การส่งออกของไทยในปี 2558 ยังต้องฝ่าหลายปัจจัยเสี่ยง
แม้ตลาดต่างประเทศจะเป็นช่องทางในการกระจายสินค้าขนาดใหญ่ที่สร้างโอกาสและความสำเร็จให้กับผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก แต่คงต้องยอมรับว่าสถานการณ์ตลาดในบางช่วงอาจไม่เอื้อต่อภาคธุรกิจส่งออกมากนัก ดังเช่นในปีนี้ซึ่งเป็นปีที่ผู้ประกอบการไม่เพียงเผชิญกับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเท่านั้น แต่ยังต้องรับมือสภาพการแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและผลกระทบจากราคาน้ำมัน ก็เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงให้กับการประกอบธุรกิจในปีนี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นการที่ภาคการส่งออกไทยจะฝ่าหลายปัจจัยเสี่ยงของปี 2558 ไปได้นั้น ผู้ประกอบการอาจต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตลาดโลกทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
เตรียมความพร้อมรับมือกับหลายประเด็นท้าทายในปี 2558
สถานการณ์การส่งออกของไทยที่กลับมาหดตัวลงอีกครั้งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2558 สะท้อนว่า หลายปัจจัยลบที่กดดันให้การส่งออกของไทยหดตัวลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยังคงเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของการส่งออกของไทยในปีนี้ ดังนั้น การทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจต่างประเทศ ตลอดจนปัจจัยด้านธุรกิจ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถวางกลยุทธ์เพื่อบรรเทาความเสี่ยง ควบคู่ไปกับการรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างเหมาะสม
การฟื้นตัวของกำลังซื้อในตลาดโลกยังไม่แน่นอน โดยเฉพาะตลาดส่งออกสำคัญซึ่งทิศทางเศรษฐกิจยังมีสัญญาณอ่อนแรง ได้แก่ จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ทั้งนี้ สาเหตุของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศดังกล่าวเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาในระดับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ต้องใช้ระยะเวลาในการเยียวยาแก้ไขปัญหา และน่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศผู้ดำเนินนโยบายในระยะยาว อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นมาตรการดังกล่าว อาจมีผลกระทบบางด้านต่อไทยในฐานะคู่ค้า
การชะลอตัวของประเทศชั้นนำฉุดกำลังซื้อในตลาดโลกให้ชะลอตามไปด้วย โดยเฉพาะจีนที่ตั้งเป้าหมายอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2558 ไว้ที่ร้อยละ 7.0 ซึ่งนับเป็นระดับการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 25 ปี (และชะลอลงจากอัตราการเติบโตในปี 2557 ที่ร้อยละ 7.4) ทั้งนี้ นอกจากจีนจะเป็นตลาดส่งออกสินค้าขนาดใหญ่ของไทยแล้ว การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนยังอาจมีผลทำให้เศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียนชะลอตัวลงตามไปด้วย ซึ่งเท่ากับว่าสัดส่วนของตลาดส่งออกกว่าร้อยละ 37 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ยังมีภาพการฟื้นตัวที่เปราะบางค่อนข้างมากในปีนี้
เงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินของหลายประเทศคู่ค้า นำโดย สกุลเงินยูโรของกลุ่มประเทศยูโร เงินเยนของญี่ปุ่น และเงินหยวนของจีน ซึ่งอาจทำให้ดูเหมือนว่าสินค้าส่งออกของไทยมีราคาแพงขึ้นในมุมมองของประเทศคู่ค้ากลุ่มนี้ ขณะที่ ผู้ประกอบการบางส่วนอาจต้องยอมรับการเจรจาขอปรับลดราคาจากลูกค้าต่างประเทศ เพื่อชดเชยกับเงินบาทที่แข็งค่า นอกจากนี้ หากเทียบกับประเทศคู่แข่งด้าน
การส่งออกของไทย ได้แก่ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เงินบาทของไทยมีทิศทางแข็งค่ามากกว่าคู่แข่งด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจทำให้สินค้าส่งออกของไทยเสียเปรียบทางด้านราคาเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะ สินค้าที่สามารถทดแทนได้ง่ายโดยผู้ผลิตรายอื่น นอกจากนี้ สถานการณ์เงินบาทยังอาจผันผวนมากขึ้นในระยะข้างหน้า หากธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย สวนทางกับประเทศโดยส่วนใหญ่ ซึ่งผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับต่ำกดดันมูลค่าการส่งออกสินค้าสำคัญหลายประเภท ทั้งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันหรือราคาน้ำมันทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก นำโดย สินค้าที่มีวัตถุดิบหรือสารตั้งต้นจากน้ำมัน อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป พลาสติกและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ กลุ่มสินค้าที่สามารถใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนน้ำมัน อาทิ ยางพารา ซึ่งสามารถใช้ในการผลิตยางทดแทนยางที่สังเคราะห์จากน้ำมัน และกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตพลังงานทางเลือก อาทิ อ้อย และมันสำปะหลัง ดังนั้น ราคาน้ำมันที่ถูกลงจึงส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกในกลุ่มดังกล่าวปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน
สภาวะการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น หลังจากไทยถูกตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่ได้รับจากสหภาพยุโรป (ตามเงื่อนไขที่ไทยได้รับการจัดอันดับจากธนาคารโลกให้เป็นประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง 3 ปีติดต่อกัน) ซึ่งเป็นผลให้ราคาสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสหภาพยุโรปมีราคาสูงขึ้น และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกไทยแข่งขันลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่แข่งขันกับเวียดนาม กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่ยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีดังกล่าว นอกจากนี้ หากรวมกับปัจจัยด้านค่าแรงของไทยที่สูงกว่าเพื่อนบ้านแล้ว ก็ยังสะท้อนอีกข้อจำกัดในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยเช่นกัน
ทั้งนี้ หากจำแนกสินค้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงในปี 2558 แล้ว สินค้าที่อ่อนไหวต่อปัจจัยเสี่ยงมากที่สุด คงเป็นสินค้าในกลุ่มเกษตร เกษตรแปรรูป และสินค้าที่พึ่งพากำลังแรงงานในการผลิตสูง เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่มีการแข่งขันสูงในตลาดโลก ประกอบกับหลายปัจจัยลบที่เข้ามาซ้ำเติมยังอาจทำให้ผู้ประกอบการอาจต้องสูญเสียพื้นที่ทางการตลาด ขณะที่ สินค้าส่งออกในบางกลุ่มยังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ลดลง อย่างไรก็ดี สถานการณ์การส่งออกสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าทุนและเทคโนโลยียังมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นในปีนี้ จากแรงหนุนของการฟื้นตัวของสหรัฐฯ
กลยุทธ์รับมือสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในตลาดโลกปี 2558
แม้สภาพแวดล้อมของตลาดโลกในปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน อย่างไรก็ดี หากผู้ประกอบการทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ดังกล่าว ก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับกลยุทธ์ในระยะสั้นและระยะยาวได้อย่างเหมาะสม ซึ่งก็น่าจะช่วยบรรเทาความเสี่ยง หรือลดทอนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นไปได้บางส่วน
สำหรับในปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หลายปัจจัยเสี่ยงอาจกดดันให้ภาคการส่งออกของไทยเผชิญกับอุปสรรคในการฟื้นตัว (โดยคาดว่า อัตราการขยายตัวของการส่งออกจะอยู่ที่ร้อยละ 0.0 ซึ่งสะท้อนสถานการณ์ที่ไม่แตกต่างไปจากที่หดตัวลงในช่วง 2 ปีก่อนหน้านี้) โดยความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของเงินบาท และสภาพการแข่งขันในตลาดโลกที่มีความรุนแรงมากขึ้น จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ประกอบการไทยในภาคการส่งออกจำเป็นต้องเตรียมรับมือ ทั้งที่ผ่านกลยุทธ์ระยะสั้นเพื่อช่วงชิง/รักษาพื้นที่ทางการตลาด และการปรับตัวในระยะยาวผ่านการเพิ่มศักยภาพในการผลิต ทั้งในด้านการลดต้นทุน รวมไปถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ที่จะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถยืนหยัดในทุกสถานการณ์และสภาพแวดล้อมในตลาดโลกได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีนาคม 2558