จะรู้ได้อย่างไรว่าแฟรนไชส์ที่เลือก ไม่หลอกลวง ทำได้จริง!
ธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นธุรกิจที่กำลังเติบโตและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ผู้ต้องการสามารถทำได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องบุกเบิกตลาดด้วยตนเอง เพียงแค่นำสินค้าและบริการที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วมาขายเท่านั้น ซึ่งส่งผลให้โอกาสในการขายได้มีมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเลือกทำธุรกิจแฟรนด์ไชส์ก็ยังมีปัญหาอยู่บ้างในบางครั้งปัญหาใหญ่ที่สุดคงจะหนีไม่พ้นการที่เลือกทำแฟรนไชส์กับแบรนด์ๆ หนึ่ง แล้วผลปรากฏว่าแฟรนไชส์นั้นไม่สามารถทำได้จริง จนส่งผลให้พ่อค้าแม่ค้ามือใหม่หลายคนต้องสูญเงินก้อนใหญ่ไปแบบไม่ได้อะไรกลับมา เพราะฉะนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น วันนี้เราจะมาดูกันว่า ก่อนที่จะเลือกทำแฟรนไชส์จากแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง ควรดูอะไรบ้าง เพื่อให้รู้ว่าแฟรนไชส์ที่เลือกสามารถทำได้จริง ไม่หลอกลวง อันมีดังต่อไปนี้
1. แฟรนไชส์ที่เลือกทำ ต้องมีข้อมูลว่ามีการประกอบธุรกิจจริง หากเป็นพวกแบรนด์ดังๆ อย่างเช่นไก่ย่าง 5 ดาว ก๋วยเตี๋ยวโกเด้ง โฮเด้ง อะไรพวกนี้ ก็คงไม่มีปัญหาเท่าไรเพราะมีข้อมูลเพียบ แต่ถ้าเป็นพวกแฟรนไชส์ขายอาหาร ยา อาหารเสริม หรือเครื่องสำอางแบรนด์แปลกๆ ที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน อันนี้เราก็อาจจะต้องลองไปหาข้อมูลดู ว่ามีการดำเนินการขายสินค้าดังกล่าวจริงหรือไม่ ถ้ามี เราก็สามารถก้าวไปสู่การพิจารณาขั้นต่อไปได้เลย แต่ถ้าพบว่า ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าแบรนด์ดังกล่าวนั้นมีการจำหน่ายสินค้าจริง หรือพบแต่ข้อมูลในทางลบว่าเป็นการหลอกลวงเสียมาก เราก็อาจจะต้องหลีกเลี่ยงการลงทุนทำแฟรนไชส์ตัวนั้น แล้วมองหาแฟรนไชส์ตัวอื่นที่มีข้อมูลการค้าขายที่ชัดเจนกว่านี้จะดีกว่า เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะถูกหลอกให้ลงทุนจนเสียเงินฟรี
2. บริษัทผู้ให้บริการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ ต้องเป็นบริษัทที่มีการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง โปร่งใส และมีการอัพเดทตลอดเวลา สามารถตรวจสอบได้ ปัจจัยนี้ถือว่าสำคัญ เพราะมันจะเป็นตัวเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับแฟรนไชส์ที่เรากำลังจะตัดสินใจทำได้เป็นอย่างดี หากแฟรนไชส์เจ้าใดมีลักษณะดังต่อไปนี้ ขอให้เราเก็บมาเป็นตัวเลือกได้เลย เพราะถือเป็นแฟรนไชส์ที่น่าเชื่อถือในระดับหนึ่ง แต่ถ้าแฟรนไชส์เจ้าใดให้ข้อมูลคลุมเครือ บางทีอ่าน 3 รอบแล้วยังไม่เข้าใจว่าเป็นแฟรนไชส์เกี่ยวกับอะไร หรือบางบริษัทให้ข้อมูลมาอย่างหนึ่ง แต่พอไปตรวจสอบแล้วกลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง หรือแม้แต่แฟรนไชส์บางเจ้าที่เอาข้อมูลของบริษัทที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 253X มาเผยแพร่ ในขณะที่ปัจจุบันคือปี 256X เข้าไปแล้ว ลักษณะเหล่านี้ล้วนแต่เป็นกลุ่มแฟรนไชส์ที่ไม่น่าเชื่อถือทั้งสิ้น มีโอกาสสูงที่จะเป็นแฟรนไชส์หลอกลวง ไม่สามารถทำได้จริง หากแฟรนไชส์ที่เราสนใจอยู่มีลักษณะดังนี้ ขอให้หลีกเลี่ยงเสีย
3. แฟรนด์ไชส์ที่เลือกทำ ต้องมีการติดต่อ ประสานงาน และชำระเงินกับแหล่งหรือบุคคลที่เชื่อถือได้เท่านั้น ถ้าเป็นการติดต่อผ่านบริษัทเลยก็ยิ่งดี แต่ถ้าเป็นการติดต่อผ่านบุคคล ต้องเป็นบุคคลที่มีชื่อปรากฏว่าเป็นผู้ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับแฟรนไชส์แบรนด์นี้จริง ส่วนการชำระเงินเพื่อลงทุนทำแฟรนไชส์ หากเป็นการชำระเงินโดยโอนเข้าบัญชีธนาคาร ก็ควรเป็นบัญชีที่เป็นชื่อบริษัท หรือเป็นชื่อบุคคลซึ่งปรากฏว่าเป็นผู้ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับแฟรนไชส์แบรนด์นี้จริงอย่าเลือกทำแฟรนไชส์กับบุคคลที่ไม่มีความสัมพันธ์ชัดเจนกับแบรนด์ผู้ให้บริการแฟรนไชส์นั้นๆ และที่สำคัญ ไม่ควรตัดสินใจโอนเงินให้กับตัวแทนจำหน่ายที่มีพฤติกรรมแปลกๆ เช่น เร่งให้เราโอนเงินโดยไว แต่ไม่ให้สินค้าและเครื่องประกอบธุรกิจมาใช้งานเลย แล้วเมื่อทวงถามก็พลัดไปเรื่อยๆ เป็นต้น ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ไม่ควรตัดสินใจทำแฟรนไชส์กับผู้ที่เราไม่เคยแม้แต่จะพบหน้า มีแต่คุยกันผ่านโทรศัพท์ หรือ Social Media อย่างเดียว เพราะมีโอกาสสูงมากที่จะถูกหลอกให้โอนเงินโดยที่ไม่ได้อะไรเลย ทางที่ดี ควรมีการนัดพบกันเพื่อตกลงรายละเอียดสักครั้งหนึ่งก่อน จึงจะถือว่าการทำแฟรนไชส์นั้นมีความน่าเชื่อถือ
4. แฟรนไชส์ที่เลือกทำ ต้องมีการทำสัญญาที่ชัดเจน เป็นลายลักษณ์อักษร และมีระเบียบในสัญญาที่ไม่แปลกประหลาด อย่าหลงเชื่อแฟรนไชส์ที่พอตกลงว่าจะทำ ก็เร่งให้เราโอนเงินอย่างเดียวโดยไม่มีการทำสัญญาให้เป็นลายลักษณ์อักษรก่อน หากเจอตัวแทนแฟรนไชส์เจ้าใดมีลักษณะเช่นนี้ ขอให้เราทวงถามเกี่ยวกับสัญญาให้เรียบร้อย และถ้าพบว่าไม่มีการทำสัญญาที่ชัดเจน ขอให้เลี่ยงออกมาซะ เพราะ 100 ทั้ง 100 ของแฟรนไชส์ลักษณะนี้ล้วนแต่เป็นการหลอกลวงทั้งสิ้น ข้อสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ในการทำสัญญา เราจะต้องอ่านข้อกำหนดในสัญญาให้ดีว่ามีอะไรบ้าง หากพบว่ามีข้อสัญญาข้อใดที่คิดว่ากังขา ก็ขอให้ซักถามให้เข้าใจก่อนเซ็นสัญญา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง
หลักการทั้ง 4 ข้อนี้ คือหลักการการเลือกเฟ้นแฟรนไชส์ เพื่อให้ได้แฟรนไชส์ที่ดูน่าเชื่อถือ ไม่หลอกลวง หากพ่อค้าแม่ค้ามือใหม่ท่านใดใช้หลักการทั้ง 4 ข้อนี้แล้ว พบว่าแฟรนไชส์ที่ตนสนใจนั้นผ่านทั้งหมด ก็สามารถตัดสินใจลงทุนทำได้เลย ทั้งนี้ ต่อให้แฟรนไชส์ที่ท่านเลือกผ่านเกณฑ์ทั้ง 4 ข้อ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีปัญหาใดๆ ระหว่างการทำแฟรนไชส์เลย ขอให้ท่านไม่ประมาท เตรียมตัวเพื่อพร้อมรับปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
ขอบคุณรูปภาพจาก : Entrepreneur