“พาณิชย์”เผยกลุ่มธุรกิจขายปลีกสัตว์เลี้ยงและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง หลังคนเลี้ยงสัตว์เหมือนคนในครอบครัวและเลี้ยงเสมือนลูก ทำให้เลือกสิ่งดี มีคุณภาพให้สัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น ทั้งอาหาร ของใช้ บริการ ส่งผลให้มีการจดตั้งบริษัทใหม่เพิ่มขึ้นถึง 480 ราย ส่วนใหญ่เป็นรายเล็ก อยู่ในกรุงเทพฯ มากสุด ที่เหลือกระจายไปยังภาคต่าง ๆ พบต่างชาติเข้ามาลงทุนไม่มาก
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันแนวโน้มการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยเลี้ยงแบบลักษณะความเป็นเจ้าของ หรือ Ownership กลายเป็นการเลี้ยงแบบความผูกพันเสมือนคนในครอบครัว เลี้ยงเสมือนลูก หรือ Pet Parent และต้องการเลือกสิ่งที่ดีมีคุณภาพให้กับสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร สิ่งของเครื่องใช้ และบริการต่าง ๆ ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจขายปลีกสัตว์เลี้ยงและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้รายงานภาพรวมผลประกอบการธุรกิจในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2561-2563) พบว่า มีผลประกอบการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2561 จำนวน 8,454.29 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 9,021.78 ล้านบาท และปี 2563 จำนวน 9,269.94 ล้านบาท
ปัจจัยที่ส่งผลให้ธุรกิจขายปลีกสัตว์เลี้ยงและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องมีโอกาสเติบโตอีกมาก เนื่องจากจำนวนครอบครัวเดี่ยวและคนโสดเพิ่มมากขึ้น คู่สมรสมีบุตรน้อยลงและคนไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตหลังเกษียณอยู่บ้านจึงมองหาสัตว์เลี้ยงมาเป็นเพื่อน พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปมีการทำงานที่บ้าน (WFH) มากขึ้น ทำให้มีเวลาใส่ใจดูแลบ้านและสัตว์เลี้ยง และสามารถหาข้อมูลความรู้ หาผลิตภัณฑ์ บริการใหม่ ๆ เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง และซื้อหาผ่านช่องทางออนไลน์ได้สะดวกมากขึ้น
ทั้งนี้ นอกจากการขยายตัวของธุรกิจในประเทศแล้ว ผู้ประกอบการไทยยังสามารถส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงไปยังทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นด้วย โดยปี 2560 ส่งออกมูลค่า 1.126 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2561 มูลค่า 1.32 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2562 มูลค่า 1.39 พันล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2563 มูลค่า 1.65 พันล้านเหรียญสหรัฐ
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ต.ค.2564) มีผู้ประกอบการในธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลและดำเนินกิจการอยู่ จำนวน 480 ราย ทุนจดทะเบียน 2,559.35 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) 443 ราย คิดเป็น 92.29% ธุรกิจขนาดกลาง (M) 31 ราย คิดเป็น 6.46% และขนาดใหญ่ (L) 6 ราย คิดเป็น 1.25% ส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจอยู่ในกรุงเทพฯ มากที่สุด 195 ราย คิดเป็น 40.62% รองลงมาคือ ภาคกลาง 149 ราย คิดเป็น 31.04% ภาคเหนือ 44 ราย คิดเป็น 9.17% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 32 ราย คิดเป็น 6.67% ภาคตะวันออก 27 ราย คิดเป็น 5.62% ภาคใต้ 19 ราย คิดเป็น 3.96% และภาคตะวันตก 14 ราย คิดเป็น 2.92%
ส่วนการลงทุนของชาวต่างชาติในธุรกิจนี้ มีแนวโน้มลดลง เพราะส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของคนไทย มูลค่า 2,482.34 ล้านบาท คิดเป็น 96.99% การลงทุนจากต่างชาติสูงสุด คือ จีน มูลค่า 29.92 ล้านบาท สัดส่วน 1.17% อินเดีย มูลค่า 14.70 ล้านบาท สัดส่วน 0.57% ญี่ปุ่น มูลค่า 10.76 ล้านบาท สัดส่วน 0.42% และสัญชาติอื่น ๆ มูลค่า 21.63 ล้านบาท สัดส่วน 0.85%
อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ของ Modor Intelligence อัตราการเจริญเติบโตต่อปีของตลาดอาหารสัตว์ในไทย ปี 2564-2569 จะเติบโตขึ้น 5.2% และสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงไทย รายงานว่าตลาดอาหารสุนัขมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงสุดทั้งในด้านรายได้และขนาดการใช้จ่าย ซึ่งส่วนแบ่งการตลาดนี้มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากความต้องการอาหารสัตว์ราคาแพงเพิ่มสูงขึ้น ผู้บริโภคเลี้ยงสัตว์ด้วยความรักและให้ความผูกพันเสมือนคนในครอบครัว ทำให้ต้องการอุปกรณ์เลี้ยงสัตว์มากขึ้น เช่น อาหารสัตว์ประเภทอื่น ๆ ที่หลากหลายมากกว่าอาหารสัตว์จำพวกอาหารเม็ดหรืออาหารแบบเปียกอย่างเดิม