1.พฤติกรรมผู้บริโภคไทยในยุค 4.0 ชอบอยู่บ้าน เน้นบันเทิง ติดออนไลน์ และเลือกเสพสื่อหลากหลายช่องทาง
จากผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคของอีไอซีพบว่าผู้บริโภคกว่า 60% อยู่บ้านมากกว่าออกนอกบ้าน โดยกิจกรรมหลักกว่า 75% ใช้เวลาว่างไปกับการรับชมทีวี ซีรีส์ ฟังเพลง ขณะที่ 74% เล่นอินเทอร์เน็ต/โซเชียลมีเดีย เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคสามารถเลือกรับสื่อได้ตรงกับความต้องการได้มากกว่าในอดีตจากการเข้าถึงสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต รวมถึงเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ความเร็วสูงและความแพร่หลายของธุรกิจสื่อในรปู แบบต่างๆ จากผู้ให้บริการทั้งในและต่างประเทศ เช่น LineTV, Facebook และ YouTube เป็นต้น ส่งผลให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงผู้บริโภคยุคใหม่ได้หลากหลายช่องทางและรวดเร็วมากขึ้น รวมถึงทำตลาดเจาะจงมากขึ้น อย่างไรก็ดี สัดส่วนการรับสื่อดังกล่าวจะเริ่มลดลงในกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุสูงขึ้น โดยจะเริ่มใช้เวลาไปกับการอ่านหนังสือ ออกกำลังกายและงานอดิเรกมากขึ้น
2. กิน ช้อป เป็นคอนเซ็ปต์หลักสำหรับการใช้เวลายามว่าง
แม้ว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ชอบอยู่บ้าน แต่จากผลสำรวจพบว่า เมื่อเทียบกับในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคราว 60-70% เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ไปทำกิจกรรมนอกบ้านบ่อยขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มผู้ที่มีรายได้สูง และยังมีการใช้จ่ายนอกบ้านสูงขึ้นด้วย โดยกิจกรรมส่วนใหญ่คือ ทานอาหารและช้อปปิ้ง เนื่องจากมีความต้องการการผ่อนคลายจากการทำงานหนัก มีเวลาน้อย และต้องการความสะดวกสบาย
3. จ่ายเงินกับการท่องเที่ยวมากเป็นอันดับหนึ่ง
โดยจากผลสำรวจพบว่า หากรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ผู้บริโภคส่วนใหญ่กว่า 70% ต้องการใช้จ่ายในด้านการท่องเที่ยว มากเป็นอันดับ 1 และยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นตามอายุ นอกจากนี้ ถ้าเทียบกับในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า 55% ของผู้บริโภคเดินทางท่องเที่ยวบ่อยขึ้น สะท้อนถึงไลฟ์สไตล์ที่ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับการหาประสบการณ์ใหม่ๆ
4.ต้องการปรับปรุงที่อยู่อาศัย เมื่อมีรายได้สูงขึ้นและอายุมากขึ้น
นอกจากการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวแล้ว จะพบว่าหากรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ผู้บริโภคกว่า 60% ต้องการใช้จ่ายในด้านการปรับปรุงที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีอายุ 50-60 ปี สะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันเมื่ออายุสูงขึ้นก็มีแนวโน้มต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคลดลง นอกจากนี้สัดส่วนความต้องการสินค้าแฟชั่นของผู้บริโภคที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปยังลดลงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น จึงเป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจที่จะเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเป้าหมายในกลุ่มนี้มากขึ้น
5. มีความกังวลในเรื่องสุขภาพ แต่ออกกำลังกายน้อย
จากผลสำรวจในด้านความกังวลของผู้บริโภคไทยพบว่ากว่า 40% กังวลด้านสุขภาพมากที่สุด ซึ่งสูงกว่าความกังวลด้านการเงินที่อยู่ที่ 34% โดยจะพบได้มากในกลุ่มผู้บริโภควัยทำงานอายุราว 30 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ดี ที่น่าสนใจคือ แม้ผู้บริโภคไทยจะมีความกังวลเรื่องสุขภาพ แต่มีเพียงราว 1 ใน 5 เท่านั้นที่ออกกำลังกายเป็นประจำแม้ว่าการออกกำลังกายเป็นพื้นฐานของการมีสุขภาพที่ดี อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคมีแนวโน้มหันมาบริโภคอาหารเสริมเพื่อสขุภาพมากขึ้น โดยจากผลสำรวจพฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและสมุนไพรของอีไอซีพบว่า ผู้บริโภคกลุ่มอายุ 30-59 ปีมีความต้องการบริโภคอาหารเสริมมากถึง 55% และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับการออกกำลังกายสะท้อนถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการใช้ชีวิตที่เร่งรีบขึ้น อาหารเสริมจึงเป็นทางเลือกที่สามารถช่วยดูแลสุขภาพที่สะดวก หาซื้อได้ง่ายและประหยัดเวลาเป็นอย่างมาก
6. รถยนต์เป็นทรัพย์สินอันดับแรกที่วัยเริ่มทำงานต้องการซื้อ
โดยจากผลสำรวจของอีไอซีในด้านสินทรัพย์พบว่า รถยนต์ บ้าน และทองคำ เป็นสินทรัพย์หลักที่ผู้บริโภคถือครองมากที่สุด 3 อันดับแรกและใน 3 ปีข้างหน้า ก็ยังคงเป็นสินทรัพย์ที่คนส่วนใหญ่วางแผนจะซื้อมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่อยู่ในวัยเริ่มสร้างฐานะคือมีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือนหรืออายุต่ำกว่า 40 ปี เป็น กลุ่มหลักที่วางแผนซื้อสินทรัพย์ในกลุ่มนี้ โดยเฉพาะรถยนต์ สะท้อนถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคไทยที่เน้นที่ความสะดวกสบายก่อน ซึ่งแม้ระบบขนส่งสาธารณะจะพัฒนาอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน แต่ยังไม่ตอบสนองผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบาย นอกจากนี้รถยนต์ยังเป็นสินทรัพย์ที่ตอบโจทย์ค่านิยมด้านฐานะทางสังคมของไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งสูงกว่าความต้องการซื้อรถยนต์ในต่างจังหวัดที่เน้นซื้อเพื่อประกอบธุรกิจหรือใช้เดินทาง ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ยังต้องการความมั่นคง โดยนิยมซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัย ปล่อยเช่า หรือเก็งกำไร ขณะที่ทองคำเป็นสินทรัพย์อีกกลุ่มที่ผู้บริโภคมีความต้องการ สะท้อนถึงความต้องการความมั่นคง เนื่องจากทองคำถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่มั่นคงและปลอดภัย อย่างไรก็ดี อีไอซีพบว่ากลุ่มผู้บริโภคที่เริ่มมีรายได้สูงกว่า 3 หมื่นบาทจะเริ่มขยายขอบเขตการลงทุนสู่ทรัพย์สินทางการเงินที่มีความเสี่ยงมากขึ้น โดยกว่า 31% ต้องการซื้อหุ้นและกองทุนมากขึ้นเพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่า
ขอบคุณข้อมูลจาก : ECONOMIC INTELLIGENCE CENTER