ธุรกิจ SMEs …ตอบโจทย์การใช้ชีวิตคอนโดมิเนียมในเมืองใหญ่
ปัจจุบันที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับโดยได้เข้ามามีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงขึ้น ดังจะเห็นได้จาก การขอจดทะเบียนอาคารชุดทั้งประเทศในปี 2556 ที่มีจำนวนกว่า 102,200 หน่วย เติบโตกว่าร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเป็นคอนโดมิเนียมในเขตกรุงเทพมหานครกว่า 50,600 หน่วย เติบโตกว่าร้อยละ 46.8 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เนื่องมาจากโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าขยายออกไปยังกรุงเทพฯรอบนอก และปริมณฑล ซึ่งมีผลให้ราคาที่ดินในทำเลดังกล่าวปรับตัวเร่งขึ้น และส่งผลกระทบต่อต้นทุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยโครงการแนวราบ ผู้ประกอบการจึงได้ปรับเปลี่ยนมาพัฒนาที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมในระดับราคาเดียวกันแทน เพื่อสนองตอบความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย และอำนาจซื้อของกลุ่มลูกค้า ในขณะที่ในปีเดียวกัน
การขอจดทะเบียนอาคารชุดในต่างจังหวัดมีจำนวนกว่า 51,598 หน่วย เติบโตร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าในระยะ 2-3 ปีมานี้ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคก็ได้มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยจังหวัดที่มีอัตราการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่โดดเด่น ได้แก่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ สงขลา (หาดใหญ่) ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) ชลบุรี และระยอง ทั้งนี้ เนื่องมาจากผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จากส่วนกลางได้ขยายการลงทุนไปยังจังหวัดภูมิภาคมากเป็นพิเศษ จากปัจจัยดึงดูดจากความเติบโตของความเป็นเมือง (Urbanization) และการกำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ที่ทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดหัวเมืองหลัก
จังหวัดท่องเที่ยว และจังหวัดการค้าชายแดนที่สำคัญมีความคึกคักและตื่นตัวขึ้น รวมไปถึงวิถีชีวิตของผู้คนในภูมิภาคบางส่วนปรับวิถีชีวิตเหมือนคนกรุงเทพฯ โดยให้การยอมรับการอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมมากยิ่งขึ้น โดยในปี 2556 ที่ผ่านมา เป็นปีที่ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จากส่วนกลางได้ขยายการลงทุนไปยังจังหวัดภูมิภาคมากเป็นพิเศษ โดยมีโครงการเปิดใหม่กว่า 85 โครงการในจำนวนนั้นประมาณกว่า 50 โครงการเป็นการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม
ในขณะที่ตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพและปริมณฑลซึ่งเป็นตลาดหลักของคอนโดมิเนียมนั้น ก็โดยได้มีการทยอยเปิดตัวคอนโดมิเนียมโครงการต่างๆ ตลอดปี 2556 ที่ผ่านมา โดยจำนวนคอนโดมิเนียมเปิดตัวใหม่คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 64.0 ของจำนวนที่อยู่อาศัยตัวเปิดใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้งหมด และ ใน 6 เดือนแรกของปี 2557 มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมกว่า33,477 หน่วย เติบโตร้อยละ 13 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
จากสถิติดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากปัจจัยด้านราคาที่ดินที่เพิ่มสูง ความเติบโตของความเป็นเมือง (Urbanization) และการกำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 รวมไปถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ อาทิ ภาวะเศรษฐกิจ ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น และพฤติกรรมการอยู่อาศัยของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป ได้ส่งผลให้โครงสร้างที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดเปลี่ยนแปลงไป โดยที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมน่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในอนาคตข้างหน้า
การเติบโตของที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมจากปัจจัยหลายด้าน สะท้อนโอกาสและความท้าทายสำหรับ SMEs ธุรกิจตอบโจทย์การใช้ชีวิตในคอนโดมิเนียม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า จากแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจคอนโดมิเนียมอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลให้เกิดชุมชนคนรุ่นใหม่ซึ่งมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน (Lifestyles) ที่เปลี่ยนแปลงไปโดยต้องการความสะดวกรวดเร็ว และความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น และด้วยวิถีชีวิตในคอนโดมิเนียมซึ่งมีข้อจำกัดทางด้านพื้นที่ใช้สอย จึงถือเป็นโอกาสและความท้าทายสำหรับธุรกิจตอบโจทย์การใช้ชีวิตในคอนโดมิเนียม ดังรายละเอียดต่อไปนี้
การพัฒนาโครงข่ายระบบรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงของผู้คนในเมืองที่มีการใช้ชีวิตที่เร่งรีบมากขึ้น กอรปกับภาพการจราจรที่คับคั่ง และราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ส่งผลให้การเดินทางด้วยโครงข่ายขนส่งมวลชนระบบรางเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ เพราะมีระยะเวลาการเดินทางที่แน่นอน อีกทั้งมีความสะดวกสบายและปลอดภัย ทั้งนี้ โครงข่ายขนส่งมวลชนระบบรางในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) รถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) และแอร์พอร์ตลิงค์ (Airport Link) จะสามารถเชื่อมต่อกันมากยิ่งขึ้นในอนาคต เนื่องจากยังคงมีโครงการที่อยู่ระหว่างทยอยก่อสร้างอีกมาก ดังนั้นย่อมทำให้ที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมซึ่งสามารถจัดสรรโครงการได้ตามแนวรถไฟฟ้าได้สะดวกกว่าการจัดสรรโครงการอสังหาริมทรัพย์ประภทอื่น น่าจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่กำลังตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย หรือเพื่อตอบสนองความต้องการซื้อเพื่อเป็นที่พักอาศัยเป็นแห่งที่สอง ดังนั้น จึงคาดว่าในอนาคตตลาดของธุรกิจตอบโจทย์การใช้ชีวิตในคอนโดมิเนียมน่าจะมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีทิศทางที่สดใส
การเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจในภูมิภาค
การเติบโตของความเป็นเมือง (Urbanization) และการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ส่งผลให้เศรษฐกิจในภูมิภาคมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากผู้ประกอบการรายใหญ่จากกรุงเทพมหานคร จนเกิดเป็นสังคมเมืองใหม่ที่กระจายตัวอยู่ตามหัวเมืองหลักของประเทศ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คึกคักได้ส่งผลให้โครงสร้างทางรายได้ประชากรในประเทศสูงขึ้น ทำให้มีความสามารถในการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์และมีกำลังซื้อในการบริโภคมากยิ่งขึ้น
ธุรกิจคอนโดมิเนียมเติบโตจากราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้น
จากแนวโน้มราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมซึ่งไม่ต้องใช้ที่ดินในการจัดสรรมากนัก เมื่อเทียบกับการจัดสรรโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบประเภทอื่น จึงกลายเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับครอบครัวขนาดเล็ก หรือผู้ที่อยู่อาศัยคนเดียวเนื่องจากราคาต่อหน่วยที่สามารถเป็นเจ้าของได้ง่ายกว่า นอกจากนี้ ค่างวดผ่อนรายเดือนในปัจจุบันที่ไม่ต่างจากค่าเช่าอพาร์ทเม้นท์ในเมืองหลวงมากนัก จึงทำให้ผู้อยู่อาศัยมีแรงจูงใจที่จะซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์เอง นอกจากนี้ ยังมีอิสระของความเป็นเจ้าของทั้งการตกแต่งและการใช้สอย ซึ่งนับเป็นโอกาสของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อาทิ ธุรกิจรับตกแต่งที่อยู่อาศัย เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้คนในเมืองใหญ่
โครงสร้างสังคมในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงจากในอดีตไปมาก โดยปัจจุบันมีลักษณะการอยู่อาศัยเป็นแบบครอบครัวเดี่ยว หรือมีการอยู่เป็นโสดมากยิ่งขึ้น ทำให้คอนโดมิเนียมเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากมีพื้นที่ที่มีขนาดเล็กและง่ายต่อการดูแลรักษามากกว่าที่อยู่ประเภทบ้านเดี่ยว หรือทาวน์เฮ้าส์ ซึ่งพื้นที่ส่วนกลางจะอยู่ในขอบเขตการดูแลของนิติบุคคลอาคารชุด นอกจากนี้คนรุ่นใหม่ยังนิยมความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น โดยอาจมองว่าการอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม สามารถตอบโจทย์พฤติกรรมการใช้ชีวิต (Lifestyles) ได้ดีกว่า เนื่องจากมีสิ่งอำนวยความสะดวกส่วนกลาง เช่น ฟิตเนส สระว่ายน้ำ ที่ทันสมัย รวมไปถึงมีการบริการที่อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตได้โดยง่าย อาทิ บริการร้านค้าสะดวกซื้อ บริการร้านอาหาร บริการร้านซักรีด เป็นต้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค ของธุรกิจตอบโจทย์การใช้ชีวิตแบบคอนโดมิเนียม จากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกของธุรกิจ เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดกลยุทธ์ของผู้ประกอบการ SMEs ดังรายละเอียดต่อไปนี้
ความหลากหลายของธุรกิจตอบโจทย์การใช้ชีวิตในคอนโดมิเนียม
ผู้ประกอบการที่มีความสนใจในธุรกิจตอบโจทย์การใช้ชีวิตในคอนโดมิเนียม ควรทำการศึกษารายละเอียดลักษณะการดำเนินธุรกิจให้ดี นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงต้นทุนในการประกอบธุรกิจ พิจารณาคู่แข่งทางการค้า และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายด้วย
ธุรกิจแฟรนไชน์ร้านค้าสะดวกซื้อ (Convenience Store)
แนวทางการประกอบธุรกิจ
o การเลือกสินค้าเข้าร้านควรคำนึงถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้บริการ นอกจากนี้ อาจสร้างความแตกต่างโดยการเพิ่มบริการอาหารและเครื่องดื่มปรุงสด และมุมที่นั่งเล็กๆ สำหรับบริการลูกค้าที่อาจจะอยากเปลี่ยนบรรยากาศจากห้องที่พักอาศัยเป็นครั้งคราว
o การเพิ่มมีบริการเพื่ออำนวยความสะดวกอื่นๆ อาทิ บริการจัดส่งสินค้าที่มีน้ำหนักมาก อาทิ น้ำดื่ม ข้าวสาร บริการส่งแฟกซ์ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า ข้อจำกัดที่ควรระวัง
o การเป็นสมาชิกแฟรนไชน์ร้านสะดวกซื้อมีต้นทุนที่สูง
o การเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ทั้งค่าสาธารณูปโภค และเงินเดือนพนักงาน
o ค่าเช่าพื้นที่ในบริเวณคอนโดมิเนียมที่อยู่ในทำเลดี มักมีราคาสูง
o ทำเลที่ใกล้ห้างสรรพสินค้าหรือซุปเปอร์มาเก็ตขนาดใหญ่อาจทำให้เผชิญการแข่งขันที่รุนแรง
จากภาวะการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบัน ส่งผลให้รูปแบบร้านค้าปลีกมีการสร้างจุดเด่นที่แตกต่างกันไปเพื่อตอบสนองการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคยุคใหม่ โดยธุรกิจร้านสะดวกซื้อ (Convenience Store) ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของสังคมเมืองมากยิ่งขึ้น ด้วยจุดเด่นที่มีการเปิดบริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง และจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ ในระยะหลังมานี้ ร้านสะดวกซื้อได้มีการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้ามากยิ่งขึ้น โดยการเพิ่มบริการอาหาร และเครื่องดื่มประเภทฟาสต์ฟู้ด และการให้บริการรับชำระค่าสาธารณูปโภคต่างๆ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2557 ธุรกิจค้าปลีกจะมีมูลค่า 2.44-2.45 ล้านล้านบาทหรือเติบโตกว่าร้อยละ 2.8-3.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ สำหรับธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อที่มีทำเลอยู่ใกล้คอนโดมิเนียม นับว่ามีโอกาสเติบโตอีกมากจากปริมาณคอนโดมิเนียมที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคตข้างหน้า นอกจากนี้ ในแต่ละโครงการของคอนโดมิเนียมยังมีความหนาแน่นของจำนวนครัวเรือนอีกด้วย
ธุรกิจร้านอาหาร
ธุรกิจร้านอาหารนับว่าเป็นธุรกิจหนึ่งที่ได้รับความสนใจ ซึ่งปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปแบบการให้บริการที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น อาทิ กลุ่มอาหารฟาสต์ฟู้ด ได้แก่ ไก่ทอด พิซซ่า เบอเกอร์ และกลุ่มอาหารนานาชาติ โดยเป็นอาหารประเภทต่างๆ ได้แก่ อาหารไทย อาหารจีน อาหารญี่ปุ่น อาหารทะเล เป็นต้น ทั้งนี้ รูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป จากข้อจำกัดของเวลาที่รีบเร่งในแต่ละวัน ส่งผลไปถึงพฤติกรรมในการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยเฉพาะผู้ที่อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ครัวในการประกอบอาหารมากกว่าที่อยู่อาศัยประเภทอื่น ทำให้การรับประทานอาหารนอกบ้าน หรือการซื้ออาหารกลับมารับประทานที่บ้านเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่จะเข้ามาในตลาด หรือการขยายกิจการของผู้ประกอบการเดิมที่อยู่ในตลาดอยู่แล้ว
ธุรกิจบริการทำความสะอาดบ้าน
ธุรกิจรับทำความสะอาดบ้าน เป็นธุรกิจที่ให้บริการงานทำความสะอาดบ้าน และงานทำความสะอาดซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องมือและอุปกรณ์เฉพาะ อาทิ บริการซักพรม ซักผ้าม่าน ซักโซฟาและเก้าอี้ เป็นต้น โดยการส่งแม่บ้านไปทำงานเป็นรายวันไม่อยู่ประจำ ซึ่งปัจุบันได้มีผู้ประกอบการบางรายได้ก้าวเข้ามาทำธุรกิจดังกล่าวแล้ว เพื่อตอบสนองวิถีการดำเนินชีวิตของคนรุ่นใหม่ และสภาพสังคมที่มีความเร่งรีบมากยิ่งขึ้น ซึ่งลักษณะของผู้ที่อยู่อาศัยภายในคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่อาศัยอยู่คนเดียวหรือเป็นครอบครัวขนาดเล็ก ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีแม่บ้านประจำเพื่อทำความสะอาดทุกวัน
ธุรกิจบริการซักรีด
เนื่องจากวิถีชีวิตคนยุคใหม่ที่มีความเร่งรีบจึงทำให้ต้องพึ่งพาธุรกิจบริการ ธุรกิจซักรีดจึงเป็นธุรกิจหนึ่งที่มีความน่าสนใจ เพราะสามารถอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มลูกค้าที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม ซึ่งมีข้อจำกัดในการใช้พื้นที่ โดยคอนโดมิเนียมบางแห่งอาจมีข้อบังคับห้ามตากผ้าสูงกว่าราวระเบียงเพื่อความสวยงามของทัศนียภาพโดยรวมของอาคาร โดยธุรกิจซักรีด แบ่งเป็น 1.) ธุรกิจซักรีด เสื้อผ้า ให้บริการ ซัก-รีดเสื้อผ้าธรรมดา ผ้าห่ม เครื่องนอน เป็นต้น และ 2.) ธุรกิจซักรีดและซักแห้ง ซึ่งนอกจากจะให้บริการรับซักเสื้อผ้าทั่วไปแล้ว ยังมีบริการซักแห้ง หรือการซักผ้าด้วยน้ำยาเคมี ซึ่งจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี และอุปกรณ์เฉพาะ สำหรับเสื้อผ้าที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ อาทิ ชุดผ้าไหม ชุดราตรี ชุดหนัง เป็นต้น ดังนั้นผู้ประกอบการควรพิจารณาถึงทำเลที่ตั้งร้าน และกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพื่อที่จะสามารถพิจารณาการให้บริการที่เหมาะสมได้
ธุรกิจบริการตกแต่งและซ่อมแซมที่พักอาศัยในคอนโดมิเนียม
ธุรกิจตกแต่งห้องพักภายในคอนโดมิเนียม
เนื่องจากพื้นที่ใช้สอยภายในห้องคอนโดมิเนียมที่ค่อนข้างจำกัด ส่งผลให้จำเป็นต้องใช้พื้นที่ในทุกตารางเมตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้นการตกแต่งเฟอร์นิเจอร์แบบบิวท์อิน (Built-in) เป็นทางเลือกหนึ่ง เนื่องจากเป็นการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้สามารถใช้งานได้เต็มพื้นที่ และมีฟังก์ชั่นครบถ้วนตามความต้องการ นอกจากนี้ การให้บริการตกแต่งห้องครบวงจร โดยอาจเพิ่มบริการติดตั้งผ้าม่าน วอลเปเปอร์ ก็น่าจะเป็นการสร้างโอกาสและรายได้ให้กับธุรกิจมากยิ่งขึ้น ธุรกิจซ่อมแซมห้องพักภายในคอนโดมิเนียม
สำหรับการอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมนั้น แม้ว่าการบำรุงรักษาซ่อมแซมอุปกรณ์ภายในห้องเล็กน้อย อย่างเช่น หลอดไฟขาด น้ำรั่วน้ำซึม จะสามารถเรียกช่างของนิติบุคคลมาซ่อมแซมให้ได้ อย่างไรก็ดี การซ่อมแซมที่ต้องใช้ความชำนาญเฉพาะด้านยังมีความจำเป็นอยู่ ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ที่อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมโดยมากมักอยู่คนเดียว
ปัจจัยสู่ความสำเร็จของธุรกิจ SMEs…ธุรกิจตอบโจทย์การใช้ชีวิตในคอนโดมิเนียม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจตอบโจทย์การใช้ชีวิตในคอนโดมิเนียม ยังคงมีโอกาสอีกมากจากการขยายตัวของสังคมเมือง และรูปแบบการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ดี ธุรกิจดังกล่าวได้มีผู้ริเริ่มเข้าไปในตลาดบ้างแล้วโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ ดังนั้น ผู้ประกอบการ SMEs ทั้งที่อยู่ในตลาดเดิมและผู้ที่สนใจจะเข้าไปในตลาดจึงจำเป็นต้องสร้างจุดแข็งให้กับธุรกิจเพื่อเป็นการดึงดูดลูกค้า ดังรายละเอียดต่อไปนี้
ศึกษาความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคซึ่งอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมเป้าหมาย
ตลาดคอนโดมิเนียมในปัจุบันประกอบด้วยหลายเซ็กเมนต์ ดังนั้น ธุรกิจตอบโจทย์การใช้ชีวิตในคอนโดมิเนียมจึงควรศึกษาความต้องการของลูกค้าที่อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมเป้าหมาย เพื่อการนำเสนอสินค้าและบริการที่เหมาะสม และสามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตของลูกค้าได้ เช่น ทำเลที่อยู่ใจกลางเมือง หรือ CBD (Central Business District) ซึ่งลูกค้ามีกำลังซื้อควรนำเสนอสินค้าและบริการในระดับราคาที่สูง เป็นต้น
การควบคุมคุณภาพของสินค้าและบริการ
เนื่องจากสินค้าและบริการของกลุ่มธุรกิจตอบโจทย์การใช้ชีวิตในคอนโดมิเนียมเป็นสิ่งที่อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ซึ่งการควบคุมคุณภาพของสินค้าและบริการอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้เกิดการซื้อซ้ำและมีความผูกพันในตัวสินค้าและบริการ นอกจากนี้ การอบรมและพัฒนาการให้บริการของพนักงานเพื่อสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าจะทำให้สามารถรักษาฐานลูกค้าไว้ได้ในระยะยาว
การใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจ
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางด้านไอที และพฤติกรรมการใช้ชีวิต (Lifestyles) ของผู้บริโภคที่ยังคงนิยมใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตกันมากขึ้นนั้น ส่งผลให้โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ซึ่งผู้เลือกที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมโดยมากจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีการเข้าถึงโซเชียลมีเดีย และมีการใช้งานอยู่เป็นประจำ ดังนั้น การสร้างกลยุทธ์โดยการนำโซเชียลมีเดียมาใช้ในการโฆษณา และสื่อสารกับผู้บริโภคน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะสามารถหนุนให้ธุรกิจมีโอกาสเติบโตและเข้าถึงผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น
โดยสรุป
จากปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียมเติมโต ประกอบกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ธุรกิจตอบโจทย์การใช้ชีวิตในคอนโดมิเนียมน่าจะมีอนาคตที่สดใส โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่อยู่ในทำเลที่เป็นแม่เหล็กขนาดใหญ่ ที่สามารถดึงดูดคนจำนวนมากให้เข้าไปอยู่อาศัยบริเวณนั้น ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบการ SMEs โดยต้องมีการเตรียมความพร้อมทางด้านกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อตอบสนองผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีความทันสมัย และต้องการการบริการที่แปลกใหม่ สะดวกสบาย และรวดเร็ว
แหล่งที่มาของข้อมูล
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กันยายน 2557
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 17 เมษายน 2557 (WWW. PRACHACHART.NET)
ขอขอบคุณ : http://www.ksmecare.com