การดูแลผู้สูงอายุ กำลังจะกลายเป็นธุรกิจที่น่าสนใจในประเทศไทย ด้วยเหตุผลที่น่าสนใจในหลากหลายประการ ทั้งในแง่ของสภาพสังคมไทยที่เปลี่ยนไป ความพร้อมในงานบริการของคนไทย และการที่ประเทศไทยได้รับความชื่นชมเกี่ยวกับธุรกิจบริการอยู่บ่อยๆ
เหตุผลดังกล่าวทำให้สังคมไทยมีความพร้อมในการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ให้โดดเด่นมากขึ้นจนกลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจบริการที่ไทยมีขีดความสามารถและความพร้อมในการให้บริการระดับโลกได้ โดยปัจจัยที่เกื้อหนุนธุรกิจมีดังนี้
1.สังคมไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 64.5 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุอายุ 60 ปีขึ้น 9.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 14.5 ของประชากร โดยเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 5 แสนคน คาดว่าภายใน ในปี 2568 ไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aging Society) จะมีประมาณ 14.4 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด กล่าวคือจะมีผู้สูงอายุ 1 คน ในประชากรทุกๆ 5 คน
2.ความพร้อมในงานบริการสุขภาพของคนไทย ประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำของโลกในด้านงานบริการสุขภาพ ประเทศไทยมีบุคลากรด้านบริการสุขภาพที่โดดเด่น ทั้งแพทย์ พยาบาล ขณะที่ประเทศไทยเองยุทธศาสตร์ในการผลักดันประเทศสู่ Medical Hub จึงมีทรัพยากรที่มีความพร้อมในการสร้างธุรกิจบริการสุขภาพ
3.คนไทยมีความคุ้นเคยกับธุรกิจบริการ ดังที่ต่างประเทศให้นิยามประเทศไทยว่า “Land of Smile” นั่นทำให้ธุรกิจไทยมีโอกาสใช้ความได้เปรียบส่วนนี้พัฒนาธุรกิจขึ้นมาได้ง่ายขึ้น
ทั้ง 3 ประการสะท้อนถึงโอกาสที่ดีในการสร้างธุรกิจเกี่ยวกับการบริการสุขภาพ อย่างไรก็ตามธุรกิจบริการสุขภาพไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมไทย เพราะในปัจจุบันมีโรงพยาบาลหลายแห่งที่เปิดให้บริการสุขภาพ ประเภท Nursing Home สำหรับผู้สูงอายุอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เริ่มเปิดให้บริการธุรกิจดูแลอายุอยู่บ้าง
แต่จากอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วของประชากรผู้สูงอายุ และแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของครอบครัวที่มีขนาดเล็กมากขึ้น ธุรกิจดังกล่าว จึงยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งภายใต้การเติบโตดังกล่าวนั้นเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการเสเอ็มอี แต่กระนั้นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็ต้องขับเคลื่อนธุรกิจอย่างมีกลยุทธ์ และอาศัยช่องว่างของธุรกิจที่โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ไม่ได้ให้ความสนใจอีกด้วย
โอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการก้าวสู่ธุรกิจสุขภาพ
1.หัวใจสำคัญอยู่ที่การจัดการบุคลากร ดังที่กล่าวแล้วว่าธุรกิจบริการสุขภาพผู้สูงอายุเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ และการจะก้าวไปสู่ความสำเร็จของธุรกิจดังกล่าวนั้น การจัดการเรื่องความสามารถของบุคลากร และการสรรหาบุคลากรได้เพียงพอกับความต้องการนั้นเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดของธุรกิจ
2.Home Care เป็นความท้าทายของธุรกิจที่น่าสนใจ ธุรกิจ Home Care หรือการให้บริการผู้สูงอายุที่บ้านนั้น เป็นแง่มุมที่น่าสนใจนอกเหนือจาก Nursing Care ขณะที่กระแสความนิยมนั้น Home Care ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากกว่า Nursing Care
3.แฟรนไชส์ เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ในต่างประเทศนั้น นอกเหนือจากสร้างธุรกิจบริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุขึ้นเองนั้น แฟรนไชส์ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ แฟรนไชส์หลายแบรนด์ได้รับความนิยมในหลายประเทศทั่วโลก เช่น Right at Home, BrightStar Care และ Synergy Home Care
4.มองหาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง นอกเหนือจากธุรกิจดูแลผู้สูงอายุแล้ว การมองหาช่องว่าง และโอกาสในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เช่น ธุรกิจ Long Stay ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา หรือธรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Medical Tourism ก็ได้รับความนิยมอย่างมากเช่นกัน
การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นโอกาสที่น่าสนใจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ปัจจุบันเป็นช่วงโอกาสที่ดีในการสร้างธุรกิจให้แข็งแกร่งเพื่อรองรับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต
แหล่งที่มา – scbsme.scb.co.th