“ธุรกิจโรงพิมพ์”… ถึงเวลาต้องปรับตัว ทำอย่างไรถึงจะอยู่รอด (Start-Up Business)

“ธุรกิจโรงพิมพ์” ... ถึงเวลาต้องปรับตัว ทำอย่างไรถึงจะอยู่รอด (Start-Up Business)

“ธุรกิจโรงพิมพ์” … ถึงเวลาต้องปรับตัว
ทำอย่างไรถึงจะอยู่รอด (Start-Up Business)

ในยุคที่ผู้บริโภคมีบทบาทในการขับเคลื่อนธุรกิจ การทำธุรกิจในรูปแบบเดิมๆ อย่างที่เคยทำมาในอดีต อาจจะไม่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันมากนัก ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาว ทั้งนี้ ธุรกิจโรงพิมพ์ ถือเป็นธุรกิจหนึ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน แต่ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ธุรกิจโรงพิมพ์แบบดั้งเดิม เริ่มจะอยู่รอดยากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะชะลอตัวตามปัจจัยเศรษฐกิจโลก รวมถึงภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออกที่ยังไม่สดใสมากนัก ทำให้ธุรกิจโรงพิมพ์ซึ่งเป็นหนึ่งในห่วงโซ่ของธุรกิจการพิมพ์ได้รับผลกระทบตามไปด้วย

นอกจากนี้ จากพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ ลูกค้าต้องการอะไรที่แตกต่างไปจากเดิม อาทิ ความรวดเร็วในการรับบริการ ความหลากหลายของสินค้า หรือแม้กระทั่งกระแสความนิยมของสื่อออนไลน์ที่เพิ่มบทบาทอย่างรวดเร็ว จนส่งผลให้มีการเพิ่มการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ทดแทนสื่อสิ่งพิมพ์มากขึ้นตามลำดับ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สะท้อนให้เห็นว่า ในระยะต่อไปผู้ประกอบการในธุรกิจโรงพิมพ์ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลงในตลาด เพื่อสร้างความอยู่รอดในอนาคต

“ธุรกิจโรงพิมพ์” ... ถึงเวลาต้องปรับตัว ทำอย่างไรถึงจะอยู่รอด (Start-Up Business)

ธุรกิจโรงพิมพ์ยุคใหม่ … ทำอย่างไรถึงจะอยู่รอดในธุรกิจ?

ในการดำเนินธุรกิจโรงพิมพ์ นอกเหนือจากเงินทุนที่ผู้ประกอบการจะต้องมีการเตรียมความพร้อมเป็นลำดับต้นๆ แล้ว ยังจะต้องมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายประการที่เข้ามาสนับสนุนและเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะทำให้ธุรกิจประสบผลสำเร็จและอยู่รอดอย่างยั่งยืน โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

ผู้ประกอบการควรเลือกให้บริการชิ้นงานที่ทางโรงพิมพ์มีความถนัดมากที่สุด: อาทิ งานโบรชัวร์ งานพิมพ์แพคเกจจิ้ง ปฏิทิน แคตตาล็อก หนังสือ วารสาร กระดาษห่อของขวัญ เพราะการจะรับงานพิมพ์ได้ครบ จำเป็นต้องใช้เครื่องพิมพ์ เครื่องจักรจำนวนมาก ส่งผลให้มีต้นทุนดำเนินการสูง

การเลือกทำเลที่ตั้งที่สะดวกสำหรับการเดินทางติดต่อกับลูกค้า หรือใกล้กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย: อาทิ พื้นที่ซึ่งมีการขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) ซึ่งมีกำลังซื้อรวมทั้งมีธุรกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมาก จึงเป็นทำเลที่มีศักยภาพมีความต้องการงานด้านสิ่งพิมพ์สูง โดยเฉพาะสิ่งพิมพ์ที่ใช้ในธุรกิจต่างๆ เช่น งานบิล ใบเสร็จ ใบกำกับภาษี ฟอร์มใบส่งสินค้า หัวจดหมาย ซองจดหมาย ซองเอกสาร รวมไปถึงงานสิ่งพิมพ์เพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ในขณะเดียวกัน พื้นที่ในต่างจังหวัดที่มีเขตแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างกลุ่ม CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์และเวียดนาม) ก็ถือเป็นแหล่งทำเลที่น่าลงทุนสำหรับธุรกิจสิ่งพิมพ์ ทั้งนี้ เพื่อรองรับงานพิมพ์จากประเทศเพื่อนบ้าน ที่เริ่มมีเพิ่มขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ประเทศเหล่านี้ยังขาดแคลนเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ทันสมัยรองรับ

ให้ความสำคัญกับการควบคุมคุณภาพงานพิมพ์: สิ่งพิมพ์เป็นงานที่มีการแข่งขันสูง ลูกค้ามีความต้องการงานพิมพ์ที่มีคุณภาพ ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีกระบวนการตรวจสอบคุณภาพชิ้นงาน ตั้งแต่ขั้นตอนก่อนการพิมพ์ ระหว่างการพิมพ์ และหลังงานพิมพ์ เพื่อให้งานเป็นที่พึงพอใจของลูกค้าและเกิดการบอกต่อหรือใช้บริการซ้ำ

การบริหารวัตถุดิบต้องมีประสิทธิภาพ: ในการดำเนินธุรกิจสิ่งพิมพ์ จะพบว่า ต้นทุนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 40-50 จะเป็นกระดาษ ซึ่งราคาจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยทางเศรษฐกิจ ราคาซื้อขายในตลาดโลก รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้น การบริหารและสั่งซื้อสินค้าให้ได้รับราคาที่เหมาะสมจากแหล่งผลิต รวมทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องจักรเพื่อลดการสูญเสียกระดาษในกระบวนการผลิตให้เกิดน้อยที่สุด จะช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับลดต้นทุนลงได้

“ธุรกิจโรงพิมพ์” ... ถึงเวลาต้องปรับตัว ทำอย่างไรถึงจะอยู่รอด (Start-Up Business)

วางแผนการบริหารบุคลากรให้เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนแรงงานฝีมือ: ปัจจุบันธุรกิจสิ่งพิมพ์มีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน หรือเปลี่ยนงานบ่อย โดยเฉพาะแรงงานฝีมือ ช่างเทคนิค พนักงานเรียงพิมพ์คอมพิวเตอร์ พนักงานอาร์ตเวิร์ก รวมถึงพนักงานที่มีความรู้ทางด้านเครื่องพิมพ์ที่มีความทันสมัย ทำให้เกิดปัญหาการแย่งแรงงานฝีมือในธุรกิจการพิมพ์ ดังนั้น เพื่อบรรเทาความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจ ผู้ประกอบการอาจใช้วิธีแก้ไขปัญหา โดยหันมาใช้เครื่องพิมพ์รุ่นใหม่ๆ ที่ช่วยลดการใช้แรงงานฝีมือลง ในขณะเดียวกัน ยังสามารถควบคุมคุณภาพการผลิตให้ได้มาตรฐานเดียวกันได้อีกทางหนึ่ง

เลือกเทคโนโลยีและอุปกรณ์การพิมพ์ที่ทันสมัย ที่จะเข้ามาช่วยให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น: ปัจจุบันเทคโนโลยีการพิมพ์มีความก้าวหน้าและมีความทันสมัยกว่าแต่ก่อนมาก โดยเฉพาะเครื่องพิมพ์ระบบดิจิตอลที่ช่วยลดขั้นตอนการทำงาน ควบคุมคุณภาพของงานพิมพ์ รวมทั้งลดจำนวนช่างเทคนิคที่ขาดแคลนลง ซึ่งเครื่องพิมพ์ดังกล่าว ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการส่งมอบงานที่รวดเร็ว แต่ยังตอบโจทย์สำหรับผู้ประกอบการโรงพิมพ์ทางด้านการลดบุคลากร

ปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ เพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ: แม้ว่าโรงพิมพ์ในปัจจุบันจะมีจำนวนมาก ตั้งแต่ขนาดเล็ก กลาง จนถึงใหญ่มาก แต่การพิจารณาเลือกใช้บริการโรงพิมพ์ของผู้บริโภคยุคใหม่ จะครอบคลุมประเด็นหลักๆ 4 ประการ ได้แก่

“ธุรกิจโรงพิมพ์” ... ถึงเวลาต้องปรับตัว ทำอย่างไรถึงจะอยู่รอด (Start-Up Business)

ดังนั้น การที่จะทำให้ลูกค้าเกิดความไว้วางใจบริการของโรงพิมพ์ ผู้ประกอบการควรมีการเตรียมพร้อมในการให้บริการอย่างเป็นมืออาชีพ โดยใส่ใจในลูกค้าตั้งแต่การรับงานพิมพ์ การประสานงาน การรายงานความคืบหน้าของงานและปัญหาที่อาจเกิดขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลอยู่ในทุกขั้นตอน ในขณะเดียวกัน ก็ต้องควบคุมคุณภาพการผลิตให้ได้มาตรฐานที่กำหนดไว้ ทั้งวัสดุการพิมพ์ต่างๆ หรือทักษะแรงงาน เป็นต้น นอกจากนี้ ทางผู้ประกอบการโรงพิมพ์ควรจะมีเครือข่ายหรือพันธมิตรที่สามารถพึ่งพากันในยามที่จำเป็น หรือรองรับงานในช่วงเวลาที่มีปริมาณงานมาก ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจได้

พัฒนาการบริหารงานลูกค้าในเชิงรุก: ในระยะข้างหน้า ธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่จะอยู่รอดในระยะยาวได้ คือ การทำให้ธุรกิจมีงานป้อนเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ดังนั้น ผู้ประกอบการอาจจำเป็นต้องมีบุคลากรทางด้านการตลาด เพื่อติดต่อรับงานตามหน่วยงานต่างๆ ทั้งราชการ ห้างร้าน บริษัทเอกชน สถาบันการศึกษาต่างๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ที่มีจำนวนมากและต้องการรูปแบบการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าอย่างเป็นระบบ

การทำตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้าให้สนใจสินค้าหรือบริการจากทางร้าน: ผู้ประกอบการอาจจะต้องเลือกใช้กลยุทธ์การทำการตลาดที่หลากหลาย ให้เหมาะสมกับสภาพตลาดและกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่วางไว้ โดยกลยุทธ์ทางการตลาดที่น่าสนใจเพื่อสร้างการรับรู้ของผู้บริโภคที่เป็นลูกเป้าหมายที่จะเข้ามาใช้บริการ ก็คือการประชาสัมพันธ์และการนำเสนอสินค้าและบริการที่ทางโรงพิมพ์มีออกไปสู่ลูกค้า ซึ่งการประชาสัมพันธ์ในปัจจุบันสามารถทำได้หลากหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ หรือสื่อออนไลน์ ที่ในระยะหลังเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เช่น อินเทอร์เน็ต โซเชียลเน็ตเวิร์ค อาทิ Facebook Instagram เป็นต้น ทั้งนี้ การโฆษณาผ่านสื่ออนไลน์ จะทำให้ได้กลุ่มลูกค้าวัยรุ่น-วัยทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเต็มใจที่จะจ่ายสูง เพื่อให้ได้งานที่ดีมีคุณภาพโดนใจ ซึ่งหากรักษาฐานลูกค้ากลุ่มนี้ได้ ก็จะเป็นสะพานเชื่อมไปถึงลูกค้าใหม่ๆ ในวงกว้างต่อไป เพราะลูกค้ากลุ่มนี้จะกลายเป็นกระบอกเสียงเพื่อประชาสัมพันธ์ร้านทางอ้อมได้เป็นอย่างดี

“ธุรกิจโรงพิมพ์” ... ถึงเวลาต้องปรับตัว ทำอย่างไรถึงจะอยู่รอด (Start-Up Business)

จุดแข็ง-จุดอ่อน โอกาส-ความท้าทายของธุรกิจโรงพิมพ์ … สำหรับผู้ประกอบการไทย

ธุรกิจโรงพิมพ์เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีความน่าสนใจ แต่สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจ ก็ควรมีการศึกษาและพิจารณาถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคของการดำเนินธุรกิจ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับประกอบการตัดสินใจลงทุนและการวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจในระยะยาวต่อไป ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปเบื้องต้น ดังต่อไปนี้

“ธุรกิจโรงพิมพ์” ... ถึงเวลาต้องปรับตัว ทำอย่างไรถึงจะอยู่รอด (Start-Up Business)

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า ภาพรวมของธุรกิจโรงพิมพ์ในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบดั้งเดิมมากพอสมควร โดยแรงขับเคลื่อนหลักจะมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวอยู่เสมอ ก็คือ การศึกษาถึงความต้องการของผู้บริโภคในช่วงเวลานั้นๆ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ติดตามข่าวสารแนวโน้มธุรกิจ กระแสหรือเทรนด์ที่ได้รับความนิยมที่อาจจะส่งผลต่อความต้องการสินค้าและบริการของลูกค้า (อาทิ เทคโนโลยีการพิมพ์ที่มีประสิทธิภาพสูง ทันสมัย สะดวกและรวดเร็ว หรือผลิตภัณฑ์สำหรับงานพิมพ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น) เพื่อนำมาวางแผนรับมือ

รวมถึงปรับปรุงพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบรับความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันสถานการณ์ นอกจากนี้ การเสริมบริการใหม่ๆ โดยเน้นไปที่ความรวดเร็ว หลากหลาย และการบริการที่เป็น One-Stop Service ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถจูงใจให้คนเข้ามาใช้บริการได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อสูงและเต็มใจที่จะจ่ายเพื่อสินค้าและบริการที่โดนใจ ในขณะเดียวกัน สิ่งที่จะละเลยไม่ได้ก็คือ การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่เชี่ยวชาญในองค์กร ทั้งในเรื่องของประสิทธิภาพในการทำงาน และการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมไปถึงการสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรเหล่านี้อยู่กับองค์กรไปในระยะยาว

BUSINESS TREND … เทรนด์ใหม่ในวงการธุรกิจ

“ธุรกิจโรงพิมพ์” ... ถึงเวลาต้องปรับตัว ทำอย่างไรถึงจะอยู่รอด (Start-Up Business)

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ธันวาคม 2557
สำนักส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
สำนักส่งเสริมธุรกิจบริการและโลจิสติกส์การค้า
เครือเนชั่นรุกดิจิทัลเต็มสูบ
(ที่มา: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 2 กันยายน 2557)
อุตสหกรรมการพิมพ์ 5 หมื่นล้าน รุ่งคาดเปิดเออีซีดันยอดเติบโต 20%ต่อปี แนะเอสเอ็มอีปรับตัวบุกเพื่อนบ้าน
(ที่มา: นสพ. โพสต์ทูเดย์ วันที่ 22 กันยายน 2557)

แสดงความคิดเห็น


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *