- ธุรกิจร้านอาหารยังมีโอกาสเติบโตท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน โดยอีไอซีคาดว่าจะขยายตัวราว 4-5% ในปี 2019-2020 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งจากครัวเรือนที่เล็กลง การขยายตัวของเมืองและไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ การขยายตัวของนักท่องเที่ยวยังช่วยสนับสนุนการเติบโตของร้านอาหาร แต่แนวโน้มการแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะการขยายสาขาของเชนร้านอาหารต่าง ๆ ขณะเดียวกัน มีผู้เล่นรายใหม่ ๆ เข้ามาแข่งขันมากขึ้น ซึ่งต้องจับตามองร้านอาหาร Asian โดยเฉพาะอาหารญี่ปุ่นและร้าน Café อย่างร้านกาแฟที่มีแนวโน้มแข่งขันรุนแรง
- แนวโน้มในระยะต่อไปผู้ประกอบการต้องปรับตัวรับเทรนด์การเติบโตของร้านอาหารรูปแบบต่างๆ อาทิ ความนิยมร้านประเภท Fast Casual รวมถึงการให้ความสำคัญกับ Foodie influencer และแพลตฟอร์มค้นหาร้านอาหาร ตลอดจนเพิ่มช่องทาง delivery ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น แม้ว่าธุรกิจร้านอาหารยังเติบโตได้ต่อเนื่องแต่ยังมีผู้ประกอบการที่ไม่ประสบความสำเร็จและเลิกกิจการเป็นจำนวนไม่น้อย ดังนั้นการจะเข้ามาในธุรกิจนี้ต้องมีความระมัดระวังพิจารณาเลือกทำเลที่เหมาะสม เน้นคุณภาพและบริการ สร้างความแตกต่างและที่สำคัญคือการบริหารจัดการต้นทุน ตลอดจนสร้างความผูกพันกับลูกค้าซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว
ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารและภาวะการแข่งขัน
ธุรกิจร้านอาหารยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทั้งจากครัวเรือนที่มีขนาดเล็กลงและการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ทั้งนี้แม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะเห็นการชะลอตัวของการบริโภคจากรายได้ครัวเรือนที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก อีกทั้งรายได้ภาคเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ แต่จากข้อมูลของ Euromonitor พบว่ายอดขายธุรกิจบริการอาหาร (Food service)1 ของไทยยังเติบโตได้ต่อเนื่องที่ 4% ต่อปีในช่วงปี 2013-2018 ซึ่งสูงกว่าการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโตเฉลี่ยราว 2.4% ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน ส่งผลให้มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 8.8 แสนล้านบาทในปี 2018 ทั้งนี้อีไอซีคาดการณ์ธุรกิจบริการอาหารยังมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่องที่ราว 4-5% ในช่วงปี 2019-2020 โดยปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่ครัวเรือนมีขนาดเล็กลงและต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น รวมถึงการขยายตัวของเมือง (urbanization) ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของศูนย์การค้าใหม่ ๆ ส่งผลให้ผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาทานอาหารนอกบ้านหรือซื้ออาหารสำเร็จรูปมาทานที่บ้านมากขึ้น สะท้อนได้จากข้อมูลการสำรวจการใช้จ่ายของครัวเรือนไทยในด้านอาหารของสำนักงานสถิติแห่งชาติจะพบว่าครัวเรือนไทยมีการใช้จ่ายทานอาหารนอกบ้านหรือซื้ออาหารสำเร็จรูปมาทานในบ้านเพิ่มขึ้นราว 3% ต่อปีในช่วงปี 2009-2018 เทียบกับการใช้จ่ายในการปรุงอาหารเองที่บ้านที่เติบโตเพียง 1% ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน สอดคล้องกับผลสำรวจพฤติกรรมการบริโภคของไทยที่จัดทำโดย EIC ในปี 2017 ซึ่งพบว่า 68% ของผู้ตอบแบบสำรวจทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น โดยการทานอาหารนอกบ้านเป็นกิจกรรมที่นิยมทำมากที่สุดถึงราว 65% อีกทั้ง 76% ของผู้บริโภคยังมีการใช้จ่ายนอกบ้านมากขึ้น นอกจากปัจจัยสนับสนุนจากผู้บริโภคในประเทศแล้ว การขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงที่ผ่านมายังมีส่วนช่วยผลักดันยอดขายร้านอาหารให้เติบโตได้ดีแม้ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ทั้งนี้จากข้อมูลการใช้จ่ายหมวดอาหารและเครื่องดื่มของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงปี 2013-2017 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ราว 5% ต่อปีหรืออยู่ที่ราว 10,568 บาทต่อคนต่อทริป สะท้อนถึงโอกาสสำหรับธุรกิจร้านอาหารที่ยังเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญต่าง ๆ
การเติบโตของร้านอาหารเป็นผลจากการขยายตัวของกลุ่มร้านอาหารที่มีสาขา (chained restaurant) เป็นหลัก จากข้อมูลของ Euromonitor ในช่วงปี 2012-2018 พบว่ายอดขายร้านอาหารประเภท เชน ของไทยขยายตัวต่อเนื่องที่ราว 9% ต่อปี ขณะที่ การขยายสาขาเติบโตราว 8% โดยส่วนใหญ่เป็นการขยายสาขาไปตามพื้นที่ค้าปลีกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเติบโตสูงกว่าร้านอาหารที่ไม่มีสาขา (non-chained restaurant) ซึ่งยอดขายและจำนวนร้านค้าขยายตัวเพียงราว 4% และ 2% ต่อปีตามลำดับ ทั้งนี้ถ้าดูประเภทของร้านอาหารจะพบว่าแนวโน้มร้านที่จำกัดการให้บริการ (limited service) อย่างเช่นรูปแบบที่ไปสั่งอาหารที่เคาน์เตอร์และลูกค้าบริการตัวเองหรือบางแห่งอาจมีพนักงานมาเสิร์ฟที่โต๊ะเป็นรูปแบบที่ขยายตัวดีเนื่องจากตอบโจทย์ทั้งความรวดเร็ว ลดจำนวนพนักงานและทำให้จำนวนรอบหมุนเวียนโต๊ะอาหารเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการหันมาพัฒนาร้านอาหารในรูปแบบนี้มากขึ้น ซึ่งแต่เดิมส่วนใหญ่จะเป็นร้านอาหาร fast food ประเภทเบอร์เกอร์ แต่ในปัจจุบันร้านอาหารประเภทอื่น ๆ ได้มีการพัฒนารูปแบบร้านในลักษณะนี้มากขึ้นอาทิ ร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านขนมเบเกอรี่ ซึ่งแนวโน้มการแข่งขันจะยิ่งรุนแรงขึ้นจากการที่มีผู้เล่นรายใหม่ ๆ เข้ามาแข่งขันมากขึ้น
จับตามองผู้ประกอบการในกลุ่มอาหารประเภท Asian ที่แข่งขันรุนแรงรวมถึงแนวโน้มจับตลาดพรีเมียมมากขึ้น จากความนิยมในร้านอาหารญี่ปุ่นและเกาหลี ส่งผลให้มีการขยายสาขาของเชนร้านอาหารประเภทดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขยายตัวตามการเปิดศูนย์การค้าต่าง ๆ ขณะเดียวกัน ยังมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาแข่งขันในตลาดร้านอาหาร Asian เพิ่มขึ้น ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจึงส่งผลให้แนวโน้มยอดขายต่อสาขาของร้านอาหาร Asian โดยรวมมีแนวโน้มชะลอตัวลงโดยเฉพาะในกลุ่มเชน เติบโตเพียงราว 2% ต่อปีในช่วงปี 2012-2018 เนื่องจากมีการขยายสาขาร้านอาหารค่อนข้างเร็ว อีกทั้งส่วนใหญ่ยังเน้นเจาะตลาด mass ที่ยังต้องแข่งขันด้านราคาค่อนข้างมาก ขณะเดียวกัน ร้านอาหาร Asian ที่เข้ามาแข่งขันยังมีความหลากหลายของประเภทอาหาร ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น โดยกลุ่มที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่ ได้แก่ Sushi, Ramen, Izakaya, Shabu และ Yakiniku นอกจากนี้ เทรนด์ที่น่าจับตามองคือผู้ประกอบการมีแนวโน้มพัฒนารูปแบบของร้านอาหารที่พรีเมียมมากขึ้นโดยเน้นจับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงอย่างเช่น Omakase ที่จะเน้นวัตถุดิบชั้นดีโดยเชฟจะเป็นผู้รังสรรค์เมนู ทำให้สามารถคิดราคาค่าบริการที่สูงมากขึ้นได้
ร้านคาเฟ่ (Café) เป็นอีกหนึ่งตลาดที่มีแนวโน้มขยายตัวเร็ว โดยเฉพาะร้านกาแฟและชาไข่มุกซึ่งมีการแข่งขันกันในหลาย segment ขณะเดียวกัน มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขันมากขึ้น จากกระแสความนิยมของผู้บริโภคที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ร้านกาแฟโดยเฉพาะกลุ่มเชนของไทยเติบโตถึงราว 20% ต่อปีในช่วงปี 2012-2018 จากการขยายสาขาของแบรนด์ขนาดใหญ่ ซึ่งหลายแบรนด์ใช้กลยุทธ์ในการขยายสาขารูปแบบแฟรนไชส์ทำให้สามารถขยายได้เร็วและกระจายตัวไปในหลากหลายพื้นที่ นอกจากนี้ อีกกลยุทธ์ที่น่าสนใจคือผู้ประกอบการบางรายมีการกระจาย segment เพื่อเจาะลูกค้าหลายกลุ่ม โดยแตกแบรนด์ออกมาเป็นกลุ่ม mass และพรีเมียมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในแต่ละทำเลได้ดียิ่งขึ้น นอกจากร้านกาแฟที่มีแนวโน้มเติบโตสูงแล้ว ตลาดชานมไข่มุกเป็นอีกธุรกิจที่น่าจับตามองจากกระแสความนิยมที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีผู้เล่นรายใหม่ ๆ เข้ามาแข่งขันในตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคงต้องจับตามองเทรนด์การดื่มชานมไข่มุกของผู้บริโภคที่มีโอกาสเป็นกระแสความนิยมในระยะสั้น อีกทั้งยังเป็นกลุ่มเครื่องดื่มที่ไม่มี brand loyalty มากนัก ดังนั้นคงต้องจับตามองการแข่งขันในระยะต่อไปซึ่งหากผู้ประกอบการยังไม่มีจุดแข็งของแบรนด์หรือสร้างความแตกต่างมีโอกาสที่จะไม่สามารถอยู่รอดในตลาดได้ในระยะยาว
ขณะที่ ธุรกิจร้านอาหารมีแนวโน้มแข่งขันรุนแรงขึ้น อีกหนึ่งคู่แข่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือ grocery store ที่เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดร้านอาหารไปบางส่วน โดยในปัจจุบัน grocery store โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อมีแนวโน้มเพิ่มสัดส่วนของอาหารพร้อมทานซึ่งได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน มีการพัฒนาบริการรูปแบบใหม่ ๆ อย่างเช่นการเพิ่มโซนรับประทานอาหารโดยเพิ่มบริการอาหารปรุงสดรวมถึงมุมกาแฟให้บริการซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุคที่เร่งรีบได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้จากข้อมูลของ Euromonitor พบว่ายอดขายของร้านสะดวกซื้อในไทยที่เป็นรายได้ในส่วนของการให้บริการอาหารมีแนวโน้มขยายตัวถึงราว 14% ต่อปีในช่วงปี 2013-2018 ซึ่งเติบโตเร็วกว่ายอดขายของร้านอาหารประเภทเบอร์เกอร์ที่เติบโตราว 11% ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่าร้านสะดวกซื้อสามารถตอบโจทย์พฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี จากการนำเสนออาหารสำเร็จรูปที่มีให้เลือกหลายตั้งแต่แซนวิชไปจนถึงข้าวผัดกระเพราะ หรือเมนูขนมหวานต่าง ๆ เห็นได้จากสัดส่วนสินค้าประเภทอาหารของผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อรายหลัก ๆ ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ราว 50-70% ของสินค้าทั้งหมด ขณะเดียวกัน ซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นอีกหนึ่งคู่แข่งสำคัญของร้านอาหารจากแนวโน้มการพัฒนารูปแบบการให้บริการโดยนำเอาร้านอาหารเข้ามาไว้ภายใน grocery store หรือที่เรียกว่า Grocerant ซึ่งมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้น โดยบางแห่งจะมีจุดขายอยู่ที่ลูกค้าสามารถเลือกสรรวัตถุดิบเองจากตู้แช่และนำมาให้ทางร้านปรุงให้ซึ่งเป็นจุดขายอย่างหนึ่งที่ได้รับการตอบรับที่ดี
กระแสธุรกิจร้านอาหารที่น่าจับตามอง
Fast casual เป็นรูปแบบที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องความรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ยังต้องการเน้นคุณภาพอาหารควบคู่ไปด้วย ร้านอาหารประเภท fast casual ซึ่งเป็นรูปแบบที่ผสมผสานระหว่าง fast food ซึ่งเน้นความรวดเร็วกับ casual dining ซึ่งเน้นคุณภาพ บรรยากาศร้านและเมนูมีความหลากหลายเป็นรูปแบบที่มีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้นทั่วโลก จากสถิติธุรกิจร้านอาหารประเภทต่าง ๆ ในสหรัฐฯ จะพบว่า fast casual มีแนวโน้มขยายตัวเร็วกว่า fast food โดยทั่วไป โดยล่าสุดในปี 2016 ขยายตัวราว 8% เทียบกับร้านประเภท fast food ที่ขยายตัว 4% นอกจากนี้ fast casual ค่อนข้างมีความหลากหลายครอบคลุมอาหารนานาชนิดอย่างเช่นในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่จะเป็นร้าน ประเภท แซนวิช อาหารเม็กซิกัน และเบเกอรี่ โดย Shake Shack เป็นตัวอย่างของร้านอาหาร fast casual ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากด้วยยอดขายที่เติบโตต่อเนื่อง โดยในปี 2016 ยอดขายเติบโตถึงราว 40% เนื่องจากขายอาหารประเภทเบอร์เกอร์และแซนวิชที่มีคุณภาพด้วยราคาที่ต่างจากเบอร์เกอร์พรีเมียมของร้าน fast food ทั่วไปราว 1-5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคสามารถเลือกส่วนผสมของเมนูตามที่ต้องการได้อีกด้วย (customization) ทั้งนี้รูปแบบ fast casual มีแนวโน้มจะได้รับความนิยมมากขึ้นในไทยเนื่องจากตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบแต่ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคไทยช่างเลือกและให้ความสำคัญกับคุณภาพและใส่ใจสุขภาพมากขึ้น แต่ประเภทอาหารที่น่าจะตอบโจทย์กับพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยน่าจะเป็นกลุ่มอาหาร Asian และเบเกอรี่แป็นหลัก อย่างไรก็ดี แม้ fast casual จะได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ผู้ประกอบการควรต้องเลือกทำเลให้ตอบโจทย์โดยอาจจะเน้นทำเลออฟฟิศหรือสถานศึกษาที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วโดยชูจุดเด่นที่อาหารจานเร็วและมีคุณภาพ
ผู้บริโภคยุคใหม่มองหาร้านอาหารที่ไม่ได้ตอบโจทย์แค่การทานอาหาร แต่ต้องการให้ร้านอาหารช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภคด้วย เนื่องจากผู้บริโภคยุคใหม่ช่างเลือกและมองหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ซึ่งการออกไปทานอาหารนอกบ้านเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ช่วยสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภค ดังนั้นนอกเหนือจากรสชาติอาหารที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรกแล้ว บรรยากาศแปลกใหม่นับเป็นจุดขายสำคัญสำหรับการแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารในยุคนี้ ตัวอย่างเช่นรูปแบบร้านอาหารประเภท Plant based หรือ local ingredient โดยรอบร้านจะเป็นสวนผัก/ผลไม้ที่ผู้บริโภคสามารถเลือกเด็ดวัตถุดิบจากต้นและเลือกวัตถุดิบที่ต้องการในเมนูได้ หรือร้านอาหารที่ให้ลูกค้าทานอยู่ในความมืด (Dine in the dark) เพื่อให้ได้ประสบการณ์ใช้ประสาทสัมผัสในการคาดเดาเมนูอาหาร นอกจากนี้ กระแสการท่องเที่ยวเชิง Food Experience ส่งผลให้เกิดความนิยมในการไปตระเวนชิมร้านอาหาร local ที่มีชื่อเสียง อาทิ ร้านอาหารที่มีชื่อเสียงในเมนูเฉพาะอย่าง รวมถึง street food ต่าง ๆ ซึ่งมีแนวโน้มได้รับความนิยมจากกลุ่มนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
Foodie influencer และแพลตฟอร์มที่ใช้ค้นหาร้านอาหารมีอิทธิพลต่อการเลือกใช้บริการร้านอาหารในยุคนี้ ทั้งนี้จากผลสำรวจของอีไอซีเกี่ยวกับสื่อที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเข้าไปใช้บริการร้านอาหารของผู้บริโภคจะพบว่า 58% ของผู้ตอบแบบสำรวจตอบว่าโซเชียลมีเดียและรีวิวมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ รองลงมาคือการบอกต่อที่ 23% และ 9% ผ่านการโฆษณาในสื่อ สะท้อนให้เห็นว่าบทบาทของ Foodie influencer มีอิทธิพลต่อผู้บริโภคมากขึ้นเนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ช่างเลือกและติดโซเชียลมีเดีย จึงมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับรีวิวร้านอาหารทั้งในแง่คุณภาพและบริการ ซึ่งแพลตฟอร์มที่รวบรวมร้านอาหารและมีรีวิวต่าง ๆ รวมถึงการมีโปรโมชันส่วนลดเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เช่นเดียวกับโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook และ Instagram ที่เป็นช่องทางสำคัญที่ร้านอาหารต่าง ๆ ใช้ในการโปรโมทร้านให้เป็นที่รู้จัก
แม้ว่าผู้บริโภคจะนิยมทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น แต่แนวโน้มการสั่งอาหารออนไลน์ยังเป็นอีกช่องทางสำคัญที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม สะท้อนได้จากมูลค่าตลาด food delivery ที่ขยายตัวต่อเนื่องถึงราว 10% ต่อปีในช่วงปี 2013-2018 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากการที่ผู้บริโภคเข้าถึงเทคโนโลยีและใช้งานมือถืออย่างแพร่หลายมากขึ้น ขณะเดียวกัน มีการแข่งขันกันพัฒนาแอปพลิเคชันส่งอาหารกันมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันบางแพลตฟอร์มอย่างเช่น Line Man มี active user มากกว่า 3 ล้านรายสะท้อนถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบาย ส่งผลให้มีผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามาแข่งขันในตลาด food delivery กันอย่างดุเดือด ซึ่งส่วนใหญ่จะแข่งกันที่จำนวนร้านอาหารบนแพลตฟอร์มที่ต้องมีความหลากหลายเพื่อดึงให้มีผู้เข้ามาใช้บริการมากที่สุดรวมถึงบริการที่รวดเร็วและราคาค่าส่งที่ถูกกว่าเพื่อจูงใจให้มีคนมาใช้บริการ ดังนั้นผู้ประกอบการร้านอาหารจึงไม่ควรมองข้ามความสำคัญของการมีช่องทาง delivery ควบคู่กันด้วยซึ่งจะช่วยเพิ่มยอดขายอีกช่องทางหนึ่ง โดยเฉพาะในศูนย์การค้าที่มีพื้นที่ค้าปลีกจำกัดและมีอัตราค่าเช่าพื้นที่แพง การมีช่องทางการ delivery จะช่วยเสริมให้ใช้พื้นที่ค้าปลีกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ธุรกิจร้านอาหารยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากส่งผลให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาทำธุรกิจอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นส่งผลให้มีผู้ประกอบการที่เลิกกิจการไปเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในปี 2018 พบว่าธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารเป็นกลุ่มที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุดเป็นอันดับที่ 3 ที่ 2,058 รายหรือคิดเป็นสัดส่วนราว 3% ของจำนวนธุรกิจที่จัดตั้งใหม่ทั้งหมดในปี 2018 แต่ขณะเดียวกัน ร้านอาหารยังเป็นธุรกิจที่มีการเลิกกิจการสูงที่สุดเป็นอันดับ 3 เช่นเดียวกันโดยในปี 2018 มีจำนวน 566 รายหรือคิดเป็นสัดส่วนราว 2% ของธุรกิจที่เลิกกิจการทั้งหมด ดังนั้นผู้ประกอบการที่จะเข้ามาในธุรกิจนี้จึงต้องมีความระมัดระวังพิจารณาเลือกทำเลที่เหมาะสม เน้นคุณภาพและบริการ ขณะเดียวกัน ต้องหาจุดขายที่สร้างความแตกต่าง และที่สำคัญคือการบริหารจัดการต้นทุนและสร้างความผูกพันของลูกค้าซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว
1ธุรกิจบริการอาหารในที่นี้หมายรวมถึง 1) ร้านอาหารแบบ stand alone 2) การให้บริการอาหารในพื้นที่ค้าปลีกต่าง ๆ 3) การให้บริการอาหารในแหล่งท่องเที่ยวเช่น โรงหนัง สวน สนุก สนามกีฬา 4) การให้บริการอาหารในที่พักแรมเช่น โรงแรม รีสอร์ท 5) การให้บริการอาหารในระหว่างการเดินทางต่าง ๆ เช่น สนามบิน ท่ารถ ท่าเรือ สถานีรถไฟ รวมถึงสถานีบริการน้ำมันด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก EICSCB