ถ้าเปรียบธุรกิจเป็นรถยนต์ แผนธุรกิจก็ต้องเป็น GPS ที่นำทางไปสู่จุดหมายที่วางไว้ แต่ SME หลายรายอาจยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นลงมือเขียนแผนธุรกิจอย่างไร เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จตามที่ใจหวัง เราจึงมีขั้นตอนง่ายๆ ช่วยให้คุณเขียนแผนธุรกิจผ่านฉลุยมาแนะนำ!
1.เล่าความเป็นมาและโอกาสทางธุรกิจ
เริ่มแรกคุณต้องอธิบายให้ได้ว่า แรงบันดาลใจในการทำธุรกิจคืออะไร โอกาสที่ธุรกิจนี้จะประสบความสำเร็จมีมากน้อยแค่ไหน เพื่อจะได้ประเมินว่าคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่
ส่วนใหญ่แล้ว จุดเริ่มต้นที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ มาจากการนำ Customer pain point หรือปัญหาของลูกค้ามาต่อยอด ยิ่งธุรกิจของคุณช่วยแก้ปัญหาให้พวกเขาได้ตรงจุดมากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสสำเร็จมากเท่านั้น
2.วิเคราะห์ตลาด รู้เขา รู้เรา
เมื่อรู้จักตัวเองแล้ว อย่าลืมวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกที่มีโอกาสกระทบต่อธุรกิจด้วย เช่น สภาพตลาด คู่แข่งหลัก คู่แข่งรอง เทรนด์ความนิยมของผู้บริโภค ฯลฯ โดยข้อนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ตัดสินว่าธุรกิจของคุณจะรุ่งหรือร่วงได้เลย
เช่น ธุรกิจชาเขียวพร้อมดื่ม หากคุณสตาร์ทธุรกิจเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ที่เทรนด์ชาเขียวมาแรง คงถือเป็นโอกาสในการกอบโกยกำไร แต่หากคุณกำลังจะเริ่มลงทุนในตอนนี้คงต้องคิดหนักสักหน่อย เพราะตลาดชาเขียวพร้อมดื่มกำลังหดตัว (จากการแข่งขันที่สูงลิบ เทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมทั้งนโยบายการจัดเก็บภาษีน้ำตาลเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนสูง กำไรลดฮวบ)
3.วางแผนการตลาด พิชิตเป้าหมาย
เริ่มแรกคุณต้องตั้งเป้าให้ชัดเจนว่าจะทำการตลาดเพื่ออะไร เพื่อยอดขาย เพื่อสร้างการรับรู้ หรือเพื่อขยายฐานลูกค้า ฯลฯ จะได้มีทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจน
ทั้งนี้การตลาดออนไลน์คือช่องทางสำคัญที่ SME จะมองข้ามไม่ได้ เพราะถือเป็นช่องทางที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีที่สุด ดังนั้น SME ต้องเร่งเรียนรู้เทคนิคต่างๆ ให้เร็วที่สุดและรู้ให้รอบที่สุดด้วย
4.กำหนดแผนการดำเนินงาน
แผนการดำเนินงานจะแสดงให้เราเห็นว่า ขั้นตอนการทำธุรกิจมีอะไรบ้าง โดยต้องระบุรายละเอียดตั้งแต่เริ่มต้นไปจนจบกระบวนการ เช่น ใช้วัตถุดิบจากที่ไหน สั่งซื้ออย่างไร ขั้นตอนการผลิตและการขายเป็นอย่างไร รวมถึงต้องวิเคราะห์ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น พร้อมอธิบายวิธีการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นด้วย เพื่อให้เห็นภาพรวมการทำงานทั้งหมด
5.ระบุโครงสร้างบริษัท ผู้บริหาร พนักงาน
โครงสร้างของบริษัทเราเป็นอย่างไร มีผู้บริหารส่วนใดบ้าง จำนวนพนักงานในตำแหน่งต่างๆ รวมถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละตำแหน่ง ข้อนี้จะช่วยให้เราสามารถกำหนดขอบเขตการทำงานของพนักงานได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และลดการทำงานซ้ำซ้อน ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพ
6.วางแผนการเงิน หัวใจสำคัญของธุรกิจ
สำหรับ SME ที่ต้องการขอสินเชื่อ แผนการเงินถือเป็นส่วนที่สำคัญมาก เพราะสถาบันทางการเงินจะพิจารณาการปล่อยสินเชื่อจากจุดนี้
แผนการเงินประกอบไปด้วย
- ที่มาของเงินลงทุน เช่น มาจากเงินส่วนตัว ผู้ถือหุ้น หรือการขอสินเชื่อ เป็นต้น
- แหล่งรายได้ เช่น มาจากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการ โดยต้องระบุว่าเป็นรายได้ที่แน่นอนหรือไม่ด้วย
- ต้นทุน ซึ่งมีทั้งต้นทุนคงที่ เช่น ค่าเช่า เงินเดือนพนักงาน และต้นทุนแปรผัน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแรงพนักงานพาร์ทไทม์ ค่าโฆษณา เป็นต้น
- เงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสดข้อมูลเกี่ยวกับการเงินนี้ใช้เพื่อตรวจสอบว่าธุรกิจที่เรากำลังจะทำนั้น ต้องลงทุนเท่าไร มีรายได้หรือกำไรจากทางไหนบ้าง จุดคุ้มทุนอยู่ที่กี่ปี เป็นต้น
⋙ Tips: เทคนิคในการจัดการเงินทุนหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพ
- เรียกเก็บเงินทันทีหรือมีการเจรจาข้อตกลงกันล่วงหน้าในการกำหนดชำระเงินอย่างสม่ำเสมอ แทนที่จะปล่อยให้มียอดหนี้สะสมไปเรื่อยๆ
- สร้างแรงจูงใจในการชำระเงินของลูกหนี้ให้เร็วขึ้นกว่าเดิม เช่น เสนอลดให้ 1 – 2 % หากชำระภายใน 10 วัน
- พยายามเลือกลูกค้า หลีกเลี่ยงลูกค้าประเภทชำระหนี้ช้าหรือไม่ชำระหนี้ตั้งแต่ต้น
- ลดปริมาณสินค้าคงคลัง พยายามไม่สต๊อกสินค้าเอาไว้มากเกินความจำเป็นหรือหาวิธีบริหารจัดการสต๊อกที่ดี ที่สามารถหมุนเวียนสินค้าออกได้ในเวลาอันรวดเร็ว
แหล่งที่มา – scbsme.scb.co.th