ตลาดการค้าไข่มุก ไข่มุกอันดามัน…อัญมณีแห่งท้องทะเลไทย

จังหวัดภูเก็ตได้ชื่อว่าเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตไข่มุกน้ำเค็มของประเทศไทย เนื่องจากมีลักษณะภูมิประเทศเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางทะเลที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ประชาชนบางส่วนในพื้นที่มีการทำฟาร์มมุก และพัฒนาคุณภาพของไข่มุกมาอย่างยาวนาน จนเกิดเป็น “ไข่มุกอันดามัน” ซึ่งถือเป็นอัญมณีล้ำค่าแห่งเกาะภูเก็ตที่มีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วโลกถึงความงดงามและความมีคุณค่า

ไข่มุกอันดามันแห่งเกาะภูเก็ต

“ไข่มุก” จัดได้ว่าเป็นอัญมณีอินทรีย์ที่ถือกำเนิดมาจากสิ่งมีชีวิต จำพวกหอยมุก ซึ่งแตกต่างจากอัญมณีส่วนมากที่มักเกิดจากหินและแร่ธาตุ โดยไข่มุกเป็นอัญมณีประเภทหนึ่งที่นิยมนำมาทำเป็นเครื่องประดับโดยไม่ต้องผ่านการเจียระไนเหมือนอย่างอัญมณีชนิดอื่นๆ โดยทั่วไปได้มีการแบ่งไข่มุกออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ ไข่มุกธรรมชาติ (Natural Pearl) และไข่มุกเลี้ยง (Cultured Pearl) ซึ่งนิยมนำมาทำเป็นเครื่องประดับที่หลากหลายโดยมีแหล่งสำคัญในการเพาะเลี้ยงอยู่ที่ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย จีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและไทย ซึ่งฟาร์มเลี้ยงหอยมุกในประเทศไทยกระจายตัวอยู่ในจังหวัดภูเก็ต พังงา ระนอง และสุราษฎร์ธานี “ไข่มุกอันดามัน” จัดเป็นมุกน้ำเค็มที่เกิดขึ้นจากการเพาะเลี้ยง โดยมีจังหวัดภูเก็ตเป็นแหล่งทำฟาร์มเลี้ยงหอยมุกที่สำคัญของประเทศไทย บริเวณที่มีการเลี้ยงหอยมุกจะอยู่บริเวณเกาะนาคา อ่าวยน และเกาะรังใหญ่ โดยไข่มุกอันดามันที่ผลิตได้ในจังหวัดภูเก็ต ถือเป็นสินค้าที่มีคุณภาพดี และมีหลากหลายขนาด จนมีชื่อเสียงแพร่กระจายไปยังตลาดโลก

ไขุ่มุกจากบริษัท Phuket Pearl

การทำฟาร์มหอยมุกในภูเก็ต

การทำฟาร์มหอยมุกในจังหวัดภูเก็ต นิยมนำหอยมุกน้ำเค็มประเภทหอยมุกจาน หอยกระจิบ หอยมุกกัลปังหากาบสีดำ และหอยปีกนกมาเพาะเลี้ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหอยมุกจานที่ได้รับความนิยมมากกว่าหอยชนิดอื่น เนื่องจากหอยมุกประเภทนี้ สามารถผลิตไข่มุกออกมาได้สวยงามและมีขนาดเหมาะสม เหมาะแก่การนำมาทำเป็นเครื่องประดับ ซึ่งตามธรรมชาติแล้วหอยมุกจานจะชอบอาศัยอยู่ในทะเลที่มีอุณหภูมิอบอุ่น มีคลื่นลมและกระแสน้ำทะเลไม่แรง อาศัยอยู่ที่ระดับความลึกประมาณ 10-30 เมตร และมีอุณหภูมิระหว่าง 14-27 องศาเซลเซียส โดยส่วนมากช่วงเวลาที่เหมาะแก่การเพาะเลี้ยงหอยมุกจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ไปจนถึงเดือนเมษายนของทุกปี

สำหรับกรรมวิธีในการผลิตไข่มุกจะเริ่มตั้งแต่การนำหอยมุกที่ได้จากการเพาะเลี้ยงแล้วมีขนาดเหมาะสมตั้งแต่ 4 นิ้วถึง 6 นิ้ว มาพักไว้ในสถานที่จัดเตรียมในระยะเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการนำลูกปัด (Bead) ใส่เข้าไปในหอยมุก เพื่อใช้เป็นนิวเคลียสให้หอยมุกเกิดการระคายเคืองจากสิ่งแปลกปลอมที่ใส่เข้าไป จนเกิดกระบวนการขับน้ำมุกออกมาห่อหุ้มนิวเคลียส จนหนาขึ้นเรื่อยๆ เกิดเป็นไข่มุกที่มีความงดงาม ทั้งนี้ ในการเพาะเลี้ยงไข่มุก จำเป็นต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ ทั้งในด้านสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดู อุณหภูมิ สภาพคลื่นลม การหมั่นคอยตรวจสอบไม่ให้มีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มาเกาะ อาทิ ปลาปักเป้า ปู หอยกะพง หอยแมลงภู่ สาหร่าย และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอื่นๆ ทั้งนี้ ระยะเวลาในการผลิตไข่มุก โดยมากแล้วจะอยู่ที่ระยะเวลาประมาณ 1-2 ปี โดยในช่วงเวลา 5-6 เดือน หลังจากการนำลูกปัดเข้าไปในปากของหอยมุก จะเป็นช่วงที่ผู้ทำฟาร์มเริ่มตรวจสอบว่าเกิดไข่มุกงอกขึ้นมาหรือไม่ สำหรับกรรมวิธีการผลิตไข่มุกในปัจจุบัน พบว่าเพื่อเป็นการป้องกันสถานการณ์ที่หอยมุกคายไข่มุกออกมาก่อนช่วงเวลาเก็บเกี่ยว ทางผู้ทำฟาร์มส่วนมากจึงนิยมใช้ตาข่ายครอบตัวเปลือกหอยมุกเอาไว้เพื่อป้องกันการสูญหายของไข่มุก

โดยส่วนมากความงดงามของไข่มุกที่ผลิตออกมาจะอยู่ที่สีและความเรียบเนียนกลมกลืนของผิวมุก โดยสีของไข่มุกที่นิยมในท้องตลาด มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ บอดี้ คัลเลอร์ (Body Color) ซึ่งจะเป็นสีขาว สีครีมและสีเหลืองเป็นส่วนมาก และประเภทโอเวอร์โทน (Overtone) จะเป็นสีเขียว สีชมพู สีฟ้า ซึ่งจะแตกต่างไปตามชนิดและแหล่งที่อยู่ของหอยมุก นอกจากนี้ ไข่มุกที่ดีจะต้องมีผิวเรียบเนียนเป็นมันวาวเงางาม ไม่มีรอยแตกหรือรอยขรุขระ ไม่เป็นฟองอากาศ ซึ่งความมันวาวของไข่มุกสามารถสังเกตได้จากประกายเงางามที่มีความสม่ำเสมอทั้งเม็ด ขณะที่องค์ประกอบด้านการเหลือบสีของไข่มุก ก็เป็นตัวบ่งบอกถึงความงดงามของไข่มุกเมื่อมีแสงมากระทบ ซึ่งถ้าไข่มุกเม็ดใดสามารถมองเห็นการเหลือบแสงได้ดี ก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าไข่มุกเม็ดนั้นมีคุณภาพดี มีความหนาของชั้นมุกมาก แสดงว่าเป็นไข่มุกคุณภาพที่ผ่านการเพาะเลี้ยงมาด้วยกรรมวิธีและระยะเวลาที่เหมาะสม

สำหรับไข่มุกอันดามันที่ผลิตได้ จะมีลักษณะเป็นเม็ดกลม และจะมีเพียง 3 สี ได้แก่ สีขาว สีดำ และสีทองซึ่งเอกลักษณ์ที่ทำให้ไข่มุกอันดามันมีชื่อเสียงอันเลื่องลือ ก็คือ ความมันวาวและความสวยงามของผิวมุกจนเป็นที่สะดุดตา อันเนื่องมาจากความพิถีพิถันและระยะเวลาในการเพาะเลี้ยงที่ค่อนข้างนาน เพื่อให้เกิดชั้นมุกที่หนาและมีความงดงามมากที่สุด ปัจจุบันในภูเก็ตมีฟาร์มผลิตไข่มุกอยู่เพียง 3 แห่ง อันได้แก่ บริษัท ภูเก็ตเพิร์ลกรุ๊ป จำกัด ร้านมุกภูเก็ต และฟาร์มเกรียงศักดิ์เพิร์ล ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ประกอบการที่มีทั้งการเพาะเลี้ยงหอยมุก และการผลิตเครื่องประดับจากไข่มุกเพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การผลิตไข่มุกในปัจจุบันพบว่าได้ผลผลิตค่อนข้างน้อย อันเนื่องมาจากปัจจัยหลัก ได้แก่ การขาดแคลนหอยจานที่ใช้ในการเพาะเลี้ยง และสภาพน้ำทะเลที่ไม่บริสุทธิ์ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนี้มีผลต่อการอยู่รอดของหอยมุก ประกอบกับการเพาะเลี้ยงหอยมุกในแต่ละครั้งต้องใช้เงินทุนไม่ต่ำกว่าสิบล้านบาท ดังนั้น เมื่อมีความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายค่อนข้างสูง จึงทำให้จำนวนผู้ทำฟาร์มมุกลดน้อยลงไปด้วย คงเหลือแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่รายเท่านั้น นอกจากนี้ ในส่วนของการจัดการกับผลผลิตที่ได้ โดยส่วนมากแล้วการซื้อขายไข่มุกอันดามันมักจะซื้อขายกันโดยวัดขนาดเป็นมิลลิเมตร หรือจำหน่ายในรูปแบบของคอลเลคชั่นเครื่องประดับ ราคาของไข่มุกอันดามันถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับไข่มุกชนิดอื่นๆ เพราะจัดเป็นมุกน้ำดี ที่มีคุณค่าทั้งความงดงามและกรรมวิธีการผลิตที่ทำได้ยาก เพราะหอยมุก 1 ตลับจะสามารถผลิตไข่มุกอันดามันได้เพียง 1-2 เม็ด อีกทั้งยังกินเวลานาน 1-2 ปี และอาจยาวนานถึง 5 ปี ดังนั้น ไข่มุกอันดามันจะมีราคาอย่างต่ำเม็ดละ 400-800 บาท และอาจมากถึง 200,000 บาทเลยทีเดียว

ที่มา: ไข่มุกจากเกาะนาคาน้อย จังหวัดภูเก็ต

“ไข่มุกอันดามัน” ตัวแทนของแฟชั่นเหนือกาลเวลา

ไข่มุกนับเป็นอัญมณีที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทุกช่วงวัย เพราะเป็นอัญมณีที่มีเสน่ห์ในตัวเองมีความอ่อนหวาน อบอุ่นและหรูหรา โดยเฉพาะผู้หญิงที่นิยมใช้เครื่องประดับจากไข่มุกในโอกาสต่างๆ และในชีวิตประจำวัน เนื่องจากเครื่องประดับจากไข่มุกสามารถนำมาใช้งานได้ง่ายกว่าเครื่องประดับชนิดอื่นๆ และ สามารถใช้ได้กับผู้บริโภคที่มีบุคลิกหลากหลาย ทั้งความสูง สีผิว สีผมและรูปร่างที่แตกต่าง ก็สามารถเลือกใช้เครื่องประดับไข่มุกให้เหมาะกับตนเองได้ ดังนั้น ความนิยมในการใช้ไข่มุกเป็นเครื่องประดับจึงยังคงมีให้เห็นอยู่ แม้ว่าจะผ่านมานานกี่ยุคสมัยก็ตาม

สำหรับไข่มุกอันดามันที่ผลิตได้จากภูเก็ต โดยส่วนมากแล้วจะนิยมนำมาแปรรูปเป็นเครื่องประดับ จำพวก ต่างหู สร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวนและเข็มกลัดซึ่งมีความหลากหลาย สำหรับขายให้แก่ผู้บริโภคที่มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ประกอบกับในปัจจุบันได้มีการนำวัตถุดิบที่เหลือจากการทำฟาร์มหอยมุก อาทิ เปลือกหอยมุกมาต่อ ยอดประดิษฐ์เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องตกแต่งบ้านเรือน และของที่ระลึกเพื่อให้เกิดรายได้แก่คนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น

ตลาดการค้าไข่มุกในปัจจุบัน

เนื่องจากภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอันดับต้นของประเทศไทยมาช้านาน ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ดังนั้น ในแต่ละปีจึงมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย พบว่าไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด (เฉลี่ยทั้งหมดปีละประมาณ 47.4 ล้านคน) เดินทางมาที่ภูเก็ต ไม่ว่าในรูปแบบของกรุ๊ปทัวร์ มาเป็นครอบครัว หรือแบ็คแพ็คเกอร์ ซึ่งจากกระแสความนิยมในการเดินทางมาท่องเที่ยวที่ภูเก็ต ได้กลายมาเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการซื้อเครื่องประดับจากไข่มุกที่เป็นสินค้าเด่นของพื้นที่ นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงสินค้าและหาซื้อได้ง่ายตามแหล่งการค้าต่างๆ อาทิ หาดราไวย์ หรือกรุ๊ปทัวร์ที่พานักท่องเที่ยวแวะลงยังพื้นที่ร้านค้าของผู้ประกอบการฟาร์มมุก อย่างเช่น ภูเก็ตเพิร์ลกรุ๊ป หรือการแวะลงในย่านวงเวียนอนุสาวรีย์ เจมส์ แกลอรี่ ร้านวังถลาง และคิงพาวเวอร์ เป็นต้น อย่างไรก็ดี กลุ่มลูกค้าที่นิยมซื้อเครื่องประดับจากไข่มุกโดยเฉพาะไข่มุกอันดามัน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ ชาวยุโรป รัสเซีย และออสเตรเลีย ที่เป็นกลุ่มมีรายได้ดี และมองเห็นถึงคุณค่าของสินค้ามากกว่าระดับราคา

จากสถิติการส่งออกไข่มุกพบว่ามูลค่าการส่งออกไข่มุกของไทยไปยังตลาดโลกเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดในปี 2016 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่า 28.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าไข่มุกของไทยก็มีมูลค่าใกล้เคียงกับการส่งออก และมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในแต่ละปี อันเนื่องมาจากการผลิตไข่มุกในประเทศนั้นได้ผลผลิตน้อยมาก ดังนั้น ไทยจึงต้องนำเข้าไข่มุกมาใช้สำหรับผลิตเป็นเครื่องประดับ เพื่อใช้บริโภคและจำหน่ายในประเทศ ตลอดจนผลิตเป็นสินค้าส่งออกโดยแหล่งนำเข้าหลักไข่มุกมายังไทย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง และออสเตรเลีย เป็นต้น

ทั้งนี้ สภาพตลาดในปัจจุบันไทยผลิตไข่มุกอันดามันได้ค่อนข้างน้อย สินค้าที่จำหน่ายทั้งในและต่างประเทศจึงมีปริมาณไม่มาก ทำให้มีราคาสูง ประกอบกับการมีคู่แข่งที่มีศักยภาพหลายรายในตลาดโลก อาทิ ญี่ปุ่น จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลียที่ต่างก็เป็นผู้ผลิตและส่งออกไข่มุก โดยเฉพาะไข่มุกจากจีนที่มีทั้งไข่มุกน้ำจืด และมุกน้ำเค็มซึ่งเมื่อนำมาเทียบราคากับไข่มุกอันดามันแล้ว พบว่าราคาถูกกว่ากันค่อนข้างมาก ปัจจุบันไข่มุกจากจีนเป็นที่นิยมในการนำเข้ามาวางขายทั้งในไทยและตลาดต่างประเทศ จึงทำให้ผู้บริโภคหันไปสนใจสินค้าทางเลือกที่มีราคาถูกกว่า สำหรับไทยแล้วประเด็นดังกล่าวมีผลต่อการค้าไข่มุกอันดามันที่อาจไม่สามารถเติบโต และขยายมูลค่าทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างที่ควรจะเป็น เพราะมีข้อติดขัดทั้งในเรื่องของราคา และปริมาณผลผลิตที่ได้ในปัจจุบัน ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตไข่มุกอันดามันให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านการผลิตและการค้า

ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
กรกฎาคม 2561

ที่มา : https://www.thaitextile.org/th

แสดงความคิดเห็น