ตั้งสโลแกน ดีๆ สักหนึ่งประโยคที่ติดหูผู้บริโภคมีประโยชน์มากกว่ามีนักการตลาดหัวกะทิอยู่ในบริษัทถึง 10 คนเลยทีเดียว จึงไม่แปลกอะไรที่ธุรกิจจำนวนมากต่างแสวงหาและสร้างสรรค์สโลแกนที่ยอดเยี่ยมสุดบรรเจิดอยู่ตลอดเวลา เพราะสโลแกนบริษัทจัดเป็นเครื่องมือการสื่อสารที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดอย่างหนึ่งที่จะส่งผลถึงตัวผู้บริโภคได้ ทุกบริษัทจึงสมควรต้องมีสโลแกนไว้เป็นของตัวเองอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยการตั้งสโลแกนให้ติดปากผู้บริโภคก็มีหลักการสำคัญ 8 ข้อดังนี้
สโลแกนต้องครบถ้วน โดดเด่น และดึงดูด
มนต์เสน่ห์ของสโลแกนที่ยอดเยี่ยมและติดปากผู้บริโภคมีเคล็ดลับอยู่ที่รูปประโยคต้องโดดเด่นและมีพลังในตัวเองอย่างไม่มีขีดจำกัด ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยสะกิดความคิดของผู้บริโภคให้เข้ามาสนใจพร้อมจดจำได้ในทันที เช่น LG : Life’s Good
สโลแกนบ่งบอกถึงตัวตนของธุรกิจ
สโลแกนที่ดีและมีคุณภาพต้องสามารถสื่อความหมายได้อย่างตรงตัวและบอกที่มาที่ไปอย่างครบถ้วน เพราะจะช่วยให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ทันทีว่าสโลแกนที่พบเห็นเกี่ยวข้องกับธุรกิจประเภทใด ตัวอย่าง เช่น “ถุงเท้าคาร์สัน : ถุงเท้าที่ทุกๆ คนใส่กัน” เป็นต้น
สโลแกนต้องสั้นและกระชับ
สโลแกนบริษัทจะเป็นที่จดจำก็ต่อเมื่อผู้ประกอบการสามารถออกแบบรูปประโยคให้สั้นและกระชับมากที่สุด เพราะถ้าหากสโลแกนยาวเกินไป ผู้บริโภคก็จะแค่อ่านและมองผ่านเลยไปเนื่องจากเขาไม่สามารถจดจำได้ทั้งหมด จึงไม่มีประโยชน์อะไรที่เขาจะต้องบันทึกใส่สมองไว้ แต่ในทางกลับกัน หากสโลแกนเป็นประโยคสั้นๆ และกระชับ นอกจากพวกเขาจะสามารถจำได้ในทันทีแล้วยังมีการพูดบอกต่อกันเป็นวงกว้างในลักษณะของปากต่อปากอีกด้วย โดยความยาวของสโลแกนไม่ควรจะเกิน 12 ตัวอักษรจะเป็นการดีที่สุด อาทิ “ฟูจิ สั่งเลยอร่อยทุกอย่าง”
ความหมายของสโลแกนมีค่ามากกว่าตัวอักษร
สโลแกนไม่ควรเป็นแค่ตัวหนังสือบอกเล่าเรื่องราวเท่านั้น เพราะสโลแกนต้องสามารถแสดงออกได้ถึงจิตวิญญาณและสัมผัสได้ถึงพลังที่มีอยู่ หรือพูดง่ายๆ ก็คือต้องมีสำนวนที่คมคายและบาดลึกในจิตใจ ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถจดจำสโลแกนได้ในห้องที่ลึกสุดของหัวใจอีกด้วย เช่น บริษัทรถยนต์โตโยต้าที่ใช้สโลแกนหลักว่า “เราให้คุณมากกว่ารถยนต์” เป็นต้น
สโลแกนช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดี
ภาพลักษณ์เป็นสิ่งที่สำคัญมาก และตัวสโลแกนก็ต้องมีคุณสมบัติสร้างมิติการรับรู้ในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดีด้วย เพราะสโลแกนจะทำหน้าที่เป็นเหมือนประตูบานแรกที่ใช้เปิดรับผู้บริโภคสู่อาณาจักรธุรกิจของเรา สโลแกนจึงเหมือนเป็นตัวแทนที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับกิจการของเราไปโดยปริยาย ดังนั้นผู้ประกอบการต้องมีสโลแกนที่ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์อันยอดเยี่ยมในการประกอบธุรกิจด้วย เช่น “การบินไทยรักคุณเท่าฟ้า” เป็นต้น
สโลแกนเป็นทั้งเอกลักษณ์และอัตลักษณ์
สโลแกนต้องสามารถถ่ายทอดความเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของธุรกิจได้อย่างโดดเด่นและลงตัวที่สุด เนื่องจากสโลแกนทั่วๆ ไปมักสร้างสรรค์ออกมาโดยมีแนวทางและรูปแบบวิธีการที่ไม่ทิ้งกันนัก ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีเลยเพราะผู้บริโภคมักสับสนและแยกแยะไม่ออกว่าธุรกิจแต่ละอย่างแตกต่างกันอย่างไร การเขียนสโลแกนให้มีเอกลักษณ์พร้อมทั้งอัตลักษณ์เป็นการเฉพาะจึงมีส่วนสำคัญที่จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างที่ขาดหายไปนี้ได้ อาทิ “ไทยประกันชีวิต บริษัทของคนหัวคิดทันสมัย” เป็นต้น
หลีกเลี่ยงการบัญญัติศัพท์ใหม่โดยเด็ดขาด
ถึงแม้สโลแกนจะต้องการความโดดเด่น แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องพยายามหลีกเลี่ยงโดยเด็ดขาดก็คือการบัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้นมาใช้เองเป็นการเฉพาะ เนื่องจากผู้บริโภคมีประสบการณ์ความรู้ทางด้านภาษาที่แตกต่างกันจึงอาจทำให้เข้าใจความหมายของคำบางคำคลาดเคลื่อนไปจากสิ่งที่เราต้องการนำเสนอก็เป็นได้ มิหนำซ้ำธุรกิจของเรายังอาจถูกสับเละจนไม่มีชิ้นดีจากนักภาษาศาสตร์ก็เป็นได้ในข้อหาทำภาษาไทยวิบัติ
สโลแกนต้องติดปากผู้บริโภค
หากผู้ประกอบการสามารถทำได้ทั้ง 7 ขั้นตอนที่กล่าวแล้วละก็ ขั้นตอนที่ 8 สโลแกนต้องติดปากผู้บริโภคก็จะเกิดขึ้นตามมาเองในที่สุด ทั้งนี้ความสมดุลและลงตัวในการใช้ภาษามักเป็นแรงกระตุ้นให้สโลแกนถูกเอ่ยถึงอยู่เป็นประจำ เช่น “AIS ทุกที่ทุกเวลา” หรือ “แมคโดนัลด์ ความสุขล้นเมนู” เป็นต้น
หลายบริษัทต่างเฝ้าค้นหาคำตอบนานแล้วว่าสูตรสำเร็จของการสร้างสโลแกนให้ติดปากผู้บริโภคแท้ที่จริงควรต้องทำอย่างไร เคล็ดลับความสำเร็จอยู่ที่ไอเดียการสร้างสรรค์และการทำตามหลักวิธีสากลตามที่ได้เสนอไปนั่นเอง เพียงเท่านี้การสร้างสโลแกนก็ดูจะไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นเหมือนงมเข็มในมหาสมุทรอีกต่อไป
เคล็บลับตั้งสโลแกนให้ติดปาก
คนทำธุรกิจต่างก็อยากให้บริษัทของตนเองมีชื่อเสียง เมื่อพูดชื่อแล้วแล้วใครๆ ก็รู้จัก และที่สำคัญคือเป็นชื่อแรกที่ทุกคนนึกถึงเวลาพูดถึงสินค้าหรือผลิตภัณฑ์หนึ่งๆ นอกจากทำสินค้าให้มีคุณภาพและติดตลาดแล้ว การมีสโลแกนสั้นๆ จำง่ายขึ้นใจ ยังเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจของเราเป็นที่จดจำในตลาดอีกด้วย
10 ข้อที่สโลแกนต้องมี
1. จำง่าย ได้ยินแล้วพูดซ้ำได้เลย
2. เรียบและสั้น สโลแกนยาวเกินไปก็จำยาก เอาสั้นๆ ให้กระชับและได้ใจความ ไม่ควรเกิน 10 พยางค์
3. สื่อความหมาย ต้องมีสิ่งที่บอกว่าเป็นธุรกิจเกี่ยวกับอะไร
4. แตกต่าง แสดงให้เห็นว่าเราแตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นอย่างไร
5. แสดงด้านบวก ฟังแล้วเกิดความรู้สึกดีต่อแบรนด์
6. มีเอกลักษณ์ อย่าไปลอกคนอื่น หรือใช้คำซ้ำซาก
7. เฉพาะเจาะจง ระวังประโยคที่ดูกว้างเกินไปจนผู้ฟังอาจไม่รู้ว่าธุรกิจของเราเกี่ยวกับอะไร
8. โดดเด่น สะดุดตาสะดุดหูจนต้องหยุดอ่านหรือหยุดฟัง
9. จูงใจ ทำให้คนเชื่อในสิ่งที่นำเสนอ
10. น่าเชื่อถือ สะท้อนลักษณะเด่นที่ฟังดูเป็นไปได้ เช่น คำสัญญา คุณสมบัติพิเศษ
เมื่อรู้แล้วว่าสโลแกนที่ดีต้องเป็นอย่างไร ก็มาถึงขั้นตอนการลงมือทำ อย่างแรกคือการเจาะจงกลุ่มตลาดที่เป็นกลุ่มหลักของธุรกิจ ตอบโจทย์ให้ได้่ว่าอะไรที่ทำให้เราแตกต่างจากคู่แข่ง และคำมั่นสัญญาที่จะให้กับลูกค้าคืออะไร หลังจากนั้นก็ระดมความคิดเพื่อหาประโยคที่สะท้อนบุคลิกลักษณะของธุรกิจให้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องสื่อสารว่าเป็นธุรกิจเกี่ยวกับอะไรไปพร้อมๆ กันด้วย หรือถ้าไม่อยากทำเองก็สามารถจ้างมืออาชีพแทนได้ อย่าลืมว่าสโลแกนที่ดีจะต้องบอกให้คนรู้ว่าเราคือใคร ทำอะไร และน่าสนใจอย่างไร
อย่าลืมนำสโลแกนที่คิดได้ไปทดสอบดูปฎิกิริยาของผู้ฟัง ลองให้เพื่อนหรือครอบครัวแสดงความคิดเห็นว่าเมื่อได้ฟังแล้วพวกเขาจำได้ไหม ฟังแล้วดูน่าเชื่อถือหรือไม่ จากนั้นก็นำสโลแกนไปผูกติดกับโลโก้หรือการประชาสัมพันธ์ทางการตลาดอื่นๆ เพื่อให้คนจำได้และนึกถึงบริษัทเราทุกครั้งที่ได้ยิน