การหารายได้ด้วยการทำข้าวกล่องขายในที่ทำงาน เป็นช่องทางสร้างอาชีพเสริมที่น่าสนใจ ในแต่ละวันพนักงานออฟฟิศจะต้องรีบออกไปหาอาหารรับประทานด้วยความเร่งรีบเพื่อแข่งกับเวลาพักเที่ยงที่มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้นหากคุณมีฝีมือในการทำอาหาร คุณสามารถใช้โอกาสนี้ในการเพิ่มรายได้จากการทำข้าวกล่องไปขายในที่ทำงานของคุณเอง ตอบโจทย์ความต้องการของเพื่อนร่วมงานให้พวกเขาได้มีเวลาพักนานขึ้น ไม่ต้องเร่งรีบไปต่อคิวแย่งซื้อหาร แถมยังได้เลือกเมนูที่ตัวเองอยากรับประทาน และจะเริ่มต้นอาชีพเสริมนี้ต้องทำอย่างไรบ้าง? เราได้รวบรวมขั้นตอนพร้อมทั้งข้อมูลจำเป็นในการเริ่มต้นอาชีพมาดังนี้
หลักการเลือกเมนูอาหาร
- เมนูอาหารจานเดียว พนักงานออฟฟิศจะมีเวลาในการพักรับประทานอาหารเพียงแค่ 1 ชั่วโมงเท่านั้น ดังนั้นอาหารที่ทำขายไม่ควรยุ่งยากซ้ำซ้อน ปรุงสุกพร้อมทาน เช่น ข้าวกระเพราไข่ดาว ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ข้าวหมูทอดกระเทียมพริกไทย เป็นต้น แม้จะเป็นเมนูธรรมดาๆแต่ก็เป็นอาหารยอดฮิตที่คนไทยชื่นชอบและนิยมรับประทาน หากจะเป็นประเภทเส้นอย่างก๋วยเตี๋ยว ควรแยกใส่ภาชนะที่พร้อมรับประทาน
- อาหารที่ให้พลังงาน อิ่มท้อง พนักงานออฟฟิศจะต้องใช้พลังงานในการทำงานตลอดทั้งวัน
- เลือกให้เหมาะกับช่วงเวลา คำนึงถึงช่วงเวลาหลักที่จะขาย เช่น ข้าวกล่องตอนเช้า อาจจะทำเป็นเมนูรองท้องแต่ให้พลังงานเพียงพอ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ข้าวเหนียวหมูปิ้ง เป็นต้น ส่วนข้าวกล่องตอนกลางวัน เป็นเมนูหลัก อาหารจานเดียว อาหารตามสั่ง หรือก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น และหากทำขายในช่วงเย็นหลังเลิกงาน อาหารจานเดียวก็ยังสามารถใช้งานได้ แต่อาจจะเพิ่มเมนูทางเลือกสำหรับสุขภาพลงไป เช่น สลัด หรืออาหารคลีน
หลักการตั้งราคา
สำหรับการตั้งราคานั้นควรสัมพันธ์กับต้นทุนตามความเป็นจริง ณ ปัจจุบัน และสัมพันธ์กับรายได้ของกลุ่มเป้าหมายนั่นก็คือ “พนักงานออฟฟิศ”
- ราคาอาหารไม่ควรเกิน 15% ของรายได้ต่อวัน เช่น ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 300 บาท ค่าอาหารควรอยู่ที่มื้อละ 35 – 45 บาท
- ส่วนอาหารคลีนจะมีราคาสูงกว่าราคาควรอยู่ที่ 50 – 60 บาท
หลักการเลือกแพคเกจจิ้ง
- อาหารตามสั่งหารจานเดียว ควรเลือกกล่องที่มีขนาดพอดีกับอาหาร อาจจะเป็นกล่องที่มีช่องสำหรับใส่กับข้าวและข้าวเปล่าแยกกัน จะช่วยทำให้อาหารนั้นยังคงรสชาติเหมือนเพิ่งปรุงสด ดูน่ารับประทาน และสะดวกต่อการกิน
- เลือกกล่องที่มีฝาปิดแบบใสหรือมองเห็นอาหารด้านใน แพคเกจจิ้งในลักษณะนี้จะทำอาหารของคุณดูดีขึ้นมาทันทีเหมือนวางขายในห้างเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังช่วยให้ง่ายต่อการจัดส่ง และยังกระตุ้นให้เกิดความอยากอาหาร
- แปลกแหวกแนว คุณอาจใช้ปิ่นโต หรือกล่องข้าวน่ารักๆ ในการส่งอาหารให้ลูกค้า ในกรณีนี้อาจทำได้เมื่อคุณมีลูกค้าประจำ โดยเมื่อส่งวันถัดไปก็ให้ลูกค้านำปิ่นโตหรือกล่องข้าวมาสับเปลี่ยน
หลักการทำการตลาด – โปรโมชั่น
- เริ่มต้นด้วยการประชาสัมพันธ์ผ่านบุคคลรอบตัวและเดินจดออเดอร์จากลูกค้าในออฟฟิศ พร้อมแจ้งช่องทางการติดต่อในครั้งถัดไป
- ประชาสัมพันธ์ผ่าน Line Group หรือใน Facebook (หากมีกลุ่มอยู่แล้ว อาจจะขออนุญาติผู้ดูแลกลุ่มในการโปรโมท)
- ทำแผ่บพับหรือใบเมนูอาหารไปติดตรงบอร์ดประชาสัมพันธ์ของแต่ละออฟฟิศ โดยติดต่อผ่านนิติของอาคารนั้นๆ (หากมีบอร์ดประชาสัมพันธ์ทั่วไปในแต่ละแผนกก็สามารถนำไปติดประกาศเพิ่มเติมได้)
- เมื่อเริ่มเป็นที่รู้จักแล้วให้กำหนดเมนูประจำวันไว้ นอกเหนือจากเมนูตามสั่งที่ลูกค้าต้องการ เพื่อเพิ่มทางเลือก แจ้งเมนูหลักๆที่จะทำล่วงหน้าและเปิดรับออเดอร์สำหรับวันถัดไป ส่วนนี้จะช่วยควบคุมต้นทุนและทำให้ประเมิณงบประมาณที่จะใช้ในแต่ละวันได้ดี
- จัดโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขาย เช่น ซื้อคู่ถูกกว่า, ให้ส่วนลดลูกค้าใหม่ หรือลูกค้าประจำสั่งครบ 200 แถมฟรีน้ำดื่ม เป็นต้น
คำแนะนำเพิ่มเติม
- “รสชาติ” คือหัวใจสำคัญของการขายอาหาร ก่อนลงมือขายจริงควรทดลองทำจนเชี่ยวชาญ ให้คนอื่นๆได้ลองชิมและรับคำติชมอย่างเป็นกลาง ไม่เข้าข้างตัวเอง เรื่องใดควรปรับปรุงก็เก็บมาพัฒนาตนเอง รสชาติที่ถูกปากจะสร้างฐานลูกค้าที่มั่นคง สร้างความประทับใจตั้งแต่ครั้งแรก
- ควบคุมคุณภาพ วันแรกเคยทำไว้ดีอย่างไร วันต่อไปควรดีหรือดีมากกว่าระดับนั้น ไม่ใช่ทำดีแค่ในช่วงวันแรกๆ รสชาติถึงเครื่อง ให้เยอะจัดเต็ม วันต่อมาลดปริมาณและคุณภาพลง แบบนี้จะทำให้ลูกค้าค่อยๆหายไป การรักษาระดับมาตรฐานที่ดีเสมอต้นเสมอปลาย แม้ในอนาคตคุณอาจขึ้นราคาแต่พวกเขาก็พร้อมเพื่อแลกกับคุณภาพที่พวกเขาจะได้รับ
- ความสะอาดไม่ควรมองข้าม ทุกขั้นตอนการทำควรให้ความใส่ใจ แม้ลูกค้าจะไม่ได้เห็นทุกกระบวนการ แต่จรรยาบรรณทุกอาชีพต้องมี
- มีใจรักบริการ ในช่วงเริ่มต้นคุณอาจต้องเหนื่อยกับการทำให้ธุรกิจเป็นที่รู้จัก แต่ถ้าหากคุณไม่ยอมแพ้ มีใจรักในอาชีพนี้ เมื่อถึงเวลาธุรกิจก็จะเติบโตและดำเนินต่อไปได้ด้วยตัวของมันเอง เพียงแค่ต้องใส่ใจให้มาก รับฟังคำแนะนำ คำติชม ปรับปรุงและแก้ให้ทันช่วงที คุณภาพและการบริการที่ดีจะส่งเสริมให้ธุรกิจอยู่ได้อย่างมั่นคง
จุดเด่นของอาชีพทำข้าวกล่องขายคือ
- ไม่ต้องลงทุนหน้าร้าน
- ไม่ต้องเสียเวลาในการเลือกพื้นที่ทำเลตั้งร้าน หรือต้องเสียค่าเช่าแพงๆเพื่อไปอยู่ในย่านออฟฟิศ
- ไม่มีต้นทุนพนักงาน กล่าวคือไม่ต้องจ้างพนักงานมาคอยเก็บร้าน ล้างจานชาม
- ควบคุมต้นทุนได้ ไม่ต้องสต็อกของจำนวนเยอะๆ
- เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายเพราะเป็นพนักงานร่วมออฟฟิศ
แสดงความคิดเห็น