อนาคต.. อุตสาหกรรมยานยนต์ ของประเทศไทย!!
เมื่อสัปดาห์ก่อนได้ดูรายการทีวีหนึ่ง ที่มีการพูดถึงอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย กับการแข่งขันของประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน ผู้เขียนมีเกร็ดความรู้ที่อยากจะแบ่งปันให้ทราบถึงที่ไปที่มาถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยในวันนี้ ที่ในปี 2555 ประเทศไทยสามารถผลิตและส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนได้มากกว่า 2 ล้านคัน เป็นการผลิตเพื่อขายในประเทศและส่งออกในสัดส่วนประมาณร้อยละ 50: 50 และไทยกลายเป็นผู้ส่งออกยานยนต์รายใหญ่ระดับ 1 ใน 10 ของโลก (ได้แก่ จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา บราซิล ไทย เยอรมนี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เม็กซิโก และอินโดนีเซีย)
ในวันนั้นก็มีการพูดถึงว่าประเทศไทยทำไมไม่มีนโยบายส่งเสริมการผลิตรถยนต์ที่มีแบรนด์เนมของตัวเอง ที่เรียกกันว่า national car เช่น รถยี่ห้อโปรตอนของ มาเลเซีย ในเรื่องนี้ประเทศไทยมีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องการเปิดเสรีอุตสาหกรรมยานยนต์มาโดยตลอด และทำให้ประเทศไทยได้กลายเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนมาโดยตลอด จำได้ว่าในประมาณปี 2530-2531 ในสมัยที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี มหาเดห์ ของมาเลเซีย ได้เดินทางมาเยือนไทย และในครั้งมีโปรแกรมมาเยือนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีหน้าที่วางแผนเศรษฐกิจระยะปานกลาง/ระยะยาวของประเทศ ซึ่งในขณะนั้น มี ดร. พิสิฐ ภัคเกษม เป็นเลขาธิการ หัวข้อหนึ่งในการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน เป็นเรื่องของนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ ในครั้งนั้นประธานาธิบดี มาเลเซียได้บอกด้วยความภาคภูมิใจว่า มาเลเซียมีนโยบายจะส่งเสริมผลิตรถยนต์แห่งชาติ คือ รถยนต์ยี่ห้อ โปรตอน ซากา ท่านเลขาธิการ ดร. พิสิฐ ภัคเกษม ได้ตอบไปว่าสำหรับประเทศไทยจะส่งเสริมการผลิต international car
จุดยืนดังกล่าวของทั้ง 2 ประเทศ ไม่มีใครถูกหรือผิด แต่ 25 ปีให้หลังจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ประเทศไทยมีการเติบโตก้าวหน้ามาโดยต่อเนื่อง ที่มีการผลิตยานยนต์เพื่อการส่งออก และเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของชิ้นส่วนยานนยนต์ เพราะไทยไม่ปิดกั้นการเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างประเทศ ดังนั้น จึงมีการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไม่เฉพาะบริษัทญี่ปุ่นเท่านั้น แต่บริษัทยานยนต์ขนาดใหญ่ค่ายประเทศตะวันตกต่างเข้ามาตั้งโรงงานการผลิตในประเทศไทยจนเกือบครบทุกบริษัท ซึ่งทำให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่ในกรณีของรถปิกอัพ ประเทศไทยสามารถใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศไทยได้เกือบทั้งหมด และการใช้ยี่ห้อรถต่างประเทศก็ทำให้ประเทศไทยไม่ต้องไปทำการตลาดในการแนะนำยี่ห้อใหม่ๆ ที่ต้องจะแข่งขันกับรถยนต์ยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น โตโยต้า ฮอนด้า หรือ บีเอ็มดับเบิลยู เมอร์เซเดส เบนซ์ ที่มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับในระดับโลก
และที่สำคัญคือการพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ที่เรียกได้ว่ามีความเชี่ยวในระดับต้นของอาเซียน และ 25 ปีให้หลังนับตั้งแต่ปี 2531 ที่เริ่มมีการผลิตเพื่อการส่งออกจนสามารถส่งออกได้มากกว่า 1 ล้านคันในปี 2555 นั้นเป็นจำนวนการส่งออกมากกว่าประเทศในอาเซียนทั้งหมดรวมกัน ก็ต้องยอมรับว่าเป็นผลมาจากนโยบายเปิดเสรีของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ซึ่งถ้าหากประเทศจะส่งเสริมการผลิตรถยนต์ที่มียี่ห้อของตนเอง ก็จะต้องใช้มาตรการในการปิดกั้นการแข่งขันจากรถยนต์จากต่างประเทศ ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ยังต้องให้การสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อม เมื่อมีการปิดกั้นการลงทุนจากต่างประเทศก็จะทำให้การพัฒนาของเทคโนโลยีเกิดขึ้นเกิดขึ้นได้ช้า
ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า คือปี 2558 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีจะเกิดขึ้นเต็มรูปแบบ จะมีผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ในส่วนของอุตสาหกรรมรถยนต์ ก็เช่นกันที่จะต้องศึกษาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นรวมถึงแนวทางในการปรับตัวในการรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ที่ครอบคลุมไปถึงนโยบายการเปิดตลาดแข่งขันที่เสรีมากขึ้นของประเทศเพื่อนบ้าน ที่กำลังจะเกิดขึ้นของประเทศคู่แข่งขัน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้ตลาดนี้มีประชากรรวมประมาณ 600 ล้านคน รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของประชาชนชั้นกลางจำนวนมาก จะซึ่งทำให้มีความต้องการยานยนต์เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสิ่งที่จะตามมาก็คือ การแข่งขัน แต่รูปแบบจะเปลี่ยนไป โดยจะแข่งกันในด้านคุณภาพสินค้ามากกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากการกีดกันมาตรการทางภาษีมีแนวโน้มลดลงจนเป็นศูนย์ ดังนั้น ประเทศที่มีความได้เปรียบด้านเทคโนโลยี ทั้งนี้ประเทศไทยที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความได้เปรียบ
แต่ประเทศคู่แข่งไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ต่างก็มีปรับตัวในด้านนโยบายเช่นกัน ดังนั้น ไทยจึงต้องมีการพัฒนาในด้านเทคโนโลยีด้วยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ที่กล่าวได้ว่าต่างจะสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ประหยัดพลังงานและสะอาด (eco car & green car) ซึ่งประเทศไทยอาจจะมีข้อได้เปรียบในเชิงภูมิเศรษฐกิจที่มีที่ตั้งที่อยู่ในใจกลางอาเซียน มีบุคลากรและเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมยานยนต์จากการพัฒนาต่อเนื่องยาวนาน แต่ก็มีข้อจำกัดคือต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น และในระยะหลังนี้ก็มีปัจจัยเรื่องเสถียรภาพทางด้านการเมืองจนมีข่าวว่าบริษัทหลายแห่งจะย้ายฐานการผลิตที่จะเกิดขึ้นใหม่ไปยังประเทศอื่นๆ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ดร.อาภรณ์ ชีวะเกรียงไกร
http://www.bangkokbiznews.com