ปรับธุรกิจให้ทันรับกระแส E-Commerce โต โดยศูนย์วิจัยกสิกร

ปรับธุรกิจให้ทันรับกระแส E-Commerce โต

> ปัจจุบันถึงระยะ 3-5 ปี ข้างหน้า ของ B2C E-Commerce ในแต่ละ Platform มีแนวโน้มเป็นอย่างไร?

 – ปัจจุบัน E-Commerce กลายเป็นช่องทางการตลาดและการซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น อันเนื่องมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารจาก 3G ไปสู่ 4G ที่ทำให้การสื่อสารผ่านทางอินเทอร์เน็ตสะดวกขึ้น หรือแม้แต่ราคาของสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้นั้นก็มีแนวโน้มถูกลง ส่งผลให้คนไทยมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือสูงขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้พฤติกรรมของคนไทยเปลี่ยนแปลงไป มีความเชื่อมั่นและคุ้นเคยกับการสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น จึงทำให้ช่องทาง E-Commerce ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง

ทั้งนี้ Online Platform ที่ยังคงได้รับความนิยมในปัจจุบัน คือ “Social Commerce” ซึ่งส่วนใหญ่จะขับเคลื่อนโดยกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือรายย่อยเป็นหลัก เนื่องจากคนไทยมีความคุ้นเคยกับการเล่น Social Mediaไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Line จึงทำให้ Platform Social Commerce เป็นที่นิยมของผู้บริโภคในปัจจุบันและเป็นตัวขับเคลื่อนตลาด E-Commerce ในภาพรวมของไทยมาอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบัน Social Commerce ถือเป็น Platform ที่มีส่วนแบ่งตลาดที่ค่อนข้างสูงกว่า Online Platform อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น E-Market Place หรือ Website/Brand.com

ในขณะที่ “E-Market Place” ซึ่งเป็นเสมือนตลาดกลางออนไลน์นั้น ส่วนใหญ่ผู้ให้บริการ Platform ดังกล่าว จะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ และมีผู้ประกอบการ SME หรือเจ้าของสินค้าเข้ามาเช่าพื้นที่ออนไลน์ ดังกล่าวขายของ โดยผู้ประกอบการ SME หรือเจ้าของสินค้าจะต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปี หรือเปรียบเสมือนค่าเช่าพื้นที่ร้านค้าออนไลน์ให้กับผู้ให้บริการ E-Market Place หรืออาจจะมีการหักส่วนแบ่งจากยอดขายตามแต่ตกลงกันสำหรับ Platform “Website” หรือ “Brand.com” ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือผู้ประกอบการที่มีสินค้าหรือแบรนด์เป็นที่รู้จักของลูกค้าในระดับหนึ่ง และมีความพร้อมทางด้านเงินทุนในการพัฒนาหรือออกแบบ Website เป็นของตนเอง ซึ่งผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ยังไม่ได้เลือกใช้ Platform ดังกล่าวมากนัก

 – ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ธุรกิจ B2C E-Commerce เฉพาะสินค้า คาดว่าจะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.7 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 8.2 ในปี 2565 เมื่อเทียบกับภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกค้าส่งทั้งระบบโดยเหตุผลสำคัญมาจาก การรุกตลาดของกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ และ E-Commerce จากต่างชาติไม่ว่าจะเป็นจีน หรือเกาหลีใต้ รวมถึงธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ที่มีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งระบบการชำระเงินการจัดส่งสินค้าที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคได้มากขึ้น ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาพรวมของตลาด E-Commerce ในไทยขยายตัวได้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ปี 2560 ตลาด B2C E-Commerce สินค้า จะมีมูลค่าตลาดประมาณ 214,000 ล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 470,000 ล้านบาทในปี 2565 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR ปี 2560-2565) ประมาณร้อยละ 17.0 ต่อปี เมื่อเทียบกับภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกค้าส่งทั้งระบบที่คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย (CAGR ปี 2560-2565) ร้อยละ 5.0 ต่อปี ส่งผลให้คาดว่า E-Commerce จะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.7 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 8.2 ของมูลค่าตลาดค้าปลีกค้าส่งทั้งระบบ ในปี 2565

อย่างไรก็ดี แม้ว่าในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ตลาด B2C E-Commerce จะยังมีส่วนแบ่งตลาดที่น้อยมากเมื่อเทียบกับตลาดค้าปลีกค้าส่งแบบมีหน้าร้าน (Offline) แต่หาก B2C E-Commerce ยังสามารถรักษาอัตราการเติบโตในระดับเลข 2 หลักได้อย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาและยกระดับห่วงโซ่อุปทานของ E-Commerce ทั้งระบบให้แข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะความพร้อมในเรื่องของการจัดส่งสินค้าและการชำระเงิน จะทำให้ E-Commerce เติบโตในอัตราเร่งสูงกว่าช่วงเริ่มต้น ส่งผลให้ในระยะยาว คาดว่า ตลาด B2C E-Commerce จะกลายเป็นช่องทางการตลาดที่มีความสำคัญและมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคจากการซื้อสินค้าผ่านหน้าร้าน Offline มาเป็นการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์

– E-Market Place เป็น Online Platform ที่จะเข้ามามีบทบาทในตลาด E-Commerce ของไทยมากขึ้น  ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปัจจุบันแม้ว่าธุรกิจ B2C E-Commerce ของไทย จะยังไม่มีผู้นำตลาดที่ชัดเจน แต่หลังจากตลาด E-Commerce เริ่มมีแนวโน้มเติบโตอย่างโดดเด่น บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจแต่ละราย หรือแม้แต่คนที่ต้องการจะเริ่มต้นทำธุรกิจเป็นของตนเอง ต่างก็พยายามเข้าสู่ตลาดออนไลน์กันมากขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรุกเข้ามาของกลุ่มผู้ประกอบการ E-Market Place ต่างชาติ และได้มีการร่วมมือกันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทย ซึ่งทำให้มีโครงสร้าง Value Chain ของระบบ E-Commerce ที่ครบวงจร ตั้งแต่ระบบการสั่งซื้อสินค้า การชำระเงิน และการจัดส่งสินค้า น่าจะทำให้ Platform E-Market Place ของผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวมีความได้เปรียบในการแข่งขันมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการให้บริการลูกค้า (ทั้งฝั่งผู้ขายและผู้ซื้อ) และการเข้าถึงฐานข้อมูลของกลุ่มลูกค้าได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว

ในขณะที่ช่องทาง Social Commerce อาทิ Facebook หรือ Line ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันจะยังคงเป็นช่องทางหลักในการขับเคลื่อนตลาด E-Commerce ของไทย และมีส่วนแบ่งตลาดที่ค่อนข้างสูงกว่า Online Platformอื่นๆ แต่คาดว่าในระยะข้างหน้า ช่องทาง Social Commerce ก็น่าจะถูกแรงกดดันจากหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น

1) การเผชิญการแข่งขันและแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากผู้เล่นรายใหญ่ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในหมวดสินค้าเดียวกันน่าจะเผชิญการแข่งขันที่ยากลำบาก เนื่องจากผู้เล่นรายใหญ่มีการบริการที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคอย่างครบวงจร มีความน่าเชื่อถือ และเหมาะกับการขายสินค้าที่ค่อนข้างหลากหลายกว่าอีกทั้งยังสามารถใช้ช่องทางดังกล่าวขยายตลาดไปต่างประเทศได้สำหรับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ

2) การที่ภาครัฐได้พยายามดึงกลุ่มผู้ประกอบการ Social Commerce เข้าสู่ระบบ ก็อาจจะสร้างความกังวลในการดำเนินธุรกิจออนไลน์ให้กับผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบ และยังไม่มีการเสียภาษีการค้าอย่างถูกต้อง โดยปัจจุบันผู้ประกอบการ E-Commerce ที่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์(อยู่ในระบบ) มีจำนวนไม่ถึง 20,000 ราย และส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ จากจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมดที่คาดว่าจะมีประมาณ 500,000 ราย

> ผู้ประกอบการ SME ต้องปรับตัวอย่างไร รับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป?

– ผู้ประกอบการ SME ที่ยังไม่ได้อยู่ใน Platform Online ควรหันมารุกตลาด E-Commerce และควรมีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า Platform Online ถือเป็นช่องทางการตลาดและการซื้อขายสินค้าที่จะมีบทบาทมากขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะการเติบโตของกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่มีความคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีทางด้านไอทีต่างๆ ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ดังนั้น หากผู้ประกอบการ SME ที่ไม่ได้เข้ามาในช่องทางดังกล่าว ก็อาจจะสูญเสียโอกาสในการสร้างยอดขาย หรือถูกแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดไป

– ผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ ตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสาร รวมถึงระบบ Value Chain ของธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่างๆ ที่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคได้ครบวงจร ส่งผลให้ผู้ประกอบการจะต้องตื่นตัว และมีการปรับตัวให้สอดรับหรือทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภคตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น

1) การดำเนินธุรกิจจะเป็นแบบ Multi – Online Channel มากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หลากหลาย การเลือก Platform สำหรับ E-Commerce อาจจะขึ้นอยู่กับความเหมาะสม และต้องพิจารณาจากหลายๆ ปัจจัย อาทิ ประเภทของสินค้า เงินลงทุน ความรู้ความเข้าใจหรือความพร้อมของผู้ประกอบการ SME และสิ่งสำคัญที่สุดคือ จะต้องตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุดหรือเร็วที่สุด ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผู้ประกอบการอาจจะมีการผสมผสานระหว่าง Platform ต่างๆ ให้เหมาะสม หรือแต่ละ Platform อาจจะต้องเชื่อมโยงกัน หรือที่เรียกว่า Multi-Online Channel ซึ่งแต่ละ Platform ก็จะมีจุดเด่น-จุดด้อยที่แตกต่างกันไป

แต่ท้ายที่สุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผู้ประกอบการ SME อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์หรือทบทวนอยู่เสมอ ว่าจะเลือกใช้ช่องทางออนไลน์ใดในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ภายใต้ต้นทุนในแต่ละช่องทางที่ประเมินแล้วว่าคุ้มค่าที่สุด ซึ่งผู้ประกอบการอาจจะเลือกใช้ช่องทางใดช่องทางหนึ่งในการทำตลาดออนไลน์หรือจะใช้ควบคู่กันไป เช่น ผู้ประกอบการ SME ซึ่งสินค้าหรือแบรนด์อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ระยะแรกก็อาจจะอาศัยช่องทาง Social Commerce ในการเริ่มทำการตลาดออนไลน์ เพื่อทำให้สินค้าหรือแบรนด์เป็นที่รู้จักของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง เนื่องจากช่องทางดังกล่าว เป็นช่องทางที่คนไทยค่อนข้างคุ้นเคยและเล่นอยู่เป็นประจำและผู้ประกอบการอาจจะมีการเชื่อมโยงหรือดึงลูกค้าจาก Social Commerce ให้เข้ามาเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทาง E-Market Place ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่ จึงค่อนข้างได้รับความน่าเชื่อถือ อีกทั้งยัง
มีระบบอำนวยความสะดวกที่ครบครัน ตั้งแต่ Platform ของการใช้งานที่ง่ายและสะดวก ระบบการชำระเงิน ไปจนถึงระบบจัดส่งสินค้า เป็นต้น

และสุดท้าย หากสินค้าหรือแบรนด์เริ่มเป็นที่รู้จักของลูกค้าในวงกว้างแล้ว ผู้ประกอบการ SME ก็อาจจะมีการขยายธุรกิจออนไลน์ผ่านการสร้าง Website/Brand.com ของตนเองควบคู่ไปกับ Platform Online อื่นๆ แต่ทั้งนี้ การจะสร้าง Website/Brand.com อาจจะต้องลงทุนหรือมีค่าใช้จ่ายในการจัดทำเว็บไซต์ที่สูงในช่วงแรกและจะต้องมีความพร้อมในการแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที ในกรณีที่ระบบมีปัญหา

2) ประเภทของสินค้าที่จำหน่ายผ่านช่องทาง E-Commerce น่าจะมีความหลากหลายมากขึ้น เดิมทีตลาด E-Commerce ในไทยถูกขับเคลื่อนด้วย Social Commerce ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ SME หรือรายย่อยเป็นหลัก และสินค้าที่จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์นั้น ก็ไม่ได้หลากหลาย ส่วนใหญ่จะมีมูลค่าต่อชิ้นที่ไม่สูงมากนัก และจะเป็นการซื้อขายภายในประเทศ โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ ได้แก่ สินค้าแฟชั่น (เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องประดับ) อุปกรณ์ไอทีขนาดเล็ก (สายชาร์จแบต หูฟัง แบตสำรอง) เครื่องสำอาง และอาหารเสริม เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยการหันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น ประกอบกับมีผู้ประกอบการสินค้าใหม่ๆ หันมาขยายตลาดผ่านช่องทางออนไลน์จำนวนมาก อีกทั้งธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ ได้มีการปรับปรุงและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับกับความต้องการของตลาด E-Commerce ที่ขยายตัว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนส่งสินค้าหรือ Delivery ที่สามารถจัดส่งสินค้า ได้หลากหลายประเภทมากขึ้น อีกทั้งยังสะดวกและรวดเร็ว หรือแม้แต่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์เอง ก็ได้มีการออกแบบหรือดีไซน์ลักษณะของบรรจุภัณฑ์ให้รองรับกับประเภทของสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่มีขนาดใหญ่ เช่น เฟอร์นิเจอร์หรือของตกแต่งบ้าน สินค้าไอทีที่มีมูลค่าต่อชิ้นสูงขึ้น เช่น สมาร์ทโฟน อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ (Smartband, Smartwatch) รวมถึง สินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม ส่งผลให้คาดว่า การซื้อขายออนไลน์ของผู้บริโภคในระยะข้างหน้าจะมีแนวโน้มครอบคลุมกลุ่มสินค้าที่หลากหลายประเภทมากขึ้น

 – นอกจากผู้ประกอบการ SME จะใช้ช่องทางออนไลน์ในการสร้างรายได้จากการซื้อขายผ่าน E-Commerce แล้ว ยังสามารถใช้เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ หรือทำการตลาดให้เข้าถึงลูกค้าได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย ผู้ประกอบการSME ที่สนใจจะรุกตลาด E-Commerce หลายราย คงเกิดคำถามว่า ทำอย่างไรให้สินค้าหรือแบรนด์ของเราเป็นที่รู้จักของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจที่รุนแรงขึ้น และมีงบประมาณการตลาดค่อนข้างจำกัด ซึ่งปัจจุบัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ นับว่ามีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคมยุคดิจิทัล ซึ่งถือเป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว และในอนาคตคาดว่า จะกลายมาเป็นช่องทางสำคัญในการทำการตลาด เมื่อเทียบกับช่องทางอื่นๆที่ถูกลดบทบาทลง

โดยสะท้อนได้จาก ตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 9,900 ล้านบาทในปี 2559 เป็น 12,000-12,500 ล้านบาทในปี 2560 หรือขยายตัวประมาณร้อยละ 21-26 (YoY) ซึ่งนอกจากจะเป็นผลมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เข้าถึงและคุ้นเคยกับการใช้สื่อออนไลน์แล้ว ผู้ให้บริการ Platform Online ต่างๆ สำหรับการทำตลาดบนโลกออนไลน์ อาทิ Social Media (Facebook, Line, Instagram) Video Content (YouTube) Search Engine Optimization (Google, Bing, Yahoo) มักมีการพัฒนาฟังก์ชันหรือฟีเจอร์อยู่เสมอ  เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน ทั้งทางฝั่งของผู้ประกอบการหรือผู้ขาย และฝั่งผู้บริโภคหรือผู้ซื้อ เช่น มีการเก็บฐานข้อมูลของลูกค้า และทำการวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าได้อย่างละเอียด ในขณะที่ผู้บริโภคก็ได้รับความสะดวกในการเข้าถึงสินค้าได้อย่างรวดเร็ว และนอกจากนี้ ช่องทางการตลาดออนไลน์ยังถือเป็นช่องทางที่มีต้นทุนต่ำกว่าเมื่อเทียบกับช่องทางอื่นๆ อาทิ โทรทัศน์ ซึ่งเหมาะกับผู้ประกอบการ SME ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องของเงินทุน

 – จับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ E-Commerce ให้ครบวงจร เพื่อเอื้อต่อการอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคได้มากที่สุด เมื่อมีผู้เล่นเข้ามาในตลาดออนไลน์มากขึ้น การเผชิญการแข่งขันก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ทำอย่างไรให้ธุรกิจ E-Commerce ของผู้ประกอบการ SME สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว จะกลายเป็นโจทย์ที่สำคัญ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า อาจจะเป็นการยากสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่จะพัฒนาระบบห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ E-Commerce หรือมีการสร้างบริการ Fulfillment ที่ครบวงจร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค แต่ผู้ประกอบการ SME อาจจะมองหาพันธมิตรทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องมารองรับกับความต้องการของผู้บริโภค อาทิ การร่วมมือกับธุรกิจขนส่งสินค้าที่หลากหลาย เพื่อให้ลูกค้าได้เลือกใช้บริการตามแต่ความสะดวกของลูกค้าแต่ละคน เช่น หากต้องการความรวดเร็ว สามารถนัดเวลารับส่งสินค้าได้ก็อาจจะใช้บริการจัดส่งสินค้าของเอกชน ซึ่งอาจจะมีค่าบริการที่สูงกว่าแต่มีความสะดวก คล่องตัวกว่าหรือหากอยู่ภายในพื้นที่เดียวกัน ก็อาจจะมีการนัดรับส่งสินค้าตามสถานที่ที่ลูกค้าสะดวก เช่น สถานีรถไฟฟ้า เป็นต้น หรือแม้แต่ช่องทางการชำระเงินก็ควรมีให้เลือกหลากหลายช่องทาง อาทิ ATM บัตรเครดิต E-Money Promtpay หรือชำระเงินปลายทาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า เป็นต้น

> ความท้าทายของผู้ประกอบการ SME

 – จับตาประเด็นการจัดเก็บภาษี E-Commerce โดยเฉพาะ Social Commerce ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการ SME หรือรายย่อย ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเข้าสู่ระบบ และยังไม่มีการเสียภาษี E-Commerceอย่างถูกต้อง ท่ามกลางการขยายตัวของตลาด E-Commerce ในไทย ยังคงมีประเด็นที่ถูกกล่าวถึงกันมาก คือผู้ประกอบการส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีหรือรายย่อย ยังไม่ได้ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ และยังไม่ได้มีการเสียภาษี E-Commerce ที่ถูกต้อง ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐพยายามหาวิธีการต่างๆ เพื่อดึงผู้ประกอบการกลุ่มนี้ให้เข้าสู่ระบบ

ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ E-Commerce อาทิ พ.ร.บ.ขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ. 25452 ซึ่งผู้ประกอบการ E-Commerce จะต้องทำการจดทะเบียนกับคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) หากไม่จดทะเบียนมีโทษปรับวันละ 10,000 บาท และพ.ร.บ.ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2553 โดยให้ผู้ประกอบการ E-Commerce ต้องมาจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแต่ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับกลุ่มผู้ประกอบการ E-Commerce ส่งผลให้ผู้ประกอบการดังกล่าว โดยเฉพาะที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยเลือกที่จะไม่จดทะเบียน เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี

ทั้งนี้ การที่ภาครัฐพยายามดึงผู้ประกอบการ E-Commerce เข้าสู่ระบบ ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะหากมองในฝั่งผู้บริโภค ก็ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค มีการคุ้มครองผู้บริโภคและสามารถตรวจสอบร้านค้าเหล่านี้ได้ ในขณะเดียวกัน ภาครัฐเองก็สามารถจัดเก็บภาษี E-Commerce จากร้านค้าออนไลน์เหล่านี้ได้เช่นกัน ซึ่งถือเป็นการสร้างความเท่าเทียมกันให้กับธุรกิจหน้าร้าน (Offline) อื่นๆ ที่ต้องเสียภาษี

แต่เนื่องจากผู้ประกอบการ E-Commerce ยังคงเคยชินกับการที่ไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้น ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ประกอบการ E-Market Place ควรเร่งสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการ E-Commerce อย่างต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการอาจจะไม่เข้าใจรายละเอียดตรงนี้ และมีความกังวลหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะเรื่องของการจัดเก็บภาษีย้อนหลัง ดังนั้น ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านนี้ ภาครัฐควรจะมีวิธีการดำเนินการต่างๆ เพื่อดึงผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบและมีการจัดเก็บภาษี E-Commerce อย่างค่อยเป็นค่อยไปและชัดเจนควบคู่ไปกับการออกมาตรการจูงใจต่างๆ อาทิ การยกเว้นในบางหมวดหมู่ หรือให้มีสิทธิพิเศษลดหย่อน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการขยายตัวของธุรกิจ E-Commerce ในภาพรวม นำเสนอหรือประชาสัมพันธ์ถึงข้อดีของการจดทะเบียน ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของตัวร้านค้า โอกาสที่จะเพิ่มยอดขาย และอาจจะคุ้มกับภาษีที่ถูกจัดเก็บรวมถึงการให้เวลาในการปรับตัวโดยกำหนดเวลาหรือเงื่อนไขที่แน่ชัด เพราะหากภาครัฐใช้มาตรการที่เข้มงวดในทันที อาจทำให้ผู้ประกอบการหลบเลี่ยงไม่เข้าระบบ กลายเป็นร้านค้า E-Commerce ที่ไร้ตัวตน และอาจจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากมาย

อย่างไรก็ดี หากถึงระยะเวลาที่กำหนดหรือตามเงื่อนไขแล้วผู้ประกอบการ E-Commerce ยังไม่ปรับตัวหรือทำธุรกิจอย่างถูกต้องก็ค่อยใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้น นอกจากนี้ หากธุรกิจ E-Commerce จะกลายเป็นช่องทางที่เข้ามามีบทบาทในธุรกิจค้าส่งค้าปลีกมากขึ้นในระยะข้างหน้า ก็อาจจะต้องมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ E-Commerce โดยตรง เพื่อสร้างความชัดเจนและเป็นการคุ้มครองทั้งฝั่งของผู้ประกอบการ E-Commerce และฝั่งของผู้บริโภค

 – การเผชิญการแข่งขันในธุรกิจ E-Commerce ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น แม้ว่าตลาด E-Commerce ของไทยยังมีช่องว่างและโอกาสในการเติบโตอีกมาก แต่หากเทียบกับอดีต การทำตลาดผ่านช่องทางดังกล่าว แม้ว่าจะเข้ามาได้ง่าย แต่การที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ มียอดขาย มีฐานลูกค้านั้น อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับผู้ประกอบการ SME เนื่องจากปัจจุบัน บรรดาผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างเข้ามารุกตลาด E-Commerce กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการค้าปลีก Modern Trade รวมถึงผู้ประกอบการต่างชาติอาทิ จีน เกาหลีใต้ ที่เล็งเห็นถึงโอกาสในการเติบโตของตลาด E-Commerce ในไทย และมีการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain)ของตลาด E-Commerce ที่ครบวงจร ตั้งแต่ Platform ของร้านค้าออนไลน์ การบริการจัดส่งสินค้า (Delivery)ไปจนถึงระบบการชำระเงิน (Payment) สัญญาณดังกล่าวกระตุ้นให้ตลาดมีแนวโน้มแข่งขันรุนแรงขึ้น ส่งผลต่อศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการ SME ที่อาจจะยากลำบากมากขึ้น

มองในมุมกลับกัน หากผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาทำตลาด E-Commerce ในรูปแบบตลาดกลางออนไลน์ (E-Market Place) ก็จะถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ SME ที่จะใช้ช่องทางนี้ทำตลาดออนไลน์ แต่ผู้ประกอบการ SME ก็จะต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อาทิ ค่าธรรมเนียมรายปี ค่าส่วนแบ่งยอดขาย รวมถึงการขาดความยืดหยุ่นในการกำหนดรูปแบบการทำการตลาดต่างๆ ด้วยตนเอง ซึ่งสุดท้ายอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ผู้ประกอบการ SME จะต้องประเมินว่าจะเลือกทำตลาด E-Commerce ผ่านช่องทางไหนที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเองมากที่สุด ซึ่งครอบคลุมถึงประเภทของสินค้า และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การทำธุรกิจ E-Commerce สิ่งที่จะต้องคำนึงถึง คือ ทำอย่างไรให้ธุรกิจ E-Commerce ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างครบถ้วน และสามารถขจัดจุดอ่อนและข้อกังวล หรือสามารถสร้างความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของผู้บริโภคได้ ภายใต้หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจออนไลน์ คือ “แตกต่าง รวดเร็ว และปลอดภัย” และครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถขับเคลื่อน E-Commerce ไปได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ ความพร้อมทางด้านบุคลากร หรือทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลบริหารช่องทาง E-Commerce ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับธุรกิจ

โดยสรุป : ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ช่องทางการตลาดและการซื้อขายสินค้าออนไลน์ (E-Commerce) จะกลายเป็นช่องทางการค้าที่มีบทบาทเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยหันมาเชื่อมั่นในการสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่ตลาด E-Commerce สามารถทำได้โดยง่าย และมีหลากหลาย Platform ให้เลือก แต่การที่ผู้ประกอบการ SME จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ในส่วนของยอดขายและการขยายฐานลูกค้า ผ่านช่องทางดังกล่าวอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายนักเมื่อเทียบกับอดีต เนื่องจากมีผู้เล่นหน้าใหม่รุกเข้าสู่ตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความพร้อมของห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) ของธุรกิจ E-Commerce แบบครบวงจร นำมาซึ่งสัญญาณการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นดังนั้น การที่ผู้ประกอบการ SME จะรุกเข้าสู่ตลาด E-Commerce ให้ประสบความสำเร็จและสามารถ แข่งขันกับคู่แข่งได้นั้น อาจจะไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่ต้องพิจารณาจากหลายๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ประเภทของสินค้า เงินลงทุน ความรู้ความเข้าใจหรือความพร้อมของผู้ประกอบการSME ซึ่งท้ายที่สุด การดำเนินธุรกิจอาจจะเกิดจากการผสมผสานหรือเชื่อมโยงระหว่าง Platform Online กับ Offline (Omni-Channel Marketing) เข้าด้วยกัน เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการหรือไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายแต่ละกลุ่มให้ดีและเร็วที่สุด

ขอบคุณข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกร

 

แสดงความคิดเห็น


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *