สินค้าการเกษตรเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศอย่างมหาศาลในแต่ละปี หากเปรียบเทียบกับธุรกิจสาขาอื่นแล้ว ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรทำรายได้เป็นสัดส่วนที่มากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ทำการเกษตรมาอย่างช้านาน สามารถทำการเกษตรได้ทุกฤดูกาล มีดินที่อุดมสมบูรณ์ มีอากาศที่เหมาะกับการทำการเกษตรเกือบตลอดปี แต่ละภูมิภาคจะมีการเพาะปลูกสินค้าที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ผลผลิตที่ได้มีความแตกต่าง เช่นภาคเหนืออากาศหนาวเย็นกว่าที่อื่นจะเพาะปลูกพืชผักเมืองหนาว ภาคอีสานมีอากาศร้อนแห้งแล้งก็ปลูกพืชที่ทนแล้งหรือต้องการน้ำน้อย ในขณะที่ภาคใต้เป็นพื้นที่ฝนตกชุกเหมาะกับการปลูกพืชที่ชอบอากาศร้อนชื้นและทำการประมง
แต่อย่างไรก็ตามคนที่ทำอาชีพเกษตรกรกลับมีรายได้น้อยทั้งๆที่ทำงานหนักและขยันอดทนมากกว่าอาชีพอื่นด้วยซ้ำ นั่นเพราะว่าเป็นการทำการเกษตรแบบเก่าที่เน้นการผลิตเก็บเกี่ยวและขายออกไปโดยขาดการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น หรือแม้กระทั่งการทำบรรจุภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจ เมื่อเก็บเกี่ยวได้ก็จะขายออกไปเป็นสินค้าที่ปราศจากการแปรรูปใดๆ จึงโดนกดราคาจากพ่อค้าคนกลางรวมทั้งไม่สามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าของตัวเอง อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่ทำงานหนักทำแล้วเหนื่อยแต่ทำเท่าไหร่ก็ไม่รวยเสียทีกลับกลายเป็นว่าคนที่เหนื่อยที่สุดได้เงินน้อยที่สุด คนที่ไม่ทำอะไรได้ผลประโยชน์เต็มที่ซึ่งคือพ่อค้าคนกลาง และในขณะเดียวกันสินค้าที่ส่งถึงมือผู้บริโภคก็เป็นสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและมีราคาแพง การแปรรูปสินค้า การสร้างแบรนด์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อให้โดดเด่นกว่าคนอื่นจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเกษตรกรยุคใหม่เพื่อสร้างรายได้ให้มากยิ่งขึ้น
การแปรรูปก่อนขาย ด้วยความเคยชินของเกษตรกรคือเพาะปลูก เก็บเกี่ยวและขายเลยโดยไม่แม้แต่จะผ่านวิธีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่ายกตัวอย่าง ชาวนาปลูกข้าวกว่าจะได้เก็บเกี่ยวต้องใช้เวลานาน มีค่าใช้จ่ายสูงต้นทุนสูงเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวก็ขายข้าวเปลือกได้ตันละหมื่นต้นๆ หักลบกลบหนี้แล้วเหลือรายได้น้อยนิด ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน แต่หากเกษตรกรคิดต่อยอดการแปรรูปข้าวให้เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆได้ เช่น ชาข้าว น้ำนมข้าว ข้าวอบกรอบ เส้นหมี่ คุกกี้ ข้าวกล้องงอก โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป ข้าวกล้องผงชงพร้อมดื่ม เป็นต้น ไม่เพียงแค่นี้ผลไม้ก็เป็นพืชเศรษฐกิจอย่างหนึ่งที่นิยมนำมาแปรรูปเนื่องจากอายุของผลไม้สดจะเวลาจำกัด แต่เมื่อผ่านการแปรรูปแล้วสินค้าจะอยู่ได้อย่างยาวนานขึ้นและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น เพราะต้องไม่ลืมว่าบางคนไม่สามารถรับประทานผลไม้สดได้แต่เมื่อแปรรูปแล้วลูกค้าสามารถทานได้ เช่นการแปรรูปผลไม้เป็นไอศกรีมรสต่างๆ จากการที่คนบางคนไม่สามารถทานผลไม้สดได้ แต่เมื่อแปรรูปก็สามารถทำให้คนเหล่านั้นสามารถชิมรสชาติจากผลไม้ได้โดยมีรสชาติไม่แตกต่างกันรวมถึงผักต่างๆอีกด้วย หรือบางคนไม่สามารถทานทุเรียนสดได้แต่สามารถทานทุเรียนอบกรอบ ทุเรียนทอด ทุเรียนกวนได้ นอกจากนี้การที่ยางพาราตกอยู่ในภาวะตกต่ำ แต่การที่เกษตรกรหันมารวมกลุ่มกันเพื่อแปรรูปเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพก็สามารถเพิ่มมูลค่าให้สินค้าได้ราคาสูงกว่าขายน้ำยางดิบไปหลายเท่าตัวนี้เป็นการยกตัวอย่างซึ่งการแปรรูปเหล่านี้จะทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้และเก็บไว้ได้นานสามารถผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศหรือเพื่อการส่งออกก็ได้ สินค้าที่ขายออกไปจึงมีราคาสูงกว่าราคาผลิตภัณฑ์สดๆอย่างไม่ต้องสงสัย
การออกแบบบรรจุภัณฑ์ เมื่อไหร่ที่มีการแปรรูปสินค้าก่อนที่จะมีการจำหน่ายไปยังมือของลูกค้า บรรจุภัณฑ์ก็จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ สินค้าการเกษตรหลายรายการมักจะมาตกม้าตายตรงที่บรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานไม่มีความสวยงามดึงดูดสายตาลูกค้ามากพอ เน้นความง่ายเข้าว่าสุดท้ายสินค้าขายไม่ออก เมื่อขายไม่ออกก็จะเกิดความท้อแท้ทำเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จ สุดท้ายก็จะหันกลับไปทำวิถีเกษตรแบบเดิมๆคือปลูกเพื่อเก็บเกียวและขายไปเหมือนเดิมวนเป็นวงจรความเหนื่อยยากต่อไป ทั้งที่การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงามมีรูปลักษณ์ที่ดีน่าสนใจจะสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้านั้นได้อีกหลายเท่าตัวแต่กลับไม่มีใครให้ความสำคัญเลยในที่สุด เคยสังเกตไหมว่าสินค้าของประเทศญี่ปุ่นจะมีความน่าสนใจเป็นที่ดึงดูดสายตาและสร้างความน่าสนใจให้แก่สินค้าได้มากไม่ต่างจากคุณภาพสินค้าเลย บางครั้งสินค้าขายได้เพราะบรรจุภัณฑ์มีความน่าสนใจมากกว่าจะเน้นคุณภาพของสินค้าเลยด้วยซ้ำ นั่นเพราะว่าเขาให้ความใส่ใจในการคัดสรรและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ สินค้าการเกษตรของญี่ปุ่นจึงเป็นสินค้าที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะการออกแบบบรรจุภัณฑ์มีความสำคัญมากถือเป็นด่านวัดใจในการให้ความสนใจของลูกค้ามาก่อนสิ่งอื่นใด หากเกษตรกรไม่ศึกษาเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ การจะประสบความสำเร็จจึงไม่ใช่เรื่องง่าย
การสร้างแบรนด์ เมื่อออกแบบบรรจุภัณฑ์ได้แล้วการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักก็สำคัญไม่ต่างกัน จะสังเกตุได้ว่าสินค้าการเกษตรทุกวันนี้จะรวมตัวกันในลักษณะสินค้า OTOP มีการสร้างแบรนด์สินค้าขึ้นมาบ้างแล้วอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังเป็นแค่ไม่กี่เปอร์เซนต์เท่านั้นเอง หากเทียบกับเกษตรกรทั้งประเทศยิ่งให้สำเร็จเป็นชื่อเรียกติดปากยังมีน้อยมาก เพราะการสร้างแบรนด์จำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการทำการตลาดเพื่อให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ซึ่งเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จจริงๆ ค่อนข้างมีน้อยแต่เมื่อสำเร็จแล้วจะสามารถยืนอยู่ในตลาดได้อย่างยาวนานและสามารถทำรายได้เข้ากระเป๋าได้อย่างต่อเนื่อง แล้วจะสร้างแบรนด์ได้อย่างไร ก่อนอื่นเลยสินค้าที่ผลิตออกมาจะต้องได้คุณภาพ เมื่อสินค้ามีคุณภาพก็จะเป็นที่ยอมรับจากลูกค้า เมื่อลูกค้าชอบก็จะเกิดการซื้อใช้ซ้ำอยู่เรื่อยๆ กลายเป็นลูกค้าประจำของเราในที่สุด ทำการตลาดต่อเนื่อง เมื่อสินค้ามีคุณภาพแต่ไม่มีการประชาสัมพันธ์แล้วลูกค้าจะรู้จักสินค้าได้อย่างไร สมัยนี้การทำการตลาดเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าไม่ยุ่งยากอีกต่อไปแล้ว เพราะสามารถใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในการติดต่อสื่อสารและประชาสัมพันธ์แบรนด์สินค้าได้อย่างตรงจุดได้อย่างง่ายดายแถมมีค่าใช้จ่ายน้อยแต่ให้ประสิทธิภาพสูงอย่างน่าพอใจ พัฒนาสินค้าอย่างไม่หยุดนิ่ง สินค้าเกษตรต้องมีการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ ปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ เมื่อดินสมบูรณ์ผลผลิตที่ได้จะมีรสชาติที่ดีตามไปด้วย
มีความแตกต่างจากคู่แข่ง เนื่องจากสินค้าทางการเกษตรมีการแข่งขันกันสูง เพราะเกษตรกรรายใดปลูกสินค้าชนิดไหนได้ราคาดีก็จะเกิดการเลียนแบบของรายอื่น เมื่อเกิดการเลียนแบบสินค้าก็จะเหมือนกันเมื่อเหมือนกันก็ก่อให้เกิดการแย่งตลาดกันเอง เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากโดนแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดก็ต้องสร้างความแตกต่างโดยกำหนดความต้องการของตลาดเป็นตัววัดว่าตลาดต้องการอะไร เมื่อรู้ความต้องการของตลาดได้เราก็จะสามารถนำคู่แข่งและสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักได้เช่นกัน
การสร้างเรื่องราวให้สินค้า สินค้าการเกษตรเป็นสินค้าที่สามารถสร้างเรื่องราวได้ง่ายเนื่องจากผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดมีความโดดเด่นมีเอกลักษณ์ในตัวอยู่แล้วแต่ยังขาดการสร้างเรื่องราวให้แก่สินค้า ประเทศญี่ปุ่นอาจจะเรียกได้ว่าเป็นประเทศราชาแห่งเรื่องราวของสินค้าแต่ละชนิดเลยก็ว่าได้ เพราะเขาขยันสร้างเรื่องราวให้แก่สินค้าจนสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ยกตัวอย่างเช่น ไข่ไก่ที่เขาสามารถสร้างเรื่องราวให้ไข่ของเขาแตกต่างจากคนอื่นตรงที่ไม่มีสารเคมีตกค้างตั้งแต่กระบวนการเลี้ยงไก่ เพราะเน้นการเลี้ยงแบบวิถีธรรมชาติดั้งเดิมปราศจากสารพิษใดๆ ไข่ที่ได้จึงดีและมีคุณค่าทางโภชนาการสูงและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เชื่อหรือไม่ว่าแค่ไข่ใบเดียวสามารถทำราคาได้สูงถึง 170 บาท ในขณะที่ไข่บ้านเรายังตกอยู่ที่ใบละ 5 บาทเท่านั้นเอง เห็นพลังของเรื่องราวแล้วหรือยังว่าสามารถเพิ่มมูลค่าให้สินค้าทางการเกษตรได้มากน้อยแค่ไหน เพียงแค่หาจุดต่างความโดดเด่นที่ไม่เหมือนใครแค่นั้นเอง
การเพิ่มมูลค่าให้สินค้าการเกษตรจะเห็นได้ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ยากจนเกินไปเพียงแต่เกษตรกรจำเป็นต้องอาศัยการเรียนรู้และศึกษาทำการบ้านอย่างต่อเนื่องต้องใส่ใจตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต หากจะทำการเกษตรให้รวยเป็นวิถีเกษตรแนวใหม่ได้นั้น การเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งดังที่ได้กล่าวมาแล้ว การเพิ่มมูลค่าให้สินค้าสามารถทำได้ด้วยการแปรรูปสินค้าก่อนจำหน่าย ไม่เน้นปลูกเพื่อขายในลักษณะเดิมเพียงอย่างเดียวต้องปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้มีความสวยงามและใส่ใจลูกค้าจะช่วยดึงดูดความสนใจให้แก่สินค้าได้มากยิ่งขึ้น แค่นั้นยังไม่พอยังต้องทำการตลาดเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมออีกด้วย นอกจากนี้การสร้างเรื่องราวให้แก่สินค้าก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้สินค้ามีความแตกต่างไม่เหมือนใครได้ เมื่อมีความแตกต่างราคาสินค้าก็จะเพิ่มสูงขึ้นได้อีกหลายเท่าตัว ซึ่งทุกขั้นตอนจะต้องทำควบคู่กันไป เพียงแค่นี้เกษตรกรก็จะมีช่องทางในการทำอาชีพให้ประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืนได้ไม่ยากเลย