ส่องโอกาสใน 5 ตลาด “E-commerce เอเชีย”

จากรายงานของดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส นำเสนอข้อมูลเชิงลึก (Market Insight) 5 ตลาดหลักที่ทำการค้าอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศสูงที่สุดในเอเชีย ได้แก่ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ดังนี้

จีน – ตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในโลก

  • ด้วยปริมาณการซื้อขายสูงกว่าประเทศอื่นๆ เกือบหนึ่งในสี่ (24%) ของผู้ซื้อออนไลน์ในจีนทำการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศในปี 2561 เพิ่มขึ้น 11.5% เมื่อเทียบกับปี 2560 ผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่เชื่อว่าการซื้อสินค้าจากต่างประเทศจะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพดีกว่า ข้อเสนอดีกว่า มีความหลากหลายมากกว่า และสินค้าเป็นของแท้
  • ลูกค้าชาวจีนเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมจากเดิมที่สนใจเรื่องราคาเป็นหลัก มาให้ความสำคัญกับเรื่องของคุณภาพ แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ผู้ซื้อชาวจีนจะยอมรับสินค้าที่มีราคาแพงกว่า ถ้าหากสินค้านั้นมีคุณภาพสูงกว่าและชื่อเสียงของแบรนด์ที่ดีกว่า

อินเดีย – ตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก

  • อินเดียมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 462 ล้านคน และมีอัตราการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซสูงสุดที่ 51% ต่อปี และ 60% ของการซื้อสินค้าออนไลน์เกิดขึ้นในช่วงเวลาทำการปกติ ยอดขายอีคอมเมิร์ซแบบค้าปลีกในอินเดียคาดว่าจะแตะระดับ 7.94 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2563
  • เหตุผลสำคัญที่สุด 3 ข้อที่จูงใจให้ผู้บริโภคชาวอินเดียซื้อสินค้าจากต่างประเทศได้แก่ คุณภาพดีกว่า (42%) ความน่าเชื่อถือ (37%) และข้อเสนอที่ดีกว่า (26%)
    ตลาดอีคอมเมิร์ซในอินเดียมีการแข่งขันอย่างดุเดือด โดยมีผู้เล่นรายสำคัญในท้องถิ่น เช่น Flipkart, Snapdeal และ Amazon India ที่กำลังแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด

ญี่ปุ่น – ปลายทางยอดนิยมสำหรับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย

  • ญี่ปุ่นมีประชากรสูงวัยจำนวนมาก และชาวญี่ปุ่นที่มีอายุเกินกว่า 55 ปีมักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเชื่อมต่อออนไลน์
  • สินค้าที่สั่งซื้อจากต่างประเทศที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับชาวญี่ปุ่น ได้แก่ หนังสือ ซีดี วิดีโอเกม (27%) เครื่องสำอาง (21%) และเสื้อผ้าและรองเท้า (20%)
  • Rakuten, Amazon Japan และ Yahoo Japan Shopping เป็นตลาดอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศ 3 อันดับแรกที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น
  • โดยทั่วไปแล้วนักช้อปชาวญี่ปุ่นไม่ชอบความเสี่ยง และมักจะมองหาแบรนด์ที่ตนเองรู้จักและไว้ใจ อัตราการคืนสินค้าต่ำและการบริการลูกค้าที่ยอดเยี่ยมเป็นสิ่งที่ลูกค้าชาวญี่ปุ่นคาดหวังว่าจะได้รับจากการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์

เกาหลีใต้ – ตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

  • การซื้อสินค้าออนไลน์ภายในประเทศยังคงสร้างรายได้อีคอมเมิร์ซมากที่สุดให้กับเกาหลีใต้ แต่อีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศก็กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน
  • จากการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ระหว่างประเทศ ชาวเกาหลีใต้พบว่าหลังจากที่รวมค่าขนส่งและภาษีนำเข้าของสินค้าแล้ว สินค้ายังคงมีราคาถูกกว่าที่ซื้อจากเว็บไซต์ในประเทศ ทั้งนี้คาดว่าใน 2-3 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคชาวเกาหลีที่สั่งซื้อสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
  • 60% ของชาวเกาหลีที่มีอายุระหว่าง 20 ถึง 29 ปี ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์หลักในการซื้อสินค้าออนไลน์
  • Amazon และ eBay เป็นตลาดอีคอมเมิร์ซต่างประเทศที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจากผู้บริโภคชาวเกาหลีใต้

ฮ่องกง – โอกาสที่ดีสำหรับตลาดอีคอมเมิร์ซ

  • นักช้อปออนไลน์ในฮ่องกงคาดหวัง 3 สิ่งจากการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ ได้แก่ ค่าจัดส่งฟรี ความสะดวกที่ได้รับจากการสั่งซื้อสินค้าได้ทุกที่ทุกเวลา และส่วนลดพิเศษสำหรับการซื้อทางออนไลน์
  • 48% ของประชากรฮ่องกงอ่านรีวิวเกี่ยวกับสินค้าทางออนไลน์ก่อนที่จะตัดสินใจสั่งซื้อสินค้าออนไลน์
  • มีนักช้อปออนไลน์ในฮ่องกงเพียง 38% เท่านั้นที่ระบุว่าตนเองรู้สึกพึงพอใจในมาตรฐานการให้บริการ ดังนั้นผู้ค้าออนไลน์จะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้นหากนำเสนอบริการทางออนไลน์ได้อย่างดีเยี่ยม

ที่มา : smeone.info รูปภาพจาก dhltoyou.com

แสดงความคิดเห็น