“ยิ่งจบสูง เงินเดือนยิ่งมาก” ระดับการศึกษามีความสัมพันธ์กับเงินเดือนของผู้สมัครงาน อีไอซีได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลผู้สมัครงาน (resume) ออนไลน์จำนวนกว่า 7 แสนรายจากเว็บไซต์หางานของไทย พบว่า เงินเดือนเฉลี่ยเริ่มต้นของคนที่จบระดับมัธยมปลายหรือต่ำกว่า จะอยู่ที่ราว 1.4 หมื่นบาท ขณะที่ คนที่จบปริญญาตรีซึ่งเป็นคนส่วนมากของกลุ่มตัวอย่าง (คิดเป็น 84% ของจำนวนผู้สมัครทั้งหมด) มีเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ราว 1.7 หมื่นบาท โดยระดับการศึกษาที่สูงขึ้นไป ได้แก่ ระดับปริญญาโทและปริญญาเอกจะมีเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ราว 2.4 หมื่นบาทและ 3.6 หมื่นบาท ตามลำดับ
“ยิ่งเกรดสวย เงินเดือนยิ่งเยอะ” ผลการเรียนส่งผลต่อระดับเงินเดือนเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบความแตกต่างของเงินเดือนระหว่างผู้สมัครงานที่ได้เกรดเฉลี่ยตอนปริญญาตรีน้อย (อยู่ในช่วงระหว่าง 2.0-2.5) กับผู้สมัครงานที่ได้เกรดเฉลี่ยตอนปริญญาตรีสูง (อยู่ในช่วงระหว่าง 3.5-4.0) พบว่า คนที่ได้เกรดสูงจะได้เงินเดือนเริ่มต้นสูงกว่าประมาณ 1.7 พันบาท และยังพบอีกว่า โดยเฉลี่ยคนที่ได้เกรดสูงจะมีเงินเดือนสูงกว่าคนที่ได้เกรดไม่สูงในช่วง 10 ปีแรกหลังจากเรียนจบ ทั้งจากเงินเดือนเริ่มต้นที่ต่างกันและอัตราการเพิ่มขึ้นที่สูงกว่าในช่วงดังกล่าว อย่างไรก็ดี เกรดเฉลี่ยตอนปริญญาตรีอาจไม่ใช่สาเหตุโดยตรงของความแตกต่างดังกล่าวที่เกิดขึ้น หากแต่เกรดเฉลี่ยอาจเป็นตัวบ่งชี้หนึ่งถึงคุณสมบัติอื่น ๆ ของผู้สมัครแต่ละคนที่มีความสัมพันธ์กับความสามารถในการทำงานซึ่งส่งผลถึงเงินเดือนที่ได้รับในท้ายที่สุด
“ยิ่งเปลี่ยนงานบ่อย เงินเดือนยิ่งพุ่ง” ความถี่ของการเปลี่ยนตำแหน่งงานมีความสัมพันธ์กับเงินเดือนที่สูงขึ้น อีไอซีพบว่าข้อมูลในส่วนของประวัติการทำงานของผู้สมัครมีแนวโน้มบ่งชี้ระดับเงินเดือน โดยข้อมูลดังกล่าวประกอบไปด้วยตำแหน่งงานที่เคยทำในแต่ละช่วงเวลาและเงินเดือนในตำแหน่งงานนั้น ทั้งนี้การเปลี่ยนตำแหน่งงานอาจเป็นได้ทั้งกรณีได้รับตำแหน่งงานใหม่ในบริษัทเดียวกัน เช่น จากการย้ายฝ่ายหรือการเลื่อนตำแหน่งภายในองค์กร รวมไปถึงการย้ายที่ทำงาน อีไอซีมีข้อสังเกตบางประการกับข้อมูลในส่วนนี้ ดังนี้
- สำหรับกลุ่มผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานไม่เกิน 2 ปี อีไอซี พบว่า ผู้สมัครที่มีการเปลี่ยนแปลงของตำแหน่งงาน 1-3 ครั้ง โดยเฉลี่ยจะมีเงินเดือนในงานล่าสุดสูงกว่า 20-40% เมื่อเทียบกับเงินเดือนตอนเริ่มทำงานของตนเอง แต่สำหรับผู้ที่มีการเปลี่ยนงานถึง 4 ครั้ง เงินเดือนในงานล่าสุดจะสูงกว่าเพียง 10% เมื่อเทียบกับเงินเดือนตอนเริ่มทำงานของตนเอง ซึ่งอาจสะท้อนว่าการเปลี่ยนงานบ่อยเกินไปขณะที่อายุงานยังน้อยอาจไม่ได้ส่งผลดีเพิ่มขึ้น
- ขณะที่ เมื่อพิจารณาสำหรับกลุ่มผู้ที่มีประสบการณ์การทำงาน 2 ปีขึ้นไป ความถี่ของการเปลี่ยนตำแหน่งงานซึ่งอาจเกิดได้จากทั้งการเลื่อน-ย้ายตำแหน่งภายในองค์กร หรือการย้ายที่ทำงาน มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับเงินเดือนที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเดือนตอนเริ่มทำงานอย่างชัดเจน นั่นอาจเป็นการสะท้อนถึงความสามารถและประสบการณ์การทำงานที่มากขึ้นของผู้สมัครอันนำไปสู่การเลื่อนตำแหน่งในองค์กรหรือการได้โอกาสในการย้ายงานที่บ่อยขึ้นซึ่งนำไปสู่เงินเดือนที่มากขึ้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.scbeic.com