คลังเล็งลดภาษีเหลือ 10% อุ้มเอสเอ็มอี 2 ปี ถ้าเป็นธุรกิจใหม่อุตฯดาวรุ่งยกเว้นให้ 5 ปี ปลัดกระทรวงการคลังชี้ต้องแลกทำบัญชีเดียว ไม่เห็นด้วยนิรโทษกรรม
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะมีมาตรการทางภาษีที่กระทรวงการคลังรับผิดชอบ โดยกำลังพิจารณาว่า หากลดภาษีให้ผู้ประกอบการเหลือ 10% จากเดิม 15% ซึ่งรัฐจะสูญเสียรายได้ราว 5,000 ล้านบาทต่อปี จากปกติที่เก็บภาษีจากเอสเอ็มอีได้ราว 3 หมื่นล้านบาทต่อปี ก็จะต้องแลกกับการให้ผู้ประกอบการทำบัญชีเป็นมาตรฐานเพียงบัญชีเดียว และเข้าสู่ระบบภาษีอย่างถูกต้อง ส่วนประเด็นนิรโทษกรรมนั้น ยืนยันว่ายังไม่มี เนื่องจากในอดีตที่เคยทำแล้วไม่ได้เกิดผลดีอะไร
ทั้งนี้การจะให้เอสเอ็มอีทำบัญชีเดียวนั้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารพาณิชย์ก็ต้องร่วมมือด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายจะทำหลายบัญชี คือบัญชีที่ยื่นขอเงินกู้จากแบงก์ก็บัญชีหนึ่ง ส่วนบัญชีที่ยื่นกรมสรรพากรก็เป็นอีกบัญชี
“ทางสภาอุตสาหกรรมแห่ง ประเทศไทย (ส.อ.ท.) เขาจะขอนิรโทษกรรมตลอด เพราะคงรู้ดีว่าสมาชิกเสียภาษีไม่ค่อยถูกต้องนัก ซึ่งเวลาเขาหลบภาษี เขาไม่ได้หลบรายรับอย่างเดียว แต่มีการหลบรายจ่ายด้วย ตรงนี้ทำให้เราไม่สามารถไปเก็บภาษีอีกทอดหนึ่งได้ด้วย” นายรังสรรค์กล่าว
ส่วนการยกเว้นภาษีให้ธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น หรือ Start up นั้น นายรังสรรค์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่มีการพิจารณากันอยู่ แต่หากจะดำเนินการก็ต้องรอบคอบและทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ”ว่า มาตรการภาษีที่จะช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่พิจารณากันอยู่ขณะนี้คือ จะมีการยกเว้นภาษีนิติบุคคลให้เอสเอ็มอีที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจใหม่เป็นเวลา 5 ปี แต่จะเน้นเฉพาะอุตสาหกรรมดาวรุ่ง อาทิ แปรรูปสินค้าเกษตร วิจัยและพัฒนา (R&D) เทคโนโลยีการสื่อสาร (IT) เป็นต้น
นอกจากนี้จะมีการลดภาษีให้เอสเอ็มอีส่วนที่ปกติเสียอยู่ 15% เหลือ 10% แต่จะลดให้เป็นการชั่วคราวเพียง 2 ปีเท่านั้น
ขอบคุณข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจ (http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1441549016)