ธุรกิจ DIY…ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมยุคใหม่

ธุรกิจ DIY...ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมยุคใหม่

ธุรกิจ DIY…ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมยุคใหม่

สินค้า DIY (Do-It-Yourself) คือ ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจาก การประยุกต์ ดัดแปลง หรือแก้ไขส่วนใดส่วนหนึ่งของชิ้นงานเดิมให้มีความสวยงามมากขึ้นเพื่อนำมาใช้ประดับตกแต่ง หรือการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆด้วยตัวเองให้สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งในยุคปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจกับกลุ่มสินค้า DIY จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ส่วนหนึ่งที่ใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น กล่องใส่ปากกาที่ทำจากกล่องกระดาษเหลือใช้ และโคมไฟที่ทำจากขวดพลาสติก เป็นต้น

และเนื่องจากภาพลักษณ์ของสินค้า DIY มักออกแบบตามสไตล์ที่ลูกค้าต้องการให้สามารถใช้งานง่าย มีฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลาย มีแนวคิดสร้างสรรค์ และสามารถถอดประกอบได้ด้วยตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการจ้างช่าง จึงทำให้ผู้คนนิยมใช้สินค้า DIY มากขึ้น และดึงดูดให้ผู้ประกอบการทั้งรายใหม่และรายเก่าหันมาให้ความสนใจและแข่งขันกันพัฒนาสินค้าของตนให้จูงใจและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากที่สุด ซึ่งจากจุดนี้ทำให้การผลิตสินค้าในแต่ละอุตสาหกรรมได้นำแนวคิด DIY ไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตน และทำให้ตลาดสินค้า DIY ขยายตัวในวงกว้างมากขึ้น อาทิ เสื้อผ้า เครื่องประดับ รถจักรยาน และของเล่นเด็กต่างๆ เช่น จิ๊กซอว์ และบ้านตุ๊กตา นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอีกหนึ่งกลุ่มที่กำลังนิยมนำ DIY Idea มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ นั่นคือ “สินค้าที่ใช้ซ่อมแซมและตกแต่งที่อยู่อาศัย”

ธุรกิจ DIY...ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมยุคใหม่

สินค้า DIY (Do-It-Yourself)…ผลิตภัณฑ์ซ่อมแซมและตกแต่งที่อยู่อาศัยด้วยตัวเอง
ยังมีทิศทางเป็นบวก แม้เผชิญกับสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและปัญหาการเมือง

สำหรับกลุ่มสินค้าซ่อมแซมและตกแต่งที่อยู่อาศัยแบบ DIY มีเสน่ห์ตรงที่ผู้บริโภคจะมีความภูมิใจในผลงานตนเองที่สามารถติดตั้งและประกอบชิ้นส่วนสินค้าได้ด้วยตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาช่างหรือผู้รับเหมา นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังสามารถใช้สินค้าวัสดุก่อสร้างเพื่อซ่อมแซมส่วนที่ทรุดโทรดหรือมีความเสียหายได้อีกด้วย จากลักษณะการใช้งานของสินค้าซ่อมแซมและตกแต่งที่อยู่อาศัยแบบ DIY ข้างต้น อาจจำแนกประเภทของสินค้าในหมวดนี้ออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มวัสดุก่อสร้างและเครื่องมือช่าง คือ วัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับซ่อมแซมส่วนที่เสียหายของบ้านได้ด้วยตัวเอง ทั้งภายในและภายนอกบ้าน ซึ่งครอบคลุมถึงกลุ่มสินค้าฮาร์ดแวร์ วัสดุโครงสร้าง และส่วนควบของอาคาร ตลอดจนเครื่องมือที่ใช้ในสวน (เช่น เครื่องตัดหญ้า) รางและท่อระบายน้ำ ฝ้า บานพับหน้าต่าง ปูนกาว และปืนฉีดกาวซิลิโคน เป็นต้น ทั้งนี้ วัสดุก่อสร้างที่ใช้ในปัจจุบัน ผู้ผลิตพยายามคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆหรือปรับปรุงส่วนประกอบของวัตถุดิบเดิม เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้งานได้สะดวกมากขึ้นและมีประสิทธิผลสูงขึ้น เช่น ปูนซีเมนต์สำเร็จรูปในปัจจุบันมีให้เลือกหลายสูตรซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน และสำหรับวิธีการใช้งานในกลุ่มสินค้าวัสดุก่อสร้างและเครื่องมือช่าง DIY ในเบื้องต้นสามารถหาอ่านได้ง่ายในอินเตอร์เน็ตหรือสอบถามจากพนักงานขายหรือผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีผู้ผลิตหลายรายพยายามคิดค้นวัสดุ/อุปกรณ์ที่ใช้ในกิจกรรมซ่อมแซมบ้านเรือนให้สามารถใช้งานได้ง่ายมากขึ้นและไม่ยุ่งยากซับซ้อน เพื่อเจาะฐานตลาดเป้าหมายใหม่ในกลุ่มผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การปูผนังกระเบื้องใหม่เพื่อปิดรอยแตกร้าวของผนังเดิม ด้วยการใช้กาวปูกระเบื้อง ซึ่งเป็นวัสดุก่อสร้างที่ช่วยยึดติดกระเบื้องใหม่กับกระเบื้องหรือพื้นผิวผนังเก่าได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องขัดผนังเดิมให้เรียบหรือทุบกระเบื้องเก่าออก

กลุ่มสินค้าที่ใช้ตกแต่ง ซึ่งรวมถึงเฟอร์นิเจอร์แบบ DIY ด้วย อาทิ รางติดผ้าม่าน ตู้หนังสือ ชั้นวางของอเนกประสงค์ และโต๊ะเครื่องแป้ง เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบัน ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อชิ้นส่วนประกอบได้เองตามความต้องการ เช่น การซื้อหัวรางแยกกับตัวรางผ้าม่านตามความชอบส่วนตัว อย่างไรก็ดี เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านแบบ DIY บางประเภทที่มีขั้นตอนการประกอบที่ซับซ้อนยังไม่เป็นที่นิยมในเมืองไทยมากนัก เช่น การประกอบเตียงนอนต้องใช้ความละเอียดรอบคอบสูงเพื่อให้แต่ละมุมของเตียงลงล็อค สามารถแบกรับน้ำหนักได้ดี

ธุรกิจ DIY...ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมยุคใหม่
ภาพรวมของตลาดที่จำหน่ายสินค้าซ่อมแซมและตกแต่งที่อยู่อาศัยแบบ DIY

กล่าวได้ว่า สินค้าซ่อมแซมและตกแต่งที่อยู่อาศัยแบบ DIY เป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายของการอุปโภค/บริโภคในหมวดซ่อมแซมและตกแต่งที่อยู่อาศัย (Furnishings, Households Equipment and Routine Maintenance of the House) ซึ่งพบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายในกิจกรรมซ่อมแซมและปรับปรุงที่อยู่อาศัยมากถึงร้อยละ 90 และส่วนที่เหลือจัดเป็นค่าใช้จ่ายในหมวดสินค้าตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์ โดยการเติบโตจะขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคในช่วงเวลานั้นๆ ทั้งนี้ ในช่วงปี 2553 – 2555 ที่ผ่านมา มูลค่าการอุปโภค/บริโภคในหมวดค่าใช้จ่ายดังกล่าวมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 9.3 ต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดฯ เฉลี่ย 280,000 ล้านบาทต่อปี

และในปี 2557 นี้ ตลาดวัสดุก่อสร้างที่ใช้ในกิจกรรมซ่อมแซมและตกแต่งที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้บริโภคอาจมีสัญญาณชะลอตัว เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอลง ระดับหนี้ในครัวเรือนสูงขึ้น บวกกับสภาพเศรษฐกิจที่หดตัวและปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงยืดเยื้อ ส่งผลให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เลื่อนแผนการปรับปรุง/ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยออกไป ซึ่งรวมถึง การชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยออกไปด้วย อย่างไรก็ดี มูลค่าการจำหน่ายสินค้าที่ใช้ซ่อมแซมและตกแต่งที่อยู่อาศัยใน ปี 2557 น่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2556 ที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการวัสดุก่อสร้างและสินค้าตกแต่งที่อยู่อาศัยส่วน

หนึ่งจะเพิ่มขึ้นเพื่อนำไปใช้ซ่อมแซมและปรับปรุงส่วนที่เสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหวและพายุฤดูร้อน ผนวกกับตามธรรมชาติของบ้านเรือนโดยปกติก็มีสภาพทรุดโทรมไปตามกาลเวลาด้วย จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงและซ่อมแซมที่อยู่อาศัยตามอายุการใช้งานอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการใช้สินค้าซ่อมแซมและตกแต่งที่อยู่อาศัยแบบ DIY เพราะราคาสินค้าส่วนใหญ่จะต่ำกว่าสินค้าสำเร็จรูป อีกทั้งผู้บริโภคยังประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของการจ้างช่างหรือผู้รับเหมา ฉะนั้น ภาพรวมตลาดซ่อมแซมและตกแต่งที่อยู่อาศัย DIY ในปี 2557 ยังมีแนวโน้มขยายตัว แม้จะเติบโตได้เพียงเล็กน้อย เพราะต้องเผชิญกับข้อจำกัดจากสภาพเศรษฐกิจและปัญหาการเมือง

อย่างไรก็ดี การขยายตัวของสินค้าที่ใช้ซ่อมแซมและตกแต่งที่อยู่อาศัยแบบ DIY ยังขึ้นอยู่กับพัฒนาการของแฟชั่นและเทคโนโลยีของสินค้าในแต่ละประเภทอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น วงกบหรือบัวที่ทำจากไม้สังเคราะห์ กาวซีเมนต์ใช้สำหรับปูกระเบื้องซึ่งมีคุณสมบัติยึดเกาะกระเบื้องใหม่กับพื้น/ผนังเดิมได้โดยไม่ต้องนำแผ่นกระเบื้องเก่าออก การตกแต่งผนังด้วยสติ๊กเกอร์ (Wall Sticker) ทดแทนการใช้วอลเปเปอร์ซึ่งมีราคาสูง หรือการติดตั้งหิ้งหรือแท่นบูชาพระพุทธรูป DIY แทนโต๊ะหมู่บูชา

ธุรกิจ DIY...ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมยุคใหม่

ช่องทางจำหน่าย และผลวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค (SWOTs)
ของธุรกิจซ่อมแซมและตกแต่งที่อยู่อาศัยแบบ DIY

เมื่อพิจารณาช่องทางจำหน่ายสินค้าซ่อมแซมและตกแต่งที่อยู่อาศัยแบบ DIY ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ถูกจำหน่ายในร้านค้าวัสดุก่อสร้างรายกลาง/รายใหญ่แบบสมัยใหม่ (Modern Trade) ทั่วราชอาณาจักรไทย อีกทั้งยังมีจำหน่ายในร้านขายเฟอร์นิเจอร์ กลุ่มดิสเคาน์สโตร์และห้างสรรพสินค้าอีกด้วย ทั้งนี้ รูปแบบการจำหน่ายสินค้า DIY ในร้านค้าดังกล่าว ส่วนมากวางขายในแผนกวัสดุก่อสร้างหรือหมวดซ่อมแซมและตกแต่งที่อยู่อาศัย ซึ่งมักจำหน่ายร่วมกับสินค้าสำเร็จรูปประเภทอื่นและอาจมีสินค้า DIY ไม่ครบทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย เนื่องจากการซ่อมแซมบางอย่างอาจมีความเสี่ยง สินค้า DIY บางประเภทมีขั้นตอนการประกอบที่ซับซ้อน และอาจเสียค่าใช้จ่ายโดยรวม

ทั้งหมดใกล้เคียงกับการจ้างให้ช่างผู้ชำนาญการมาซ่อมแซมหรือติดตั้ง ผู้บริโภคชาวไทยส่วนหนึ่งจึงไม่นิยมใช้สินค้า DIY เช่น การติดตั้งปลั๊กไฟ การประกอบเตียงนอน หรือการติดตั้งกันสาดสำเร็จรูป

และสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีความถนัดและความชอบส่วนตัวในการประดิษฐ์สินค้าตกแต่งบ้านใหม่ๆ อาจตั้งร้านขายสินค้าเฉพาะอย่าง (Specialty Store) ซึ่งเป็นลักษณะกิจการเจ้าของคนเดียวได้อีกทางเลือกหนึ่งด้วย แต่ในปัจจุบัน ร้านขายสินค้าตกแต่งบ้านลักษณะนี้ยังมีจำนวนไม่มากและมีสินค้าเฉพาะเจาะจงบางประเภท เช่น ร้านจำหน่ายสินค้าตกแต่งบ้านที่ทำจากเดคูพาจ (Decoupage) และร้านขายวอลล์สติ๊กเกอร์ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหนึ่งช่องทางการจำหน่ายที่น่าสนใจคือ สื่อ/สังคมออนไลน์ (Social Media Marketing: SMM) ซึ่งมีข้อดีตรงที่ผู้ประกอบการ SMEs ไม่จำเป็นต้องลงทุนด้านทำเลที่ตั้งของร้าน

ส่วนสาเหตุที่กิจกรรมซ่อมแซมและตกแต่งที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน มีสินค้าแบบ DIY ไม่ครอบคลุมทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับบ้าน รวมถึงยังมีร้านที่จำหน่ายเฉพาะสินค้า DIY ไม่สูงนัก เพราะพฤติกรรมการใช้สินค้า DIY ของกลุ่มผู้บริโภคชาวไทยยังเกาะกลุ่มเฉพาะคนรุ่นใหม่หรือคนที่มีแนวคิดแบบทันสมัย ซึ่งยังไม่เป็นที่นิยมและยอมรับโดยทั่วถึง เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่นิยมใช้สินค้า DIY อาจกังวลในประเด็นการประกอบและติดตั้ง จึงต้องการซื้อสินค้าแบบสำเร็จรูปเพื่อให้ได้รับความสะดวกสบายจากบริการด้านการติดตั้งของทางร้าน นอกจากนี้ มีร้านค้าวัสดุก่อสร้างบางรายให้บริการซ่อมแซมและติดตั้งวัสดุ/อุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในบ้านเรือนอีกด้วย เพื่อดึงดูดและรักษาฐานลูกค้าของตน จึงยิ่งทำให้ผู้บริโภคชาวไทยส่วนหนึ่งยังพึงพอใจกับการจ้างช่างที่เชี่ยวชาญมากกว่าจัดการด้วยตนเอง แม้ว่าจะซ่อมแซมส่วนที่เสียหายเล็กน้อย เช่น การเปลี่ยนก๊อกน้ำ หรือทาสีกำแพงรั้วที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

และจากที่กลุ่มร้านที่ขายเฉพาะสินค้าซ่อมแซมและตกแต่งที่อยู่อาศัยแบบ DIY ยังมีผู้แข่งขันน้อยราย ดังนั้น ผู้ประกอบการ SMEs จึงมีโอกาสที่จะเข้าสู่ตลาดนี้ ซึ่งนับเป็นความท้าทายต่อผู้ประกอบการที่จะสร้างสรรค์สินค้าด้วยไอเดียใหม่ๆ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการควรติดตามพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคที่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เพื่อให้สามารถผลิตหรือจำหน่ายประเภทสินค้าให้สอดคล้องกัน

ธุรกิจ DIY...ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมยุคใหม่

สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่เริ่มเข้าตลาดฯนี้ ระยะแรกอาจอาศัยช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านการฝากขายที่ร้านค้าวัสดุก่อสร้างแบบสมัยใหม่หรือผลิตสินค้าเพื่อขายต่อให้ร้านค้าเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ เพื่อให้ผู้บริโภคจดจำได้ง่าย ทั้งนี้ ร้านค้าในกลุ่มนี้มีแนวโน้มขยายสาขาเพิ่มขึ้นให้ครอบคลุมทั่วหัวเมืองหลักและหัวเมืองรองในจังหวัดที่มีกิจกรรมการค้าและการลงทุนเติบโต ซึ่งเห็นได้จากจำนวนสาขาของร้านค้าวัสดุก่อสร้างแบบสมัยใหม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2556 มากถึงร้อยละ 115 ส่วนร้านขายเฟอร์นิเจอร์สมัยใหม่ขยายสาขาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ในช่วงเวลาเดียวกัน ดังนั้น ผลจากการขยายสาขาของร้านค้าดังกล่าวจะทำให้สินค้า DIY ที่ฝากขายเป็นที่รู้จักมากขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ทั้งรายเก่าและรายใหม่ที่สนใจจะลงทุนในธุรกิจนี้ควรจะศึกษาจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคทั้งหมดที่มีในตลาดซ่อมแซมและตกแต่งที่อยู่อาศัยแบบ DIY เพื่อให้สามารถกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดคล้องกับปัจจัยแวดล้อมและปรับตัวรับมือกับปัจจัยเสี่ยงได้ทันท่วงที ซึ่งสรุปดังนี้

การวิเคราะห์ จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค (SWOT Analysis)

ธุรกิจ DIY...ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมยุคใหม่

ธุรกิจ DIY...ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมยุคใหม่

ธุรกิจ DIY...ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมยุคใหม่

ธุรกิจ DIY...ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมยุคใหม่
ปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จของธุรกิจซ่อมแซมและตกแต่งที่อยู่อาศัยแบบ DIY

แม้ว่าหัวใจสำคัญของธุรกิจซ่อมแซมและตกแต่งที่อยู่อาศัยแบบ DIY ตามที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น คือ การคิดค้นสร้างสรรค์สินค้าใหม่ๆ ให้มีรูปแบบที่สวยงาม มีเอกลักษณ์โดดเด่น สามารถใช้งานได้ง่าย และมีขั้นตอนการประกอบที่ไม่ยุ่งยากมากนัก สามารถทำได้ด้วยตัวเอง แต่ผู้ประกอบการ SMEs ควรคำนึงถึงปัจจัยอื่นร่วมด้วย เพื่อจะช่วยเอื้อหนุนให้ธุรกิจประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น ดังนี้

ให้ความใส่ใจในคุณภาพและความมีมาตรฐานของสินค้า เนื่องจากการจำหน่ายสินค้า DIY มีการแยกส่วนประกอบเพื่อให้ผู้บริโภคไปติดตั้งเอง ดังนั้น ผู้ประกอบการ SMES ควรตรวจสอบความเสียหายของส่วนประกอบแต่ละชิ้นและตรวจนับภายในบรรจุภัณฑ์ให้ครบทุกชิ้น เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า ซึ่งอาจมีผลต่อเนื่องให้ผู้บริโภคกลับมาซื้ออีกครั้ง (Repeat Customers)

ควรกระชับความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขายวัสดุ/อุปกรณ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถจัดหาสินค้าตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ทันต่อสถานการณ์ ทั้งนี้ การรักษาสายป่านทางธุรกิจได้ยาวจะสร้างความได้เปรียบเหนือกว่าคู่แข่งขัน

เลือกใช้ช่องทางการจำหน่ายให้เหมาะสมกับรูปแบบและภาพลักษณ์ของสินค้า ด้วยสาเหตุที่สินค้าซ่อมแซมและตกแต่งบ้านแบบ DIY แต่ละประเภทอาจจะชูจุดเด่นและจุดขายที่แตกต่างกัน ผู้ประกอบการ SMEs จึงควรกำหนดลูกค้าเป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อให้รู้ว่าพฤติกรรมการซื้อสินค้าของกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างไร แล้วจึงเลือกใช้ช่องทางการจำหน่ายให้สอดคล้องกัน ยกตัวอย่างเช่น กันสาดที่ใช้ติดหน้าต่างบ้าน อาจอาศัยช่องทางการจำหน่ายผ่านร้านค้าวัสดุก่อสร้างแบบสมัยใหม่ เพราะสินค้ามีขนาดใหญ่และจำเป็นต้องมีเนื้อที่สำหรับแสดงสินค้ากว้างมากพอ อีกทั้งยังเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเดียวกัน ขณะที่ รางผ้าม่านหน้าต่าง/ประตูอาจเสนอขายผ่านสังคมออนไลน์ได้ ซึ่งสามารถอธิบายขนาดและการติดตั้งได้ไม่ยุงยาก เพื่อประหยัดค่าลงทุนในด้านทำเลที่ตั้งหรือการฝากขาย

เสาะหากลุ่มลูกค้าเป้าหมาย แล้วจัดเตรียมสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการ กล่าวได้ว่าผู้ประกอบการแต่ละรายควรกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของตนก่อน จากนั้นจึงเตรียมสินค้า DIY ให้เหมาะสมและสามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ ยกตัวอย่างเช่น ในบริเวณที่ใกล้เคียงกับร้านค้าฯมีคอนโดมิเนียมอยู่หลายแห่ง ผู้ประกอบการควรเน้นสต๊อกสินค้าที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ที่อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมได้ เช่น เฟอร์นิเจอร์ที่มีขนาดกะทัดรัด มีดีไซน์ที่ลงตัว และเหมาะสมกับการใช้ในพื้นที่ที่มีขนาดจำกัด

ติดตามรูปแบบการดำรงชีวิตของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย โดยเริ่มจากการเรียนรู้พฤติกรรมการใช้ชีวิตและความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการคิดค้นสินค้าใหม่ๆป้อนเข้าสู่ตลาด

ข้อสรุปและข้อเสนอแนะ

ธุรกิจซ่อมแซมและตกแต่งที่อยู่อาศัยแบบ DIY เหมาะสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ชอบประดิษฐ์และคิดค้น สินค้าใหม่ๆที่ใช้ในการซ่อมแซมส่วนที่เสียหายให้กลับคืนสู่สภาพเดิมและตกแต่งบ้านเรือนให้สวยงาม มีการออกแบบเฉพาะตัว อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์ DIY ที่สร้างขึ้นควรตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายด้วย แม้ว่ากรอบความคิดสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการในธุรกิจประเภทนี้จะมีไม่จำกัด และถึงแม้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะเน้นที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ เนื่องจากสินค้าซ่อมแซมและตกแต่งที่อยู่อาศัยแบบ DIY สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ที่ต้องการความเร็ว เรียบง่าย และทันสมัย แต่กระนั้น ผู้ประกอบการ SMEs ควรติดตามพฤติกรรมการใช้สินค้าเหล่านี้ในกลุ่มผู้บริโภคอื่นต่อไป เพราะอาจปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา

ส่วนในด้านช่องทางการจำหน่ายสินค้า อาจเสนอขายผ่านสื่อ/สังคมออนไลน์สำหรับผู้ประกอบการที่ยังมีเงินลงทุนไม่สูงนัก แต่สำหรับผู้ประกอบการที่มีความสามารถทางการเงินในการลงทุนแล้วต้องการทำให้สินค้าของตนเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป อาจจะฝากขายในร้านค้าวัสดุก่อสร้างแบบสมัยใหม่ ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ หรือดิสเคาน์สโตร์ ซึ่งกลุ่มร้านค้าเหล่านี้กำลังขยายตัวทั่วประเทศ อย่างไรก็ดี การประกอบธุรกิจประเภทนี้อาจไม่ประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวังไว้ ถ้าผู้ประกอบการไม่มีความใส่ใจในคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังควรรักษาพันธมิตรธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เลือกใช้ช่องทางจำหน่ายให้สอดคล้องกับภาพลักษณ์สินค้า และควรติดตามรูปแบบการดำรงชีวิตของผู้บริโภคชาวไทยที่อาจเปลี่ยนแปลงมาใช้สินค้า DIY มากขึ้น เมื่อกาลเวลาผ่านไป

แหล่งที่มาของข้อมูล
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
“10 ไลฟ์สไตล์ของคนในยุค… Gen Y”, กรุงเทพธุรกิจ, 12 เมษายน 2556 (www.bangkokbiznews.com)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
พฤษภาคม 2557

แสดงความคิดเห็น


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *