ธุรกิจร้านอาหารปี2562 “ขยายตัว” สะท้อนจากจำนวนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ 8 เดือนแรกปี2562 และอัตราการเติบโตของรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากผู้ประกอบการยังเห็นโอกาสจากธุรกิจร้านอาหารเนื่องจากอาหารยังคงเป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิต อีกทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนมาเน้นความสะดวกสบายและต้องการความรวดเร็วมากขึ้น ประกอบกับการขยายตัวของพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญและภาคการท่องเที่ยวซึ่งธุรกิจร้านอาหารมีความเชื่อมโยงและเป็นธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลักดังนั้นธุรกิจร้านอาหารที่อยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยวจึงนับว่ามีความเปราะบางและเสี่ยงต่อการเลิกกิจการหากสถานการณ์ท่องเที่ยวมีการปรับตัวลดลง นอกจากนี้จากจำนวนผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่มีการเปิดตัวแบรนด์ร้านอาหารและขยายสาขาออกไปในทุกพื้นที่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงและถูกแย่งส่วนแบ่งจากยอดขาย
สถานการณ์ธุรกิจร้านอาหาร
ธุรกิจร้านอาหารขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนแต่ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้ประกอบการรายใหม่และธุรกิจร้านอาหารรูปแบบใหม่ๆที่เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดธุรกิจร้านอาหารปี 2562 “ขยายตัวเพิ่มขึ้น” สะท้อนจากจำนวนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ 8 เดือนแรก ปี 2562 มีจำนวน 15,263 ราย ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 จากสิ้นปี 2561 ประกอบกับการคาดการณ์อัตราการเติบโตของรายได้รวมจะอยู่ที่ร้อยละ 5.9 สูงกว่าปี 2561ที่เติบโตร้อยละ 0.2 โดยปัจจัยสนับสนุนมาจากการที่ผู้ประกอบการในทุกขนาดยังคงเห็นโอกาสจากธุรกิจร้านอาหารเนื่องจากอาหารเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต ตลอดจนความต้องการอาหารปรุงสำเร็จขยายตัวเพิ่มขึ้นซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนย้อนหลัง10 ปี (ปี2552-2561) พบว่าครัวเรือนไทยมีการใช้จ่ายสำหรับทานอาหารนอกบ้านหรือซื้ออาหารสำเร็จรูปมาทานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ6.5 มากกว่าการใช้จ่ายเพื่อการปรุงอาหารเองที่บ้านที่ขยายตัวเฉลี่ยเพียงร้อยละ2.1
โดยเป็นผลมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการความรวดเร็วและสะดวกสบายอีกทั้งเทคโนโลยีในปัจจุบันช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงร้านอาหารได้ง่ายขึ้นอาทิ บริการเดลิเวอรี่จากร้านอาหารหรือแอพพลิเคชั่นบริการรับสั่งอาหารจึงส่งผลทำให้มูลค่าตลาดธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องโดยในปี 2562 Euromonitor International คาดว่าจะขยายตัวใกล้เคียงกับปี 2561 ที่ร้อยละ 9.1มีมูลค่าประมาณ 34,700 ล้านบาท ประกอบกับมาตรการสนับสนุนจากรัฐบาลอาทิมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศโดยสนับสนุนเงิน1,000บาท/คนสนับสนุนเงินชดเชย(Cash back)ร้อยละ15 สำหรับผู้ใช้เงินชำระค่าอาหารเครื่องดื่มและที่พักรวมทั้งการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าออกไปจนถึงเม.ย.63 สำหรับนักท่องเที่ยวจาก 18 ประเทศ ทั้งนี้ธุรกิจร้านอาหารมีความเชื่อมโยงและเป็นธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลักซึ่งพบว่ามูลค่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติมีการใช้จ่ายในด้านอาหารและเครื่องดื่มเป็นอันดับ 3 รองจากที่พักและการคมนาคม
อย่างไรก็ตามจากที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)ปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวรายได้จากการท่องเที่ยวปี 2562 เหลือร้อยละ 9.5 จากเดิมขยายตัวร้อยละ10 และจะมีรายได้อยู่ที่ 3.38 ล้านบาทจากเดิม 3.4 ล้านบาทและปรับลดการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาอยู่ที่ 40.2 ล้านคนจากเดิมอยู่ที่ 41 ล้านคนซึ่งคาดว่าอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารที่อยู่ในจังหวัดท่องเที่ยวหลักที่อาจมีนักท่องเที่ยวลดลง
อย่างไรก็ตามธุรกิจร้านอาหารยังคงมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่องแต่เป็นไปในอัตราที่ชะลอตัวลงสะท้อนจากจำนวนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ 8 เดือนแรกปี 2562 ที่ขยายตัวร้อยละ4.4 ลดลงจากปี 2561 ที่ขยายตัวร้อยละ 13.8 ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการรายใหม่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแรงงานที่ตกงานจากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัวและที่ถูกทดแทนโดยเทคโนโลยีหันมาเปิดร้านอาหารเพิ่มขึ้น
ในทางตรงข้ามเมื่อพิจารณาภาพรวมของการเลิกกิจการช่วง 8 เดือนแรกปี 2562 แม้ว่าจะลดลงจากปีก่อนร้อยละ-5.8ก็ตามแต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับปี 2560 พบว่าจำนวนนิติบุคคลที่เลิกกิจการยังอยู่ในเกณฑ์สูงซึ่งจากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นถึงการเกิดใหม่-ล้มหายของธุรกิจร้านอาหารที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วโดยเมื่อพิจารณาจำนวนนิติบุคคลที่เลิกกิจการแต่ละภูมิภาคพบว่าภูมิภาคที่เลิกกิจการสูงสุด 3 ภูมิภาคได้แก่ ภาคเหนือ ภาคใต้และกรุงเทพฯ มีการเลิกกิจการเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2 17.5 และ 5.9 สอดคล้องกับจำนวนผู้เยี่ยมเยือน(นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ)ในภูมิภาคดังกล่าวที่ขยายตัวต่ำสุด 3 อันดับได้แก่ภาคเหนือ กรุงเทพฯและภาคใต้ ขยายตัวที่ร้อยละ 0.8 1.2และ1.8ตามลำดับ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าความอยู่รอดของธุรกิจร้านอาหารในพื้นที่ท่องเที่ยวขึ้นอยู่กับสถานการณ์ท่องเที่ยวของพื้นที่นั้นๆเป็นสำคัญ ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจมีความเปราะบางสูงเนื่องจากถ้าจำนวนนักท่องเที่ยวในพื้นที่ปรับตัวลดลงอาจส่งผลให้ธุรกิจไม่สามารถอยู่รอดได้ จนถึงกับต้องเลิกกิจการ
สถานการณ์ธุรกิจร้านอาหารที่น่าจับตามอง
ธุรกิจร้านอาหารริมทาง(Street Food) ปี 2562
ธุรกิจร้านอาหารริมทางหรือสตรีทฟู้ดมีแนวโน้มขยายตัวสะท้อนจากการคาดการณ์มูลค่าตลาดปี 2562 โดย Euromonitor International ที่มีมูลค่าสูงถึง 286,000 ล้านบาทขยายตัวร้อยละ 2.3และคาดการณ์อีกว่าธุรกิจร้านอาหารริมทางจะยังคงเติบโตต่อเนื่องโดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 303,700 ล้านบาท ในปี 2565 คิดเป็นอัตราขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.1 ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญต่อการเติบโตคือการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันที่เน้นความสะดวกสบายและรวดเร็วอีกทั้งผู้ประกอบการมีการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต โดยการใช้สื่อออนไลน์ในการสร้างความน่าสนใจและเข้าถึงผู้บริโภคได้ในวงกว้างการเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์ รวมถึงการใช้บริการสั่งและส่งสินค้าผ่านธุรกิจบริการสั่งอาหาร อาทิ FoodPanda, LineMan,Grab Food ซึ่งดำเนินธุรกิจแบบB2B2C ประกอบกับผู้บริโภคนิยมรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้นและอาหารริมทางก็มักเป็นตัวเลือกแรกๆเนื่องจากราคาไม่แพงและอยู่ในทำเลที่เข้าถึงได้ง่ายรวมทั้งอาหารริมทางของไทยถือเป็นเอกลักษณ์ที่ชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติต้องลิ้มลอง
แต่อย่างไรก็ตามธุรกิจร้านอาหารริมทางยังคงเป็นธุรกิจที่แข่งขันกันรุนแรงจากจำนวนผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเนื่องจากลักษณะอาหารจะมีความคล้ายคลึงกันทำให้เป็นสินค้าที่ทดแทนกันได้ รวมทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่มีการเพิ่มแบรนด์อาหารที่หลากหลายและขยายสาขาออกไปในทุกพื้นที่ ธุรกิจร้านอาหารริมทางจึงถือเป็นธุรกิจที่มีการเกิดใหม่และล้มหายได้ง่ายจึงถือเป็นธุรกิจที่มีความสี่ยงอยู่ไม่น้อย
ร้านอาหารที่มีสาขา/เครือข่าย(Chained)จำนวนมาก
รายได้ผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดใหญ่เจ้าตลาดในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ยังคงขยายตัวซึ่งเป็นผลมาจากการขยายสาขาไปในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญและพื้นที่ที่กำลังพัฒนาความเป็นเมืองทั้งในรูปแบบStand AloneและCommunity Mall โดยจะพัฒนาสาขาให้มีขนาดเล็กลงและปรับโฉมให้มีรูปแบบที่ทันสมัย ซึ่งจะช่วยดึงดูดลูกค้าและลดต้นทุนในการบริหารจัดการร้านนอกจากนี้ยังมีการพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มช่องทางบริการลูกค้าให้ลูกค้าสั่งอาหารผ่านแอพพลิเคชั่นของร้านซึ่งจะช่วยเพิ่มฐานลูกค้าและตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป สะท้อนจากมูลค่าตลาดเดลิเวอรี่ของร้านอาหารประเภทเครือข่าย(Chained)ที่มีแนวโน้มขยายตัวโดยในปี 2561 มีมูลค่าถึง 8,800 ล้านบาทขยายตัวที่ร้อยละ 6.1 ผู้ประกอบการรายใหญ่จึงมุ่งเน้นและเพิ่มการลงทุนด้านการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในด้านอื่นๆของการให้บริการลูกค้าและบริหารจัดการภายในร้านอีกทั้งผู้ประกอบการยังกระตุ้นให้ลูกค้าหันมาใช้บริการเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้น ด้วยการจัดโปรโมชั่นพิเศษสำหรับสั่งอาหารโดยใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อจูงใจลูกค้าทั้งยังเพิ่มเมนูใหม่และเพิ่มความหลากหลายของเมนูอาหารเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในแต่ละกลุ่ม
โดยกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการแต่ละรายมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
Tip สำหรับผู้ประกอบการ
มุมมองศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน
ธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจที่มีการเข้าออกของตลาดค่อนข้างมากและสามารถเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนไม่มากและผู้ประกอบการยังเห็นโอกาสเติบโตของธุรกิจนี้ อีกทั้งมีจำนวนผู้ประกอบการในตลาดอยู่แล้วเป็นจำนวนมากและประเภทอาหารบางอย่างสามารถทดแทนกันได้ผู้บริโภคจึงมีทางเลือกที่หลากหลาย ส่งผลให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดเล็กมีความเสี่ยงและอ่อนไหวต่อความอยู่รอดเนื่องจากต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันและการถูกแย่งส่วนแบ่งยอดขายจากผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและจากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีแบรนด์อาหารที่หลากหลายและขยายสาขาไปในทุกพื้นที่
รวมทั้งมีการพัฒนาแพลตฟอร์มโปรโมชั่นและรูปแบบการให้บริการที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคส่วนใหญ่และแบบเฉพาะกลุ่มได้มากขึ้น จึงส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารยังคงเป็นธุรกิจที่ต้องติดตามและเฝ้าระวัง ทำให้การพิจารณาการปล่อยสินเชื่อต้องเป็นไปอย่างระมัดระวังโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย/ร้านอาหารริมทางที่ไม่มีสัญญาเช่าพื้นที่ที่แน่นอนควรปล่อยสินเชื่อในระยะสั้น1-3 ปีเพื่อลดความเสี่ยงและสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กที่มีสายป่านสั้นกว่าขนาดใหญ่จำเป็นต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นเพิ่มเติมอาทิความแปลกใหม่ของรสชาติและการตกแต่งช่องทางการตลาดความนิยมและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายระยะเวลาการประกอบกิจการ ประสบการณ์ของผู้ประกอบการและการวางแผนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจเป็นต้น
ที่มา : gsbresearch.or.th