6 เทคนิคการบริหาร “ธุรกิจแฟรนไชส์” ให้ง่ายและเติบโต

ขยายธุรกิจมีหลายวิธีแต่หนึ่งในวิธีที่ได้ผลดีแล้วเห็นผลเร็ว คือการขายสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ หรือเรียกว่าระบบ “แฟรนไชส์” หากย้อนกลับไป 10 ปี สถิติการเติบโตของธุรกิจแฟรนไชส์ไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้น ปีละเฉลี่ย 10-20% ต่อปีมาโดยตลอด ถือเป็นอัตราการเติบโตที่สูงและเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยหมวดธุรกิจแฟรนไชส์ที่ขับเคลื่อนหลักหนีไม่พ้นหมวดแฟรนไชส์อาหาร เครื่องดื่ม ซึ่งมีสัดส่วนธุรกิจอยู่เกือบ 50% ของตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งหมด

การขยายธุรกิจแบบแฟรนไชส์ คือการที่ Franchisor (เจ้าของสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจ) ทำสัญญากับ Franchisee (ผู้รับสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจ) ตามระบบที่ Franchisor ได้จัดเตรียมไว้ รวมทั้งใช้ชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้าเดียวกัน ในการดำเนินธุรกิจโดยต้องจ่ายค่าตอบแทนในการให้สิทธิ์ และจ่ายค่าตอบแทนตามผลประกอบการ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์จํานวนมากที่จะปลุกปั้นให้ธุรกิจของตนเติบโตก้าวไกลไปข้างหน้า ยิ่งจํานวนสาขายิ่งเยอะยิ่งดี นั่นหมายถึงชื่อเสียงและเงินตราที่เข้ามาทําให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่องหากมุ่งมั่นตั้งใจและศึกษาระบบให้ดีโอกาสที่แฟรนไชส์จะเติบโตก็มีมากไปด้วย

โจทย์ที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้ปิดการขายและขยายแฟรนไชส์ได้มากขึ้น ทาง SCB SME ได้เชิญคุณยุ้ย ปนัดดา แสงธรรมชัย จากธุรกิจนิตยสารและอีเว้นท์ มาร่วมพูดคุยกันในเรื่องการขยายธุรกิจแบบแฟรนไชส์ โดยคุณยุ้ยได้ให้เทคนิคการใช้กลยุทธ์ชั้นยอดของการขยายธุรกิจแฟรนไชส์ไว้ดังนี้

1.Powerful business system

โมเดลของธุรกิจแฟรนไชส์ คือเรื่องของระบบล้วนๆ ดังนั้น การจะเป็นแฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จจะต้องมั่นใจว่ามันมีระบบการจัดการที่ยอดเยี่ยมก่อน ต้องเริ่มจากการพัฒนา ปรับปรุง จนสำเร็จในขั้นต้นกับตัวเองก่อน เพราะระบบคือทุกอย่าง หากทำของตัวเองยังสำเร็จไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งคาดหวังว่าจะไปขายใครได้

2.Brand Power

เมื่อระบบดีแล้ว แบรนด์ต้องแข็งแรงพอด้วย ดังนั้นอย่าให้ความสำคัญเพียงการขยายสาขาให้ได้มากที่สุด ต้องให้ผู้ซื้อรู้สึกว่าแบรนด์เรามั่นคง มีมูลค่ามาก และสามารถทำกำไรให้เขาได้ 3 ช่วงที่แบรนด์ควรเป็นคือ “เกิดขึ้น เติบโต และยั่งยืน”

3. Innovation

ทำแฟรนไชส์ให้รุ่ง ต้องใส่เทคโนโลยีที่ทันสมัย ขอยกตัวอย่างแบรนด์ Otteri WASH & DRY เป็นร้านสะดวกซัก เปิดมาหลายสาขา เจ้าของเป็นคนรุ่นใหม่ มีสินค้าที่เขาได้ผลิตและนำเข้ามาอยู่แล้วใช้ระบบและเทคโนโลยีแบบ 4.0 คือไม่ใช่แค่ลูกค้ามาหยอดเหรียญแล้วก็จบ สิ่งที่ Otteri WASH & DRY ทำคือ ทำทุกอย่างให้ connect กัน

เมื่อลูกค้าเดินเข้ามาถึง จะรู้ทันทีว่าตู้ไหนว่าง ตู้ไหนไม่ว่าง ตู้ไหนซักอยู่ ต้องซักอีกกี่นาที และในส่วนของเจ้าของเองยังสามารถดูข้อมูลใน Ipad ได้ แบบ Realtime ว่าเก็บเงินได้กี่บาทแล้ว ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของแฟรนไชส์ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้ระบบดำเนินงานง่ายขึ้น ทำให้คนที่ซื้อแฟรนไชส์ ( Franchisee ) บริหารธุรกิจง่ายขึ้นเพราะไม่ต้องไปนั่งเฝ้าร้าน หรือกังวลเรื่องการซ่อมบำรุง และเห็นผลตอบแทนที่เข้ามาอย่างคุ้มค่า

4. Powerful franchisee training

เพราะการ training คือหัวใจหลักของการทำให้ franchisee อยู่ได้ในระยะยาว ที่ได้เห็นหลาย ๆ แฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จ ล้วนมีระบบ training ที่ดี ยกตัวอย่าง แฟรนไชส์ 7-Eleven ที่มีระบบ Training Franchisee สม่ำเสมอ สอนในทุกระบบ กระบวนการของการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันทุก ๆ สาขา ปัจจุบัน 7-Eleven มีสาขามากกว่าหนึ่งหมื่นสาขาทั่วประเทศ

5. ขยายสาขาแบบหา Master Franchise

หรือภาษาบ้านๆ แฟรนไชส์เรียกกันคือ วิธีการโยน โยนสิทธิ์ในการเปิดสาขาให้กับ Master Franchise ให้มีสิทธิ์ในการเปิดสาขาในจังหวัดหรือเขตนั้น ๆ เพียงผู้เดียว โดยส่วนใหญ่ต้องเปิดขั้นต่ำ 10 สาขา ยกตัวอย่างชาตันหยง ใช้วิธีขยายสาขาแบบนี้ โดยมอบสิทธิ์เป็นศูนย์กระจายสินค้าให้กับ Master Franchise รายนั้น ๆ เพื่อเป็นโอกาสในการเพิ่มรายได้นอกเหนือจากยอดขายหน้าร้าน

6.การตั้งราคาแฟรนไชส์

ตั้งราคาอย่าคิดเอง จงมองให้เข้าใจถึงมูลค่าของแบรนด์ตัวเองแบบจริงจัง การตั้งราคานอกจากการคำนวณต้นทุนที่แท้จริงแล้ว การสร้างแบรนด์ยังเป็นเรื่องที่ทำอัพราคาแฟรนไชส์ได้เพิ่มขึ้นมากกว่าราคากลางตามท้องตลาดได้ ยกอย่างเช่น ร้าน After you ตั้งราคา 10 ล้านก็เชื่อว่ามีคนซื้อเพราะแบรนด์ Strong มาก ผู้ลงทุนที่มาซื้อแฟรนไชส์ มีความเชื่อมั่นมากขึ้น

หากทำได้ครบทั้ง 6 ข้อข้างต้นจะช่วยให้การขยายธุรกิจแบบแฟรนไชส์ประสบผลสำเร็จได้ง่ายขึ้น และการขยายธุรกิจแบบนี้มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่งคือ เมื่อระบบอยู่ตัว ธุรกิจจะดำเนินไปตามระบบทั้งการดำเนินงานและการตรวจสอบตัวเอง ทำให้เจ้าของมีเวลาทำธุรกิจอย่างอื่น หรือรอรับผลกำไรได้ การทำธุรกิจแฟรนไชส์ จึงเป็นกลยุทธ์ในการทำธุรกิจที่น่าสนใจไม่น้อย

ที่มา : scbsme.scb.co.th

แสดงความคิดเห็น