ธุรกิจดาวรุ่งปีมะเมีย 2557

ธุรกิจดาวรุ่ง
ธุรกิจดาวรุ่ง

ธุรกิจดาวรุ่งปีมะเมีย 2557

ในบทความนี้ ขอกล่าวถึงธุรกิจที่น่าจะขยายตัวได้ในปี 2557 ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย ดังนี้

ธุรกิจส่งออกไปยังตลาดหลักที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัว รวมถึงตลาดศักยภาพโดยอาศัยประโยชน์จากกรอบการเจรจาการค้าเสรีต่างๆ โดย สินค้าส่งออกของไทยที่คาดว่าอาจมียอดคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงปีข้างหน้า ได้แก่

– อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุดในบรรดาสินค้าส่งออกทั้งหมดของผู้ประกอบการ SMEs และครองส่วนแบ่ง เกือบร้อยละ 80 ของมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับทั้งหมดของไทย โดยยอดคำสั่งซื้อคาดว่าจะมาจากตลาดสำคัญ คือ สหรัฐฯ สหภาพ ยุโรป ฮ่องกง และอาเซียน โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงขึ้น และ/หรือไม่อ่อนไหวมากนักต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

อีกทั้งมอง อัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าเพื่อการลงทุน หรือสินค้าที่สร้างบุคลิก/คุณค่าทางจิตใจ มากกว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย นอกจากนี้ อัญมณีและ เครื่องประดับ ยังเข้าข่ายเป็นกลุ่มสินค้าที่ทางการให้การสนับสนุนด้วยการตั้งเป้าหมายเป็นหนึ่งใน Product Champion สำหรับการส่งออกไป ตลาดสหรัฐฯ และเอเชียใต้ในปี 2557 ด้วย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ทั้งที่รวมและไม่รวมรายการทองคำ ในภาพรวมปี 2557 อาจขยายตัว สูงขึ้นจากปี 2556 กระนั้น ความผันผวนสูงและคาดการณ์ทิศทางได้ยากของราคาทองคำ/เงิน/โลหะมีค่า ซึ่งเป็นวัตถุดิบของอัญมณีและเครื่อง ประดับ อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจ (นอกเหนือจากต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ) ดังนั้น ผู้ประกอบการควรพิจารณาเลือกใช้เครื่องมือ ป้องกันความเสี่ยงด้านนี้เท่าที่พึงดำเนินการได้ พร้อมๆ กับการศึกษารสนิยมของผู้บริโภคและกฎระเบียบในแต่ละตลาด เพื่อปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

– รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แม้การส่งออกสินค้านี้ ส่วนใหญ่จะมาจากผู้ประกอบการขนาดใหญ่เป็นหลัก แต่ผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะสายการผลิตนี้ครอบคลุมหลายผลิตภัณฑ์/ชิ้นส่วน ซึ่งหาก แนวโน้มการส่งออกรถยนต์ในภาพใหญ่มีทิศทางที่ดีขึ้น ก็ย่อมจะส่งผลบวกต่อผู้ประกอบการ SMEs ที่เกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ หลังจากการผลิต เพื่อรองรับความต้องการซื้อรถยนต์ในประเทศทยอยลดลงตามมาตรการรัฐที่สิ้นสุดลง

คาดว่าการผลิตรถยนต์ในปี 2557 จะเน้นไปเพื่อการส่ง ออกมากขึ้น ทั้งรถยนต์นั่ง รถยนต์เชิงพาณิชย์ รวมถึงรถบรรทุก โดยมีตลาดที่สำคัญ ได้แก่ ออสเตรเลีย อาเซียน ญี่ปุ่น และคาดว่าอาจมีคำสั่ง ซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศในทวีปอเมริกาใต้ เช่น ชิลี เป็นต้น โดยเฉพาะหากข้อตกลงการค้าเสรีมีผลบังคับใช้ในอนาคต ตลอดจนในตลาดแอฟริกา และตะวันออกกลาง ที่ทางการตั้งเป้าหมายให้ชิ้นส่วนยานยนต์เป็น Product Champion ด้วย

– เคมีภัณฑ์ เป็นอีกกลุ่มสินค้าที่พึ่งพาตลาดหลัก คือ อาเซียน และจีน ซึ่งเศรษฐกิจถูกคาดหมายว่าจะยังคงเติบโตได้ในเกณฑ์ที่ดีอย่าง ต่อเนื่อง และยังได้รับผลบวกจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ตามโอกาสทางธุรกิจในด้านต่างๆ ที่เปิดกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม ประเทศเพื่อนบ้านของไทย ทั้งกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ส่งผลให้คาดว่าความต้องการสินค้าเคมีภัณฑ์จากไทยจะยังมีแนวโน้ม ได้รับการตอบรับที่ดีเนื่องจากได้รับการยอมรับในประเด็นด้านคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเคมีภัณฑ์ขั้นปลายน้ำ เช่น สี ปุ๋ย และเครื่องสำอาง รวม ถึงเคมีภัณฑ์ขั้นกลางน้ำ เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการผลิตสารเคมีต่างๆ โดยประเมินว่า อัตราการขยายตัวของการส่งออกเคมีภัณฑ์ของไทยในปี 2557 อาจจะยังคงมีระดับสูงต่อเนื่องจากที่ทำไว้ในปี 2556

– สินค้าเกษตรแปรรูปและอาหาร ใน 20 อันดับสินค้าส่งออกสูงสุดของผู้ประกอบการ SMEs พบว่า เข้าข่ายเป็นสินค้าเกษตรแปรรูป และอาหาร ถึง 9 รายการ นั่นหมายความว่า หากการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้มีทิศทางที่สดใสมากขึ้น ผู้ประกอบการ SMEs ก็น่าจะได้รับอานิสงส์ตาม ไปด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เป็นที่คาดว่า นอกจากสินค้าไก่ และมันสำปะหลัง ที่น่าจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ตามความต้องการซื้อของตลาดหลักอย่างสหภาพยุโรป/ญี่ปุ่น และจีน ตามลำดับ

การส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหารของไทยอาจมีภาพการปรับตัวที่ดีขึ้นได้บ้างในบางรายการ อาทิ น้ำตาล กุ้ง ข้าว ยางพารา ตามคำสั่งซื้อของลูกค้าที่อาจฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจ แม้จะยังมีความท้าทายต่อเนื่องจากหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น ปริมาณผลผลิตและสต็อกของคู่ค้าและคู่แข่งที่อยู่ในระดับสูง การคลี่คลายสถานการณ์โรคตายด่วนในกุ้งและประเด็นด้านแรงงาน ตลอดจนประเด็น ความสามารถทางการแข่งขัน ขณะเดียวกัน ทางการก็กำหนดให้หลายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้เป็น Product Champion ในตลาดสหภาพยุโรป (อาหารทะเลกระป๋อง) จีน (มันสำปะหลัง ผักผลไม้) แอฟริกา (อาหารทะเลกระป๋อง) ตะวันออกกลาง (อาหาร) รวมถึงอาเซียน (เครื่องดื่ม) ด้วย

 

โดยสรุป ภาพทิศทางธุรกิจในปี 2557 ที่กำลังจะมาถึง ต้องยอมรับว่าคงจะมีความเชื่อมโยงกับแนวโน้มเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศอย่างยากจะ หลีกเลี่ยง ขณะที่ มองไปในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า โจทย์สำคัญที่รอท้าทายในระยะยาว คงจะหนีไม่พ้นประเด็นด้านความ สามารถทางการแข่งขันในหลายๆ สินค้าของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงกระแสการค้าการลงทุนในโลกที่กำลังเปิดกว้างและเชื่อมโยงถึงกัน มากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการดำเนินงานอยู่เสมอ เพื่อสร้างฐานธุรกิจให้มีความแข็ง แรงและยืดหยุ่นสูง อันจะช่วยนำพาให้ธุรกิจสามารถรอดพ้นจากทุกอุปสรรคไปได้อย่างราบรื่น
แหล่งข้อมูล
– กระทรวงพาณิชย์
– กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
– กรมการท่องเที่ยว
– กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
– สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

แสดงความคิดเห็น


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *