ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือน พ.ค. มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น เป็นผลมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19
– ข้าว ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก เช่น ประเทศอินเดียและเวียดนามมีมาตรการ ล็อกดาวน์และชะลอการส่งออกข้าว ประกอบกับประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวอันดับ 1 ของโลกอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อนำเข้าข้าว จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยในการส่งออกข้าว
– ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยว ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่ความต้องการใช้ในการผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น จากปัญหาด้านการขนส่งจากมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ผู้ประกอบการมีอุปสรรคในการนำเข้าวัตถุดิบอื่นมาผลิตอาหารสัตว์
– น้ำตาลทรายดิบ ตลาดนิวยอร์กเนื่องจากความกังวลต่อปริมาณผลผลิตอ้อยทั่วโลกที่ลดลง จากสภาพอากาศที่แห้งแล้งในประเทศผู้ผลิตสำคัญ จึงมีการคาดการณ์ว่าผลผลิตน้ำตาลจะลดลง ทำให้นักลงทุนเข้าซื้อเพิ่มขึ้น
– มันสำปะหลัง เนื่องจากประเทศคู่ค้าของไทยเริ่มมีการเปิดเมืองและผ่อนปรนด้านการขนส่งระหว่างประเทศ
– ปาล์มน้ำมัน เนื่องจากคาดว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กิจการบางส่วนสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ จึงเป็นโอกาสให้ความต้องการใช้น้ำมันไบโอดีเซลและน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น
– สุกร เนื่องจากสภาพอากาศของไทยอยู่ในช่วงฤดูร้อน ส่งผลให้สุกรเติบโตช้า ทำให้ผลผลิตสุกรออกสู่ตลาดน้อยลง ขณะที่ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรเพิ่มขึ้นจากแผนการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
– กุ้งขาวแวนนาไม เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งและการเฝ้าระวังโรคระบาด ทำให้เกษตรกรปรับลดพื้นที่และชะลอการลงลูกกุ้ง รวมถึงชะลอการจับกุ้งออกจำหน่าย ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง
ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลงมีเพียงยางพาราแผ่นดิบ เนื่องจากในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมจะมีการเปิดหน้ากรีดยางพาราทั่วประเทศ ทำให้มีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่ความต้องการใช้ยางพาราธรรมชาติลดลงจากราคาน้ำมันดิบที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ อีกทั้งประเทศจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ายางพารารายใหญ่ยังใช้มาตรการล็อคดาวน์ จึงทำให้ผู้ประกอบการชะลอรับซื้อน้ำยางสดในประเทศ