ตลาดทัวร์จีน มุมมองและทิศทาง
ตลาดทัวร์จีน มุมมองและทิศทาง
ทิศทางตลาดทัวร์จีน : ผลกระทบจากกฎเหล็กขจัดทัวร์ศูนย์เหรียญของจีน
นักท่องเที่ยวจีน เป็นตลาดท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ของจีน ส่งผลให้ประชาชนในประเทศมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ประกอบกับทางการจีนได้ผ่อนปรนกฎระเบียบในการเดินทางไปต่างประเทศของประชาชนมาตามลำดับ อาทิ การอนุญาตให้นำเงินออกนอกประเทศมากขึ้น การอนุญาตให้ชาวจีนเดินทางไปท่องเที่ยวหรือเยี่ยมญาติในต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องซื้อแพ็กเกจทัวร์แบบเหมาจ่ายจากบริษัทนำเที่ยว และการเพิ่มจำนวนประเทศที่ทางการจีนอนุญาตให้ชาวจีนเดินทางไปได้เป็นหมู่คณะ (Approved Destination Status : ADS) เป็นต้น เหล่านี้ล้วนช่วยเพิ่มโอกาสในการเดินทางไปต่างประเทศให้แก่คนจีน
ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนจึงเป็นตลาดที่มีบทบาทสำคัญของภาคการท่องเที่ยวในหลายประเทศ ซึ่งต่างต้องการรายได้จากนักท่องเที่ยวจีน เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่างประเทศสูงเป็นอันดับ 1 ของโลกในปี 2555 ที่เดินทางไปเที่ยวต่างประเทศปีละจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังเป็นที่คาดการณ์กันว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 82 ล้านคนในปี 2555 เป็นกว่า 100 ล้านคนได้ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า เมื่อพิจารณาจากจำนวนชนชั้นกลางและประชากรที่มีกำลังซื้อสูงของจีน ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 13 ของประชากรจีนทั้งหมด หรือมีจำนวนประมาณ 200 ล้านคน ประกอบกับแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 7 ต่อปีของประเทศจีน
อย่างไรก็ตาม ทางการจีนได้ประกาศใช้ กฎหมายการท่องเที่ยวจีน (Tourism Law of the People’s Republic of China) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะ ขจัดการแข่งขันด้านราคาที่ไม่เป็นธรรม (โดยเฉพาะทัวร์ศูนย์เหรียญ) และการรักษาสิทธิด้านการรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง ตลอดจนการได้รับบริการที่เป็นธรรมของผู้บริโภคชาวจีน
สำหรับประเทศไทยเอง นับว่า ทัวร์ศูนย์เหรียญ มีส่วนที่ช่วยผลักดันให้ตลาดนักท่องเที่ยวจีนเติบโตมาได้จนทุกวันนี้ที่มีจำนวนมากถึงกว่า 3 ล้านคน (ข้อมูลจากกรมการท่องเที่ยว ระบุว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 3.75 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 93.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แม้ว่าการทำทัวร์ศูนย์เหรียญในตลาดนักท่องเที่ยวจีนของบรรดาธุรกิจนำเที่ยวในไทย จะลดน้อยลงไปบ้างในระยะหลัง (จากเดิมที่ทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน) เนื่องจากถูกร้องเรียนหนัก และความพยายามในการแก้ไขปัญหามาโดยตลอดของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ
ดังนั้น เมื่อทางการจีนประกาศใช้กฎหมายที่ควบคุมคุณภาพทัวร์ โดยระบุ ห้ามนำเสนอขายรายการนำเที่ยวนอกเหนือรายการนำเที่ยวที่กำหนดไว้ และห้ามพานักท่องเที่ยวไปซื้อของในร้านค้าที่ไม่ได้อยู่ในแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งมีบทลงโทษค่อนข้างรุนแรงหากฝ่าฝืน ซึ่งเป็นอุปสรรคในการทำทัวร์ศูนย์เหรียญ และการแสวงหาประโยชน์ จากนักท่องเที่ยวจีน ที่ถูกจูงใจให้เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยด้วยแพ็กเกจท่องเที่ยวราคาถูก ย่อมส่งผลกระทบต่อ ผู้ประกอบการนำเที่ยวในไทย รวมไปถึงธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยวอื่นๆ ที่เน้นลูกค้ากลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวจีน อาทิ โรงแรม สถานบริการต่างๆ และร้านจำหน่ายสินค้า
ทัวร์ศูนย์เหรียญ…บนเส้นทางการเติบโตของตลาดนักท่องเที่ยวจีนในไทย
สำหรับประเทศไทยนั้น จีนได้ประกาศให้เป็นประเทศที่ทางการจีนอนุญาตให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางไปได้เป็นหมู่คณะ (Approved Destination Status : ADS) ในปี 2531 ซึ่งในปีนั้นมีนักท่องเที่ยวจากจีนเดินทางเข้ามายังประเทศไทยจำนวน 33,344 คน (ก่อนหน้านั้นทางการจีนอนุญาตให้เดินทางมาไทยได้เฉพาะข้าราชการและ ผู้ที่จะเดินทางไปเยี่ยมญาติ) และภายในระยะเวลาเพียงแค่ 10 ปี จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นกว่า 17 เท่าเป็น 571,061 คนในปี 2541
นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาส่วนใหญ่ คือ ประมาณร้อยละ 85 เป็นนักท่องเที่ยวที่เพิ่งเคยเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นตลาดเป้าหมายสำคัญของบรรดาบริษัทนำเที่ยวของไทย ที่แข่งขันด้านราคากันอย่างรุนแรงเพื่อช่วงชิงนักท่องเที่ยวจีน โดยผ่านบริษัทนำเที่ยวต่างประเทศ ที่ได้รับอนุญาตจากทางการจีนให้ดำเนินธุรกิจนำเที่ยวต่างประเทศ การแข่งขันด้านราคาในตลาดทัวร์จีนรุนแรงขึ้น จนถึงขั้นที่บริษัทนำเที่ยวของไทยต่างแข่งขันกันเสนอเงื่อนไข ที่เอื้อผลประโยชน์แก่บริษัทนำเที่ยวต่างประเทศของจีน เพื่อส่งนักท่องเที่ยวจากจีนมาให้ โดยยอมลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นที่ปลายทาง (เป็นค่าใช้จ่ายด้านที่พัก อาหาร บริการนำเที่ยวตามรายการที่ระบุไว้
จากที่โดยปกติทางบริษัทนำเที่ยวต่างประเทศของจีนต้องจ่ายให้กับบริษัทนำเที่ยวของไทย) เพื่อให้บริษัทนำเที่ยวของจีนสามารถนำเสนอขายรายการนำเที่ยวประเทศไทยได้ในราคาที่ถูกจูงใจนักท่องเที่ยวจีน ส่งผลให้รายการนำเที่ยวประเทศไทยที่ขายให้นักท่องเที่ยวจีนมีราคาลดลงอย่างรวดเร็ว จากระดับราคารายการนำเที่ยวประเทศไทยโดยทั่วไป ที่ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นที่ต้นทาง (ในประเทศจีนก่อนออกเดินทาง) ซึ่งประกอบด้วยค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับ และค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่ต้นทาง และ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นที่ปลายทาง (ในประเทศไทยนับแต่เดินทางมาถึงจนกลับ) ซึ่งประกอบด้วย ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าบริการนำเที่ยวตามรายการที่ระบุไว้จากต้นทาง ได้ลดลงมาจนอยู่ในระดับราคาที่ครอบคลุมเฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นที่ต้นทางเท่านั้น ที่นิยมเรียกกันว่า ทัวร์ศูนย์เหรียญ
เนื่องจากบริษัทนำเที่ยวของจีนจะส่งกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนมาให้แก่บริษัทนำเที่ยวของไทย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นปลายทางเลย ทางบริษัทนำเที่ยวของไทยจะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นปลายทางทั้งหมดเอง การทำทัวร์ศูนย์เหรียญนี้จะต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวทั้งฝ่ายจีนและฝ่ายไทย โดยบริษัทนำเที่ยวของจีนจะใช้กลยุทธ์ด้านราคาจูงใจนักท่องเที่ยวจีนให้ซื้อรายการนำเที่ยวประเทศไทยในราคาที่ถูกกว่าราคาปกติกว่าครึ่ง (คิดต้นทุนเฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นที่ต้นทาง) และกำหนดรายการนำเที่ยวประเทศไทยไว้กว้างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทนำเที่ยวในประเทศไทยสามารถหารายได้ จากการขายบริการนำเที่ยวนอกรายการ (Optional Tour) และพานักท่องเที่ยวไปซื้อสินค้าตามร้านค้าพันธมิตร เพื่อหารายได้จากค่าคอมมิชชั่น มาชดเชยค่าใช้จ่ายปลายทางที่ต้องรับภาระ
รายได้ส่วนที่เกินจากค่าใช้จ่ายปลายทางก็จะเป็นกำไรของบริษัทนำเที่ยวของไทย การแข่งขันด้านราคาในตลาดทัวร์จีนไม่ได้หยุดลงแค่ทัวร์ศูนย์เหรียญ (บริษัทนำเที่ยวของจีนส่งกรุ๊ปทัวร์จีนมาให้บริษัทนำเที่ยวของไทยโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายปลายทาง) แต่ทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับจนถึงขั้นบริษัทนำเที่ยวของไทยจ่ายเงินให้กับบริษัทนำเที่ยวของจีนเพื่อให้ส่งกรุ๊ปทัวร์นักท่องเที่ยวเข้ามา หรือที่เรียกกันว่า Kick Back ในอัตราตั้งแต่คนละ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไปจนถึง 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังต้องรับภาระค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนระหว่างที่พำนักท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทย
วิธีการทั่วๆ ไปที่บรรดาบริษัทนำเที่ยวของไทยส่วนใหญ่นิยมใช้ในการหารายได้จากกรุ๊ปทัวร์จีน เพื่อมาชดเชยค่าใช้จ่ายปลายทางที่ต้องรับภาระมีดังนี้
1. การเสนอขายกรุ๊ปนักท่องเที่ยว แก่มัคคุเทศก์เพื่อไปหารายได้อีกต่อหนึ่ง
2. การนำนักท่องเที่ยวไปซื้อสินค้าจากร้านค้าพันธมิตร ที่มีข้อตกลงจ่ายคอมมิชชั่นให้ โดยคิดจากยอดซื้อสินค้าในร้านของนักท่องเที่ยวที่พาไป ส่วนใหญ่จะเป็นร้านจำหน่ายสินค้าประเภทอัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง รังนก และสวนงู
3. นำเสนอขายรายการนำเที่ยวนอกรายการ (Optional Tour) แก่นักท่องเที่ยว ในราคาที่สูงกว่าปกติ เช่น พาไปดูการแสดงโชว์ นวดแผนโบราณ ร่วมกิจกรรมกีฬาประเภทต่างๆ (อาทิ พาราชูต ยิงปืน ล่องเรือ และเล่นเจ็ตสกี) ไปเที่ยวสวนสนุก และสถานที่ท่องเที่ยวประเภทต่างๆ
4. บริการรับแลกเงินแก่นักท่องเที่ยว แม้ว่าจะรับแลกในอัตราที่ได้กำไรไม่มากนักเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ก็สามารถสร้างรายได้ให้ไม่น้อย เพราะจำนวนเงินที่แลกรวมกันแล้วค่อนข้างสูง เนื่องจาก มีนักท่องเที่ยวหลายคนในแต่ละกรุ๊ปทัวร์
ปัญหาการตัดราคาในตลาดทัวร์จีนที่รุนแรงดังกล่าว นอกจากจะทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียเงินตราบางส่วน (จากการที่บริษัทนำเที่ยวของไทยจ่ายเงินให้กับบริษัทนำเที่ยวของจีนเพื่อให้ส่งกรุ๊ปทัวร์นักท่องเที่ยวเข้ามา) ออกนอกประเทศปีละจำนวนไม่น้อยแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาทัวร์คุณภาพต่ำ (เนื่องจากบริษัทนำเที่ยวของไทยบางรายลดคุณภาพของบริการลง เพื่อลดค่าใช้จ่ายปลายทางที่ต้องรับภาระ เช่น พักในโรงแรมที่คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน หรือต่ำกว่าระดับที่ระบุไว้ต้นทาง) และปัญหาการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยวติดตามมา ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ การท่องเที่ยวไทยในหมู่นักท่องเที่ยวชาวจีน
ซึ่งส่วนใหญ่เพิ่งจะเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยเป็นครั้งแรก นำไปสู่ การร้องเรียนของนักท่องเที่ยวจีนต่อทางการจีน ทางการจีนจึงขอความร่วมมือจากทางการไทยให้เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว มิฉะนั้นก็จะชะลอการส่งนักท่องเที่ยวจีนมาไทย จากความพยายามแก้ไขปัญหาในตลาดทัวร์จีนของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศในช่วงที่ผ่านมา (อาทิ การกำหนดราคาขั้นต่ำของแพ็จเกจทัวร์สำหรับการเสนอขายแก่บริษัทคู่ค้าในจีน การเพิกถอนรายชื่อบริษัททัวร์ของไทย ที่ขายแพ็จเกจทัวร์ในราคาที่ต่ำกว่าทางการกำหนดไว้ เป็นต้น)
ประกอบกับทางการจีนผ่อนผันให้นักท่องเที่ยวจีนสามารถเดินทางไปเที่ยวหรือเยี่ยมญาติในต่างประเทศได้โดยไม่ต้องซื้อแพ็กเกจทัวร์เดินทางมากับบริษัทนำเที่ยว ทำให้สัดส่วนของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยในแบบกรุ๊ปทัวร์ลดลงตามลำดับ เหล่านี้ล้วนส่งผลให้ปัญหาการแข่งขันในตลาดทัวร์จีนลดความรุนแรงลงไปมากในปัจจุบัน
กฎหมายการท่องเที่ยวจีน…..จัดระเบียบธุรกิจท่องเที่ยวจีน : เพื่อยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยว
ก่อนหน้าที่จะประกาศกฎหมายการท่องเที่ยวดังกล่าว ทางการจีนมีเพียงกฎกระทรวง และการขอความร่วมมือจากรัฐบาลและเอกชนที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศ ให้มีมาตรการปกป้องนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปเยือนประเทศนั้นๆ อย่างไรก็ตาม จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ และพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมาะสมของนักท่องเที่ยวจีนในต่างประเทศ ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประชาชนจีนทั้งประเทศ
ทำให้ทางการจีนประกาศกฎหมายการท่องเที่ยวฉบับแรกของจีนออกมา ซึ่งผ่านการพิจารณาเห็นชอบ ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา และมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไป โดยกฎหมายฉบับนี้ มีจำนวนข้อบังคับทั้งหมด 112 มาตรา ครอบคลุม 9 บทบัญญัติสำคัญเกี่ยวกับนักท่องเที่ยว บริษัทนำเที่ยว สัญญาบริการด้านการท่องเที่ยว ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว หน่วยงานดูแลรับผิดชอบด้านการท่องเที่ยว การระงับกรณีพิพาท และบทลงโทษ วัตถุประสงค์หลักของกฎหมายการท่องเที่ยวฉบับแรกของจีน เพื่อควบคุมคุณภาพของบริการนำเที่ยว ทั้งบริการนำนักท่องเที่ยวจีนไปท่องเที่ยวต่างประเทศ และบริการนำนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวประเทศจีน
โดยนอกจากจะเป็นประโยชน์แก่นักท่องเที่ยวแล้ว การกำหนดค่าบริการนำเที่ยวครอบคลุมค่าใช้จ่ายตามรายการ นำเที่ยว ซึ่งต้องกำหนดไว้ตั้งแต่ต้นทาง ยังเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง สามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม โดยต่างมุ่งแข่งขันกันพัฒนาคุณภาพการให้บริการ แทนการแข่งขันด้านราคาเช่นที่ผ่านมา ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพของบริการนำเที่ยวต่างประเทศของจีน รวมทั้งบริการนำนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวประเทศไทยได้ในที่สุด กฎหมายดังกล่าว นอกจากจะคุ้มครองสิทธิของคนจีนที่เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศแล้ว ยังรวมถึงแนวทางในการปฏิบัติที่เหมาะสม เป็นมิตรกับประเทศปลายทางที่ไปท่องเที่ยว เพื่อสร้างนักท่องเที่ยวจีนที่มีคุณภาพ ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของชาวจีนทั้งประเทศ
ผลกระทบกฎหมายการท่องเที่ยวจีน : ตลาดกรุ๊ปทัวร์จีน…หดตัว ตลาดนักท่องเที่ยวอิสระ (FIT)…โตเร็ว
กฎหมายการท่องเที่ยวจีนที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ของทุกประเทศที่มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไปเยือน ไม่เฉพาะประเทศไทย เนื่องจากบริษัทนำเที่ยวต้องระบุรายการนำเที่ยวปลายทางไว้อย่างชัดเจน เพราะกฎหมายใหม่จะห้ามไม่ให้บริษัทนำเที่ยวแสวงหาผลประโยชน์จากนักท่องเที่ยว ด้วยการจัดรายการนำเที่ยวทางเลือก (optional tour) ที่นักท่องเที่ยวจีนต้องจ่ายเงินเพิ่มภายหลัง และการบังคับให้นักท่องเที่ยวจีนช้อปปิ้งตามสถานที่ที่กำหนดโดยเฉพาะ
ข้อกำหนดดังกล่าวปิดช่องทางในการหารายได้จากนักท่องเที่ยวจีน ด้วยการนำเสนอขายรายการนำเที่ยวเพิ่มที่ปลายทาง นอกเหนือจากที่ระบุไว้ที่ต้นทาง และการนำนักท่องเที่ยวจีนไปซื้อของตามร้านที่มีข้อตกลงกัน ทำให้บริษัทนำเที่ยวไม่สามารถขายแพ็กเกจทัวร์ในราคาถูกกว่าต้นทุนเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเช่นที่ผ่านมา ส่งผลให้ ราคาแพ็กเกจทัวร์นำนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้นจากเดิม ซึ่งมีตั้งแต่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 ไปจนถึงเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ เส้นทางท่องเที่ยวว่า เดินทางจากเมืองไหนของจีน และไปยังแหล่งท่องเที่ยวใดบ้างในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ผลกระทบดังกล่าวมีแนวโน้มส่งผลกระทบอย่างเด่นชัดกับนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มที่เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศในลักษณะที่ซื้อรายการนำเที่ยวจากบริษัทนำเที่ยวและเดินทางมาเป็นกรุ๊ปทัวร์ ซึ่งมีสัดส่วน ร้อยละ 47 สำหรับนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยในปี 2555 ส่วนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยด้วยตนเอง หรือนักท่องเที่ยวอิสระ ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 53 (นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยด้วยตนเองมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากที่มีเพียง 174,288 คน ในปี 2545 เพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่าเป็น 1.47 ล้านคนในปี 2555 ส่งผลให้สัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางด้วยตนเองที่มีเพียงร้อยละ 23 ในปี 2545 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 53 ในปี 2555) ยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง หรือชะลอตัวลง ในช่วงแรกๆ แต่ก็ไม่น่าเกิน 6 เดือน
หากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต่างปรับแผนการตลาด ด้วยการหันมานำเสนอขายรายการนำเที่ยวแบบอิสระ (คือ การเที่ยวที่ไม่ได้ไปกับกรุ๊ปทัวร์ ไม่ต้องเดินทางตามเส้นทางที่บริษัทนำเที่ยวกำหนด ค่าบริการจะประกอบด้วยค่าตั๋วเครื่องบินและที่พัก) ทดแทนตลาดกรุ๊ปทัวร์ที่หดหายไป รวมทั้งการปรับแผนการตลาดด้วยการขยายช่องทางการตลาดเพื่อเข้าถึงนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางท่องเที่ยวด้วยตนเองโดยตรง ของบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ โรงแรม ธุรกิจการบิน ศูนย์การค้า ร้านค้าปลอดภาษี สนามกอล์ฟ และธุรกิจบริการด้านบันเทิงประเภทต่างๆ (เช่น สวนสัตว์ สวนสนุกกลางแจ้ง สวนน้ำ และการแสดงโชว์ เป็นต้น)
ดังนั้น แม้ว่ากฎหมายการท่องเที่ยวจีนจะส่งผลทำให้มีนักท่องเที่ยวจีนซื้อแพ็กเกจทัวร์เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยในลักษณะกรุ๊ปทัวร์ลดลงในช่วงแรกๆ เนื่องจากราคาแพ็กเกจทัวร์ที่เพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยเกือบเท่าตัว แต่คาดว่า เมื่อสถานการณ์คลี่คลายขึ้นจากการปรับตัวของทุกๆ ฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องของจีนและของไทยที่ต้อง ปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามข้อกำหนดในกฎหมายการท่องเที่ยวจีน ทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายในธุรกิจท่องเที่ยว
โดยเฉพาะธุรกิจนำนักท่องเที่ยวคนจีนมาเที่ยวประเทศไทย และธุรกิจนำนักท่องเที่ยวคนไทยไปเที่ยวประเทศจีน รวมทั้งตัวนักท่องเที่ยวเองที่จะได้รับการบริการที่มีคุณภาพสูงขึ้นตามราคาแพ็กเกจทัวร์ ที่ต้องปรับตัวกลับสู่ระดับปกติ ตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยในลักษณะกรุ๊ปทัวร์ก็จะสามารถปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น และเติบโตขึ้นได้ตามลำดับในที่สุด เพื่อพิจารณาผลกระทบจากกฎหมายการท่องเที่ยวจีนต่อทิศทางตลาดนักท่องเที่ยวจีนของไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดการณ์ช่วงระยะเวลาการปรับตัวของทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องออกเป็น 2 กรณี ดังนี้ – กรณีปรับตัวได้ในระยะสั้น คือ ช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2556 – กรณีใช้เวลาปรับตัวนานเกินช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2556 โดยต่อเนื่องไปในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2557 ? กรณีปรับตัวได้ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายปี’56 : นักท่องเที่ยวจีนลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิม 3 แสนคน เมื่อราคาแพ็กเกจทัวร์ปรับสูงขึ้นสู่ระดับปกติที่ควรจะเป็น คือ สูงกว่าต้นทุนการบริการรวมที่ต้นทางและปลายทาง โดยคาดว่าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 20 – 100 ย่อมส่งผลกระทบตลาดทัวร์จีนของไทย
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ ว่าในช่วง 3 เดือนหลังจากกฎหมายการท่องเที่ยวของจีนมีผลบังคับใช้ (ช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม ซึ่งรวมวันหยุดยาวช่วงวันชาติของจีน) จะมีนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวเป็นกรุ๊ปทัวร์ (มีสัดส่วนเฉลี่ยประมาณร้อยละ 40 ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556) เดินทางเข้ามายังประเทศไทยลดลงประมาณกว่าร้อยละ 60 จากที่คาดการณ์ไว้เดิมหากกฎหมายการท่องเที่ยวของจีนยังไม่มีผลบังคับใช้ ขณะที่คาดว่านักท่องเที่ยวจีนกลุ่มที่เดินทางด้วยตนเอง (มีสัดส่วนเฉลี่ยประมาณร้อยละ 60 ในช่วง 9 เดือนแรก) จะชะลอตัวลงเล็กน้อยในเดือนตุลาคมจากที่คาดการณ์ไว้เดิม
หลังจากนั้นก็จะกลับมาเพิ่มขึ้นตามลำดับ ทำให้ตลอดไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยด้วยตนเองเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้เดิมไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ทั้งนี้เป็นผลจากกระแสการเดินทางท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์จีนที่ถ่ายทำในประเทศไทย ที่ยังมาแรงในกลุ่มคนจีนรุ่นใหม่ ซึ่งนิยมถ่ายภาพตนเองตามสถานที่ต่างๆ ที่มีในภาพยนตร์ และแชร์ทางเครือข่าย social media ซึ่งกระตุ้นให้คนอื่นสนใจมาเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ตามอย่างบ้าง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดการณ์ว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 1.20 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 41.9 แต่ลดลงประมาณ 3 แสนคน หรือลดลงร้อยละ 20.2 จากจำนวน 1.50 ล้านคนที่คาดการณ์ไว้เดิม หากกฎหมายการท่องเที่ยวของจีนยังไม่มีผลบังคับใช้ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ซื้อแพ็กเกจทัวร์เดินทางมาเป็นกรุ๊ปทัวร์มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 18 ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางโดยอิสระมีสัดส่วนสูงถึง ร้อยละ 82
จากแนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้โดยรวมตลอดทั้งปี 2556 จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 4.947 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 77.5 จากปีก่อนหน้า และลดลงเพียงร้อยละ 5.8 จากที่คาดการณ์ไว้เดิมที่จำนวน 5.25 ล้านคนหากกฎหมายการท่องเที่ยวของจีนยังไม่มีผลบังคับใช้ ในกรณีที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องปรับตัวได้ในระยะเวลาเพียง 3 เดือน มีแนวโน้มส่งผลให้ปี 2557 ตลาดทัวร์จีนของไทยมีการปรับฐานการตลาด ในลักษณะที่นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางด้วยตนเองเติบโตในอัตราที่ช้าลงจากปีก่อนหน้า
ส่วนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเป็นกรุ๊ปทัวร์ปรับฐานลดลงอย่างรวดเร็ว โดยนักท่องเที่ยวจีนในตลาดระดับล่างที่เน้นปัจจัยด้านราคาที่ถูกเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจจะหดหายไป และมีเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งยินดีจ่ายค่าแพ็กเกจทัวร์สูงขึ้น ควบคู่กับบริการที่มีคุณภาพสูงขึ้นตาม ทั้งนี้โดยมีจะการปรับรายการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวมากขึ้น ส่งผลให้โดยรวมตลอดทั้งปี 2557 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 4.6 ล้านคนลดลงเล็กน้อย คือ ร้อยละ 7.0 จากปีก่อนหน้า ที่มีจำนวน 4.947 ล้านคน และลดลงร้อยละ 26.4 เมื่อเทียบกับที่คาดการณ์ไว้เดิมกรณียังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการท่องเที่ยวมาบังคับใช้ (คาดการณ์ไว้ที่จำนวน 6.25 ล้านคน) ?
กรณีใช้เวลาในการปรับตัวนาน 6 เดือน : นักท่องเที่ยวจีนลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิม 5 แสนคน หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบริษัทนำเที่ยวของจีนและไทย รวมทั้งตัวนักท่องเที่ยวจีนเอง ใช้เวลาในการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง (อันเนื่องมาจากการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการท่องเที่ยวของจีน) นานเกินช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2556 โดยต่อเนื่องไปในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2557 (ช่วงเดือนตุลาคม 2556 – มีนาคม 2557 ซึ่งรวมทั้งวันหยุดยาวช่วงวันชาติในเดือนตุลาคม 2556 และช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2557)
ผลกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยวจีนของไทยจะชัดเจนกว่ากรณีแรก กล่าวคือ จากราคาแพ็กเกจทัวร์ประเทศไทยที่สูงขึ้นหลังประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการท่องเที่ยวของจีน มีแนวโน้มส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนกลุ่มที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยเป็นกรุ๊ปทัวร์เดินทางเข้ามายังประเทศไทยลดลงประมาณกว่าร้อยละ 70 จากที่คาดการณ์ไว้เดิม ขณะที่คาดว่านักท่องเที่ยวจีนกลุ่มที่เดินทางด้วยตนเองได้รับผลกระทบไม่มาก โดยมีแนวโน้มจะถดถอยลงจากที่คาดการณ์ไว้เดิมเกือบร้อยละ 10 จากที่คาดการณ์ไว้เดิม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดการณ์ว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 1.0 ล้านคน ซึ่งลดลงประมาณ 4.5 แสนคน หรือกว่าร้อยละ 30 จากที่คาดการณ์ไว้เดิมที่จำนวน 1.50 ล้านคน จากแนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้โดยรวมตลอดทั้งปี 2556 จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 4.800 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.2 จากปีก่อนหน้า และลดลงประมาณร้อยละ 8.6 จากที่คาดการณ์ไว้เดิมที่จำนวน 5.25 ล้านคนหากกฎหมายการท่องเที่ยวของจีนยังไม่มีผลบังคับใช้
ในกรณีนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้เวลาในการปรับตัวต่อเนื่องจากช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 ไปในช่วง ไตรมาสแรกของปี 2557 โดยคาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมายังประเทศไทยประมาณ 1.1 ล้านคนลดลงประมาณ 5 หมื่นคนจากที่คาดการณ์ไว้ที่จำนวน 1.15 ล้านคนในไตรมาสแรกของปี 2557 ส่วน 3 ไตรมาสที่เหลือ ของปี 2557 คาดว่า ตลาดนักท่องเที่ยวจีนสามารถเติบโตได้ตามที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.45 ล้านคน ส่งผลให้โดยรวมตลอดทั้งปี 2557 จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมายังประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 4.55 ล้านคนลดลงร้อยละ 1.1 จากที่คาดการณ์ไว้ที่จำนวน 4.6 ล้านคน โดยรวมในช่วง 6 เดือนที่มีการปรับตัวของผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทัวร์จีนของไทย คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมายังประเทศไทยลดลงรวมทั้งสิ้นประมาณ 5.0 แสนคนจากที่คาดการณ์ไว้
การปรับตัวของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
เมื่อกฎหมายว่าด้วยการท่องเที่ยวของจีนมีผลบังคับใช้ในระยะแรก มีแนวโน้มส่งผลให้ตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศของจีนชะลอตัวลง โดยเฉพาะการซื้อแพ็กเกจทัวร์เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศในแบบกรุ๊ปทัวร์ ทั้งนี้เนื่องจากส่วนใหญ่ทั้งผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวจีนเองต่างรอดูสถานการณ์ความเข้มงวดของในการบังคับใช้กฏหมายใหม่ของทางการจีน
สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวจีนของไทยมีแนวโน้มปรับฐาน ในลักษณะที่ตลาดกรุ๊ปทัวร์ระดับล่างที่เน้น ในด้านราคาที่ถูกจะหดหายไป เหลือเฉพาะตลาดระดับบนที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งยินดีจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อบริการที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นตาม ส่งผลให้สัดส่วนของตลาดกรุ๊ปทัวร์จีนของไทยลดลงตามลำดับในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 และอาจต่อเนื่องไปในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557
หากแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัวเกิน 3 เดือน แต่คาดว่าไม่เกิน 6 เดือน เนื่องจากแต่ละประเทศต่างแข่งขันกันช่วงชิงตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับธุรกิจด้านการท่องเที่ยวของไทยที่จะได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้ ได้แก่ ธุรกิจนำเที่ยว และธุรกิจบริการเกี่ยวเนื่อง อาทิ ธุรกิจด้านที่พัก และธุรกิจด้านช้อปปิ้ง โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปผลกระทบไว้ดังนี้
• ธุรกิจนำเที่ยว เป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการการเดินทาง หรือนำเสนอรายการนำเที่ยว (แพ็จเกจทัวร์) ให้มีความน่าสนใจ และสามารถดึงดูดคนจีนให้เลือกเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทย แม้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ตลาดนักท่องเที่ยวจีนของไทยจะขยายรวดเร็ว ทั้งนี้ด้วยกระแสการเดินทางท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์ และการกระตุ้นตลาดก่อนกฏหมายว่าด้วยการท่องเที่ยวของจีนจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556
แต่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็คาดการณ์ว่า ตลาดนักท่องเที่ยวจีนของไทยมีแนวโน้มถดถอยลงในระยะสั้น คือ ช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ โดยมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามายังประเทศไทยลดลงประมาณ 3 แสนคน หรือลดลงประมาณ 6.5 แสนคนในกรณีที่แต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้เวลาในการปรับนานกว่า 3 เดือนแต่ก็คาดว่าไม่เกิน 6 เดือนจากการแข่งขันช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดนักท่องเที่ยวจีนในระดับบนที่มีกำลังซื้อสูงของหลายประเทศ นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาลดลงส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่ซื้อแพ็กเกจทัวร์เดินทางเข้ามาเป็นกรุ๊ปทัวร์ แต่ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวของไทยก็สามารถนำเสนอขายรายการนำเที่ยวในราคาที่สมเหตุสมผล คือ ราคาที่สูงกว่าต้นทุนบริการที่ปลายทาง
นักท่องเที่ยวที่ยังเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยแบบกรุ๊ปทัวร์ ซึ่งแม้จะมีจำนวนลดลงมาก แต่ก็เป็นนักท่องเที่ยวในตลาดระดับบนซึ่งมีกำลังซื้อสูง ทำให้ต่างแข่งขันในด้านคุณภาพการบริการแทนการแข่งขันด้านราคาเช่นที่ผ่านมาซึ่งนำไปสู่การขาดสภาพคล่องได้ในที่สุด ธุรกิจนำเที่ยวของไทยจะต้องปรับรูปแบบบริการให้สอดคล้องกับระเบียบข้อบังคับของจีนอย่างเคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงบทลงโทษที่รุนแรง และสูญเสียโอกาสการทำธุรกิจในตลาดจีน รวมทั้งต้องพัฒนารายการนำเที่ยวประเทศไทยให้มีความน่าสนใจ และยืดหยุ่น ให้อิสระในการท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวจีนมากยิ่งขึ้น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนในตลาดระดับบนที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยในลักษณะกรุ๊ปทัวร์ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น
รวมทั้งการปรับแผนการตลาดโดยหันมาขยายตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางด้วยตนเองมากขึ้น ด้วยการพัฒนาบริการนำเที่ยวแบบอิสระ เพื่อเพิ่มช่องทางในการขยายตลาดนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งนิยมเที่ยวประเทศไทยในอันดับต้นๆ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่งจะเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ด้วยความโดดเด่นในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุ้มค่าเงินที่จ่ายไป ของประเทศไทย นอกจากนี้ ควรพยายามกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งตลาดนักท่องเที่ยวจีนเพียงตลาดเดียว ด้วยการขยายตลาดกรุ๊ปทัวร์ในประเทศอื่นๆ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน มาชดเชยตลาดกรุ๊ปทัวร์จีนที่ลดลง
• ธุรกิจด้านที่พัก โดยเฉพาะโรงแรมระดับ 2-3 ดาวตามแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจีน เช่น กรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่ และภูเก็ต เป็นต้น มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากการถดถอยลงของตลาดกรุ๊ปทัวร์จีนในระดับล่าง แต่โรงแรมระดับ 4-5 ดาวมีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการการปรับฐานตลาดกรุ๊ปทัวร์จีน จากตลาดระดับล่างเป็นตลาดระดับบนที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งยินดีจ่ายในราคาปกติที่ควรจะเป็นหากได้รับบริการที่มีคุณภาพสอดคล้องกับราคา
นอกจากนี้ ธุรกิจโรงแรมทุกระดับจะต้องมุ่งเน้นการพัฒนาด้านคุณภาพการบริการ เพื่อสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการ ซึ่งจะนำไปสู่การบอกต่อในวงกว้างที่มีประสิทธิผล และการกลับมาใช้บริการซ้ำเมื่อมีโอกาส รวมทั้งการปรับกลยุทธ์การตลาด ด้วยการทำการตลาดเอง แทนการพึ่งพันธมิตร คือ ธุรกิจนำเที่ยว เป็นหลัก เพื่อสามารถเข้าถึงนักท่องเที่ยวจีนโดยตรงได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการทำการตลาดออนไลน์ เพื่อขยายตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางด้วยตนเอง ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นตามลำดับ ตลอดจนการขยายตลาดกรุ๊ปทัวร์ในประเทศอื่นๆ มาชดเชยตลาดกรุ๊ปทัวร์จีนที่ลดลง
• ธุรกิจด้านช้อปปิ้ง ในขณะที่บรรดาร้านจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกที่เป็นพันธมิตรเดิม ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งอยู่ในย่านช้อปปิ้งของนักท่องเที่ยว จะได้รับผลกระทบจากข้อห้ามที่ไม่ให้บริษัทนำเที่ยวกำหนดสถานที่ช้อปปิ้งโดยเฉพาะ และบังคับให้นักท่องเที่ยวจีนซื้อสินค้า แต่ร้านค้าสินค้าประเภทที่นักท่องเที่ยวจีนนิยม (อาทิ สินค้าแบรนด์เนม อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกา เครื่องหนัง สินค้าโอทอป เป็นต้น) ตามห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้าต่างๆ ที่อยู่ในย่านใจกลางเมืองท่องเที่ยว หรือตามแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งร้านค้าปลอดภาษี จะได้รับประโยชน์โดยมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาช้อปปิ้งกันมากขึ้น
ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวรับกลุ่มนักช้อปปิ้งจากจีนที่เพิ่มขึ้น (อาทิ อำนวยความสะดวกแก่นักช้อปปิ้งจากจีนด้วยการมีแผ่นพับแนะนำเป็นภาษาจีน จ้างพนักงานประชาสัมพันธ์ และพนักงานขายที่พูดภาษาจีนได้) และรักษาตลาดไว้ในระยะยาว ด้วยการขายสินค้าที่มีคุณภาพในราคาที่เป็นธรรม ไม่เอาเปรียบหลอกลวงนักท่องเที่ยว
• ธุรกิจร้านอาหาร แต่เดิมบริษัททัวร์จะจัดรายการนำเที่ยว พานักท่องเที่ยวไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหาร หรือภัตตคารที่เป็นพันธมิตร ส่งให้ผู้ประกอบการร้านอาหารอื่นที่ไม่ได้เป็นพันธมิตรกับริษัทนำเที่ยว (ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย) เสียโอกาสในการจำหน่าย โดยหลังจากการบังคับใช้กฎหมายท่องเที่ยวฉบับใหม่ของจีนแล้ว น่าจะลดการผูกขาด เพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการรายที่ไม่เป็นพันธมิตรกับบริษัทนำเที่ยว มีโอกาสในการเพิ่มฐานลูกค้านักท่องเที่ยวชาวจีน รวมถึงหนุนให้การแข่งขันของร้านอาหารสำหรับการบริการนักท่องเที่ยว สามารถยกระดับคุณภาพของร้านอาหารให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น นอกจานี้ หากนักท่องเที่ยวมีสิทธิ์เลือกร้านอาหารที่ดีมีคุณภาพแล้ว น่าจะช่วยสร้างความพึงพอใจแก่ภาพรวมการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้
สรุปและข้อเสนอแนะ
ในปีนี้ภาคการท่องเที่ยวของไทยเติบโตต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงเลือกเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ในไทยกันอย่างคึกคัก ด้วยความหลากหลายของทรัพยากรด้านการท่องเที่ยว และความพร้อมของการบริการ ด้านการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพได้มาตรฐานสากลรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายจากทุกมุมโลกได้อย่างลงตัว
ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สำคัญของไทย คือ นักท่องเที่ยวจีน เป็นตลาดท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเป็นตลาดท่องเที่ยวเป้าหมายของหลายประเทศที่ต้องการนำรายได้ท่องเที่ยวเข้าประเทศ อย่างไรก็ตาม กฎหมายท่องเที่ยวฉบับใหม่ของจีนที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 1 ตุลาคม 2556 มีแนวโน้มส่งผลกระทบทำให้ตลาดทัวร์จีนของไทยที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีแนวโน้มถดถอยลงในช่วง 3-6 เดือนแรก แต่โดยแท้จริงแล้วการนำกฏหมายดังกล่าวมาบังคับใช้ นำไปสู่การปรับฐานการตลาดทัวร์จีน ของไทยให้เป็นตลาดที่มีคุณภาพ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวช่วยขจัดปัญหาทัวร์ไม่มีคุณภาพที่เรื้อรังมาช้านานให้ตลาดทัวร์จีนของไทย และก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวทุกฝ่าย รวมทั้งนักท่องเที่ยวเอง
หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนของไทยร่วมมือกันใช้โอกาสนี้ ในการยกระดับคุณภาพการให้บริการในตลาดทัวร์จีน และขยายไปในตลาดท่องเที่ยวหลักอื่นๆของไทย จะส่งผลดีนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่ช่วยเพิ่มพูนรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้ประเทศไทยต่อเนื่องไปในระยะยาว รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมในด้านต่างๆ ตามมา โดยเฉพาะด้านทรัพยากรการท่องเที่ยว และสภาพสังคมของไทย
ที่มาของข้อมูล
– กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
– National Tourism Administration of The People’s Republic of China (CNTA), BMI Report 2013(Q3)
ขอขอบคุณ : เคเอสเอ็มอีแคร์