เทรนด์ตลาดสหรัฐโต SMEs ไทยเร่งรุกตลาดขาขึ้น

เทรนด์ตลาดสหรัฐโต SMEs ไทยเร่งรุกตลาดขาขึ้น

เทรนด์ตลาดสหรัฐโต SMEs ไทยเร่งรุกตลาดขาขึ้น

คอลัมน์ Smart SMEs โดย พัชร สมะลาภา ผู้บริหารสายงานธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการ ธนาคารกสิกรไทย ในตอนนี้ผู้ประกอบการ SMEs หลายรายยังคงเฝ้าติดตามข่าวสารทางด้านเศรษฐกิจกันอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเวลาจะเข้าสู่ไตรมาส 4 แล้วก็ตาม แต่ภาพรวมเศรษฐกิจโลกและไทยในตอนนี้ยังคงไม่มีทีท่าว่าจะมาฟื้นตัว ผมจึงย้ำกับลูกค้าของธนาคารอยู่เสมอว่า หากคิดจะขยับขยายธุรกิจในช่วงนี้ ขอให้ชะลอโครงการไว้ก่อน เพราะถือว่ายังเป็นภาวะของความเสี่ยง ซึ่งถ้าหากมีความตั้งใจจะขยายธุรกิจจริง ๆ ลองดูในช่วงปีหน้าที่ผมหวังว่าเศรษฐกิจน่าจะปรับตัวดีขึ้น

แต่ใช่ว่าจะมีข่าวที่ไม่ดี แต่เรื่องดี ๆ ก็มีเหมือนกัน เพราะผมได้ทราบว่าในช่วงต้นปีที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐมีมูลค่าสูงถึง 5,849.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยทำสถิติสูงสุดเป็นตลาดอันดับ 1 แซงหน้าการส่งออกไปจีนได้อีกครั้ง ตอกย้ำภาพความสดใสของสหรัฐที่ธุรกิจไทยทั้งรายเก่าและรายใหม่ไม่ควรมองข้ามิตลาดนี้

โดยกลุ่มสินค้าที่กำลังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในสหรัฐ ที่ผู้ประกอบการ SMEs ควรจะเร่งทำตลาด 4 กลุ่ม เพื่อให้ขึ้นมาเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนการส่งออกของไทยในสหรัฐได้ในระยะยาว ได้แก่

1.กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยหรือไม่จำเป็นในชีวิตประจำวัน สำหรับสินค้าในกลุ่มนี้ที่ได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐและค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลดลง ทำให้คนในประเทศมีกำลังในการซื้อสินค้าได้มากขึ้น สำหรับสินค้าในกลุ่มนี้ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องสำอาง นาฬิกา สินค้าด้านความบันเทิงที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ทั้งด้านกีฬา ดนตรี เทคโนโลยี รวมถึงสินค้าประเภทอาหารสัตว์ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 180 ล้านตัวใน 3 ปีที่ผ่านมา

เทรนด์ตลาดสหรัฐโต SMEs ไทยเร่งรุกตลาดขาขึ้น
รูปภาพจาก : julesnj.com

2.กลุ่มสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางและเครื่องใช้ภายในบ้าน สินค้าในกลุ่มนี้ได้ผลดีจากการเร่งในภาคการผลิตของสหรัฐ ทำให้เกิดความต้องการสินค้าขั้นกลางกลุ่มเครื่องจักรกลและส่วนประกอบมากขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มกลับสู่สภาพปกติ ทำให้ผู้บริโภคในสหรัฐเกิดความต้องการที่จะใช้สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และของแต่งบ้านมากขึ้น

3.กลุ่มสินค้ายานยนต์และส่วนประกอบ เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ตลาดสหรัฐมีความต้องการสูง เพราะคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปีนี้จะสูงถึง 17 ล้านคัน นับว่าสูงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะรถยนต์จากค่ายผู้ผลิตจากญี่ปุ่นที่ยังขยายตัวอย่างโดดเด่นมาก ทำให้เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจที่ผลิตยางล้อรถยนต์ ส่วนประกอบรถยนต์ ส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ ตลอดจนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ที่จะได้รับความต้องการเพิ่มขึ้นไปด้วย

เทรนด์ตลาดสหรัฐโต SMEs ไทยเร่งรุกตลาดขาขึ้น
รูปภาพจาก : en.wikipedia.org

4.กลุ่มสินค้าสุขภาพที่เกาะเทรนด์สังคมสูงวัย จากแนวโน้มของจำนวนผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีมีจำนวนมากขึ้น รวมถึงยอดการใช้จ่ายสินค้าด้านสุขภาพในสหรัฐที่มากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า สินค้าในกลุ่มสินค้าเภสัชภัณฑ์และอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น

ถึงแม้ว่าจะดูเหมือนเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยในการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐได้มากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs ต้องเผชิญและยากที่จะหลีกเลี่ยง คือ การแข่งขันที่สูงขึ้น เพราะไม่เพียงแต่จะต้องเจอเจ้าตลาดอย่างจีนซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจในตอนนี้ คู่แข่งที่น่ากลัวของสินค้าไทยอีกประเทศ คือ สินค้าจากประเทศ “เวียดนาม” เพราะเวียดนามมีการพัฒนาด้านความรู้ ทำให้สามารถผลิตสินค้าหลายชนิดได้เหมือนสินค้าไทย ทำให้ทยอยชิงส่วนแบ่งตลาดของไทยมาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าประมงแปรรูปที่ไทยกำลังเสียเปรียบคู่แข่งในแง่ของปัญหาด้านการผลิตและแรงกดดันที่ประเทศไทยถูกปรับลดมาเป็นTier3ในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นอกจากนี้ผู้ประกอบการ SMEs ยังต้องรับกับความผันผวนของค่าเงินบาท

ผมจึงอยากฝากไปยังผู้ประกอบการ SMEs ไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออกขนาดเล็กซึ่งมีข้อจำกัดด้านเงินทุน จะต้องปรับตัวก่อนที่จะสายเกินไป เพื่อรักษาตลาดการส่งออกสินค้าในสหรัฐเอาไว้ และไม่เพียงแค่ตลาดสหรัฐจะต้องมองไปให้ไกลถึงตลาดโลก โดยการเสริมจุดแข็งด้วยการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต รวมทั้งหมั่นปรับกระบวนการผลิตให้เท่าทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปรวดเร็ว รวมทั้งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้มีศักยภาพและเข้าใจในการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีได้หลากหลายรูปแบบ

เทรนด์ตลาดสหรัฐโต SMEs ไทยเร่งรุกตลาดขาขึ้น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

แสดงความคิดเห็น


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *