ตลาดอินเดีย ค้าขายแดนภารตะบนความต่างของสองตลาดในหนึ่งเดียว
เส้นทางการค้าที่เปิดกว้าง และโอกาสดีๆ ของสมาชิกในกลุ่มประเทศอาเซียน + 6 ซึ่งหมายถึงการดำเนินการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ รวมกับอีก 6 ประเทศนอกอาเซียน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย โดยเฉพาะประเทศอินเดียในขณะนี้นั้นจะเรียกได้ว่ากำลังอยู่ในช่วงโปรโมชั่นก็ว่าได้ เนื่องจากรัฐบาลอินเดียอนุญาตให้ผู้ประกอบการจากต่างประเทศนำสินค้าเข้าไปวางขายได้ ฟรี !! ประเด็นนี้น่าสนใจไม่น้อยสำหรับเอสเอ็มอี อย่างไรก็ตามจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความรู้จักกับอินเดียให้มากยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ในการมองหาช่องทางของตลาดที่เหมาะสมกับสินค้า และทำความเข้าใจถึงความเป็นไปได้ของธุรกิจในแต่ละประเภท
เขตการค้าเสรีอาเซียน – อินเดีย (AIFTA)
อินเดีย นับว่าเป็นประตูการค้าสู่ภูมิภาคเอเชียใต้ (ประกอบด้วยอินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน ศรีลังกา มัลดีฟ เนปาล ภูฏาน และอัฟกานิสถาน) ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 7.4 มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 1.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หากพิจารณาสัดส่วนมูลค่าการค้ารวมการส่งออกและการนำเข้าระหว่างประเทศไทยกับตลาดเอเชียแล้ว อินเดียมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 72.90,65.31 และ 91.10 ตามลำดับ และมีมูลค่าถึง 8,194.03 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปัจจุบันอินเดียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยในเอเชียใต้ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 16 ของไทยในตลาดโลก และยังเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 10 ของไทยในตลาดโลกอีกด้วย
ยุทธศาสตร์ในการเจาะตลาดอินเดียนั้น ต้องเรียกว่า “The Two-India Strategy”
หรือ “ยุทธศาสตร์ 2 อินเดีย”แบ่งออกเป็น 2 ทางได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ให้อินเดียเป็นแหล่งวัตถุดิบของไทยเนื่องจากอินเดียมีทรัพยากรธรรมชาติอยู่จำนวนมาก
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ไทยสามารถใช้อินเดียเป็นแหล่งหาเงินเข้าประเทศ
จากกลุ่มประชากรที่มีความแตกต่างกัน 2 กลุ่ม (The Two India) คือกลุ่มอินเดียทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี ถ้าต้องทำธุรกิจกับลูกค้ากลุ่มนี้สามารถใช้กลยุทธ์ได้ 2 ทาง (อีกนั่นแหละ) คือ (1) นำบริษัทไทยเข้าไปลงทุนในอินเดีย เพื่อผลิตสินค้าเพื่อบริโภคออกมาจำหน่ายให้กับชาวอินเดียซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มีประชากรถึง 1.2 พันล้านคน ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ส่งออกสินค้าประเภทนี้ เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีกำไรต่อหน่วยต่ำ (Low Margin) เพราะสินค้าไทยไม่สามารถแข่งขันทางด้านราคากับสินค้าเดียวกันที่ผลิตในประเทศอินเดียได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรมุ่งเน้นไปที่การเข้าไปเปิดโรงงานผลิตสินค้าประเภทนี้ในประเทศอินเดีย เพื่อจำหน่ายในตลาดอินเดีย (2) นำบริษัทไทยเข้าไปรับงานในประเทศอินเดีย เนื่องจากในขณะนี้อินเดียอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งก่อสร้าง มีการตั้งงบประมาณไว้กว่า 45,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
สำหรับโปรเจคนี้ได้มีบริษัทเครืออิตัลไทย เอกชนผู้รับเหมารายใหญ่เข้าไปรับงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อยู่แล้ว และสำหรับกลุ่มที่ 2 คือกลุ่มอินเดียที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี ซึ่งมีจำนวนประมาณ 180 ล้านคน เอสเอ็มอีไทยสามารถใช้กลยุทธ์ทางธุรกิจได้ 2 ทาง (เช่นกัน) ได้แก่ – ส่งออกสินค้าไทยที่เป็นที่ยอมรับในตลาดอินเดีย สำหรับเจาะตลาดที่มีกำลังซื้อสูงและเป็นกลุ่ม Brand Awareness สูง เช่น สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ชิ้นส่วนยานยนต์รวมทั้งประดับยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ของใช้ของตกแต่งบ้าน สินค้าไลฟ์สไตล์ ฯลฯ – นำบริษัทไทยเข้าไปลงทุนในธุรกิจก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรร และธุรกิจตกแต่งบ้าน (Interior Design) ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มบริษัทพฤกษาได้เข้าไปรุกตลาดในอินเดียแล้ว นอกจากนั้นแล้วยังสามารถเข้าไปลงทุนในธุรกิจค้าปลีกประเภท Single Brand ได้อีกด้วย ทั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับภาคเอกชนไทยที่ต้องการเปิดตลาดในอินเดีย โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกที่มีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว เช่น Black Canyon , Jim Thompson , Naraya ฯลฯ
รู้จักผู้บริโภคอินเดียก่อนบุกตลาดอินเดีย
ประชากรจำนวนมหาศาลของอินเดีย ที่มีอยู่ด้วยกันประมาณ 1,210 ล้านคน แบ่งออกเป็นเพศชายร้อยละ 52 เพศหญิงร้อยละ 48 อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ร้อยละ 30 และชนบทร้อยละ 70 เป็นผู้มีอายุอยู่ในช่วง 15 – 64 ปี ร้อยละ 64.6 ซึ่งถือว่ากลุ่มนี้เป็นผู้บริโภคที่มีรายได้และการใช้จ่ายเงินในการบริโภค (Active Consumer Group) แบ่งออกเป็นเพศชายร้อยละ 33 และเพศหญิงร้อยละ 31 ทั้งนี้กลุ่มผู้บริโภคที่สำคัญที่สุดในการใช้จ่ายคือ กลุ่มที่มีอายุอยู่ในช่วง 26 – 35 ปี ซึ่งมีอยู่ร้อยละ 25 ของกลุ่มฯ คิดเป็นร้อยละ 16.2 ของผู้บริโภคอินเดียทั้งหมด