การวางแผนการลงทุนเพื่อขยายกิจการ

เมื่อดำเนินกิจการมาได้อย่างราบรื่น และมีแนวโน้มที่ส่งสัญญาณแล้วว่าจะไปได้สวยกว่าเดิม นั่นหมายความว่าคงได้เวลาต้องขยายกิจการ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มกำลังการผลิต เพิ่มสาขา การขยายเข้าสู่ตลาดใหม่หรือการเข้าไปซื้อกิจการของผู้อื่น อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่การจะขยายกิจการก็ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ จะต้องมีการวางแผนและเตรียมความพร้อมให้ดีก่อนจะเดินหน้า เพราะมิเช่นนั่นผิดพลาดขึ้นมาจะถอยหลังกันไม่เป็นขบวน ดังนั้นก่อนจะเริ่มดำเนินการขยายกิจการ คุณลองมาเช็คความพร้อมของคุณก่อนดีกว่าว่าคุณพร้อมระดับไหน

แน่ใจนะว่าคุณพร้อม
ก่อนอื่นเลยคุณต้องเข้าใจก่อนว่าเมื่อธุรกิจโตขึ้นการบริหารจะซับซ้อนขึ้นอาจสร้างแรงกดดันให้กับตัวคุณเพราะต้องมีการลงทุนมากขึ้น ใช้เวลาในการทำงานมากขึ้น ดังนั้นก่อนที่จะวางแผนเพื่อการขยายงาน คุณต้องแน่ใจว่าคุณพร้อมที่จะรับผิดชอบมากขึ้นและหนักขึ้น ลองทบทวนตัวเองก่อนว่าคุณสามารถอ่านงบการเงินได้อย่างเข้าใจ คุณสามารถบริหารสภาพคล่องด้านต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เช่น การบริหารการเป็นลูกหนี้รวมทั้งการเป็นเจ้าหนี้ การบริหารสินค้าคงคลัง เป็นต้น คุณสามารถวางแผนบริหารการเงินสำหรับการขยายกิจการได้ด้วยตัวคุณเอง และมีพันธมิตรทางธุรกิจที่ดี มีที่ปรึกษาในด้านแหล่งเงินทุนสำหรับธุรกิจ SMEs แล้วอย่างเรียบร้อย คุณสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมกับรายได้เป็นอย่างดี สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นปัจจัยที่จะทดสอบว่าคุณพร้อมแล้วหรือไม่ที่จะเดินหน้าขยายกิจการ หากคุณมีข้อบกพร่อง หรือไม่สามารถทำตามเกณฑ์เหล่านี้ได้ ก็ขอให้คุณชะลอโครงการที่จะขยายธุรกิจของคุณไว้ก่อน

ทบทวนวัตถุประสงค์ของการขยายธุรกิจ
ถ้าคุณคิดว่าคุณพร้อมที่จะขยายธุรกิจ ก่อนที่จะเริ่มลงมือคุณควรทบทวนอีกสักครั้งว่าวัตถุประสงค์ของการขยายธุรกิจที่คุณกำลังจะทำนี้จะทำไปเพื่อสิ่งใด แน่นอนส่วนใหญ่ก็เพราะเรื่องเงิน ทุกคนต้องการผลตอบแทนที่มากขึ้น แต่เงินที่มากขึ้นก็มาพร้อมภาระรอบด้านที่มากขึ้นไปด้วย ฉะนั้นคุณจึงต้องถามตัวเองให้ดีว่า คุณจะสามารถรับภาระที่มากมายที่กำลังจะตามมาได้หรือไม่

คุณวางแผนการเงินอย่างรอบคอบแล้วใช่ไหม
ผู้ประกอบการควรวางแผนการลงทุนหรือประมาณการงบกำไรขาดทุน งบกระแสเงินสดและงบดุล ด้วยการคาดการณ์ตัวเลขที่จะนำมาขยายกิจการ เปรียบเทียบกับเงินลงทุนก่อนที่จะขยายกิจการว่ามีความคุ้มทุน และเมื่อลงทุนไปแล้วจะสามารถอยู่รอดได้หรือไม่ ทุกขั้นตอนควรทำมากกว่า 1 รอบ ทบทวนเพื่อความแน่ใจและให้ผิดพลาดน้อยที่สุด นอกจากนี้ ควรศึกษาข้อได้เปรียบเสียเปรียบของแหล่งเงินทุนแต่ละแห่งก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการขั้นต่อไป รวมไปถึงศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายด้วย

มั่นใจว่าบริหารสภาพคล่องได้
สภาพคล่องทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ของการดำเนินธุรกิจ เพราะแสดงถึงความพร้อมของเรื่องเงินว่าคุณมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอที่จะนำมาใช้ในการดำเนินงาน และมีความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้นของกิจการเมื่อถึงกำหนดได้ เช่น ชำระค่าสินค้าและเงินกู้ยืม ถ้าคุณจะขยายกิจการคุณจึงต้องมั่นใจว่าคุณจะบริหารสภาพคล่องทางการเงินของคุณได้ ถ้าเมื่อไหร่ที่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน คุณจะต้องมีแผนสำรองเอาไว้ คุณต้องรู้ช่วงจังหวะที่จะชะลอตัวธุรกิจของคุณเพื่อคงสภาพคล่องไว้ให้ได้ นอกจากสภาพคล่องทางการเงินแล้ว การบริหารลูกหนี้การค้าและการบริหารสินค้าคงเหลือก็เป็นสิ่งที่คุณจะต้องรับมือไปพร้อมๆ กันด้วย คุณจึงตรวจสอบตัวเองว่ารับตรงนี้ไหวหรือเปล่า และเรามีความสามารถที่จะทำถึงขั้นนั้นหรือไม่

วิเคราะห์จุดคุ้มทุนได้หรือไม่
การวิเคราะห์จุดคุ้มทุนจัดว่าเป็นเครื่องมืออีกชนิดหนึ่งที่ช่วยให้ทราบถึงความสัมพันธ์ของการขาย ปริมาณการขาย ต้นทุน กำไร ซึ่งสามารถนำเรื่องจุดคุ้มทุนมาวางแผนธุรกิจและนำมาเป็นข้อมูลในการช่วยตัดสินใจว่าควรขยายกิจการต่อไปหรือไม่อย่างไร

คุมกำลังคนได้ดีแค่ไหน
นอกจากเรื่องการบริหารเงินแล้วสิ่งที่สำคัญตีคู่มาด้วยกันเลยก็คือ การบริหารคน ก็มีความสำคัญไม่แพ้การบริหารงานส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ซึ่งคุณต้องเข้าใจว่าธุรกิจของคุณไม่ใช่ธุรกิจขนาดใหญ่ สำหรับคุณที่เป็นเจ้าของกิจการแล้วมันน่าสนุก แต่สำหรับพนักงานของคุณเขาอาจไม่สนุกไปกับคุณด้วย ถ้าคุณขยายกิจการไปงานมีมาก แต่คนทำงานไม่มีทุกอย่างก็ต้องพัง คุณจะบริหารสภาพคล่องของคนอย่างไรให้งานกับคนและเงินทั้ง 3 ส่วนสมดุลกัน บางครั้งเมื่อคุณขยายกิจการไป คุณอาจจะยังหาคนมาช่วยงานตรงส่วนที่ขยายออกไปไม่ได้ คุณก็ต้องใช้คนเก่าที่มี ซึ่งเท่ากับว่าพนักงานของคุณต้องรับภาระที่หนักขึ้น แม้ว่าคุณจะปรับเงินเดือนให้เขาก็ตาม

แต่ความคิดของพนักงานอาจจะมองว่าไม่คุ้มก็ได้ และพนักงานส่วนใหญ่ก็จะรู้อยู่แล้วในเรื่องของการเติบโตขององค์กรว่า คงจะเติบโตไปได้ไม่มากนัก ซึ่งจากการวิเคราะห์พนักงานในองค์กรธุรกิจหลายๆแห่งที่เป็น SMEs ส่วนใหญ่พบคำตอบที่น่าสนใจว่า ไม่มีแรงจูงใจในการทำงานเพราะสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือหัวหน้างานและค่าตอบแทน นั่นจึงเป็นปัญหาที่ทำให้ผู้ประกอบที่กำลังจะตัดสินใจขยายกิจการต้องกลับมาทบทวนตนเองอีกครั้งว่า คุณเก่งงาน คุณเก่งเงิน แต่คุณเก่งเรื่องคนด้วยหรือเปล่า คุณมีความสามารถสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานจนพวกเขาสามารถที่จะภักดีกับองค์กรได้มากน้อยแค่ไหน

ชัวร์ว่าปัญหาเก่าเคลียร์แล้ว
มีผู้ประกอบการไม่น้อยตีโจทย์ผิด กิจการที่กำลังทำอยู่นั้นกำลังมีสภาพนิ่งไม่ตื่นตัว ก็ทำให้คิดว่า วิธีที่จะกระตุ้นธุรกิจของตนเองให้ตื่นตัวในตลาดก็คือการลงทุนเพิ่มและขยายกิจการ จึงเรียกได้ว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ทำให้ผู้ประกอบการหลายคนใช้การขยายกิจการเป็นตัวแก้ปัญหายอดขายที่คงที่ ซึ่งเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ คุณจะต้องเข้าใจประเด็นเสียใหม่ ปัญหาเก่าคุณต้องหาสาเหตุแห่งปัญหาให้เจอเสียก่อนและไปแก้ที่ต้นเหตุ การขยายกิจการเป็นคนละเรื่องกัน อย่าเอามาปะปนกัน แก้ปัญหาเก่าให้เคลียร์ก่อน แล้วดูแนวโน้มต่อไปว่าตลาดเป็นอย่างไร จากนั้นค่อยมาคิดเรื่องขยายกิจการ ตรงจุดนี้จึงต้องบอกว่า ถ้าผู้ประกอบการรายใดกำลังประสบปัญหาธุรกิจอยู่ในสภาพนิ่ง คุณก็ต้องแก้ปัญหาตรงจุดนั้นก่อนแต่ถ้าคุณมีความคิดว่าจะใช้การขยายกิจการมากระตุ้นตลาด ต้องขอบอกเลยว่าคุณยังไม่พร้อมที่จะเติบโต เพราะคุณยังตีโจทย์ธุรกิจของคุณไม่แตก

เป้าหมายคุณชัดเจนแค่ไหน
ถ้าธุรกิจของคุณในปัจจุบันกำลังไปได้สวย การขยายกิจการต่อไปก็ขอให้คุณกลับมามองนับหนึ่งใหม่เหมือนตอนที่คุณกำลังเริ่มทำธุรกิจครั้งแรก ถ้าในวันนี้คุณประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง แสดงว่าเป้าหมายของคุณชัดเจน การจะขยายกิจการออกไปเป้าหมายก็ต้องชัดเจนเช่นนั้นไม่ต่างกัน คุณอย่าจับปลาสองมือ อย่าห่วงหน้าพะวงหลัง ชัดเจนอันเก่าแต่คลุมเครือในอันใหม่ ความชัดเจนต้องเกิดขึ้นทั้งสองทาง คือทั้งกิจการที่ดำรงอยู่และกิจการที่กำลังจะขยายออกไปด้วยดังนั้นเราควรโฟกัสไปที่กลุ่มเป้าหมายที่ใช่สำหรับกิจการของเราที่จะขยายออกไป ระบุกลุ่มเป้าหมายของกิจการอย่างชัดเจนจะทำให้จัดการส่งเสริมการตลาดได้ตรงจุดที่สุด จำไว้ว่าต้องชัดเจนทั้งสองจุด หากคุณขยายกิจการออกไปแล้วกลุ่มเป้าหมายใหม่อาจไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ก็ยังจะไม่เจ็บมาก เพราะอย่างน้อยๆคุณก็ไม่สูญเสียกลุ่มเป้าหมายเดิมไป

การเติบโตขึ้นจากธุรกิจขนาดเล็กเพื่อเป็นธุรกิจขนาดใหญ่นั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ ถ้าเราเลือกที่จะก้าวไปทีละก้าวแบบช้าๆ โดยมีฐานที่เริ่มต้นจากสิ่งที่เรามีอยู่แล้วทุกย่างก้าวที่เคลื่อนไปก็อาจจะพาเราเติบโตไปได้อย่างช้าๆ และค่อยเป็นค่อยไป ความเสี่ยงก็มีน้อย แต่ถ้าคุณจะกระโดดไปเลยคุณก็ต้องวางแผนอย่างรอบคอบตรวจสอบความพร้อมของคุณให้ดี เพราะธุรกิจเป็นเรื่องที่บางครั้งโอกาสที่จะกลับมาแก้ตัวใหม่มีไม่มาก

แสดงความคิดเห็น