อาชีพทำเงิน ผ้าบาติกแบรนด์ “ฅญา”
นวัตกรรมดึงเอกลักษณ์อีสานแท้
งานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของไทยนั้นมีเอกลักษณ์และเป็นที่รู้จักมากทั้งในและต่างประเทศ ด้วยเอกลักษณ์ทั้งลวดลายวิจิตร มีความสวยงามแตกต่างจากลวดลายของประเทศอื่น โดยเฉพาะในทางภาคเหนือและทางภาคอีสานของประเทศไทย จึงเกิดอาชีพทำเงินมากมายที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะพื้นบ้านไทยออกสู่ตลาด ดังเช่นแบรนด์ “ฅญา” ผู้ผลิตและจำหน่ายผ้าบาติกที่มีลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์
การขายผ้าบาติกของแบรนด์ฅญานั้นเป็นอาชีพทำเงินที่ทำให้เจ้าของแบรนด์และสามีคือ “คุณชนัญญาและคุณสำลอง ดรเขื่อนสม” สามารถพาผลงานของตนเองไปวางขายในร้านค้าปลอดภาษีอย่าง King Power ได้ จุดเริ่มต้นของแบรนด์มาจากคุณชนัญญาหรือคุณนิดเดิมนั้นประกอบอาชีพขายส่งเสื้อผ้าที่ประตูน้ำซึ่งทำอยู่หลายปีก็ประสบเข้ากับวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปี 2540 กิจการซบเซาจึงตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเกิดที่จังหวัดนครราชสีมา
ต่อมาเธอได้เปิดร้านรับตัดเย็บเสื้อผ้าที่เธอเป็นคนออกแบบเอง โดยลูกค้าเป้าหมายของเธอนั้นเป็นกลุ่มข้าราชการที่จำเป็นต้องใส่ชุดผ้าไหมไทยบ่อยครั้ง ซึ่งอาชีพทำเงินนี้สามารถสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวของเธออย่างเพียงพอ แต่อย่างไรก็ตาม เธอเองนั้นมองการณ์ไกลว่าแม้รายได้จะพอเพียงแต่ก็ไม่เป็นอาชีพที่จะยึดไปได้ตลอดชีวิต จึงมีการศึกษาหาความรู้เรื่องใหม่ๆอยู่เสมอ
จนกระทั่งได้เข้าอบรมหลักสูตรพื้นฐานผ้าบาติก ซึ่งผลงานผ้าบาติกที่ได้นั้นแม้ว่าจะมีความสวยงามและมีเอกลักษณ์ด้วยเสน่ห์ของงานแฮนด์เมดมาก แต่ก็มีวิธีการที่ยุ่งยากและต้องใช้ความอดทนสูงเช่นกัน ซึ่งเธอไม่ใช่คนแรกที่ได้นำไอเดียผ้าบาติกมาใช้ แต่เป็นสามีของเธอที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาจากเธอมาอีกที เป็นผู้ริเริ่มการทำผ้าบาติกผ้าเช็ดหน้าขายก่อน ซึ่งกระแสตอบรับนั้นถือว่าพอไปได้ จึงกลายมาเป็นการหารายได้เขาครอบครัวอีกทางหนึ่ง
หลังจากนั้นเธอจึงนำไอเดียการนำลวดลายผ้าบาติกมาประยุกต์ใช้ในชิ้นงานไปต่อยอดโดยการนำเสนอลูกค้าโดยนำลวดลายนั้นมาใส่ลงผ้าไหม โดยที่ทางร้านจะเป็นคนออกแบบให้ทั้งหมด ผลปรากฏว่าลูกค้าชื่นชอบในผลงานมาก และด้วยกลยุทธ์การตลาดแบบปากต่อปากทำให้สินค้าของแบรนด์ฅญานั้นขายดีมาก จนสามารถนำไปฝากขายไว้ในร้านขายสินค้าโอทอปในพื้นที่ได้ และหลังจากนั้นจึงเป็นช่วงของการพัฒนาแบรนด์เต็มตัว
จุดเด่นของผ้าบาติกแบรนด์ฅญานั้นมาจากลวดลายบนผ้านั้นเป็นการนำเอกลักษณ์ของภาคอีสานมานำเสนอได้อย่างมีเสน่ห์ เช่น ลายพื้นดินแตก ใบไม้ ดอกไม้ ฯลฯ ซึ่งได้มาจากเทคนิคพิเศษที่คุณนิดได้นำมาใช้คือ การใช้กาวนวัตกรรมแทนการเขียนเทียน ทำให้สามารถซักออกได้ง่ายและประหยัดเวลามากกว่า อีกทั้งยังทำให้เกิดรอยแตกที่สวยงาม รวมถึงผ้าไหมที่นำมาใช้นั้นล้วนเป็นไหมแท้ 100% ที่มาจากคนในพื้นที่เองหรือรับซื้อมาจากโรงงานผลิตอีกต่อหนึ่ง
ทั้งนี้สำหรับที่มาของชื่อแบรนด์ฅญา (KAYA) นั้นมาจากคำว่า พุทธคยา คือสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า อีกทั้งเธอยังชื่นชอบคำนี้เป็นการส่วนตัวจึงนำมาใช้เป็นชื่อแบรนด์ และในภาษายาวีนั้นยังแปลว่า เศรษฐีอีกด้วย ซึ่งสินค้าของฅญาก็ไม่ทำให้เธอผิดหวัง เพราะเป็นอีกอาชีพทำเงินที่สร้างรายได้ให้เธอได้จำนวนมากจริงๆ
ปัจจุบันนี้ผ้าไหมบาติกของฅญาได้มีการวางจำหน่ายที่ร้านค้าปลอดอากร King Power ที่สนามบินสุวรรณภูมิ และมีช่องทางการจำหน่ายที่สำคัญคือ ผ่านสื่อออนไลน์ที่ทำให้มีลูกค้าจากทั่วสารทิศมาติดต่อขอซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่มีราคาตั้งแต่ 450-3,000 บาท นับว่าเป็นผ้าบาติกที่มีลวดลายเอกลักษณ์สวยงามราคาย่อมเยาแต่คุณภาพไม่ต่างจากแบรนด์ดังก็ว่าได้
ข้อมูลติดต่อ อาชีพทำเงิน ฅญา
Facebook : ฅญาบาติก
เบอร์โทรศัพท์ : 086-2501920
ที่ตั้ง : 244/4 ม.12 ถ.ประชาอุทิศ ต.เมืองปัก อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา
หมายเหตุ รูปภาพที่ใช้เป็นเพียงสื่อประกอบบทความเท่านั้น
ขอขอบคุณรูปภาพจาก : ฅญา