น้ำพริกเผามังคุด “มังคุดเมืองจันท์” เพิ่มมูลค่าแก้ปัญหาล้นตลาด
สร้างรายได้เกษตรกร
น้ำพริกเผามังคุด ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์จากสวนอย่างผลมังคุดที่มักเกิดเป็นปัญหามังคุดล้นตลาดอยู่เสมอ สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรอย่างมาก สู่กระบวนการแปรรูปด้วยความคิดที่สร้างสรรค์กว่าภายใต้สินค้าที่เรียกว่า “น้ำพริกเผามังคุด”
น้ำพริกเผามังคุด เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของ “กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปลายคลอง” จังหวัดจันทบุรี โดยมี “คุณจิรฐา มีผิว” เป็นประธานกลุ่ม ที่ร่วมคิดแก้ปัญหาให้กับมังคุดที่มักล้นตลาดในช่วงฤดูกาล แม้ว่าปัญหามังคุดล้นตลาดจะเป็นเรื่องที่เกษตรกรต้องปรับตัวโดยปกติ แต่ด้วยแนวคิดที่แตกต่างออกไปของประธานกลุ่มทำให้การแปรรูปมังคุดเกิดขึ้นเป็น “น้ำพริกเผามังคุด” ซึ่งเป็นเจ้าแรกที่บุกเบิกสินค้าดังกล่าวขึ้น ด้วยไอเดียที่แตกต่างและมีความน่าสนใจ
เริ่มต้นไอเดียดังกล่าวมาจากปัญหาทุเรียนที่ล้นตลาดก่อน ทำให้ต้องแก้ปัญหาโดยการนำมาแปรรูปเป็นทุเรียนทอดกรอบ ภายหลังเกิดปัญหานี้กับมังคุดอีกทำให้ต้องทำแบบเดียวกันคือนำมังคุดมาแปรรูปบ้าง เริ่มต้นด้วยสินค้ามังคุดกวน ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นน้ำมังคุดที่ทำขึ้นเพื่อแจกให้กับผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมสวน “คุณยายทุเรียน 200 ปี” ซึ่งเป็นสวนผลไม้บุฟเฟ่ต์ของประธานกลุ่มเอง ที่มักมีแขกเข้ามาเยี่ยมชมอยู่บ่อยครั้ง จากนั้นเมื่อนำมังคุดมาแปรรูปเป็นน้ำมังคุดก็ทำให้เหลือในส่วนของกากใยมังคุด ซึ่งเต็มไปด้วยคุณประโยชน์มากมายรวมถึงสารที่เรียกว่าแซนโทน เนื่องจากในการทำน้ำมังคุดจะใช้เพียงส่วนของเนื้อมังคุดและเมล็ดปั่นรวมกัน แล้วกรองละเอียด กากใยของมังคุดจึงเป็นที่ส่วนที่เหลือใช้จากการทำน้ำ จึงคิดต่อยอดออกไปถึงการนำกากใยของมังคุดเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์
ในตอนนั้นเลือกที่จะเข้าไปปรึกษากับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสอนทำน้ำพริกเผาให้กับนักศึกษา แต่การทำน้ำพริกเผามังคุดนั้นยังไม่เคยทำมาก่อน จึงต้องร่วมลองผิดลองถูกไปกับชาวบ้านเป็นเวลา 1 ปีเต็ม กระทั่งสำเร็จออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างแข็งแกร่ง
ปัญหาในช่วงแรกที่เจอเกี่ยวกับการทำน้ำพริกเผามังคุดคือการเก็บรักษาที่เก็บได้เพียงระยะสั้นและขึ้นราก่อนถึงวันหมดอายุ ทำให้การผลิตสินค้ายังไม่ประสบความสำเร็จ ในภายหลังจึงได้มีการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตขึ้น ซึ่งช่วยยืดอายุการเก็บรักษาให้ยาวนานถึง 2 เดือน กรณีที่เก็บไว้นอกตู้เย็น แต่ถ้าหากเก็บเอาไว้ในตู้เย็นจะอยู่ได้ 2-3 เดือน โดยวิธีการผลิตนั้นจะต้องนำหอมแดง กระเทียม และมะขามเปียกมาทำให้สุก แล้วนำเนื้อมังคุด เมล็ดมังคุดที่ปั่นจนละเอียดมารวนในกระทะให้แห้งเหนียว และใช้พริกเป็นส่วนผสม ในส่วนของภาชนะก็ต้องใส่ใจในรายละเอียดไม่แพ้กัน เพราะต้องนำไปต้มในน้ำเดือด ก่อนนำไปบรรจุน้ำพริกเผามังคุด แล้วปิดฝาให้สนิท เมื่อนั้นก็ต้องนำขวดไปนึ่งอีกที แล้วใส่ลงในน้ำเย็นทันทีเพื่อฆ่าเชื้อ
ช่องทางแรกในการจำหน่ายสินค้าน้ำพริกเผาเจ้าแรกและเจ้าเดียวในไทยคืองาน “Organic and Natural Expo 2015” ซึ่งผลิตขึ้นทั้งหมด 200 ขวดเพื่อทดลองตลาด แต่ผลปรากฎว่าขายดีเกินคาดทำให้หมดก่อนถึงกำหนดเลิกงาน ในการจำหน่ายสินค้าราคาจะอยู่ที่กระปุกละ 60 บาทเป็นราคาขายปลีก นอกจากนี้ก็ยังมีสินค้าอื่นด้วย ได้แก่ ทุเรียนทอดกิโลกรัมละ 800 บาท มังคุดกวนกับสละกวนอยู่ที่ 250 บาท/กิโลกรัม
จุดเด่นของน้ำพริกเผามังคุดคือเรื่องของคุณประโยชน์เนื่องจากมีการใส่เมล็ดและเนื้อมังคุดลงไปด้วยทำให้มีสารแซนโทนกว่า 40 ชนิด ซึ่งมีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระได้เป็นอย่างดี
ข้อมูลติดต่อธุรกิจน้ำพริกเผามังคุด
ที่อยู่ : กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปลายคลอง เลขที่ 9/4 หมู่7 ตำบลคมบาง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี
โทรศัพท์ : 08-6827-2004
หมายเหตุ รูปภาพที่ใช้เป็นเพียงสื่อประกอบบทความนั้น
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : ผู้จัดการออนไลน์