ตลาดอินเดีย
ประเด็นสำคัญ
- อินเดีย เป็นเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีแนวโน้มขยายตัวสดใสในปี 2561 และน่าจะต่อเนื่องไปในปี 2562 รวมทั้งยังมีฐานกำลังซื้อจากโครงสร้างประชากรวัยหนุ่มสาวและประชากรเมืองที่มีแนวโน้มเติบโต นอกจากนี้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมก็ยังมีแนวโน้มขยายการลงทุนในทิศทางที่สอดรับกับการผลักดันนโยบาย Make in India ของภาครัฐ
- ธุรกิจส่งออกสินค้าไปตลาดอินเดียที่มีโอกาสเติบโต ประกอบด้วยกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมหลักในอินเดีย อาทิ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก รถยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรกลและส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาง รวมทั้งกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น อาหารแปรรูป (อาหารกระป๋อง ผลิตภัณฑ์ ข้าว สิ่งปรุงรสอาหาร เครื่องดื่ม เป็นต้น) และอาหารสดอย่างผลไม้ ตามการขยายตัวของการบริโภคขณะที่ตราสินค้าไทยก็เป็นที่ยอมรับจากคนอินเดียพอสมควร ทั้งนี้ผู้ประกอบการ SME จึงไม่ควรมองข้ามโอกาสในการเจาะตลาดอินเดียแม้สัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดนี้ในปัจจุบันจะยังมีไม่มาก
- ผู้ประกอบการไทยควรทำความเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าทั้งลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคลอย่างถ่องแท้ พร้อมทั้งมองหากลยุทธ์การเจาะตลาดที่เหมาะสมอันประกอบด้วย การใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีภายใต้ ข้อตกลงเขตการค้าเสรี FTA ไทย-อินเดีย การทำ การตลาดในหลากหลายช่องทาง และการจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจชาวอินเดียหรือผ่านผู้ประกอบการไทยที่ไปลงทุนในอินเดีย
เศรษฐกิจอินเดียปี 2561 มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น และมีสัญญาณบวกต่อเนื่องในช่วงปีข้างหน้า
อินเดีย เป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่น่าสนใจ ปัจจุบันขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลกและ มีแนวโน้มที่จะขยับขึ้นเป็นอันดับ 5 ในปีหน้า โดยในปีงบประมาณ 2560/2561 (เมษายน 2560-มีนาคม 2561) 2 Analysis เศรษฐกิจอินเดียถูกคาดหมายว่าจะเติบโต 6.6% ชะลอตัวลงจากที่ขยายตัว 7.1% ในปีงบประมาณ 2559/2560 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปฏิรูปด้านการเงินและการคลังของรัฐบาลหลักๆใน 2 นโยบายคือ 1.การ ประกาศยกเลิกการใช้ธนบัตร 500 และ 1,000 รูปี อย่างฉับพลัน เพื่อลดการใช้เงินนอกระบบ และ 2.การยุบระบบภาษีมูลค่าเพิ่มให้เป็นระบบกลางระบบเดียวทั่วประเทศ (Goods and Services Tax: GST) ตั้งแต่กลางปี 2560 เป็นต้นไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีจากแต่เดิมที่รัฐบาลกลางและระดับรัฐใช้ระบบการจัดเก็บ ภาษีที่แตกต่างกันถึง 15 แบบ มาเหลือเพียง 4 ขั้นอัตรา (5%, 12%, 18%, 28%) ทั้งนี้นโยบายดังกล่าว แม้ส่ง ผลให้เกิดการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ก็จะเป็นผลดีต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของอินเดียในระยะยาว
สำหรับในปีงบประมาณ 2561/2562 หลายๆ สถาบันต่างให้มุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจอินเดีย โดยประเมินว่า เศรษฐกิจอินเดียจะกลับมามีอัตราการเติบโตที่ดีขึ้นจากปีก่อน และน่าจะรักษาอัตราที่สดใสได้อย่างต่อเนื่อง (IMF คาดว่า เศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัว 7.4% ในปี 2561/2562 และ 7.8% ในปี 2562/2563) จากแรงหนุนการบริโภคภายในประเทศ การส่งออกการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล และผลบวกจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอุตสาหกรรมต่างๆในอินเดีย
นอกจากสัญญาณบวกด้านเศรษฐกิจแล้วฐานกำลังซื้อจากโครงสร้างด้านประชากรอินเดีย ยังนับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่คาดว่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของการใช้จ่ายภายในประเทศในระยะข้างหน้าและเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการสินค้าและบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวอินเดียได้ด้วยจำนวนประชากรของอินเดียที่มีกว่า 1.3 พันล้านคน มากเป็นอันดับ 2 ของโลกเป็นรองเพียงจีน ขณะเดียวกันโครงสร้างประชากรก็ยังเป็นกลุ่มคนหนุ่มสาวเป็นจำนวนมาก โดยอายุเฉลี่ยของชาวอินเดียอยู่ที่เพียง 28 ปี เทียบกับจีนที่ 37 ปี (ญี่ปุ่นอยู่ที่ 47 ปี ไทยและสหรัฐฯ 38 ปี สิงคโปร์ 35 ปี เวียดนาม 31 ปี) อีกทั้งสัดส่วนจำนวนประชากรเมือง (Urban Population) ที่รายได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ยังถูกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากในปี 2560 ที่สัดส่วนอยู่ที่ 33% ของจำนวนประชากรทั้งหมดเป็น 34% และ 39% ในปี 2563 และปี 2573 ตามลำดับ
ขณะเดียวกันการเปิดกว้างมากขึ้นสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศในอินเดีย ประกอบกับการชูนโยบาย Make in India ตั้งแต่ปี 2557 ที่สนับสนุนการลงทุนใน 25 ธุรกิจหลักร่วมกับการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลอินเดียก็คาดว่าจะสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในอินเดียมีการขยายการลงทุน จะช่วยหนุนความต้องการสินค้าและบริการตามมาเช่นกัน โดยอุตสาหกรรมสำคัญในอินเดีย ได้แก่ อุตสาหกรรม ซอฟท์แวร์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ยาและเวชภัณฑ์ เกษตร สิ่งทอ เหล็ก อุปกรณ์ขนส่ง เครื่องจักร และเครื่องหนัง
ในระยะข้างหน้าประเด็นที่ต้องติดตาม คือ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการเดินหน้าปฏิรูปใน ด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างทั่วถึงของทางการก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในอินเดียในปี 2562 ตลอดจนผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างเศรษฐกิจหลักในโลกภายหลังจากสหรัฐฯ ประกาศใช้ มาตรการปกป้องการค้าในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งในที่สุดแล้วอาจส่งผลกระทบต่อการผลิต การค้า และการจ้าง งานในแต่ละประเทศในระดับที่แตกต่างกันตามความครอบคลุมของรายการสินค้าและความเชื่อมโยงของห่วงโซ่ อุปทานในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง แน่นอนว่า อินเดียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกสินค้าไปยังตลาดหลักและเป็นฐาน การผลิตที่สำ คัญในโลก ย่อมมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับผลกระทบจากประเด็นนี้ไม่มากก็น้อย
ธุรกิจที่ส่งออกสินค้าไปยังอินเดีย ยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง…SME ไม่ควรมองข้ามตลาดนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกของไทยไปยังอินเดียในปี 2561 อาจขยายตัวประมาณ 8.5-10.0% แม้ชะลอจากผลของฐานในปี 2560 ที่เติบโตถึง 25.8% หรือมีมูลค่าทั้งปี 2560 ที่ 6.5 พันล้านดอลลาร์ฯ แต่อัตราการเติบโตในกรอบดังกล่าวก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ขณะที่ในช่วง 2 เดือนแรกปี 2560 การส่งออกของไทยไปอินเดียโตสูงถึง 36.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ปัจจัยหนุนการส่งออกของไทยไปอินเดียในปี 2561 ได้แก่ เศรษฐกิจอินเดียที่มีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่ง และอานิสงส์จากการบังคับใช้ภาษี GST ที่เอื้อให้ราคาสินค้าอุปโภค บริโภคหลายรายการปรับลดลง (เช่น เสื้อผ้าราคาต่ำกว่า 1,000 รูปี รองเท้าราคาต่ำกว่า 500 รูปี ชิ้นส่วนรถ แทรกเตอร์ ปุ๋ย สมาร์ทโฟน สบู่ เครื่องครัวพลาสติก บิสกิต รถยนต์เครื่องยนต์ไม่เกิน 1,500 ซีซี เป็นต้น) และ ต้นทุนธุรกิจบริการลดต่ำลง เช่น ธุรกิจการบิน (ตั๋วเครื่องบินชั้นประหยัด การเช่าซื้ออากาศยาน เป็นต้น) จนทำให้เกิดความต้องการสินค้าต่างๆ ตามมา นอกจากนี้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี FTA ไทย-อินเดีย และอาเซียน-อินเดีย ยังเป็นผลบวกต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยังอินเดียด้วย
สินค้าที่มีโอกาสเติบโตในตลาดอินเดียจำแนกได้ดังนี้
กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก รถยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง สอดรับกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมหลักในอินเดีย
กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร ได้แก่ อาหารแปรรูปอย่างอาหารกระป๋อง ผลิตภัณฑ์ข้าว สิ่งปรุงรสอาหาร เครื่องดื่ม และอาหารสดทั้งผลไม้ ผัก ประมง ปศุสัตว์ ก็มีแนวโน้มขยายตัวตามการเติบโตของกำลังซื้อชาวอินเดีย การขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ อีกทั้งตราสินค้าไทยก็เป็นที่ยอมรับของคนอินเดียสำหรับน้ำมันจากพืช และสัตว์อย่างน้ำมันปาล์มนั้น ตั้งแต่ปลายปี 2560 เป็นต้นมา ภาครัฐของไทยสนับสนุนให้มีการส่งออกมากขึ้นเพื่อ ระบายสต็อกปาล์มน้ำมันในประเทศ จากเดิมที่ผลผลิตส่วนใหญ่ของน้ำ มันปาล์มจะเน้นพึ่งพาตลาดในประเทศเป็นหลัก ผนวกกับราคาน้ำมันปาล์มของไทยมีระดับต่ำกว่ามาเลเซียพอสมควร ผู้นำเข้าอินเดียจึงสั่งซื้อสินค้าจากไทยแม้อินเดียจะปรับขึ้นภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มโดยมีผลตั้งแต่ปลายปี 2560 มูลค่าการส่งออกน้ำมันปาล์มของไทย ไปอินเดียจึงเร่งตัวสูงมาก อย่างไรก็ดีในช่วงที่เหลือของปีนี้ต้องติดตามส่วนต่างราคาน้ำมันปาล์มระหว่างไทยกับมาเลเซียที่ปัจจุบันเริ่มแคบลง เพราะอาจมีผลต่อการส่งออกน้ำมันปาล์มจากไทยไปอินเดียให้เติบโตชะลอลงได้
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า ผู้ประกอบการ SME ที่ส่งออกไปตลาดอินเดียยังมีส่วนแบ่งค่อนข้างจำกัดสะท้อนได้จากมูลค่าการส่งออกโดย SME ไปยังอินเดียที่อยู่ที่ 5.2 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียง 29% ของมูลค่า การส่งออกทั้งหมดของไทยไปยังอินเดียที่ 1.8 แสนล้านบาท (ข้อมูลปี 2559) ซึ่งอาจเป็นเพราะที่ผ่านมาการเจาะตลาดอินเดียมีความท้าทายหลายด้านทั้งความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคชาวอินเดียที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย โครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะการคมนาคมขนส่งที่ยังเป็นอุปสรรค รวมทั้งกฎระเบียบในแต่ละรัฐที่แตกต่างกัน แต่ทั้งนี้การที่ทางการอินเดียมีแผนที่จะผลักดันการปฏิรูปในด้านต่างๆ และผ่อนคลายกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค ซึ่งจะเอื้ออำนวยต่อการค้าการลงทุนในอินเดียมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพก็ไม่ควรมองข้ามโอกาสทางธุรกิจ ในตลาดอินเดีย
กลยุทธ์ในการเจาะตลาดอินเดีย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าการเจาะตลาดอินเดีย ผู้ประกอบการควรทำความรู้จักพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้า ทั้งลูกค้าธุรกิจและลูกค้าผู้บริโภคอย่างถ่องแท้ เพื่อการทำการตลาดอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ควรพิจารณาแนวทางดังนี้
การใช้ความแตกต่างของสิทธิประโยชน์ด้านภาษีภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย และอาเซียนอินเดีย เพื่อสร้างแต้มต่อทางธุรกิจ โดยแม้ใน FTA ไทย-อินเดีย จะครอบคลุมการเปิดตลาดหรือการลดภาษีนำเข้าสินค้าเพียง 83 รายการ แต่มีสินค้า 15 รายการที่ได้รับการลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% แล้วโดยที่ภายใต้ FTA อาเซียน-อินเดีย ยังถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 5-30% ทำให้สินค้าจากไทยที่ส่งออกไปอินเดียจะได้รับสิทธิประโยชน์เหนือคู่แข่งในกลุ่มอาเซียนอนึ่งใน 15 รายการดังกล่าวสินค้าไทยที่น่าจะมีโอกาสเจาะตลาดประกอบด้วย มังคุด เคมีภัณฑ์ขั้นต้น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น
การทำตลาดผ่านช่องทางค้าปลีกสมัยใหม่ ออนไลน์ รวมถึงตลาดนักท่องเที่ยวอินเดียที่มาเที่ยวไทย เป็นทางเลือกหนึ่งในการเข้าถึงผู้บริโภคชาวอินเดีย เนื่องจากธุรกิจค้าปลีกทั้งค้าปลีกสมัยใหม่และค้าปลีกออนไลน์ในอินเดียมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องหลังภาครัฐผ่อนคลายกฎระเบียบโดยเปิดโอกาสสำหรับการลงทุนโดยต่างชาติมากขึ้นกว่าในอดีต อีกทั้งวิถีชีวิตและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคก็เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่สอดรับกับการมาของเทคโนโลยีใหม่ๆมากขึ้น ขณะเดียวกันจำนวนนักท่องเที่ยวอินเดียที่มาเที่ยวไทยก็เติบโตในเกณฑ์ดี.
(ปี 2560 มีจำนวน 1.4 ล้านคน เติบโต 18.2%) ดังนั้นผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาช่องทางการเจาะตลาดที่หลากหลายเพื่อสร้างการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคชาวอินเดีย โดยคำนึงถึงความสอดคล้องของสินค้าและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายประกอบด้วย นอกเหนือไปจากการเข้าร่วมกิจกรรม/งานแสดงสินค้า รวมทั้งการติดตามข่าวสารของทั้งภาครัฐอย่างกระทรวงพาณิชย์ไทย และภาคเอกชน เช่น สภาธุรกิจไทย-อินเดีย สมาคมต่างๆที่เกี่ยวข้อง
การจับมือกับพันธมิตรที่เชื่อถือได้ในอินเดียหรือธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในอินเดีย เป็นอีกทางเลือกหนึ่งโดยที่ผ่านมา ผู้ประกอบการไทยได้เริ่มขยายการลงทุนไปที่อินเดียมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจอาหาร เป็นต้น
โดยสรุป การเจาะตลาดอินเดียที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวสดใสในช่วงปีข้างหน้าเป็นหนึ่งในโอกาสที่ ผู้ประกอบการ SME ไทยที่มีศักยภาพไม่ควรมองข้าม แต่ความท้าทายคงอยู่ที่การทำการตลาดและความเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคที่กำลังซื้อและภาคธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตท่ามกลางวัฒนธรรมที่หลากหลายในแต่ละพื้นที่เป็นสำคัญ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก K SME Analysis