โอกาสอุตสาหกรรมอาหารจากแมลงในสหรัฐฯ

มูลค่าของตลาดอาหารจากแมลงทั่วโลกปี 2566 อยู่ที่ 1,232.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดว่ามูลค่าของตลาดจะสูงถึง 7,600.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2576 โดยคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย CAGR ร้อยละ 19.9 ในช่วงปี 2567-2576 เนื่องจากตลาดเห็นความสำคัญกับแมลงที่มีประโยชน์ทางโภชนาการสูงและปัจจุบันมีผู้บริโภคอาหารจากแมลงทั่วโลกกว่า 2,000 ล้านคน

ปี 2567 ภูมิภาคอเมริกาเหนือมีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุดหรือคิดเป็นร้อยละ 34 ของมูลค่าตลาดโลก ศูนย์วิจัยและวิทยาลัยในภูมิภาคอเมริกาเหนือได้ศึกษาการพัฒนาเทคนิคการเลี้ยงแมลงเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางอาหาร โภชนาการ และการผลิตอาหารจำนวนมากๆ สำหรับมูลค่าตลาดอาหารจากแมลงในสหรัฐฯ ปี 2566 อยู่ที่ 293.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,821.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2576 โดยมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย CAGR ร้อยละ 20 ในช่วงปี 2567-2576 แนวโน้มการเติบโตเช่นนี้เนื่องจากผู้บริโภคชาวอเมริกันได้หาแหล่งโปรตีนทางเลือกใหม่ๆ ที่มีสารอาหารสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารได้ ทำให้อาหารที่ทำมาจากแมลงได้รับความนิยมมากขึ้น

การขับเคลื่อนตลาดอาหารจากแมลงในสหรัฐฯ

  1. ปัจจัยที่ส่งผลต่อตลาดอาหารจากแมลง

     1.1 การขาดแคลนอาหารของมนุษยชาติ

แมลงเป็นความหวังใหม่ที่จะเป็นแหล่งอาหารของมนุษยชาติ เนื่องจากมีโปรตีนสูงและมีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงต่ำเมื่อเทียบกับโปรตีนจากสัตว์แบบดั้งเดิม เช่น เนื้อสัตว์ สัตว์ปีก ปลา เป็นต้น แมลงจึงเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนและอุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็น

     1.2 การเลี้ยงแมลงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การเลี้ยงแมลงมีแนวโน้มว่าจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการทำปศุสัตว์แบบดั้งเดิมอย่างวัวและไก่ เนื่องจากใช้พื้นที่และพลังงานในการเลี้ยงน้อยกว่า โดยการทำฟาร์มแมลงมีการใช้น้ำในการเพาะเลี้ยงน้อยกว่าการทำปศุสัตว์ร้อยละ 50 และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าร้อยละ 75

 

  1. ความท้าทายของผู้ผลิตอาหารจากแมลง

     2.1 ความไม่ชัดเจนของการกำกับดูแล

องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration: FDA) หรือกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (U.S. Department of Agriculture: USDA) ยังไม่ได้มีกฎระเบียบในการกำกับดูแลอาหารจากแมลงอย่างชัดเจน จึงเป็นเรื่องยากของผู้ผลิตในการรับรองว่าการผลิตได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างถูกต้อง 100% ส่งผลให้ผู้บริโภคยังไม่เชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของอาหารจากแมลง รวมทั้ง อาหารจากแมลงยังไม่เป็นที่ยอมรับของตลาดอเมริกามากนัก Ms. Laurie Beyranevand ศาสตรจารย์มหาลัยด้านกฎหมายเวอร์มอนต์มองว่าการที่ยังไม่มีแนวทางในการกำกับดูแลจาก FDA แสดงให้เห็นว่าตลาดอาหารจากแมลงยังมีขนาดเล็กเกินกว่าที่ FDA จะมากำกับดูแล

     2.2 การรับรู้ของผู้บริโภคชาวอเมริกัน

Ms. Annette Maggi ประธานบริษัททำการตลาดด้านโภชนาการ Annette Maggi & Associates ให้ความเห็นว่าการรับรู้ของผู้บริโภคชาวอเมริกันเป็นข้อจำกัดในการทำการตลาดอาหารจากแมลงในสหรัฐฯ เพราะผู้บริโภคบางกลุ่มมองว่าอาหารจากแมลงเป็นอาหารที่ไม่น่ารับประทาน

อย่างไรก็ดี จากผลการสำรวจของบริษัทด้านการตลาด YouGov พบว่าชาวอเมริกันร้อยละ 18 ยินดีที่จะรับประทานแมลงทั้งตัว ในขณะที่ชาวอเมริกันร้อยละ 25 ยินดีที่จะรับประทานอาหารที่ทำมาจากแมลง ทำให้เห็นว่าหากเป็นการบริโภคโดยไม่เห็นเป็นรูปร่างของแมลง จะทำให้ผู้บริโภคเปิดใจที่จะลองอาหารจากแมลงมากขึ้น

     2.3 การแข่งขันของโปรตีนทางเลือกอื่นๆ เช่น โปรตีนจากถั่ว เห็ด หรือวอลนัท เป็นต้น ผู้บริโภคชาวอเมริกันสามารถเลือกบริโภคโปรตีนทางเลือกอื่นเพื่อทดแทนอาหารจากแมลงได้

 

  1. โอกาสของผู้ผลิตอาหารจากแมลง

     3.1 ความต้องการอาหารที่มีโภชนาการสูง

แมลงได้ให้สารอาหารที่จำเป็น ได้แก่ โปรตีนคุณภาพสูง กรดอะมิโนจำเป็น ไขมันดี วิตามิน แร่ธาตุ ตัวอย่างเช่น หนอนนกและจิ้งหรีดมีแร่ธาตุที่จำเป็นอย่างเหล็ก สังกะสี โปรตีน ไขมันดี วิตามินบี 12 เป็นต้น ดังนั้น ผู้ที่รักษาสุขภาพและต้องการเพิ่มการบริโภคโปรตีนโดยไม่ต้องพึ่งพาแหล่งเนื้อสัตว์แบบดั้งเดิมจึงหันมาสนใจบริโภคแมลงที่มีสารอาหารสูงมากขึ้น เนื่องจากการเลี้ยงแมลงไม่มีการใช้ฮอร์โมน ยาปฏิชีวนะ หรือสารปรุงแต่งอื่นๆ ที่ใช้กันบ่อยในการทำปศุสัตว์

     3.2 การแปรรูปอาหารทำให้ผู้บริโภคเปิดใจกับอาหารจากแมลงมากขึ้น

ความคุ้นเคยกับอาหารแปรรูปของชาวอเมริกัน นาย Garry Michael ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัทร้านค้าปลีกออนไลน์ Farm2Me เห็นว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันมีความคุ้นเคยกับอาหารแปรรูป ดังนั้น หากได้มีการนำแมลงมาเป็นส่วนผสมหลักและแปรรูปในรูปแบบที่น่ารับประทานก็จะเป็นโอกาสของผู้ผลิตอาหารจากแมลงเพื่อตอบโจทย์การรักษาสุขภาพของผู้บริโภคและการมุ่งสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

ผลิตภัณฑ์อาหารจากแมลงในตลาดสหรัฐฯ

“ผลิตภัณฑ์อาหารจากแมลงในตลาดสหรัฐฯ มักจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น Amazon ร้านค้าปลีกออนไลน์ เป็นต้น”

การแปรรูปอาหารจากแมลง

อาหารจากแมลงในรูปแบบแป้งเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปี 2566 โดยอยู่ที่ร้อยละ 44 ของผลิตภัณฑ์อาหารจากแมลงทั้งหมด แมลงต่างๆ เป็นแหล่งโปรตีนให้กับมนุษย์ เช่น หนอนนก ตั๊กแตน จิ้งหรีด เป็นต้น ซึ่งมีปริมาณโปรตีนเป็น 2 เท่าของเนื้อสัตว์ทั่วไปอย่างเนื้อวัวและเนื้อไก่ และผู้ผลิตให้ความสนใจกับการนำแมลงในรูปแบบแป้งมาผสมกับอาหารอื่นๆ มากขึ้น เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ เช่น โปรตีนบาร์ ขนม พาสต้า เครื่องดื่ม เป็นต้น ประกอบกับโปรตีนจากแมลงไม่มีสารก่อภูมิแพ้อย่างนมหรือกลูเตน ทำให้ผู้บริโภคที่มีข้อจำกัดด้านอาหาร สามารถบริโภคอาหารจากแมลงได้

นอกจากนี้ อาหารจากแมลงในรูปแบบโปรตีนบาร์มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว อาหารจากแมลงกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีความตระหนักรู้เรื่องการรักษาสุขภาพและมองหาอาหารที่มีโปรตีนสูง จึงทำให้แมลงซึ่งเป็นโปรตีนทางเลือกได้รับความนิยมมากขึ้น ผู้บริโภคที่ชอบออกกำลังกายนิยมบริโภคในรูปแบบโปรตีนบาร์ เนื่องจากบรรจุภัณฑ์สะดวกต่อการบริโภคและอยู่ในรูปแบบที่ย่อยง่าย

ตลาดของโปรตีนบาร์กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องเนื่องจากความก้าวหน้าในการพัฒนาสูตรอาหารและการแปรรูปอาหาร   ผู้ผลิตอาหารได้คิดค้นวิธีการใหม่ๆ ในการพัฒนาอาหารจากแมลงทั้งในด้านการพัฒนารสชาติ เนื้อสัมผัส และความอร่อย เพื่อตอบสนองความต้องการและความสะดวกสบายของผู้บริโภค แนวทางในการผลิตอาหารจากแมลงใหม่ๆ นี้ได้ทำให้เกิดการยอมรับและนำแมลงมาผลิตเป็นโปรตีนบาร์มากขึ้น

การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจากแมลงของสหรัฐฯ

ข้อมูลของ Global Trade Atlas พบว่ามูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจากแมลงของสหรัฐฯ จากทั่วโลกปี 2566 อยู่ที่ 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือลดลงร้อยละ 44 จากปี 2565 ส่วนมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจากแมลงของสหรัฐฯ จากประเทศไทยปี 2566 อยู่ที่ 132,800 ดอลลาร์สหรัฐ โดยการนำเข้าจากประเทศไทยระหว่างเดือนมกราคม – เมษายน ปี 2567 อยู่ที่ 15,598 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 7

มูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจากแมลงของสหรัฐฯ (หน่วย : ดอลลาร์สหรัฐ)

 

 

แสดงความคิดเห็น