ปลุกไฟ SME ยุคโซเชียล Startup ธุรกิจด้วย ‘IT’
พวกเขาคือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใช้ “ไอที”และ”โซเชียลมีเดีย”มาแจ้งเกิดธุรกิจ และยังเติบโตอย่างมีอนาคตในสนามแข่งนี้ ขนมขบเคี้ยวสำหรับสุนัข “มันซ์นี่” (Munznie) ซาลาเปาลาวา แบรนด์ “ซาลาวาเปา” กับผ้าพันคอตามสั่ง “ZoesCarf” คือ ตัวอย่างธุรกิจคนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จบนโลกออนไลน์
พวกเขาถอดสลักความคิด มาร่วมแบ่งปันในงาน “ECIT : SMEs Solutions Day 2014 มิติใหม่แห่งการใช้ IT เพื่อขับเคลื่อน SMEs ไทยสู่ระดับสากล” ซึ่งจัดโดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ผ่านมา เพราะเป็นนักช้อปออนไลน์มาก่อน จึงคุ้นชินดีกับการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ จนเมื่อวันที่คิดมีธุรกิจของตัวเอง ช่องทางที่คุ้นเคยนี้จึงเป็นช่องทางแรกที่เลือกเข้ามาแจ้งเกิด!
เรากำลังพูดถึง “ส้ม-สุธัตตา คณพิทักษ์พงศ์” ผู้ประกอบการวัย 28 ปี เจ้าของกิจการ “ซาลาวาเปา” ธุรกิจซาลาเปา ที่สามารถขายผ่านตลาดออนไลน์ และประสบความสำเร็จจนขยายในรูปแบบแฟรนไชส์ได้ในวันนี้ “ช่องทางนี้กว้าง และ..กว้างมาก” เธอบอกแรงดึงดูดสำคัญที่ทำให้อยากลงสนามออนไลน์ โดยเฉพาะตลาดไทย ผู้ใช้ “โซเชียล” ติดอันดับโลก
ยุคนี้เขาฮิตซาลาเปาลาวากัน เธอก็เอากับเขาบ้าง แต่ถ้าเป็นแค่ซาลาเปาลาวาเหมือนคนอื่น ก็คงไม่มีใครสนใจนัก จึงเริ่มจากสร้างความพิเศษด้วย “ซาลาเปาลาวาสารพัดไส้” บวกงาน Made to Order วาดเป็นลายการ์ตูนสุดน่ารักบนซาลาเปา แปลงร่างจากของกิน ไปเป็นของขวัญของฝาก ในโอกาสพิเศษต่างๆ ดึงดูดความสนใจจากเหล่านักช้อปไซเบอร์ เธอบอกว่าการทำธุรกิจ “ของกิน” บนโลกออนไลน์นั้น ต้องทำบน “ความรับผิดชอบ” เน้นของดีมีคุณภาพ ผลิตสดใหม่ทุกวัน ไม่ใส่สารกันบูด และต้องจัดส่งถึงมือลูกค้าภายใน 1 วัน “ลูกค้าต้องได้ของดีที่สุด เขาจ่ายเงินมา 100% ก็ย่อมอยากได้ของ 100%” เธอบอกเอาไว้อย่างนั้น
มีของดี รวดเร็วในการจัดส่ง ลูกค้าได้รับก็ประทับใจ จึงเกิดการบอกปากต่อปาก และแวะมาคอมเม้นต์ดีๆ ในหน้าเฟชบุ้ค บางคนถ่ายรูปสินค้ากลับมา เธอก็เอาไปโพสต์ในเว็บเพจของตัวเอง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้ารายอื่น ใครถ่ายรูปคู่สินค้ามา ก็แสดงความขอบคุณกลับไป ด้วยการแถมสินค้าให้..ผูกใจกันสุดฤทธิ์
การมีช่องทางออนไลน์ ไม่ใช่แค่หน้าร้านนิ่งๆ แต่ต้องบริหารจัดการร้านนั้นอย่างมีกลยุทธ์ด้วย สำหรับ “ซาลาวาเปา” พวกเขาเลือกทำให้หน้าเว็บเพจมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา โดยอัพเดททุกวัน ไม่เงียบหาย ด้วยปรัชญาฉบับแม่ค้าออนไลน์ ที่บอกเราว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” เราอยากได้แบบไหน ก็ให้ทำแบบนั้นกับลูกค้าอย่างนั้น ให้ของที่ดีที่สุด รวดเร็วทันใจ พูดจาดีๆ มีความรับผิดชอบต่อลูกค้า คิดจากเรื่องง่ายๆ แต่ลงมือทำให้เห็นจริง จนทำให้ซาลาวาเปาประสบความสำเร็จได้ในเวลาอันรวดเร็ว ถึงขนาดมีคนติดต่อเข้ามาเพื่อขอซื้อแฟรนไชส์ จนปัจจุบันสามารถขยายไปสู่การมีหน้าร้านแฟรนไชส์แล้วถึง 5 สาขา
“เรามีเฟชบุ้คทำให้ลูกค้ารู้จัก แต่คนที่ไม่สะดวกจะซื้อทางออนไลน์ก็ยังมี ฉะนั้นการขายแฟรนไชส์ทำให้มีหน้าร้านขึ้นมา จึงเข้าใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น และทำให้ได้กลุ่มผู้บริโภคใหม่ๆ เข้ามาด้วย” เธออัพเดทสถานะล่าสุดของซาลาวาเปา เวลาเพียง 1 ปี กับอีก 4 เดือน คือ ช่วงเวลาแจ้งเกิด ผ้าพันคอ Made to Order แบรนด์ “ZoesCarf” ของสาวสวยวัย 32 ปี “โส-ภ.ญ.โสภา พิมพ์สิริพานิชย์” กับฟีดแบคที่เรียกว่า “ดีมากๆ” ในกลุ่มสาวๆ ส่งอานิสงห์ให้ธุรกิจนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว และโด่งดังในโลกโซเชียล
ZoesCarf ทำตลาดผ่านโซเชียลมีเดียเป็นหลัก ทั้ง เฟชบุ้ค อินสตาแกรม และไลน์ มีการใช้ประโยชน์จากระบบหลังร้านของเฟชบุ้ค บริหารจัดการธุรกิจ และเลือกใช้กลยุทธ์การลงโฆษณาผ่านเฟชบุ้ค ทำตลาดอย่างต่อเนื่อง เธอให้ความสำคัญในการสื่อสารกับลูกค้า โดยบอกว่า ต้องต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ระมัดระวังในการใช้คำพูด เพราะข้อความไม่มีน้ำเสียง จึงอาจเกิดความเข้าใจผิดได้ง่ายๆ เทคนิคที่ใช้ได้ คือ การแนบสติ๊กเกอร์ยิ้มไปกับคำพูด เพื่อเรียกความรู้สึกดีๆ ให้กับคนอ่าน
เวลาเดียวกันต้องสร้างโอกาสในการขายสินค้าให้มากขึ้น จาก “ผ้าพันคอ” ที่คงมีโอกาสใช้แค่ไม่กี่งาน คนหัวคิดไกล เลยเลือก “รีวิวการใช้ผ้าพันคอ” ให้กลายร่างเป็น เสื้อ ที่คาดผม กระเป๋า เข็มขัด สารพัดการหยิบจัด จนได้ของหนึ่งชิ้นที่มีประโยชน์ “สุดคุ้ม” ที่สำคัญแม่ค้า รีวิวเอง ใช้เอง ก็ยิ่งเพิ่มความมั่นใจ “เท่าทวี” ให้ลูกค้า
แม้เป็นธุรกิจใหม่ ลงสนามมาได้ไม่นาน แต่สิ่งที่เธอเลือกทำ คือ กิจกรรมซีเอสอาร์ เพื่อสื่อสารให้ลูกค้ารู้ว่า ZoesCarf ไม่ได้มุ่งแต่ขายของอย่างเดียว แต่ยังเลือกทำเพื่อสังคมด้วย โดยนำรายได้จากการขายสินค้า ไปบริจาคให้สังคม และแจ้งข่าวให้ลูกค้ารับรู้ทุกครั้ง เพื่อให้เกิดความรู้สึก “ทำบุญร่วมกัน” สร้างความสัมพันธ์ที่พิเศษกว่า แม่ค้ากับลูกค้า
คนที่กำลังตัดสินใจว่าจะทำออนไลน์ดีหรือเปล่า บอกเลยว่า “ต้องทำ” เพราะเป็นการลงทุนที่ต่ำ ง่าย สะดวก ไม่ต้องออกไปหาทำเล ที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก แค่ลงทะเบียน สร้างเพจขึ้นมา และต้องโปรโมทโดยโฆษณาด้วย ต้องลงทุนในเรื่องนี้ เพราะการโพสต์ที่ไม่มีคนเข้ามาดูเลย มีปัญหาแน่นอน” เธอตอกย้ำในตอนท้าย จากธุรกิจที่เริ่มจากโลกออนไลน์ ณ วันนี้ ZoesCarf มีหน้าร้านในห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วไป มีการส่งออกไปต่างประเทศ ขณะที่ต่อยอดผลิตภัณฑ์สู่ “จิวเวลรี่” ที่เธอบอกว่า ใช้กับผ้าพันคอเพื่อเสริมภาพลักษณ์ให้ดีขึ้นได้
ช่องทางออนไลน์ไม่ได้มีไว้แค่ “ขายสินค้า” หากทว่า ยังช่วยประชาสัมพันธ์แบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และมีโอกาสขยายธุรกิจในช่องทางหลักให้มากขึ้นด้วย เช่นเดียวกับ ขนมขบเคี้ยวสำหรับสุนัขแบรนด์ “มันซ์นี่” (Munznie) ของ “แอน-นงลักษณ์ ภมรวิริยะ” กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอแซด อินฟินิตี้ จำกัด ที่มีตลาดหลัก คือ ขายส่งให้กับร้านสัตว์เลี้ยง คลินิกและโรงพยาบาลสัตว์ การเปิดเฟชบุ้คก็เพื่อประชาสัมพันธ์แบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก โดยเปิดมาพร้อมๆ กับธุรกิจเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน แต่ในตอนเริ่มต้นยังทำแบบสเปะสะปะ มีคนไลค์เพจแค่ 900 กว่าๆ เท่านั้น เธอตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ECIT (อีซี่ไอที) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อนำความรู้ด้านไอทีมาใช้ในธุรกิจ และใช้เวลาเพียง 4 เดือน ในการทำให้จำนวนไลค์ขยับมาจนกว่า 2 หมื่นไลค์! ในวันนี้
“เคยทำโฆษณาเพจไลค์ แบบโง่ๆ แพงสุด คือ 6 บาท ต่อ ไลค์ ซึ่งแพงมาก แต่พอเข้าโครงการลองปรับใช้ไอเดียจากคำแนะนำ ปรับคอนเท้นต์และวิธีการโฆษณาใหม่ ทำให้ลดลงมาเหลือแค่ 0.45 บาท ต่อไลค์ คิดง่ายๆ ถ้ามี 1 หมื่นไลค์ จากเดิมเราต้องจ่ายถึง 6 หมื่นบาท วันนี้เหลือแค่ 4,500 บาท เท่านั้น ประหยัดต้นทุนการตลาดได้กว่า 5 หมื่นบาท”
ใครบอกว่าทำออนไลน์ไม่ต้องลงทุน เธอย้ำว่า “คิดผิด” เพราะไม่มีอะไรฟรีในโลกนี้ แต่ผู้ประกอบการสามารถลงทุนอย่างฉลาด เสียเงินแลกกับผลลัพธ์ที่คุ้มค่าได้ เพื่อรักษาสถานะ “มีตัวตนบนโลกออนไลน์” ไม่ตกขบวนรถไฟสายนี้
จากหน้าเฟชบุ้คที่ไม่ได้ “ฮาร์ดเซล” มีแต่มุ่งสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า ไม่มีกิจกรรมแลกของรางวัล แต่มีกิจกรรมสร้างสรรค์ที่คนรักน้องหมาต่างก็อยากเข้ามามีส่วนร่วม ส่งผลให้ “มันซ์นี่” ค่อยๆ เป็นที่รู้จัก และได้รับการติดต่อจากร้านค้านำสินค้าไปจำหน่ายมากขึ้น และนั่นก็ส่งผลต่อการเติบโตชนิด “ฉุดไม่อยู่” ให้กับธุรกิจของเธอในวันนี้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.bangkokbiznews.com