ขายไข่ เงินล้าน!!!

จากพ่อค้า ขายไข่ ได้กำไรแค่สิบกว่าสตางค์ต่อฟอง แต่วันนี้เขาคือเศรษฐีพันล้าน! เรื่องจริงของชายเลือดนักสู้เจ้าตำนานแฟรนไชส์ไก่ยางเขาสวนกวาง

ขายไข่ เงินล้าน!!!
ขายไข่ เงินล้าน!!!

ใบหน้ามุ่งมั่นของชายเลือดนักสู้ผู้ผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชน “ชัยพร ศรีวิโรจน์” ที่ปรากฏอยู่ในพ็อกเก็ตบุ้คเล่มแรกในชีวิต “จากทุนน้อย สู่ร้อยล้าน” ดึงดูดสาวกนักอ่านได้ไม่แพ้ของแถมเก๋ๆ ที่คงไม่มีใครกล้าเลียนแบบอย่าง “ไข่ไก่” ครึ่งโหล ต่อหนังสือ 1 เล่ม ที่ขายเพียงเล่มละ 100 บาท (จากราคาเต็ม 165 บาท)เรียกว่าใครจะซื้อหนังสือ เพื่อแถมไข่ หรือจะซื้อไข่ แถมหนังสือ ประสายุคข้าวยากหมากแพง เจ้าของก็ไม่ขัดศรัทธา เพราะสิ่งที่ตั้งใจสื่อสารไปยังคนอ่านของเขานั้น ชัดเจนอยู่แล้วทั้งใน “ไข่ไก่” และ “หนังสือ”

ก็เศรษฐีเงินล้านท่านนี้ เขาสร้างชีวิตมาจาก “ไข่ไก่” และมีบทเรียนมากมายที่เกิดจากไข่ไก่ฟองเล็กๆ นี้

“ชัยพร” ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ เขาเกิดมาในครอบครัวที่พ่อทำธุรกิจเกษตรครบวงจร โดยทำฟาร์มเลี้ยงไก่ ค้าส่งไก่และไข่ และยังเป็นตัวแทนขายอาหารสัตว์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) เลยได้คลุกคลีกับอาชีพค้าขายและฟาร์มไก่มาตั้งแต่เด็ก จากการติดตามดูเตี่ยทำงาน เห็นการเจริญเติบโตของกิจการครอบครัว ทำให้เขาค้นพบตัวเองตั้งแต่อายุเพียง 17 ปี ว่า ชอบทำงานมากกว่าเรียนหนังสือ

 “ผมเห็นวิธีทำเงินมหาศาลอยู่ตรงหน้า เงินมากมายรอผมอยู่แล้ว ผมจะเสียเวลาเรียนทำไม”

เขาบอกความคิดในตอนนั้น เช่นเดียวกับฝันที่อยากเป็นเถ้าแก่ ด้วยสองขาของตัวเอง ไม่ต้องง้อเงินกงสี ตลอด 10 ปี ของการทำงานกับครอบครัว จึงเป็นการเฝ้ามองการทำงานของเตี่ย และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้วยการลงมือทำ โดยใช้ทฤษฎีที่ว่า “ตาดู หูฟัง และลองทำจริง”

การเรียนมาน้อยแล้วรีบทำงานไม่ใช่ข้อได้เปรียบ เขาบอกว่าเมื่อไม่มีความรู้ ก็ต้องอาศัยเก็บเกี่ยวความรู้จากคนที่เก่ง คนเก่งรอบๆ ตัว เวลาเดียวกันก็ต้องสร้างเพื่อน สร้างคอนเนคชั่น เพราะนั่นคือโอกาสที่จะทำให้เราคิดใหญ่ ทำใหญ่ ได้มากกว่าเดิมหลายเท่า ซึ่งถ้ารู้จักมองแบบฉลาดก็จะเห็นช่องทางทำมาหากินได้อีกมากจากการสร้าง “เพื่อน”

หลังสิบปีที่ทำงานกับครอบครัว มีเงินเก็บก้อนหนึ่ง เขาจึงออกไปทำกิจการแรกของตัวเอง ในอายุ 27 ปี ไม่ใช่ขายไข่ และไม่ได้เริ่มจากงานเกษตร แต่กลับไปเปิดปั้มน้ำมันในเมืองไกลปืนเที่ยง จังหวัดหนองบัวลำภู ใครๆ ก็หาว่าบ้า แต่ชัยพรกลับบอกว่า นี่เป็นโอกาสที่ผ่านเข้ามาก็ควรคว้าไว้ โดยอาวุธเดียวที่งัดมาใช้ในตอนนั้น คือ “ความกล้าหาญ” ล้วนๆ

การลงทุนครั้งแรกกับปั้มน้ำมันในเมืองห่างไกล เขาให้บทสรุปตัวเองว่า “ไม่สำเร็จ ไม่แพ้ แต่ในเมื่อมันทำให้ผมรวยไม่ได้ ก็ต้องเลิก”

ที่มาของการตัดสินใจย้ายจุดยุทธศาสตร์ มาปักหลักใหม่ที่จังหวัดขอนแก่นบ้านเกิด พร้อมกับสร้างครอบครัวเล็กๆ ของเขาขึ้นที่นี่ โดยทำทั้งเปิดปั้ม ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และร้านค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง

และวันนั้นเอง ที่ “นายป้อม”, “เฮียป้อม” ได้ขยับขึ้นเป็น “เสี่ยป้อม” เศรษฐีเงินล้านที่มีเพื่อนฝูงล้อมหน้าล้อมหลัง..ทว่าไม่นานทุกอย่างกลับอันตรธานหายไปในชั่วพริบตา เมื่อวันที่ต้องประสบปัญหาครอบครัว

การต้องแยกทางกับภรรยา ยังไม่เจ็บปวดเท่ามาเจอคำพูดอดีตแม่ยายที่ว่า “ถ้าแน่จริงออกมาแต่ตัว ต้องไม่เอาอะไรออกมาเลย” คนแน่จริงอย่างเขา เลยยอมทิ้งสมบัติทุกอย่างไว้ให้ภรรยาและลูกๆ แล้วมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยสมบัติที่มีแต่ “ตัว” กับ “หัวใจ” บทเรียนช้ำๆ ที่ได้ในตอนนั้นคือ

ตอนที่รวยเพื่อนเยอะมาก แต่พอผมมีปัญหาเพื่อนหายหมดเลย นายแบงก์ที่เคยกอดคอสนิทกัน ก็ไม่สนใจเลย นั่นทำให้รู้ทันทีว่า คำว่า เพื่อน กับ คนรู้จัก มันต่างกันมาก ตอนที่เราลำบาก คนไหนเพื่อนจริง เพื่อนไม่จริง จะได้รู้กันตอนนั้น”

จากมหาเศรษฐี มีบ้านหลังใหญ่ มีรถใช้เป็นโหลๆ ต้องมานับหนึ่งใหม่กับชีวิต เป็นใครก็คงทำใจไม่ได้ แต่สำหรับชัยพร เขาบอกว่า “ไม่เคยท้อ” เพราะลูกอีสาน มีเลือดนักสู้เต็มขั้น เมื่อหลังชนฝาแล้วก็ต้องสู้ยิบตาเท่านั้น หลังจากชีวิตผกผัน เขาตัดสินใจย้ายเข้าเมืองหลวงตามคำแนะนำของเตี่ยที่บอกว่า “หนองใหญ่ ปลาเยอะ” ที่กรุงเทพก็น่าจะมีโอกาสดีๆ ให้กับเขา

ในวันที่สิ้นเนื้อประดาตัว จะทำธุรกิจอะไรได้ เขามองต้นทุนรอบตัว พบว่าอาชีพที่พอจะทำได้ในตอนนั้น คือ รับไข่ของเตี่ยมาขายในกรุงเทพ ย้ำว่าไม่ใช่ในฐานะลูกชาย แต่คือลูกค้าคนหนึ่งที่รับซื้อไข่มาขายต่อ ด้วยกำไรที่จะได้แค่ฟองละ 10-15 สตางค์ เท่านั้น ฉะนั้นการจะได้เงินมาประทังชีวิตก็คือต้องขายให้มากที่สุด

“การส่งไข่จากขอนแก่นมาที่กรุงเทพ ด้วยระยะทางที่ไกลจึงต้องขนมาจำนวนเยอะๆ ครั้งละ 9 หมื่นฟอง และไข่มีอายุไม่เกิน 7 วัน ดังนั้นในหนึ่งอาทิตย์ต้องขายออกให้หมด”

เขาบอกโจทย์ยาก ของพ่อค้าขายไข่เมืองใหญ่ ที่มาของการออกเร่ขายไข่ เรียกว่าตั้งแต่ไซด์งานก่อสร้าง ตลาดนัด ร้านอาหารตามสั่ง ร้านขายโจ๊ก ไปจนถึงมินิมาร์ท ซึ่งส่วนใหญ่ก็ล้วนมีพ่อค้าไข่ของตัวเองอยู่แล้ว เลยเจอมาทั้งคำด่า คำปฏิเสธ

 ทฤษฎีที่ใช้ในวันนั้น ก็คือ “ใครไม่ซื้อ..ผมง้อ” กับสโลแกนได้ใจลูกค้าอย่าง “เข้าถึง ของดี มีประจำ” ขายให้ถึงที่ ของมีคุณภาพ ไม่หยุดแม้วันเสาร์อาทิตย์ แถมยังให้เครดิต เอาของไปก่อน จ่ายเงินทีหลังได้อีกด้วย

แม้จะมีลูกค้าตัวเล็กๆ แต่ก็คือคนสำคัญทั้งนั้น ชัยพร บอกไว้ในตอนหนึ่งของหนังสือว่า “การสะสมลูกค้าก็เหมือนการออมเงิน จากจำนวนน้อยๆ ก็กลายเป็นจำนวนมากที่มีค่าและสำคัญไม่แพ้รายใหญ่”

ยุคทองของพ่อค้าไข่ เริ่มขึ้นเมื่อประเทศไทยเกิดไข้หวัดนกระบาด ในปี พ.ศ.2547 โรงเรือนที่เลี้ยงระบบอีแวป(EVAP) ซึ่งเป็นระบบปิด เลยปลอดจากข่าวร้าย ลูกค้าที่เคยเมินเฉยกลับวิ่งเข้ามาขอซื้อไข่จากพ่อค้าไข่อย่างเขา ฟ้าหลังฝนเปิดกว้าง ให้กับคนเคยท้อ จนภายหลังก็ต่อยอดมาเป็นส่งไก่สดคุณภาพไปยังธุรกิจอาหารและร้านอาหารชื่อดังในกรุงเทพ ทว่าคนขยันคิดอย่างเขาไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เมื่อพบว่าขอนแก่นมีไก่ย่างเขาสวนกวางที่มีชื่อเสียง จึงเริ่มทำไก่ปรุงรสสูตรเขาสวนกวางเสียบไม้ส่งขายตามร้านอาหาร ก่อนขยายเป็นแฟรนไชส์ไก่ปรุงรสพร้อมย่าง SF ตำหรับเขาสวนกวาง ซึ่งมีอยู่กว่า 200 สาขาในวันนี้ มีร้านอาหารไก่ย่างเขาสวนกวางอันเลื่องชื่อ ธุรกิจข้าวไข่เจียวกู้ดมอร์นิ่ง และธุรกิจโรงแรมในจังหวัดจอนแก่น ที่มีคอนเซ็ปต์ไก่และไข่ รวมมูลค่าธุรกิจนับพันล้านบาทในวันนี้

เขาบอกว่า จากเงินทุนน้อยๆ สู่ธุรกิจพันล้านได้ ไม่ใช่เกิดจากการทำงานชิ้นเดียว หรือใช้เวลาเพียงเดือนหรือสองเดือนถึงจะได้มา แต่ต้องใช้เวลาและความอดทนสูงมาก จึงจะสำเร็จได้ ฉะนั้นจึงอยากให้เอสเอ็มอีไทยอย่ายอมแพ้ เพราะแม้จะเริ่มจากไม่มีอะไรเลย แต่คุณก็เป็นเศรษฐีได้ด้วยเลือดนักสู้

ทำธุรกิจวนเวียนอยู่กับไข่และไก่ แต่ถามถึงสิ่งที่สนใจในวันนี้ เขากลับบอกว่า คือธุรกิจพลังงานทดแทน และเริ่มมีการทำอย่างจริงจังแล้วในฟาร์มไก่ของเขา โดยไม่ได้หวังเพียงแค่มีพลังงานทดแทนใช้ลดต้นทุนในฟาร์มเท่านั้น แต่ยังมองถึงการขายให้กับการไฟฟ้าในอนาคตด้วย ก่อนกระซิบบอกความตั้งใจ ที่จะนำพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอีกสองปีข้างหน้า เพื่อขยับสู่บริษัทมหาชนอย่างเต็มภาคภูมินับจากนี้

 “ผมเริ่มทำทุกอย่างด้วยสองมือ แม้อนาคตจะไม่มีใครบอกได้ว่า ผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่เท่าที่ผมรู้ก็คือ ผมไม่เคยกลัวอนาคต เพราะอนาคตอยู่ที่เราทำในวันนี้”

 

ที่มา :   จีราวัฒน์ คงแก้ว  (กรุงเทพธุรกิจ)

แสดงความคิดเห็น


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *