การบริหารคลังสินค้า
การควบคุมกระแสหมุนเวียนของสินค้าคงคลัง การนำเทคโนโลยี/ระบบงานต่างๆ มาช่วยบริหารจัดการ/เพิ่ม “Visibility” และเน้นกระบวนการตรวจสอบทุกกิจกรรม เพื่อความถูกต้อง เหมาะสม ซึ่งท้ายที่สุดจะนำมาซึ่งประสิทธิภาพในการบริหารคลังสินค้าได้
การควบคุมการหมุนเวียนของสินค้าคงคลังเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ ใน “การบริหารคลังสินค้า” เพราะการควบคุมกระแสหมุนเวียนของสินค้าคงคลังนำมาซึ่งประสิทธิภาพใน “การบริหารคลังสินค้า” แนวทางการบริหารจัดการคลังสินค้าต่อไปนี้ อาจเป็นเพียงขั้นตอนบางส่วน ที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถบริหารจัดการและควบคุมสินค้าคงคลังได้ดีขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของธุรกิจ ทำให้ธุรกิจมีต้นทุนที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันได้
1.เริ่มต้นด้วยการเซ้งผลิตภัณฑ์ที่ไม่จำเป็น
คลังสินค้ามีแนวโน้มที่จะกลายเป็นห้องเก็บสต็อคสำหรับสินค้าเก่าได้ขั้นตอนแรกในการควบคุมสินค้าคงคลังอย่างมีประสิทธิภาพ คือ ต้องเซ้ง หรือ กำจัดสินค้าที่ไม่จำเป็นออกเสียก่อน ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ไม่ได้ใช้/ไม่มีประโยชน์สำหรับการทำงานในคลังสินค้าด้วย (เว้นแต่เป็นอุปกรณ์พิเศษที่มีไว้สำหรับเคลื่อนย้ายสินค้าที่มีขนาดใหญ่)
2. การหยิบสินค้าแบบ Wave Picking
Wave Picking ถือเป็นกระบวนการมาตรฐานของการบริหารจัดการ และ การหยิบสินค้าภายในคลังสินค้ามานานหลายปี แต่ความหลากหลาย และ เงื่อนไขของสินค้าที่มีเยอะมากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้การบริการแบบเดิม ๆ ที่เคยได้ผลดีในอดีต อาจจะใช้ไม่ได้กับปัจจุบัน โดยเฉพาะปัจจุบันที่ e-commerce เติบโตมากขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึง ลูกค้าต้องการความรวดเร็ว ความสะดวก และ สินค้าที่หลากหลายมากขึ้น การหยิบสินค้าแบบเดิม ๆ ใช้เวลานาน และ เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของ e-commerce ดังนั้น เพื่อให้เราสามารถควบคุมสินค้าคงคลัง และ เพิ่มประสิทธิภาพของคลังสินค้าได้ เราต้องมีกลยุทธ์ในการหยิบสินค้าแบบ Waveless Picking เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น เนื่องจากงานไม่ได้รวมกลุ่มกันเป็นชุดคำสั่งซื้อ แต่จะถูกนำเข้าสู่ระบบประมวลผล เพื่อให้การหยิบสินค้ามีความรวดเร็ว และ มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การทำ order streaming (ซอฟแวร์ที่ใช้ในคลังสินค้า หรือ ศูนย์กระจายสินค้า เพื่อแก้ไขปัญหาความซับซ้อนของลำดับในการเลือกหยิบสินค้า โดยระบบจะประมวลผลให้ว่าต้องหยิบอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ จึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด)
3. ใช้ระบบช่วยรีวิวสินค้าก่อนจะสั่งสินค้าล็อตต่อไป
ก่อนจะสั่งสินค้าล็อตใหม่ เราต้องพิจารณาโฟลวของสินค้าก่อน ว่าสินค้านั้น ๆ ยังเป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่ เทรนด์การซื้อสินค้าเป็นแบบไหน วิธีการนี้จะช่วยป้องกันการซื้อสินค้า Slow-Moving ได้ (สินค้าขายไม่ดี) และยังช่วยให้ปริมาณสินค้าคงคลังมีความเหมาะสมอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น การรีวิวสินค้าพร้อม ๆ กับการพิจารณาพื้นที่ในการจัดเก็บสินค้า จะช่วยให้เราใช้พื้นที่คลังสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการตอบสนองความต้องการของลูกค้าในช่วง High-Season ได้อีกด้วย
4.ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติ
เทคโนโลยีอัตโนมัติ เช่น Radio Frequency Identification-RFID (เทคโนโลยีที่จะช่วยเพิ่ม visibility ในคลังสินค้า และ การขนส่ง) หรือ Automatic Storage and Retrieval System -ASRS (เทคโนโลยีจัดเก็บและหยิบสินค้าอัตโนมัติ) สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารคลังสินค้าได้ เช่นเดียวกัน แต่เทคโนโลยีเหล่านี้ มีต้นทุนและค่าบำรุงรักษาระบบสูง จึงควรพิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้งาน และความจำเป็นของธุรกิจตนเองด้วย
5.เพิ่มความแข็งแกร่งด้านการจัดการการคืนสินค้า
การคืนสินค้า เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมของคลังสินค้า แม้แต่แผนการประมวลผลคำสั่งซื้อที่ดีที่สุด ก็ยังไม่สามารถป้องกันการคืนสินค้าได้ แต่จะช่วยให้การคืนสินค้าลดน้อยลงเท่านั้น เราจึงต้องมีกระบวนการบริหารจัดการการคืนสินค้าที่แข็งแกร่ง (มีประสิทธิภาพ) เช่น สาเหตุการคืนสินค้า มูลค่าของสินค้าที่คืน สินค้าที่คืนสามารถนำไปขายได้หรือไม่ แล้วผู้ขายรายอื่น ๆ ยอมรับสินค้าที่ส่งคืนมานี้ได้หรือไม่ (ผู้ขายแต่ละรายมีเงื่อนไขต่างกัน เช่น สินค้าเดียวกัน มีรอยขีด 1 ขีด เจ้าแรกอาจต้องคืนทุกกรณี แต่อีกเจ้ากลับยอมรับสินค้า ก็เป็นได้) ซึ่งเมื่อพิจารณาและปฏิบัติตามกระบวนการอย่างถูกต้อง จะสามารถประหยัดต้นทุน/ค่าดำเนินการได้อย่างมาก
6.ใช้ประโยชน์จากระบบและการบริการจากภายนอก
บางช่วงเวลา การบริหารคลังสินค้าในปัจจุบัน ก็ไม่สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าได้ เช่น ช่วงHigh-Season และการเติบโตของ e-commerce ในปัจจุบัน อาจจะถึงเวลาที่เราต้องพิจารณาใช้บริการจากภายนอก (Third-Party) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของคลังสินค้า ผ่านการเชื่อมระบบ หรือ การเติมเต็มด้านการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะผู้ให้บริการขนส่งภายนอก (Third-Party Logistics Provider) จะช่วยให้ธุรกิจมีการบริหารสินค้าคงคลังอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการให้บริษัทเข้าถึงระบบ supply chain ขั้นสูง และดำเนินการโดยมืออาชีพตลอดกระบวนการทั้งหมด
7. ตรวจสอบ ตรวจสอบ และตรวจสอบ
การตรวจสอบ เป็นกระบวนการสำคัญในการลดปัญหา และ เพิ่มประสิทธิภาพ ของสินค้าคงคลัง ทุก ๆ การซื้อขายควรถูกตรวจสอบเพื่อความถูกต้อง และ ความเป็นไปได้ในการเกิดปัญหา ซึ่งในปัจจุบันหลาย ๆ บริษัทหันมาใช้บริษัทภายนอก ในการตรวจสอบกันมากขึ้น เพื่อลดกระบวนการทำงานของตนเอง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก SCG LOGISTICS