หากพูดถึงวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยก่อนก็คงต้องบอกว่า แต่ละคนก็คงตื่นเช้า ไปทำงาน – กลับบ้าน และเข้านอน ซึ่งปัจจุบันพฤติกรรมของผู้คนนั้นเปลี่ยนแปลงไป คนรุ่นใหม่หันมาทำธุรกิจของตนเอง ทำงานฟรีแลนซ์กันมากขึ้น หรือแม้แต่บางบริษัทที่มีการปรับเปลี่ยนเวลาการทำงานให้สายขึ้น
ทำให้คนรุ่นใหม่ทำงานสายจนถึงช่วงกลางคืนหรือบางคนก็อาจจะถึงเช้า ดังนั้นเมื่อผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเปลี่ยนสาเหตุให้ผู้ประกอบการจึงต้องเตรียมตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากระแส Gig Economy กำลังเติบโตขึ้นในโลกปัจจุบัน จากผลสำรวจจากสถาบัน McKinsey Global เผยตัวเลขประชากร Gig worker ในประเทศฝั่งตะวันตกอยู่ที่ประมาณ 54-68 ล้านคน โดยเฉพาะในนิวยอร์กพัฒนาถึงขั้นการออกกฎหมาย Freelance isn’t free act เพื่อให้สิทธิกับแรงงานกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพอิสระเหล่านั้น ในขณะเดียวกันข้อมูลจากสำนักงานสถิติประเทศไทย พบว่า ผู้ประกอบอาชีพอิสระมีอยู่ราว 21 ล้านคนทั่วประเทศ และแนวโน้มการเติบโตของกลุ่มคนชาวฟรีแลนซ์ มีอัตราที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ สังเกตได้จากการเปิดตัวของเว็บไซต์หางานสำหรับชาวฟรีแลนซ์ และการกำเนิดของแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ที่ทำให้ คน และงานมาพบกันได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางที่เป็นองค์กร เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจมีแนวโน้มเช่นนี้ เทรนด์การใช้ชีวิตแบบ “24 ชั่วโมง” จึงเกิดขึ้น และกลุ่มธุรกิจที่กำลังเติบโตรับเทรนด์การใช้ชีวิตดังกล่าว มีอะไรบ้างนั้น มาดูกันเลย
1.ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมง (Convenience Store)
เพราะผู้บริโภคในยุคปัจจุบันมองว่า ความสะดวกสบายกลายเป็นความต้องการพื้นฐานในการดำเนินชีวิตไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น สุดยอดร้านค้าปลีก “Seven Eleven” หนึ่งในผู้นำธุรกิจที่เปิดบริการ 24 ชั่วโมง ได้เดินหน้าขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งพัฒนา Store Format ที่จากเดิมเป็นอาคารพาณิชย์กลายเป็นลักษณะร้านแบบ Stand Alone มี 2 ถึง 3 ชั้น นอกจากนี้ยังคำนึงถึงที่จอดรถสำหรับผู้มาใช้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้ผู้เข้ามาใช้บริการอีกด้วย
2.ฟิตเนสเซ็นเตอร์ 24 ชั่วโมง
ด้วยพฤติกรรมการทำงานของคนในสังคมเมือง คือ เลิกงานดึกจนไม่สามารถแบ่งเวลาไปออกกำลังกายได้เพราะสถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส หรือสวนสาธราณะปิดบริการแล้ว “ฟิตเนสเซ็นเตอร์ 24 ชั่วโมง” จึงเติบโตขึ้น เพราะสามารตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่ทำงานจนเกินเวลา แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกายถือเป็นการเติมเต็มช่องว่างทางธุรกิจที่กำลังเป็นที่ต้องการของกลุ่มคนเหล่านี้
3.ร้านอาหาร Fast Food 24 ชั่วโมง
ร้านอาหาร Fast Food ที่ขยายสาขาเพื่อเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการตามวิถีชีวิตของคนเมืองมากขึ้น เช่น ร้านอาหาร Fast Food ต่างๆ โดย Store Format ที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง มีทั้งรูปแบบ Stand Alone หรือตั้งอยู่ในโครงการค้าปลีก และ รูปแบบ Drive Thru โดยการเป็นพันธมิตรกับเชนค้าปลีกน้ำมัน เปิดให้บริการในสาขาสถานีน้ำมัน ซึ่งการขยายเวลาให้บริการในโมเดล 24 ชั่วโมง นอกจากรองรับวิถีชีวิตคนเมืองแล้ว ยังเป็นการเพิ่มโอกาสการขายมากขึ้นด้วย เพราะนั่นเท่ากับว่าธุรกิจเหล่านั้น ได้เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคได้ 24 ชั่วโมง
4. Co-working Space 24 ชั่วโมง
Co-Working Space หรือ พื้นที่สำนักงานร่วม ที่ช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ของบรรดาผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ต้องการความสะดวกและคล่องตัวในการทำงานใจกลางเมือง ได้เติบโตขึ้นมาพร้อม ๆ กับการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพในเมืองไทย หลายหลายบริษัทไม่นิยมเช่าสำนักงานเป็นการถาวร เพื่อลดต้นทุน ไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย แต่หันมาเลือกใช้พื้นที่ ๆ สามารถช่วยสร้างสรรค์แรงบันดาลใจใหม่ ๆ ในระหว่างการทำงานโดยมีบรรยากาศที่ผ่อนคลาย และมีอาหารว่าง อาหารจานหลัก เบเกอรี่ รวมไปถึงเครื่องดื่มให้บริการตลอดเวลา มี Facility ที่ต้องการอย่างครบครัน โดยเฉพาะอุปกรณ์สำหรับสำนักงาน อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องสแกนเอกสาร ตลอดจน ห้องประชุม ห้องครัว ห้องสมุด ตู้จดหมาย ตู้เก็บของ สวนพักผ่อน และ โซนผ่อนคลายสำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นต้น
เหล่านี้คือกลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตในโมลเดล 24 ชั่วโมง
แต่ใช่ว่าการเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงจะสามารถดำเนินการได้โดยทันที เพราะการดำเนินธุรกิจในโมลเดลประเภทนี้นั้น ต้องมีการวางแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน และครอบคลุมความต้องการของลูกค้า เนื่องจากเป็นการเปิดให้บริการตลอดทั้งวันทั้งคืน จึงทำให้ต้องมีการวางแผนเรื่องการดำเนินการด้านต่าง ๆ อย่างรัดกุม เช่น ระบบบริหารจัดการของร้านค้าระบบการจัดการสินค้าคงคลังหรือระบบการจัดการการขนส่งที่ช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจ เพื่อให้โมเดลดังกล่าวมีประสิทธิภาพ สามารถดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน
แหล่งที่มา : scglogistics.co.th