รังนกไทย โอกาสส่งออกตลาดจีน มูลค่าธุรกิจหมื่นล้าน!

ชาวจีนยกย่อง “รังนก” ว่าเป็นอาหารเสริมสุขภาพชั้นเลิศ และมีสรรพคุณทางยาแบบครอบจักรวาล อาทิ บำรุงสุขภาพ บำรุงผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนเพลีย ป่วยเรื้อรัง บำรุงปอด เสริมภูมิคุ้มกัน ฯลฯ นอกจากนี้ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยังชี้ให้เห็นว่า รังนกสามารถช่วยเสริมความงามของผิวด้วย จึงเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่หญิงสาวชาวจีน

กลุ่มบริษัท อาลีบาบา(Alibaba) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการด้าน E-Commerce เทคโนโลยี และอินเทอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน เปิดเผยว่า ใน 10 อันดับแบรนด์สินค้าเพื่อสุขภาพยอดนิยม มีถึง 6 แบรนด์ที่เป็นผลิตภัณฑ์รังนก และบางแบรนด์มียอดขายวันเดียวทะลุหลักร้อยล้านหยวน นอกจากนี้ ยอดจำหน่ายรังนกยังมีอัตราขยายตัวถึง 40% โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลช็อปปิ้งวันคนโสด 11.11 (ตรงกับวันที่ 11 เดือนพฤศจิกายนของทุกปี) แสดงให้เห็นถึงโอกาสอันสดใสของรังนกในตลาดจีน

ความนิยมบริโภครังนกของชาวจีน

จีนเป็นประเทศที่มีการบริโภครังนกมากที่สุดในโลก โดยกว่า 90% ของรังนกที่ผลิตได้จากทั่วโลกจะถูกส่งไปจำหน่ายในประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็น “รังนกดิบ” ที่ยังไม่ผ่านกระบวนการคัดขน หรือสิ่งแปลกปลอม และ “รังนกบริสุทธิ์” ซึ่งผ่านการคัดแยกขนและทำความสะอาดแล้ว แหล่งนำเข้ารังนกที่ผ่านการแปรรูป หรือ “ผลิตภัณฑ์รังนกสำเร็จรูป” ที่จีนอนุญาตจะมีหลักๆ  3 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย

จีนเป็นตลาดนำเข้ารังนกที่ใหญ่ที่สุดของไทย โดยผลิตภัณฑ์รังนกไทยได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคชาวจีนในฐานะสินค้าพรีเมียม ทั้งในด้านคุณภาพ ขนาด รสชาติ เนื้อสัมผัส กลิ่นหอมจากสภาพภูมิอากาศของไทยที่ดี และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ในปัจจุบัน ไทยมีผลผลิตรังนกได้ปีละ 200 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 9,000 ล้านบาท ซึ่งหากจำหน่ายรังนกในไทยจะได้ราคาประมาณกิโลกรัมละ 80,000 – 120,000 บาท แต่ถ้าหากไปจำหน่ายในจีนจะได้ราคาสูงสุดถึง กิโลกรัมละ 1 ล้านบาท ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้ไม่น้อย

เส้นทางการส่งออกรังนกของไทย

เส้นทางรังนกไทยที่จะไปจำหน่ายในจีนไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หลังจากที่ทางการจีนสั่งระงับการนำเข้ารังนกที่ยังไม่แปรรูปจากต่างประเทศในปี 2554 เนื่องจากรัฐบาลจีนพบสารไนไตรท์ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในระดับเกินมาตรฐานปนเปื้อนอยู่ในรังนกมาเลย์ และปัญหารังนกปลอมที่ทะลักเข้าสู่ตลาดจีนเป็นจำนวนมาก ฝ่ายไทยจึงต้องใช้เวลาถึง 6 ปีในการเจรจา เพื่อให้ฝ่ายจีนปลดล็อกคำสั่งระงับการนำเข้ารังนกจากต่างประเทศ จนกระทั่งปี 2560 ไทยได้รับอนุญาตให้นำรังนกเข้าสู่จีนอีกครั้ง ส่งผลให้ยอดส่งออกรังนกของไทยเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 ตัน คิดเป็นอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 12 เท่าตัว

ความต้องการบริโภครังนกในตลาดจีนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคิดเป็นเงินมูลค่ามหาศาลกับโอกาสทางธุรกิจที่ผู้ค้าจากหลายประเทศกำลังจ้องมอง และอยากคว้าเอามาไว้ในมือ ในขณะที่ความเชื่อใจในคุณภาพของรังนกไทยของผู้บริโภคจีนยังเป็นแต้มต่อ ทำให้ยังมีพื้นที่ให้ผู้ประกอบการไทยได้บุกตลาดจีนได้อีกมาก

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยควรพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการด้านไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคจีนด้วย เช่น ชาวจีนส่วนใหญ่ไม่นิยมบริโภคอาหารที่มีรสชาติหวานและเย็น ดังนั้น รังนกพร้อมดื่มที่เน้นเจาะตลาดจีนจึงไม่ควรมีรสหวานจนเกินไป รังนกสูตรไม่มีนํ้าตาล หรือ Low Fat เป็นอีกหนึ่งชนิดสินค้าที่ตอบโจทย์กลุ่มผู้รักสุขภาพ ผู้มีปัญหาโรคอ้วน เพื่อเอาชนะใจกลุ่มคนจีนรุ่นใหม่ ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพ และมีกำลังซื้อสูง

นอกจากนี้ การพัฒนาและต่อยอดนวัตกรรมรังนกก็ยังสามารถดึงดูดความสนใจ และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคชาวจีนได้ อาทิ การทำขนมต่างๆ ไส้รังนก ฯลฯ  ชาวจีนนิยมซื้อรังนกในแทบทุกโอกาส โดยชาวจีนบางคนมองว่า รังนกเป็นอาหารเสริมที่ช่วยบำรุงสุขภาพ และเป็นอาหารเสริมความงามจากภายในสู่ภายนอกที่สามารถบริโภคได้เป็นประจำและสม่ำเสมอ

สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม

สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้ามอีกอย่างหนึ่ง คือ การใช้แพลตฟอร์ม E-Commerce เช่น Tmall หรือ JD ก็ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่น่าสนใจในการเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีน เพราะตลาด E-Commerce ของจีนมีขนาดใหญ่มาก ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะซื้อหาสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากกว่าการซื้อสินค้าหน้าร้าน

ทั้งนี้ชาวจีนยังนิยมซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ช่องทาง E-Commerce จึงถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีความสนใจในการเจาะตลาดจีน โดยช่องทางการค้าออนไลน์สำหรับผู้ประกอบการนั้น ถือได้ว่าเป็นความได้เปรียบทั้งด้านต้นทุนการจำหน่าย การกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจน รวมถึงความสะดวกและรวดเร็ว

»» ผู้ประกอบการไทยที่ประสงค์ส่งสินค้ารังนกและผลิตภัณฑ์ไปจีนสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับระบบการผลิตสินค้ารังนกได้ทาง สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ (สพส.) กรมปศุสัตว์ เพื่อประสานงานต่อไปยังหน่วยงาน CNCA ในการขอขึ้นทะเบียนโรงงานต่อไป และผู้ที่สนใจทำธุรกิจรังนกบ้านสามารถศึกษาแนวปฏิบัติตามมาตรฐานการจัดการบ้านนกแอ่นกินรังตามข้อกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร ที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)

cr – www.thansettakij.com

แสดงความคิดเห็น