ขั้นตอนเปิดร้านขายอาหารสัตว์ ทำอย่างไร?

เปิดร้านขายอาหารสัตว์ อีกหนึ่งธุรกิจทำเงินในยุคปัจจุบัน สาเหตุที่ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงกำลังมาแรง ก็เพราะสภาพสังคมที่แปรเปลี่ยน คนส่วนหนึ่งไม่นิยมมีบุตร จึงหันมาเลี้ยงสัตว์เลี้ยงแทน บางรายมีลูกไม่ได้เพราะแต่งงานช้า แต่งงานตอนอายุมาก ทำให้มีบุตรยาก หรือแม้แต่คลิปสัตว์เลี้ยงที่แพร่กระจายในโลกโซเชียลฯ ที่เป็นส่วนหนึ่ง ทำให้ผู้คนส่วนมากได้เห็นความน่ารักของสัตว์เลี้ยง และเกิดความนิยมในที่สุด รวมถึงเหตุผลต่างๆ อีกมากมาย ที่ทำให้การเลี้ยงสัตว์แพร่หลายในยุคปัจจุบัน ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงจึงมีโอกาสสร้างรายได้สูงตามไปด้วย และอาหารสัตว์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างกำไรมากทีเดียว

รูปแบบของการเปิดร้านขายอาหารสัตว์

การเปิดร้านขายอาหารสัตว์ สามารถเปิดขายได้ทั้งหมด 3 รูปแบบหลักๆ ได้แก่

1.ขายอาหารสำเร็จรูป

รูปแบบแรกคือการขายอาหารสำเร็จรูป เป็นการรับมาขายไป คือการสั่งซื้ออาหารสัตว์มาเป็นห่อๆ แล้วขายยกห่อไปเลย โดยทั่วไปบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์มักจะมีการบรรจุหีบห่อตามขนาดต่างๆ อาทิ 480 กรัม 1.5 กิโลกรัม 3 กิโลกรัม 8 กิโลกรัม เป็นต้น การตั้งราคาขายเป็นการตั้งราคาต่อห่อ

2.ขายแบบแบ่งขาย

รูปแบบต่อมาคือการขายแบบแบ่งขาย โดยจะสั่งอาหารสัตว์มาเป็นกระสอบใหญ่ๆ จากนั้นแบ่งขายเป็นกิโลกรัม คิดราคาตามน้ำหนัก แบบนี้จะได้รับความนิยมพอสมควร เพราะผู้ซื้อสามารถเลือกผสมอาหารต่างรสชาติกันได้ ผู้ซื้อสามารถสั่งซื้อได้ตั้งแต่ครึ่งกิโลกรัมขึ้นไป

3.แบบผสมผสาน

รูปแบบถัดมาคือการขายแบบผสมผสาน ภายในร้านอาจจะขายอาหารสัตว์ทั้งแบบแบ่งขายและขายแบบยกห่อร่วมกัน นอกจากนี้บางร้านยังเปิดเป็น Pet shop ครบวงจร ที่ขายอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ ทรายแมว ของเล่นสัตว์เลี้ยง ที่นอนสัตว์เลี้ยง เสื้อผ้าสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

งบการลงทุน เปิดร้านขายอาหารสัตว์

งบลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 200,000 – 250,000 บาท (ไม่รวมค่าเช่าพื้นที่ ค่าตกแต่งร้าน)

  • แบ่งเป็นค่าสินค้า 100,000 – 150,000 บาท
  • เงินหมุนเวียนประมาณ 50,000 – 80,000 บาท
  • ค่าแรง ค่าน้ำ ค่าไฟ ประมาณ 20,000 บาท

ขั้นตอนเปิดร้านขายอาหารสัตว์

1.ขออนุญาตกับทางการ
ขั้นตอนแรกสำหรับการเปิดร้านขายอาหารสัตว์นั้นคือการขออนุญาตก่อนขาย หากฝ่าฝืนจะได้รับโทษตามข้อบังคับที่ระบุไว้ เป็นการขออนุญาตสะสมอาหารสัตว์เพื่อจำหน่าย โดยจะต้องดำเนินการขอกับทางกรมปศุสัตว์ หรือปศุสัตว์จังหวัด สำหรับข้อบังคับนี้ครอบคลุมในส่วนของอาหารสุนัขและอาหารแมวเท่านั้น ส่วนอาหารนก หนู ปลาสวยงาม สัตว์เลื้อยคลาน ฯลฯ ยังไม่ได้มีข้อบังคับแต่อย่างใด

2.หาทำเล
ก่อนการเปิดร้านจะต้องหาทำเลที่ตั้งให้เหมาะสม สำรวจก่อนว่าย่านใดมีการเลี้ยงสัตว์มากเป็นพิเศษ ย่านนั้นมีโอกาสขายได้มากกว่าย่านอื่น หากมองภาพรวมให้เลือกทำเลใกล้ที่อยู่อาศัย หรือแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ หากย่านนั้นมีแต่ออฟฟิศสำนักงาน สถานศึกษา อัตราการเลี้ยงสัตว์อาจต่ำกว่าย่านที่อยู่อาศัย ทำให้โอกาสในการน้อยลงตามไปด้วย เมื่อหาทำเลที่เหมาะสมได้แล้วก็ทำการเช่าพื้นที่เพื่อเปิดร้านตามลำดับ

3.ติดต่อโรงงานหรือตัวแทนขายอาหารสุนัข
สำหรับการหาสินค้าเข้ามาจำหน่ายในร้าน ทางเจ้าของร้านจะต้องติดต่อกับทางโรงงานเพื่อนำสินค้ามาขาย หรือติดต่อกับตัวแทนขายอาหารสุนัข ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าอาหารสัตว์แบรนด์นั้นๆ ข้อแนะนำควรติดต่อครอบคลุมแบรนด์ให้หลากหลาย โดยเฉพาะแบรนด์ที่ได้รับความนิยม เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า สำหรับขั้นตอนการติดต่อส่วนมากใช้เวลาประมาณ 1-3 วัน ในการตรวจสอบเอกสาร และทางเซลล์จะส่งใบเสนอราคามาให้ผู้ประกอบการร้านขายอาหารสัตว์ เพื่อชี้แจงว่ามีสินค้าอะไรที่สามารถสั่งได้บ้าง ต้นทุนเท่าไร พร้อมราคาขายที่แนะนำ รวมถึงปริมาณขั้นต่ำในการสั่งสินค้าจากทางบริษัท

4.ดำเนินการขาย
เมื่อขออนุญาต หาทำเล และหาสินค้ามาจำหน่ายได้แล้ว ก็สามารถดำเนินการขายได้ตามลำดับ สำหรับการเปิดร้านขายอาหารสัตว์ก็เป็นอันเสร็จสิ้นสมบูรณ์ และสามารถขายสินค้าได้ทันที
ขั้นตอนการเปิดร้านขายอาหารสัตว์ เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องศึกษาโดยละเอียด และกระทำให้ถูกต้องตามกฎข้อบังคับ หากละเมิดในส่วนของการขออนุญาต อาจได้รับโทษตามกฎหมาย ในส่วนนี้เป็นเรื่องที่ทางผู้ประกอบการทุกรายจะต้องศึกษาให้ถี่ถ้วน

เคล็ดลับเพิ่มเติม

  1. เพิ่มไลน์ธุรกิจ : นอกจากขายอาหารสัตว์แล้ว ยังสามารถเพิ่มไลน์ธุรกิจเป็นร้านเพ็ทช็อป เสื้อผ้าสัตว์เลี้ยง บริการรับเลี้ยงสัตว์ บริการอาบน้ำ-ตัดขนสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
  2. การตกแต่งร้าน pet shop : ออกแบบร้านเพ็ทช๊อปหรือขายอาหารสัตว์ เน้นส่วนใหญ่จะแบ่งเป็นสองส่วนคือ “เรียบง่าย แต่โชว์ตัวสินค้าเป็นหลัก” คือใช้โทนสีพื้น เช่น สีขาว น้ำตาล หรือสีทูโทน ขาว-ดำ ใช้กระจกเพื่อทำให้มองเห็นค้าได้ชัดเจน เน้นพื้นที่ใช้สอย และอีกแบบคือ “น่ารัก สีสันสดใส” ตกแต่งสไตล์น่ารัก เน้นลวดลาย สีสัน และตัวการ์ตูนสัตว์เลี้ยงแสนรัก จัดทำโลโก้เป็นรรูปสัตว์ เช่น น้องหมา น้องแมว เป็นต้น
แสดงความคิดเห็น