อมูลก่อน มีสิ่งที่ทำผิดพลาดกันเสมอ ก็คือ มีบริษัท ที่ต้องการขายแฟรนไชส์ อย่างรวดเร็ว เพื่อเปิดสาขาให้ได้จำนวนมากในเวลาที่ตั้งไว้ จึงใช้วิธีการลงสื่อหนังสือพิมพ์ใหญ่ๆเกือบทุกฉบับ โดยเฉพาะแฟรนไชส์ใหม่ๆ ที่เข้ามาจากต่างประเทศ แต่ในที่สุดก็ไม่เห็นผล และมาปรึกษาเรา

คุณลองคิดดูว่า จะมีใครยอมซื้อธุรกิจด้วยเงินเป็นหลักล้าน โดยที่เขาไม่รู้จักมาก่อน ฉะนั้นก่อนที่จะมีการซื้อโฆษณาขายแฟรนไชส์ คุณควรจะมีขั้นตอนในการสร้างความรู้จักธุรกิจมาก่อน หรือการให้ข้อมูลอย่างกว้างขวางเสียก่อน ด้วยการทำประชาสัมพันธ์ หลังจากนั้น จึงซื้อโฆษณาเป็นการปิดท้าย เพื่อให้มีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อธุรกิจของคุณ การมีขั้นตอนที่ดีแบบนี้จะได้ผลที่ดีกว่า

วิธีการทำการตลาดมีอะไรบ้าง
การทำการตลาดเพื่อขายแฟรนไชส์ ที่แนะนำต่อไปนี้ เป็นไอเดียเกี่ยวกับวิธีการต่างๆ ที่จะพูดถึง ข้อดี-ข้อเสียแต่ละวิธี เพื่อทำให้คุณได้พิจารณาเห็นภาพชัดขึ้น และเลือกหยิบมาใช้ให้เหมาะกับกำลังทรัพย์ ตรงแผนงาน และเหมาะกับธุรกิจของคุณ

1.การซื้อโฆษณาสิ่งพิมพ์ เป็นวิธีการที่คนต้องการขายแฟรนไชส์เร็วๆชอบใช้ และถ้าธุรกิจของคุณ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว วิธีการนี้ก็จะเหมาะสม แต่ปัญหาก็คือ คนส่วนมาก ไม่แน่ใจว่าจะซื้อสื่อใดดี การจะเลือกซื้อใด ก็จะดูจุดประสงค์ของคุณว่ามีงบที่เท่าไหร่ และต้องการคนกลุ่มใด และต้องการเปิดในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด
– เช่น ถ้าคุณต้องการให้แรง ทั่วประเทศ ก็อาจจะเลือกซื้อไทยรัฐ หรือ เดลินิวส์ ซึ่งอาจจะแพง แต่ผลตอบรับก็ดีเหมือนกัน แต่ข้อเสียก็คือ ราคาสูง และกลุ่มลูกจะกระจายมาก มีทั้งกลุ่มชาวบ้าน และคนทั่วไป ส่วนราคาขนาด A4 จะประมาณครั้งละ 60,000 บาทขึ้นไป
– แต่ถ้าคุณต้องการ โฟกัส ให้แคบลง เช่น ต้องการเฉพาะผู้ที่สนใจทำธุรกิจ คุณอาจจะซื้อนิตยสาร ที่เจาะกลุ่มผู้ที่ต้องการทำธุรกิจโดยตรง ร่วมกับการทำประชาสัมพันธ์อื่นๆได้ เพราะราคาของนิตสาร จะถูกว่าหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ เดลินิวส์ คุณ อาจจะมีงบเหลือมาใช้ได้ 2 วิธีการ เช่น ซื้อนิตยสาร กับ หนังสือพิมพ์ ประเภทธุรกิจ หรือ ซื้อนิตยสาร กับการจัดแถลงข่าวเป็นต้น

2.การจัดงานแถลงข่าว เป็นวิธีการที่น่าใช้มากที่สุด เพราะใช้งบประมาณไม่มาก อาจะจะอยู่ประมาณที่ 30,000 บาทขึ้นไป แต่จะได้เนื้อข่าวลงในหนังสือพิมพ์ หลายฉบับ ที่เมื่อมาเทียบราคาพื้นที่ที่ได้ลงแล้ว อาจมีมูลค่าถึงหลักแสน หลักล้านทีเดียว แต่ข้อเสียของวิธีการนี้คือ ถ้าคุณไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว อาจจะทำให้ยุ่งยากในการจัดการ หรือคุณอาจจะทำเองไม่ได้ ต้องใช้มืออาชีพเข้ามาช่วย แต่ถึงอย่างไรก็ตามการประชาสัมพันธ์นี้เป็นวิธีการแนะนำให้คุณเลือกใช้

3.การซื้อรายการทีวี เป็นวิธีการที่ได้ผลตอบรับสูง ทันทีทันใด และแรงมากๆ ปัจจุบัน มีรายการทีวีหลายรายการ ที่ขายเวลาช่วงการสัมภาษณ์ เช่น รายการเอสเอ็มอี ชี้ช่องรวย รายการบ่ายนี้มีคำตอบ จมูกมด คลื่นเศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งราคาของการสัมภาษณ์ขั้นต่ำจะประมาณ 30,000 บาท ขึ้นไป แต่ถ้าเป็นรายการที่อยู่ในช่วงเวลาที่ดี จะประมาณ 80,000 บาทขึ้นไป (ในการสัมภาษณ์ 7-15 นาที) ขอแนะนำว่า หากคุณมีงบประมาณที่ซื้อไทยรัฐได้ คุณลองเลือกซื้อการสัมภาษณ์ทีวีจะได้ผลที่ดีกว่า แต่การเลือกรายการคุณจะต้องเลือกรายการที่ออกอากาศในเวลาที่มีคนดูมากเป็นสำคัญ เวลาการออกอากาศที่มีคนดูมากที่สุดก็คือละคร 3 ทุ่ม และรายการก่อนหลังละครนี้เป็นเวลาที่มีคนดูมากที่สุด แต่ช่วงเวลานี้ไม่ค่อยมีการขายการสัมภาษณ์ ดังนั้นเวลาที่ดีก็คือเวลาที่เกาะกลุ่มแถวนี้ เช่น ก่อนข่าว หลังข่าว หรือ สี่ทุ่มก็ยังใช้ได้ ถ้า 5 ทุ่มไปแล้วก็ไม่ค่อยดีนัก

ช่วงเวลาที่น่าสนใจอีกช่วงหนึ่งคือช่วงเช้า เช่น รายการจมูกมด รายการร้านชำยามเช้า ช่วงนี้ก็เป็นเวลาที่ดีมาก แต่การขายรายการจะต้องดูประเด็นของเรื่องที่เข้ากับรายการ และมีความน่าสนใจด้วย

ส่วนรายการช่วงกลางวัน หรือเย็นค่อนข้างด้อยคนดูน้อย แต่จะได้ผลดีในต่างจังหวัด หากคุณจะซื้อรายการในช่วงกลางวัน ควรชดเชยด้วยเวลาสัมภาษณ์ที่นานขึ้น เช่นสัมภาษณ์ ครึ่งชั่วโมงขึ้นไป ก็จะได้ผลพอๆกัน เพราะโทรทัศน์เมืองไทยมีเพียง ช่อง 3 5 7 9 11 และ ไอทีวีเท่านั้น คนดูส่วนมากก็กดไปกดมา ถ้าเวลาสัมภาษณ์ที่นานขึ้น ก็จะทำให้มีโอกาสเข้าถึงคนจำนวนมาก

ที่สำคัญก็คือ เมื่อคุณได้ออกทีวีแล้ว คุณจะต้องประหยัดคำพูด เพราะเวลามีน้อย ถ้ามัวแต่พูดเกริ่นไปมา ก็จะหมดเวลา ทำให้ไม่ได้พูดเรื่องที่จะให้ผลต่อธุรกิจคุณ อีกอย่างหนึ่ง คุณจะต้องมีภาพประกอบ หรืออาจจะมีการสาธิตสินค้าและบริการของคุณให้น่าสนใจ เพื่อดึงผู้ชมให้ชมการนำเสนอของคุณ บางคนอุตส่าห์ซื้อรายการที่แพง แต่กลับได้ผลไม่คุ้มค่า เพราะพูดไม่เข้าเป้า และไม่ได้สื่อให้เห็นของภาพธุรกิจที่น่าสนใจ

4.ออกบูท การร่วมออกบูทเป็นวิธีการที่ดี เพราะว่าจะได้พบกับผู้ที่ต้องการซื้อแฟรนไชส์โดยตรง และได้โอกาสตอบคำถามที่ลูกค้าสงสัยได้ แต่ก็ต้องเลือกงานที่จะไปร่วมแสดงบูทว่า มีกลุ่มลูกค้าเป็นผู้ที่ต้องการลงทุนทำธุรกิจหรือไม่ มีกำลังในการลงทุนไหม ซึ่งงานบูทจะแยกเป็น 2 ประเภท คือ งานที่เน้นกลุ่มแฟรนไชส์ ที่จะมีลูกค้าที่มีกำลังซื้อมากกว่า กับงานที่เน้นกลุ่มของเอสเอ็มอี ที่อาจจะมีลูกค้าเข้าชมงานจำนวนมาก แต่จะมีกลุ่มที่มีกำลังซื้อไม่มากนัก
อย่างไรก็ตามหากคุณ มีแผนที่จะขายแฟรนไชส์ แน่นอนที่สุดคุณควรจะออกงานแสดงบูท เพราะราคาการลงทุนจะอยู่ประมาณ 30,000-40,000 บาท ถ้าเพียงแต่คุณได้พบลูกค้าเพียงรายเดียวก็อาจจะคุ้มค่าแฟรนไชส์ ฟี ของคุณแล้ว และยังเป็นการประชาสัมพันธ์ที่ดีให้คนได้รู้จัดธุรกิจของคุณด้วย

แต่การออกบูท หลายธุรกิจก็พลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย ที่การนำเสนอธุรกิจไม่น่าสนใจ ด้วยตัวพนักงานที่ขาดความกระตือรือร้น การเตรียมเอกสารไม่ดีพอ หรือเตรียมไม่พอ การจัดบูทไม่สวยงาม และที่สำคัญหากเจ้าของกิจการ หรือผู้บริหารไม่ได้เข้ามากำกับดูแลด้วยตัวเอง ก็จะทำให้พนักงานปล่อยผ่านลูกค้าไป อย่างง่ายได้ ซึ่งผิดกับบูทที่มีเจ้าของอยู่ประจำจะได้ผลที่เห็นชัดกว่า

5.ไดเร็กเมล ถ้าคุณส่งไดเร็กเมล โดยทั่วไปแล้วจะได้รับการตอบรับที่ค่อนข้างต่ำ แต่ก็ควรจะเป็นวิธีที่คุณใช้ร่วมกับวิธีการอื่นๆ เพราะ คุณควรใช้หลายวิธี เพื่อทำให้ช่องทางการขายแฟรนไชส์ของคุณได้ผลดียิ่งขึ้น การส่งไดเร็กเมลจะได้รับความเชื่อถือน้อยกว่าการทำประชาสัมพันธ์ผ่านหนังสือพิมพ์ แต่หากคุณส่งตรงคนที่กำลังสนใจก็จะมีผลตอบรับ ดังนั้นการคัดเลือกรายชื่อ เป็นสิ่งที่คุณต้องให้ความสำคัญที่สุด และแน่ใจว่าเป็นเป้าหมายของคุณจริงๆ

6.จัดสัมมนาแนะนำธุรกิจ ก็เป็นวิธีการที่ได้รับผลตอบรับสูง เพราะการบรรยายให้เข้าใจในธุรกิจ อย่างลึกซึ้ง จะสร้างความเข้าใจได้ดีว่า ได้รับความเชื่อถือมากกว่า แต่วิธีการนี้ มีความยุ่งยากซับซ้อน เพราะก่อนที่จะมีการจัดสัมมนาแนะนำธุรกิจได้ ต้องมีการหากลุ่มผู้ฟังก่อน ซึ่งอาจจะต้องใช้ทั้งการโฆษณา การส่งไดเร็กเมล การเก็บรายชื่อผู้ที่สนใจ ซึ่งถ้าผู้ที่ยังไม่มีทักษะในการจัดสัมมนา อาจจะมีไม่มีกลุ่มผู้ฟัง ซึ่งจะทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายสูง
อย่างไรก็ตามวิธีการ จัดสัมมนาธุรกิจนี้ คุณอาจจะทำได้ดี เมื่อหลังจากที่คุณได้ใช้วิธีการอื่นๆมาแล้ว เช่น ช่วงที่คุณไปออกบูท คุณอาจจะมีการเก็บรายชื่อผู้ที่แสดงความสนใจธุรกิจของคุณเอาไว้ หรือเก็บผลตอบรับจากไดเร็กเมลหรือการลงโฆษณา ที่โทรเข้ามาสอบถามธุรกิจของคุณเบื้องต้น คุณก็เชิญพวกเขาเหล่านั้น มาเข้าฟังสัมมนาของคุณ เมื่อคุณได้คนจำนวนซัก 50 คนขึ้นไป ก็เปิดการสัมมนาได้

การจัดสัมมนาแนะนำธุรกิจ น่าจะเป็นวิธีการที่นำมาใช้ เพราะคนส่วนมากแล้ว จะไม่ค่อยกล้าเข้ามาคุยกับเจ้าหน้าที่โดยตรง เพราะเขายังไม่มั่นใจว่าจะทำธุรกิจนี้ดีหรือไม่ บางคนก็กลัวว่า ถ้ามาคุยแล้วจะถูกชักจูงจนยากที่จะปฏิเสธ การสัมมนาแนะนำธุรกิจคนที่มีแนวโน้มสนใจอยู่แล้วจะตกลงมารับฟังได้ง่ายกว่า จึงเป็นการเพิ่มช่องทางในการประชาสัมพันธ์ธุรกิจของคุณที่ละเอียดขึ้น ซึ่งบางคนอาจจะยังไม่มีความพร้อมในวันนั้น แต่ในปีต่อๆไปคนกลุ่มนี้ก็อาจจะกลับมาสมัครเป็นแฟรนไชซี่ของคุณ หรือแนะนำผู้อื่นมาให้ เพราะเขามีความเข้าใจเรื่องราวของกิจการคุณพอสมควร ก็จะเป็นผู้อธิบายกิจการของคุณให้ผู้อื่นฟังอีกต่อหนึ่ง

7.จัดกิจกรรม เป็นการคิดกลยุทธทางการตลาด เพื่อเพิ่มหนทางในการเจาะกลุ่มลูกค้าโดยตรง ทีมงานของผู้เขียนเคยจัดกจกรรมการตลาดให้กับคอนวีเนียนสโตร์ชื่อดังรายหนึ่ง ที่บอกจุดประสงค์ว่า ต้องการพนักงานปูนซิเมนต์มาซื้อแฟรนไชส์ จึงไปจัดกิจกรรมเป็นทีมงานใส่เสื้อโลโก้ และถือป้ายเชิญชวนเพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้สนใจ ที่บริเวณบริษัทปูนซิเมนต์ไทย และแจกโบร์ชัวร์แนะนำให้ การจัดกิจกรรมส่วนมากจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง แต่ถ้าคุณมีเป้าหมายที่เจาะจง ก็จะต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ จัดกิจกรรมให้สอดคล้องกัน เจาะตรงไปยังเป้าหมายที่ต้องการ

8.เข้าโครงการของรัฐ ของฟรีที่ไม่ควรพลาด ของฟรีไม่มีในโลก แต่มีที่โครงการของรัฐ ที่ให้การสนับสนุนเรื่องแฟรนไชส์ เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่มีการเปิดอบรมแฟรนไชส์ฟรีทุกปี การอบรมนี้เป็นเงินของรัฐบาล ที่ผู้เข้ารับการอบรมนอกจากจะได้เรียนฟรีแล้ว ยังเลี้ยงอาหารฟรีอีกด้วย และยังมีโครงการของหน่วยงานกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอีก ที่สสว ก็มีโครงการที่เกี่ยวกับแฟรนไชส์ ที่คุณต้องคอยติดตามเข้าโครงการที่ส่วนมากไม่มีค่าใช้จ่าย และเมื่อคุณได้เข้าร่วมโครงการแล้ว ยังมีของฟรีอื่นๆอีก ให้ทุนออกบูท หรือออกให้บางส่วนฟรี รวมทั้งได้ลงเอกสารแนะนำ ฟรีอีกด้วย

บางคนอาจะกังวลว่า จะเข้าร่วมโครงการได้อย่างไร ส่วนใหญ่แล้วก็มีเกณฑ์คัดเลือกธุรกิจอยู่ แต่ที่จริงก็ผ่านได้ไม่ยากนัก บางโปรแกรมมีผู้สมัครน้อยเพราะไม่ค่อยมีคนรู้ข่าว ทำให้ผู้ที่สมัครได้เข้าโครงการได้อย่างง่ายๆ และถ้าคุณไม่ได้รับคัดเลือก ปีต่อไปคุณก็รอสมัครได้อีก ที่สำคัญคุณต้องติดตามข่าวสารโดยตรงจากหน่วยงานนั้นว่ามีโครงการอะไรบ้าง และจะมีเมื่อไหร่ ก็ต้องสมัครให้ทันเวลา

การเข้าโครงการของรัฐ จะช่วยให้คุณได้โอกาสที่ประหยัดค่าใช้ที่สุด แต่ข้อเสียก็คือ ถ้าคุณมีแผนที่จะขยายแฟรนไชส์อย่างรวดเร็ว ก็จะไม่ได้ผลนัก เพราะต่างจุดประสงค์กัน แต่ถ้าคุณต้องการสร้างระบบอย่างค่อยเป็นค่อยไป ก็จะเหมาะกับการเข้าโครงการนี้ แต่ถึงอย่างไร การเพิ่มโอกาสด้วยการเข้าโครงการรัฐ ก็เป็นวิธีการที่ไม่น่าละเลย

9.จ้างผู้เชี่ยวชาญ สำหรับผู้ที่ต้องทำการตลาดเพื่อขายแฟรนไชส์ ที่ต้องการผลตามเป้าแล้ว คุณอาจจะจ้างผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยจะเหมาะสมกว่า เพราะจะช่วยผ่อนภาระในการทำงานของคุณ รวมทั้งการวางแผนงานก็จะมีประสิทธิภาพ ที่ผ่านประสบการณ์มาแล้วครั้งแล้วครั้งเล่า ที่คุณไม่ต้องลองผิดลองถูกอีกต่อไป
แต่ปัญหาก็คือ คุณอาจไม่รู้ว่าจะจ้างผู้เชี่ยวชาญจากที่ใหน จะเสียค่าใช้จ่ายอย่างไร โดยทั่วไปแล้วคนส่วนมากจะจ้างบริษัทที่ทำโฆษณาจัดการให้ ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะมีความชำนาญในการทำการตลาดในสินค้าทั่วไปอยู่แล้ว ซึ่งก็จะผ่อนภาระให้คุณได้ระดับหนึ่ง นอกจากนี้ก็ยังมีกิจการที่ทำในเรื่องเกี่ยวกับแฟรนไชส์โดยตรงที่คุณควรจะพิจารณา แต่วิธีการที่คุณจะใช้การตัดสินใจเลือกผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วย ไม่ยากเลย เพียงแต่คุณดูจากลูกค้าที่ผ่านมาว่ามีใครบ้าง ตรงกับลักษณะที่คุณต้องการหรือไม่ และถ้าเป็นไปได้คุณควรสอบถามลูกค้าเดิมที่เคยใช้บริการจากผู้เชี่ยวชาญนั้น ว่าได้ผลเพียงไร

10.จัดงานร่วมกับองค์กรธุรกิจ มีองค์ธุรกิจที่อาจสอดคล้องกับธุรกิจของคุณ เช่น หอการค้าไทย โรตารี่ สมาคมสปา สมาคมค้าปลีก ฯลฯ หรือสมาคมธุรกิจที่เกี่ยวกับธุรกิจนั้น โดย ที่คุณสามารถที่จะจัดกิจกรรมร่วมกันได้ เช่นบางสมาคมอาจจะมีการจัดกิจกรรมประจำปีอยู่แล้ว ที่คุณสามารถนำเสนอรายการของคุณเข้าร่วม โดยมีจุดประสงค์ที่สอดคล้องกัน แต่จะมีวิธีการที่ง่ายขึ้น ถ้าคุณมีการบริจาคเงินให้กับสมาคมที่คุณสนใจเข้าร่วมกิจกรรมบ้าง ก็จะได้รับความร่วมมือในการจัดกิจกรรมได้ง่ายขึ้น หรืออาจจะสมัครเป็นสมาชิก หรือวิธีการอื่นๆ ที่จะช่วยให้คุณได้รับโอกาสจากกลุ่มเป้าหมายนั้น

11.จัดทำเว็ป มีผู้ที่ได้รับการติดต่อซื้อแฟรนไชส์จากการทำเวปของกิจการมาแล้ว แต่อาจจะไม่เยอะนัก พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ในการหาข้อมูลจากเวปมีเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา ถึงแม้ว่าเทียบกับผลที่มาจากสื่ออื่นๆไม่ได้ แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นทุกวันๆ ดังนั้นการมีเวปเพื่อให้ผู้สนใจค้นหา หรือพ่วงเข้าไปกับเวปที่มีกลุ่มเป้าหมาย ก็เป็นการเพิมช่องทางที่น่าสนใจ

12.การร่วมมือกับสถาบันการเงิน สถาบันการเงิน มีเป้าในการสรรหาลูกค้า เอ็สเอ็มอี ให้มากู้เงิน ดังนั้นแทบทุกธนาคารเปิดโอกาสที่จะร่วมมือกับธุรกิจแฟรนไชส์ ในการสนับสนุนการกู้เงินให้ผู้ลงทุน ไม่ว่าจะเป็น เอสเอ็มแบงค์ ธนาคารทหารไทย กสิกร นครหลวง ฯลฯ นี่เป็นโอกาสที่ดี ที่จะเป็นช่องทางหนึ่งของการตลาด เพื่อช่วยให้ความสะดวกแก่ลูกค้าที่ต้องการทำธุรกิจ แต่ติดปัญหาเรื่องการลงทุน

แต่ที่จริงแล้วเงื่อนไขของการกู้เงินเพื่อซื้อแฟรนไชส์ จะไม่ต่างจากการกู้เงินทั่วไปเลย ที่ผู้กู้ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และจะต้องมีการตรวจสอบเครดิดความสามารถในการชำระคืนของผู้กู้ เป็นหลัก แต่การได้ชื่อว่ามีสถาบันการเงินสนับสนุน ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความเชื่อถือให้กับธุรกิจคุณ ที่สำคัญสถาบันการเงินก็จะให้ความร่วมมือในการหาคู่ค้าให้คุณ จึงเป็นช่องทางที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการทำการตลาดของคุณได้

13.การติดป้ายที่ร้านสาขา รถส่งของ หรือข้อความที่ถุงใส่ของ คือ การติดป้ายที่ร้านสาขาของคุณว่า สนใจธุรกิจแฟรนไชส์ของคุณติดต่อได้ที่เบอร์โทร…….. หรือมีข้อความที่รถส่งของ หรือในถุงใส่ของ หรือสิ่งของอื่นๆที่คุณเห็นว่าเป็นช่องทางในการทำประชาสัมพันธ์ได้ วิธีนี้ก็เป็นการเพิ่มช่องทางที่คุณไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายใดๆเพิ่มเติม ผลที่ได้รับอาจไม่เจาะตรงกลุ่มลูกค้านัก แต่เป็นการเพิ่มโอกาสส่วนหนึ่งที่คุณสามารถหยิบนำมาใช้ร่วมกับวิธีการอื่นๆ

14.การนัดเจรจาธุรกิจ เป็นวิธีการง่ายๆที่ได้ผล ค่าใช้จ่ายน้อย คือการลงข่าวประชาสัมพันธ์การนัดเจราจาธุรกิจ ที่สรรหาผู้สนใจ และส่งข่าวไปถึง เพื่อให้เข้ามาพบและสอบถามเกี่ยวกับธุรกิจของคุณ วิธีการนี้จะได้รับการตอบรับหรือไม่ จะขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของธุรกิจคุณ และความน่าสนใจในตัวธุรกิจ
ผลที่ได้อาจจะมีจำนวนไม่มาก แต่เป็นวิธีการที่ง่าย ไม่ยุ่งยาก และอาจทำซ้ำได้ถ้ายังได้ผลไม่น่าพอใจ แต่ข้อเสียก็คือ จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับการทำประชาสัมพันธ์
ตัวอย่างการทำการตลาดเพื่อขายแฟรนไชส์ที่แนะนำมานี้ จะทำให้คุณมองเห็นวิธีการที่ได้ประโยชน์และเลือกนำมาใช้ แต่อาจจะยังติดปัญหาอยู่ตรงที่ว่า คุณจะเลือกอย่างไร และใช้งบประมาณอย่างไร

มีข้อแนะนำง่ายๆว่า ขั้นแรกคุณจะต้องตั้งงบของตัวเองไว้ก่อนเลยว่า คุณจะสามารถจ่ายได้เท่าไหร่ อาจจะ 20,000 หรือ 100,000 หรือ 300,000
ซึ่งเมื่อคุณมีกำลังจะจ่ายได้เท่าไหร่ แล้วคุณลองเช็คงบประมาณของแต่ละวิธี แล้วเรียงลำดับความสำคัญที่สุดขึ้นก่อน สมมุติว่าคุณเลือกมา 5 อันดับ ที่รวมแล้วเกินงบประมาณที่ตั้งเอาไว้ คุณก็จะตัดจากข้างล่างทิ้งไป เหลือเฉพาะอันดับที่ดีที่สุดเอาไว้ แต่อย่าลืมของฟรี หรือที่ค่าใช้จ่ายน้อย มาร่วมใช้ เสริมด้วย

อ้างอิงจาก : เคเอสเอ็มอีแคร์

แสดงความคิดเห็น