ดาวรุ่งพุ่งแรงทั้งไทยและ AEC ตลาดเครื่องสำอาง 1 ใน 10 ธุรกิจที่น่าลงทุนประจำเป็น 2560

ดาวรุ่งพุ่งแรงทั้งไทยและ AEC ตลาดเครื่องสำอาง 1 ใน 10 ธุรกิจที่น่าลงทุนประจำเป็น 2560

ดาวรุ่งพุ่งแรงทั้งไทยและ AEC ตลาดเครื่องสำอาง
1 ใน 10 ธุรกิจที่น่าลงทุนประจำเป็น 2560 

อุตสาหกรรมเครื่องสำอางของไทย ถูกจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 ธุรกิจที่น่าลงทุนประจำเป็น 2560 โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อุตสาหกรรมนื้ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ มีจำนวนโรงงานผลิตที่จดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมทั้งสิ้น 7,000 แห่ง

ด้วยความที่ไทยมีความพร้อมทั้งการพัฒนานวัตกรรม และยังเป็นแหล่งผลิตสมุนไพร และผลิตภัณฑ์ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในอุตสาหกรรม ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบในด้านนี้หากเทียบกับต่างประเทศ ส่งผลให้มียอดการยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดในปี 2558 มียอดนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจเครื่องสำอาง รวม 5,171 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพ 2,887 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กมากที่สุด คิดเป็น 99.3%

ในแต่ละปีอุตสาหกรรมเครื่องสำอางสร้างรายได้กลับสู่ประเทศมหาศาล โดยจากข้อมูลกรมศุลกากรล่าสุดระบุว่า ในปี 2559 ไทยมีการส่งออกเครื่องสำอางมูลค่า 84,803 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ซึ่งมีการส่งออก 82,609 ล้านบาท และยังเป็นการส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ซึ่งตลาดส่งออก 7 ใน 10 ตลาดสำคัญของไทยจัดอยู่ในกลุ่มอาเซียน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรวมกันถึง 42%

ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 35,525 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีมูลค่า 30,921.79 ล้านบาท โดยแหล่งนำเข้าหลักมาจากฝรั่งเศส คิดเป็นสัดส่วน 20.77% รองลงมาคือ สหรัฐฯ 13.10% จีน 12.54% ญี่ปุ่น 10.20% และเกาหลีใต้ 9.63%

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังระบุด้วยว่า ธุรกิจเครื่องสำอางมีอัตรการเติบโตของรายได้เฉลี่ย 5 ปี นับจากปี 2554-2558 เพิ่มขึ้นเป็น 7% ต่อปี และมีอัตรการกำไรสุทธิเฉลี่ยปีละ 7% ส่งผลให้กลายเป็นธุรกิจสดใสสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้ 17,332 ล้านบาท จากนักลงทุนไทย 13,323 ล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติ 4,009 ล้านบาท


ปัจจัยบวกจาก ‘คนรุ่นใหม่ใส่ใจสุขภาพ’

ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจไปได้ดี เพราะได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันที่หันมาให้ความสนใจดูแลรักษาผิวพรรณมากขึ้นในทุกช่วงอายุ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงโอกาสในการขยายธุรกิจไปสู่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน และการเพิ่มขึ้นของช่องทางการจัดจำหน่าย และกระจายสินค้าส่งผลให้ธุรกิจมีโอกาสเติบโตอย่างมากในอนาคต

สอดคล้องกับข้อมูลจาก  www.alliedmarketresearch.com ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมเครื่องสำอางมาจาก  1) วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป 2) ความนิยมการใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติ 3) การรักษาความงามชั้นสูง 4) กลยุทธ์รูปแบบบรรจุภัณฑ์ 5) ความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพความต้องการดูแลผิว และ 6) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค


AFTA ลดกำแพงภาษี – ตลาดอาเซียนรุ่ง

หากมาวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ทำให้ตลาดส่งออกเครื่องสำอางในอาเซียนสดใส มุมมองของ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ซึ่งเคยศึกษาประเด็น ‘AEC’ กับความท้าทายของอุตสาหกรรรมเครื่องสำอางไทย ระบุว่า หลังจากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2536 อัตราภาษีนำเข้าเครื่องสำอาง (พิกัด HS 3303 – 3307) จากกลุ่มประเทศอาเซียนลดลงจนกลายเป็น 0% ในปี 2553

ขณะที่การกำกับดูแลสินค้าเครื่องสำอางในอาเซียนจะมีความตกลงว่าด้วยการปรับกฎระเบียบเครื่องสำอางให้สอดคล้องกันของอาเซียน (Agreement on The ASEAN Harmonized Cosmetic Regulatory : AHCRs) โดยไทยได้เข้านับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา

จากผลการวิเคราะห์สินค้าเครื่องสำอาง 5 กลุ่ม ได้แก่ สินค้าผลิตภัณฑ์สำหรับใช้กับผม และผลิตภัณฑ์เพื่ออนามัยของช่องปากหรือฟัน เป็นกลุ่มที่ไทยมีศักยภาพสูงสุดในการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน ขณะที่ผลิตภัณฑ์ความงามหรือแต่งหน้าไทยมีศักยภาพการส่งออกเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ ส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปรุงแต่งอื่นถือเป็นกลุ่มที่ไทยยังมีอนาคต ขณะที่ผลิตภัณฑ์หัวน้ำหอมและน้ำหอม เป็นสินค้าที่ไทยยังมีศักยภาพส่งออกค่อนข้างน้อย

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สินค้าเครื่องสำอางไทยยังมีโอกาส เนื่องจากไทยมีความได้เปรียบด้วยความเป็นแหล่งวัตถุดิบทำให้ไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ และไทยมีโอกาสที่จะขยับเป็นฐานการผลิตในอาเซียน และเป็นผู้รับจ้างผลิตควบคู่กันไปด้วย นอกจากนี้สินค้ากลุ่มเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสมุนไพรไทยมีจุดเด่นเฉพาะตัวทั้งด้านรูปลักษณ์และกลิ่น จึงเป็นโอกาสที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น และมีการส่งออกเพิ่มขึ้น อีกทั้งไทยควรยกระดับเครื่องจักรการผลิต วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานเทียบเท่ากับต่างประเทศ พร้อมทั้งควรหาช่องทางตลาดใหม่ๆ เช่น ทางอินเทอร์เน็ต สื่อโฆษณาในทีวีหรือหนังสือต่างๆ หรือแม้กระทั่งการประชาสัมพันธ์โดยใช้ดารานักร้อง นักแสดงเป็นพรีเซ็นเตอร์ เป็นต้น

เอกชนลุยอาเซียนเต็มที่

ในมุมมองเอกชน คุณนิษฐา แสงสุริยะฉัตร ผู้ช่วยผู้จัดการ บริษัท ฉัตรชัยแพทย์แผนโบราณ จำกัด ผู้ผลิตยาสมุนไพรไทยยี่ห้อ “หมอเส็ง” กล่าวว่า โอกาสที่จะขยายตลาดเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านมีความเป็นไปได้สูง โดยขณะนี้บริษัทกำลังหาตัวแทนจำหน่ายเพื่อขยายออกสู่ตลาดเพื่อนบ้าน ในกลุ่มอาเซียน CLMV โดยเฉพาะตลาด สปป.ลาว ซึ่งได้ขยายไปก่อนหน้านี้ประสบความสำเร็จมาก และเริ่มขยายไปที่ตลาดกัมพูชา ซึ่งมีอัตรการเติบโตปีละ 10% โดยมุ่งเน้นรุกตลาดเมืองใหญ่ๆ เช่น พนมเปญ เสียมราฐ พระตะบอง เป็นต้น

ขณะที่ คุณเกศมณี เลิศกิจจา นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย ชี้ว่าปัจจุบันไทยถือว่าเป็นฮับผู้ผลิตเครื่องสำอางอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับ 1 ของโลกในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวกับเส้นผม แต่ไทยยังเป็นอันดับ 3 ในเอเชียรองจากญี่ปุ่นและเกาหลี ด้วยความที่ไทยได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ เป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค และมีวัตถุดิบจากธรรมชาติที่ใช้ในอุตสาหกรรม จึงทำให้ต่างประเทศเข้ามาขยายการลงทุน และมีจำนวนที่รับจ้างผลิต (OEM) ให้แบรนด์ดังระดับโลกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ส่วนของตลาดในประเทศซึ่งได้มีการเจรจาลดภาษีภายใต้ความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) หลายๆ ฉบับ เช่น ญี่ปุ่น หรือเกาหลี ทำให้อัตราภาษีลดลงอย่างต่อเนื่องจากเคยอยู่ที่ 30-40% เหลือเพียง 5-10% อาจจะส่งผลต่อการนำเข้าเครื่องสำอางจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ที่มา : http://www.bangkokbanksme.com

แสดงความคิดเห็น


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *