“กลยุทธ์บริหารอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รับนโยบายลดภาษีท่องเที่ยว”
การกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในประเทศทำให้ภาครัฐมีมาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย พร้อมกับสนับสนุนธุรกิจโรงแรมและธุรกิจท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง เพื่อตอบรับนโยบายดังกล่าวผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวให้พร้อมสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีก่อนที่การจ่ายภาษีประจำปี
เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ ก่อนอื่นสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและธุรกิจนำเที่ยวที่ยังไม่ได้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจ สามารถยื่นคำขอได้ที่ (คลิก) หากผู้ประกอบการไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นักท่องเที่ยวก็จะไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้
เมื่อแนวโน้มของเศรษฐกิจกำลังไปในทิศทางที่ดี ผู้ประกอบการเองก็ควรเร่งหากลยุทธ์ใหม่ๆเข้ามาเสริมธุรกิจให้เดินหน้า มองหาสื่อใหม่หรือช่องทางอื่นๆ ในการประชาสัมพันธ์ธุรกิจเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพกลยุทธ์ที่น่าสนใจสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีดังนี้
1. Direct Sales
วิธีการที่ง่ายที่สุดในการประชาสัมพันธ์ธุรกิจคือการโทรฯ ผู้ประกอบการโรงแรมหรือธุรกิจนำเที่ยวต่างก็มีบันทึกรายชื่อลูกค้าที่เคยใช้บริการ จัดตั้งทีมที่มีความเชี่ยวชาญในการตลาดและการขายโทรศัพท์หาลูกค้าเก่าหรือลูกค้าประจำ เพื่อแจ้งรายละเอียดโปรโมชั่น พร้อมทั้งนำเสนอส่วนลดและสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าคนสำคัญ เป็นการโน้มน้าวใจให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการอีก อีกช่องทางให้พนักงานต้อนรับลูกค้าส่วนหน้าประชาสัมพันธ์ลูกค้าใหม่ที่ walk in เข้ามาได้รับทราบถึงสิทธิประโยชน์จากการใช้บริการในครั้งถัดไป
– เพิ่มฐานลูกค้าด้วยการจัดทำระบบสมาชิก ให้ลูกค้าลงทะเบียนสมัครสมาชิกฟรี
– สะสมคะแนนเพื่อนำมาใช้เป็นส่วนลด/ใช้บริการที่พักและนำเที่ยวฟรี/แลกบัตรกำนัล
2. Offline Sales
การโปรโมทแบบออฟไลน์แม้จะเป็นวิธีดั้งเดิมแต่ก็ยังใช้ได้ดีเสมอ หากนำมาประยุกต์ให้เข้ากับธุรกิจ ผู้ประกอบการสามารถได้จำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นจากแผนการขายที่เน้นเชิงรุกในสถานที่ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
– ออกบูธประชาสัมพันธ์ :จัดทีมออกบูธอย่างน้อย 3 เดือนครั้ง เพื่อกระตุ้นกลุ่มลูกค้า ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการเองก็จะต้องหมั่นนำเสนอโปรโมชั่นใหม่ๆเพื่อโน้มน้าวใจกลุ่มลูกค้า ในการออกบูธควรจะอบรมพนักงานให้สามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ลูกค้าไปพร้อมๆกับการเสนอขายอย่างเป็นมิตร เลือกสถานที่สำหรับออกบูธเน้นกลุ่มลูกค้าวัยทำงาน และลูกค้ากลุ่มครอบครัว เช่น ห้างสรรพสินค้า ออฟฟิศหรืองานออกบูธสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวที่ภาครัฐและเอกชนจัดขึ้น
– แจกใบปลิว :แจกใบปลิวประชาสัมพันธ์ธุรกิจท่องเที่ยว โดยคำนึงถึงสถานที่เป็นหลัก แบ่งทีมออกไปตามจุดต่างๆที่มีกลุ่มวัยทำงานเยอะๆ ย่านออฟฟิศ คอมมูนิตี้มอลล์ คอนโดมิเนียม เป็นต้น
– จัดกิจกรรมสัมมนาในกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว : หากลุ่มคู่ค้าธุรกิจ (Partner) ร่วมกันระหว่างธุรกิจโรงแรมและธุรกิจนำเที่ยว เป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการจะได้คู่ค้าที่จะคอยสนับสนุนกันและกัน เป็นการลดต้นทุนอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการ
3. Online Sales
กลยุทธ์ทางการตลาดแบบ Online กำลังเป็นที่นิยมในแทบทุกธุรกิจ เพราะสามารถเข้าถึงกุล่มลูกค้าเป้าหมายขนาดใหญ่ได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ผลลัพธ์ที่ได้ผลเกินคาด จึงทำให้ผู้ประกอบการเลือกใช้ในการประชาสัมพันธ์ธุรกิจ รูปแบบการตลาดแบบ Online Sales มีตัวอย่างดังนี้
– สร้างเว็บไซต์(Web site) : ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจนำเที่ยวหากมีการสร้างเว็บไซต์นอกจากจะเป็นการโปรโมทแล้วยังเป็นการสร้างตัวตนให้ธุรกิจ สร้างความมั่นใจให้ลูกค้า เพิ่มความสะดวกสบายให้ลูกค้าในการจองที่พักโรงแรมหรือจองทัวร์/สมัครสมาชิก/เช็คคะแนนสะสม/ตรวจสอบโปรโมชั่น เป็นต้น
– ส่งอีเมล (e-mail) : ประชาสัมพันธ์ผ่านทางอีเมล แนะนำโปรโมชั่น หรือมอบส่วนลดอิเล็กทรอนิกส์ (Code) โดยสามารถซื้อรายชื่ออีเมล์ของลูกค้าได้จากเว็บการท่องเที่ยวที่ลูกค้าลงทะเบียนไว้ หรือให้ติดต่อให้เว็บท่องเที่ยวส่งข้อมูลประชาสัมพันธ์ของผู้ประกอบการไปยังฐานข้อมูลลูกค้าในเว็บนั้น
– โฆษณาบนเว็บไซต์ (Banner) : ติดแบนเนอร์โฆษณาบนเว็บไซต์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโดยตรง หรือติดต่อลงโฆษณาผ่านทาง google adwordsในการโฆษณาอาจมีค่าใช้จ่าย ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเลือกให้เหมาะสมกับธุรกิจได้ หรือผู้ประกอบการสามารถติดต่อเว็บไซต์เพื่อแบ่งเปอร์เซ็นจากยอดขายเมื่อมีผู้ใช้งานผ่านเว็บไซต์ของผู้โปรโมท (CPA)
– สื่อสังคมออนไลน์ (Social media) : โซเชียลมีเดีย เช่น Facebook , Instagram, Twitter ฯลฯ เป็นอีกช่องทางในการดำเนินแผนการตลาดที่ดี ปัจจุบันผู้คนเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้ในทุกเวลาและทุกสถานที่ ดังนั้นการรุกผ่านสื่อออนไลน์ถือเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม อาจจะเพิ่มการรีวิวรูปภาพ โปรโมชั่น กิจกรรมพิเศษ ผ่านทางโซเชียล สร้างเครือข่ายกลุ่มลูกค้าด้วยการจัดกิจกรรมหรือเกมส์บนแฟนเพจให้ลูกค้าเข้ามาร่วมสนุก การกดไล้ท์ (Like) กดแชร์ (Share) โดยผู้ประกอบการสามารลงโฆษณาในโซเชียลมีเดีย กำหนดกลุ่มอายุความสนใจของผู้รับสื่อได้ และอีกช่องทางผู้ประกอบการสามารถติดต่อแฟนเพจหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงทางด้านการท่องเที่ยว จัดจ้างทำการรีวิวและโปรโมทอีกหนึ่งช่องทาง
เพิ่มเติม : ข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยว
– ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด. 90 หรือ ภงด. 91)ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
– มีใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษีสำหรับค่าบริการนำเที่ยวหรือค่าที่พักโรงแรมที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจโรงแรมอย่างถูกต้องภายในประเทศ
– ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการโรงแรมและผู้ประกอบการนำเที่ยวที่ร่วมโครงการลดหย่อนภาษีได้ที่ (คลิก)
เอกสารที่ใช้ในการขอลดหย่อนภาษีท่องเที่ยว
– ใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษี
– หมายเลขประจำตัวประชาชนผู้เสียภาษี
– ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน
ทางทีมงาน SMELeader หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะมีประโยชน์แก่เจ้าของของธุรกิจและผู้ประกอบการ โปรดอย่าลืมติดตามเคล็ดลับการบริหารธุรกิจได้ที่แฟนเพจของทางเรา หรือเข้าเว็บไซต์ https://www.krungsri.com เพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม
บทความโดย
คุณพันธ์ทิพย์ แป้นแก้ว
SMELeader.com