อุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) โอกาสสำหรับประเทศไทย

คำว่า MICE ย่อมาจาก Meeting, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions อุตสาหกรรมไมซ์จึงหมายถึง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดประชุมบริษัทข้ามชาติ การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การประชุมนานาชาติและการจัดนิทรรศการ ไมซ์ใช้เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่สามารถทำรายได้ให้ประเทศแต่มีความแตกต่างจากนักท่องเที่ยวหรืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วไปคือ จุดประสงค์ในการเดินทาง ดังนั้นในการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็ต้องมีการวางแผนกลยุทธ์ที่แตกต่างเพื่อให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

ไมซ์ (MICE) คือ อุตสาหกรรมการจัดประชุม (Meeting) เป็นการจัดประชุมของบริษัทหรือองค์กรต่างๆ โดยอาจจะมีผู้เข้าร่วมประชุมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentives) หมายถึง การท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะโดยเป็นบริษัทหรือองค์กรเป็นผู้ออกเงินให้ เพื่อเป็นรางวัลแก่บุคลากรในบริษัทหรือองค์กร เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่บุคลากร อุตสาหกรรมการจัดประชุมนานาชาติ (Conventions) หมายถึง งานประชุมที่มีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานประชุมของกลุ่มคนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน เช่น งานประชุมของสมาคมการแพทย์นานาชาติ เป็นต้น

อุตสาหกรรมการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ (Exhibitions) หมายถึง การจัดงานแสดงสินค้าในประเทศไทย โดยผู้จัดอาจจะเป็นผู้จัดงานชาวไทยหรือผู้จัดงานจากต่างประเทศก็ได้ ในประเทศไทยนั้นอุตสาหกรรม MICE ในด้านสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. (TCEB) ได้รับการก่อตั้งในปี 2547 เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาและส่งเสริมการตลาดให้แก่อุตสาหกรรมไมซ์และสร้างรายได้เข้าประเทศจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงที่ผ่านมาการดำเนินต่างๆ มุ่งเสริมสร้างภาพลักษณ์พร้อมกับขยายตลาดไมซ์ให้กว้างขวางมากขึ้น โดยมีเป้าหมายสำคัญในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการจัดประชุม และการจัดนิทรรศการในภูมิภาคนี้ขณะที่บทบาทของ สสปน. มุ่งไปสู่การเป็น One Stop Service สำหรับไมซ์โดยเป็นศูนย์กลางการประสานงานแบบเบ็ดเสร็จทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นกรมศุลกากร การท่าอากาศยานฯ ททท. ผู้ประกอบการ ฯลฯ เพื่ออำนวยความสะดวกทั้งในส่วนของผู้เข้าประชุมจัดแสดงสินค้า/นิทรรศการ รวมทั้งสนับสนุนการเข้าประมูลงานในต่างประเทศ อาทิ ด้านงบประมาณหรือการจัดงานเพื่อเสริมภาพลักษณ์ของประเทศ เป็นต้น

การพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ควรที่จะคำนึงถึงในหลายด้าน ซึ่งประกอบไปด้วยการถ่ายทอดความรู้สู่คนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ( extend), การยกระดับของศักยภาพด้วยการพัฒนาองค์ความรู้แบ่งปันข้อมูลระบบเครือข่ายโปรโมชั่นและกิจกรรมส่งเสริมการตลาด (elevate), การขยายฐานการสนับสนุนไปยังพันธมิตรทางการค้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ( expend) และการปรับปรุงคุณภาพการดำเนินงานและบริการไปสู่ระดับมาตรฐานสากล (enhance) และถึงแม้ว่าในปัจจุบันประเทศไทยจะมีขีดความสามารถในการรองรับการจัดงานในกลุ่มไมซ์อย่างเพียงพอแต่การเพิ่มขึ้นของจำนวนการจัดงานและจำนวนนักเดินทางชาวต่างชาติในอนาคตประกอบกับผลจากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะนำมาซึ่งโอกาสของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางหรือเป็นเจ้าภาพการจัดงานในกลุ่มไมซ์ของภูมิภาคอาจส่งผลให้ประเทศไทยเผชิญปัญหาความไม่เพียงพอของโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากร

นอกจากนี้การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนยังก่อให้เกิดโอกาสสำหรับพื้นที่ต่างๆที่เป็นเมืองเศรษฐกิจและเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี ภูเก็ต ในการเป็นสถานที่จัดงานในกลุ่มไมซ์จากเดิมที่การจัดงานมักกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ สถานการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งความจำเป็นในการเตรียมพร้อมทั้งในเชิงรุกและเชิงรับของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการที่ต้องมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับการให้บริการด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานที่จัดประชุม พื้นที่การจัดแสดงสินค้า เส้นทางการคมนาคมขนส่ง ระบบสื่อสารและโทรคมนาคม บริการด้านโรงแรมและที่พัก รวมถึงการเพิ่มจำนวนบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ในการบริหารจัดการธุรกิจไมซ์ และมัคคุเทศก์ ให้มีจำนวนที่เพียงพอและมีคุณภาพตลอดจนการพัฒนาทักษะทางด้านภาษาต่างชาติสำหรับบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการให้บริการเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจไมซ์ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดที่มีศักยภาพในการเป็นสถานที่จัดงานในกลุ่มไมซ์ ให้สามารถรองรับการจัดงานขนาดใหญ่หรืองานในระดับนานาชาติได้

แต่ถึงอย่างไรก็ตามไทยก็ได้พยายามยกระดับมาตรฐานของประเทศไทยเองเพื่อที่จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการจัดงานกิจกรรมที่สำคัญ ๆในภูมิภาคทำให้การจัดประชุมในภูมิภาคเอเชียเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียต่างตระหนักถึงความสำคัญ และประโยชน์ของการส่งเสริมการจัดประชุม และพยายามพัฒนาสถานที่จัดงานประชุมเพื่อเป็นจุดหมายของการจัดงานประชุมนานาชาติที่มีชื่อเสียงจากทวีปยุโรป อเมริกาและประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ในอนาคตมีการคาดการณ์ไวว่าธุรกิจไมซ์จะเจริญเติบโตมากขึ้น เนื่องจากเล็งเห็นว่าสามารถที่จะสร้างประโยชน์และรายได้ให้กับประเทศอย่างมากมาย ดังนั้นรัฐบาลของแต่ละประเทศจึงมีนโยบายให้กระทรวงการต่างประเทศช่วยเผยแพร่เกี่ยวกับศักยภาพและความพร้อมในการจัดการประชุมหรืองานแสดงสินค้าเพื่อให้มีการจัดประชุมหรืองานนานาชาติในประเทศให้ได้มากที่สุด

ไมซ์นับเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแต่มีความแตกต่างจากนักท่องเที่ยวหรืออุตสาหกรรม การท่องเทียวทั่วไปคือ นักท่องเทียวกลุ่มไมซ์มีวัตถุประสงค์ในการเดินทางที่เฉพาะเจาะจง เกี่ยวเนื่องกับการเดินทางเพื่อร่วมประชุมบริษัท การท่องเทียวจากรางวัลที่ได้รับ การเข้าร่วมประชุมนานาชาติหรือการเข้าร่วมแสดงสินค้าหรือนิทรรศการนานาชาติ นักท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์สามารถนำนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่มีคุณภาพ (Quality Visitors) เข้ามาท่องเที่ยว ภายในประเทศ และมีระดับการใช้จ่ายสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปถึง 3-4 เท่า นอกจากรายได้ที่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้รับจากการเข้ามาจัดกิจกรรมธุรกิจไมซ์แล้วผลประโยชน์ที่ประเทศได้รับทางอ้อมคือ กิจกรรมไมซ์ต่างเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศอีกด้วย

ถ้าหากว่าประเทศไทยเราสามารถทำการต้อนรับกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ได้อย่างมีมาตรฐานจะสามารถทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันจากกลุ่มอุตสาหกรรมไมซ์ได้มีโอกาสที่จะเจริญเติบโตตามไปด้วยซึ่งส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมก่อให้เกิดรายได้โดยตรงจากการจัดงาน และอีกหลากหลายธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับการเดินทางและการท่องเที่ยว, อาหารและที่พัก, งานฝีมือและเครื่องประดับ, เฟอร์นิเจอร์, เครื่องแต่งกาย, ยนตรกรรมยานยนต์, ของใช้ไฮเทคโนโลยี, และการศึกษา เป็นต้น ทำให้ทุกภาคส่วนควรที่จะใส่ใจกับธุรกิจไมซ์ และสร้างจุดแข็งเพื่อรองรับลูกค้าได้ ซึ่งประเทศไทยมีความสามารถในการสร้างจุดแข็งให้กับประเทศเองให้เหนือกว่าอย่างน้อยก็ประเทศในกลุ่ม AEC ได้โดยไม่ยาก

จุดแข็งของธุรกิจไมซ์ในประเทศไทย เนื่องด้วยการท่องเที่ยวในลักษณะของไมซ์นั้นเป็นการท่องเที่ยวในรูปแบบของการเดินทางมาเพื่อให้ได้รับความรู้หรือได้รับความบันเทิงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างผสมผสานกันทำให้การจัดการท่องเที่ยวได้เปรียบจากการที่มีสาธารณูปโภคและสถานที่จัดกิจกรรมไมซ์(MICE) ที่มีมาตรฐานและมีอยู่อย่างพอเพียง ประกอบกับมีแหล่งท่องเที่ยวที่เอื้ออำนวยต่อการจัดกิจกรรมไมซ์ รวมทั้งจำนวนประชากรที่มีมากถึง 68 ล้านคน ที่เป็นฐานการดำเนินงานกิจกรรมไมซ์จากความพร้อมทางด้านสถานที่จัดงานโรงแรมและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น การติดต่อสื่อสาร เทคโนโลยีสารสนเทศ การคมนาคมที่ทันสมัย รวมทั้งมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ทั้งแหล่งท่องเทียวด้านวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในประเทศไทยมีจุดเด่นมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน

แต่ถึงแม้ว่าประเทศไทยเราจะมีจุดแข็งหรือจุดที่ได้เปรียบประเทศอื่นในอาเซียนที่เข้าร่วมสมาชิก AEC ก็ตามแต่ก็ไม่ควรมองข้ามทุกประเทศในกลุ่ม เพราะว่าในประเทศไทยเราเองก็ยังมีจุดอ่อนที่ควรจะคำนึงถึงอยู่หลายจุดเพื่อเร่งดำเนินการแก้ไขและปรับปรุงให้ดีขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อการเพิ่มศักยภาพให้กลายเป็นความได้เปรียบช่วยเสริมจุดแข็งที่มีอยู่แล้วนั้นเอง สำหรับจุดอ่อนที่ควรได้รับการปรับปรุงพิจารณาได้ดังนี้

จุดอ่อนของธุรกิจไมซ์ในประเทศไทย สามารถสรุปได้ดังนี้ นั่นคือบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในลักษณะไมซ์ไม่ว่าจะเป็นระดับบริการและปฏิบัติการ ยังมีจำนวนไม่เพียงพอเมื่อเปรียบเทียบกับโอกาสการเจริญเติบโตของตลาดธุรกิจไมซ์ของประเทศไทยในอนาคตทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสในการประมูลงานในกลุ่มตลาดการประชุมเฉพาะด้าน เนื่องจากทุกประเภทธุรกิจอุตสาหกรรมหรือองค์กรต่างๆ ย่อมมีความต้องการใช้บริการธุรกิจไมซ์ทั้งสิ้น แต่การเตรียมการรองรับด้านการจัดฝึกอบรมผู้ให้บริการที่มีหน้าที่อำนวยความสะดวกในการประชุมที่จัดโดยภาครัฐและเอกชนยังขาดมาตรฐานในการบริการ สำหรับการให้บริการงานประชุมระดับนานาชาติมีความเข้มข้นน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

อีกทั้งการตลาดสำหรับผู้ประกอบการที่ให้บริการด้านสถานที่จัดงานไมซ์และผู้ประกอบการที่เป็นให้บริการ ตัวแทนการจัดงานยังมีการวางแผนการตลาดไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน รวมถึงศูนย์การประชุมขนาดใหญ่ของประเทศไทยที่สามารถรองรับการประชุมระดับนานาชาติยังมีอยู่เพียงเพียง 4 แห่งเท่านั้น นอกจากนั้นศูนย์การประชุมทั้ง 4 แห่งยังอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลไม่กระจายตัวไปตามจังหวัดใหญ่ๆ ในแต่ละภาคและศูนย์การประชุมขนาดเล็กในประเทศไทยจำนวนมากยังขาดความพร้อมในการจัดประชุมในระดับใหญ่ๆ เนื่องจากยังขาดสาธารณูปโภคทางด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย เมื่อประเทศไทยสามารถพัฒนาด้านจุดแข็งที่มีไปได้เรื่อยๆและปรับปรุงจุดอ่อนให้กลายเป็นจุดแข็งรับรองได้เลยว่าจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ในภูมิภาคได้โดยไม่ยาก

แสดงความคิดเห็น