Businessinsider รายงานว่า 1 ใน 6 ของช็อปปิ้งมอลล์ในสหรัฐฯ จะหายไปในทศวรรษหน้า จากการศึกษาข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภค Cushman & Wakefield บริษัทวิจัย Real Estate พบว่าในระหว่างปี ค.ศ.2010-2013 การไปเดินในช็อปปิ้งมอลล์ของคนอเมริกัน ลดลงไปถึง 50% และคาดว่าจากนี้ไปจะยิ่งลดลงในอัตราเร่ง Shopping Mall หลายแห่งได้ปิดตัวลงไป เพราะขายของไม่ได้ ไม่มีคนไปเดิน ทำให้ชุมชนนั้นๆ ได้รับผลกระทบแรง ตกงานเป็นเวลานานได้ถึงสิบปี นำไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม และรัฐจะขาดหายรายได้จากภาษี Green Street Advisors ระบุว่า ในทศวรรษหน้านี้ มอลล์จะหายไปอีก 15% ซึ่งหมายถึงการปิดตัวลงของมอลล์หลายร้อยแห่ง และจะทำให้งานหายไปพันๆ ตำแหน่ง
อะไรเป็นสาเหตุให้มอลล์(ห้างสรรพสินค้า)ต้องปิดตัว? แน่ละ ส่วนหนึ่งย่อมมาจากเศรษฐกิจไม่ดี คนไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย แต่หากเป็นเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวแล้ว เมื่อเศรษฐกิจลื่นไหล ความคึกคักของการไปช็อปปิ้งมอลล์ก็จะกลับมา แต่นี่ไม่ใช่
สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งมาจากช่องทางการซื้อขายใหม่ เช่น e-commerce ที่จะมาแทนที่และเมื่อมอลล์ร้าง ก็อาจจะต้องใช้เวลาเป็นทศวรรษเลย กว่าจะหาคนใหม่มาเช่ามาได้จนเต็มพื้นที่ร้างนั้น รวมถึงการหางานทำใหม่สำหรับคนที่ตกงานด้วย ซึ่งคนที่ตกงานนั้น จะมีวงกว้างกว่าที่คิด ไม่ใช่แค่พนักงานขายหน้าร้าน ธนาคารในมอลล์ คนส่งของ โรงภาพยนต์ ร้านอาหาร อินทีเรียดีไซเนอร์ที่ออกแบบตกแต่งดิสเพลย์ ฯลฯ เท่านั้น นี่คือ Trend ที่จะกระทบกับชนชั้นกลางมากที่สุด
ในสหรัฐฯ นั้น ช้อปปิ้งมอลล์เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของแต่ละเมือง เพราะมีการจ้างงานคนท้องถิ่นจำนวนมาก และมีการจ่ายภาษีให้รัฐ ดังนั้น ถ้ามอลล์ต้องปิดดตัวลง ผลกระทบจึงเหลือคณานับ จนทุกคนในท้องถิ่นได้รับรู้ถึงความเจ็บปวด อย่างห้างสรรพสินค้า Macy’s ได้ประกาศล่าสุดว่าปิดห้างไปแล้ว 100 แห่ง !ตามรอย Sears กับ JCPenney เป๊ะๆ ส่วนร้านค้าที่เป็น specialty stores อย่าง Gap และ Abercrombie & Fitch ที่แทรกตัวอยู่ในช็อปปิ้งมอลล์ซึ่งมีแม่เหล็กอย่างห้างสรรพสินค้าใหญ่ ช่วยเป็นตัวดึงลูกค้ามาให้ทางอ้อม ก็ได้รับผลกระทบยิ่งกว่า
e-commerce ซึ่งทำให้ผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อสินค้าหลากหลายได้รอบโลก ในราคาที่ต่ำกว่าเพราะไม่มีหน้าร้าน จึงเป็นศัตรูของช้อปปิ้งมอลล์อย่างแท้จริง แต่นอกจาก e-commerce แล้ว พฤติกรรมการบริโภคอีกด้านก็เปลี่ยนไปด้วย เพราะเงินในกระเป๋าของแต่ละคนมันมีจำกัด อยากได้อะไรจึงต้องเลือกเฉพาะของที่อยากได้อันดับต้นๆ เท่านั้น ซึ่งตอนนี้ คนอเมริกันจำนวนมากขึ้น เลือกที่จะใช้เงินไปกับ IT กับการเดินทางท่องเที่ยว ทำให้ใช้เงินน้อยลงในการซื้อเสื้อผ้า … ร้านค้าเสื้อผ้าดั้งเดิมที่เป็น discount retailer ในสหรัฐฯ จึงได้ผลกระทบ เช่น TJ Maxx
นอกจากนี้เมื่อจะซื้อเสื้อผ้า คนอเมริกันในวันนี้ไม่ซื้อที่ร้านดั้งเดิมในราคาเต็มๆ อีกต่อไป พวกเขาเลือกซื้อผ่านออนไลน์ ซึ่งจะทำให้ร้านค้าเสื้อผ้าท้องถิ่นในสหรัฐฯ จำนวนมากต้องปิดตัวลงไปเรื่อยๆ ที่ต้องกังวลก็คือ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว เราพบว่าสหรัฐฯ มีอัตราพื้นที่ร้านค้าเทียบกับหัวของประชากรที่เกินกว่าบ้านเมืองอื่นๆ ถึง 5 เท่า จะมีพื้นที่อาคารร้างรอการเช่าเพิ่มขึ้นทุกวัน
Trend อย่างนี้ มันมาถึงไทยแล้ว … . และในกรุงเทพฯ ก็มีช้อปปิ้งมอลล์มากมายเสียด้วย มองภาพรวมในบ้านเราแล้ว ยังไม่เห็นมีใครในระดับนโยบายรัฐคิดรับมือกัน เห็นแต่การผลักดัน การอ้าแขนต้อนรับนวัตกรรมใหม่ๆ ทางเทคโนโลยี IOT (Internet of Things) และ FinTech ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากจนไม่ควรปฏิเสธ แต่มันจะดีกว่านี้ ถ้าจะมีการวางแผนรับมือการตกงานจำนวนมากเพราะเทคโนโลยีกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนไปในอนาคตอันใกล้ไปด้วย และมันจะกระทบธุรกิจหลายภาคส่วน ไม่ใช่แค่ช็อปปิ้งมอลล์ เพราะมันจะกระทบทุกธุรกิจ รวมไปถึงภาคธนาคารและการเงิน
ลองหลับตาคิดสิ ว่างานที่เราแต่ละคนทำอยู่นี้ จะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง มันกระทบทุกธุรกิจเลยใช่ไหมล่ะ จะเรียกว่า Dual Track ก็ได้ เดินหน้าพัฒนารับโอกาสจากเทคโนโลยีไปพร้อมๆ กับวางแผนรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมอีกครั้งในยุคนี้ ที่จะมีระดับความรุนแรงมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา แรงถึง 10 ริคเตอร์ หรือมากกว่า ไม่ต้องรอให้เกิดปัญหาแล้วจึงมาแก้ เพราะมันจะเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ที่ยาวนานเป็นทศวรรษ
วรวรรณ ธาราภูมิ
CEO กองทุนบัวหลวง
4 กันยายน 2559
ขอบคุณข้อมูลจาก FB คุณวรวรรณ ธาราภูมิ
ภาพประกอบนำมาจาก businessinsider / CNN / NYTimes / deadanddyingretail