แปรรูป “กากกาแฟ” เปลี่ยนของเสียสู่สินค้ามีมูลค่า

​ปัจจุบันถึงแม้ว่าหลายๆประเทศทั่วโลกมีการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น แต่จำนวนของเสียที่เป็นต้นเหตุของมลภาวะก็ยังมีปริมาณมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการที่อุตสาหกรรมต่างๆในอดีตจนถึงปัจจุบัน มีลักษณะเป็นเศรษฐกิจเส้นตรง (Linear Economy) ซึ่งให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้ามากกว่าการจัดการและพัฒนามูลค่าของเสียในห่วงโซ่ของธุรกิจ ประเทศไทยเองก็เช่นกัน ถึงแม้ว่าหลายๆหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจะพยายามอย่างมากในการรณรงค์เรื่องดังกล่าว แต่กลับพบว่าปริมาณของเสียยังคงมีสูงและเริ่มสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้หลายๆหน่วยงานเริ่มมีการตื่นตัวและศึกษาถึงประโยชน์ของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยหนึ่งในหลักการที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนคือ การรักษาและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมไปถึงการเพิ่มมูลค่าของเสีย และการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ผ่านนวัตกรรมการผลิตตั้งแต่ต้นไปจนถึงปลายทางของห่วงโซ่ธุรกิจนั้นๆ ทำให้ไม่เพียงแต่สามารถลดปริมาณของเสียส่วนเกินในระบบให้น้อยลง แต่ยังสามารถจัดเก็บของเสียจากขั้นตอนต่างๆเพื่อมาผลิตเป็นสินค้าเพิ่มมูลค่าได้อีกด้วย เช่น กระเป๋าหรือรองเท้าที่ผลิตจากสิ่งของที่ไม่ได้ใช้งาน เป็นต้น

หากเรามองให้ใกล้ตัวมากขึ้น ก็อาจจะมองเห็นถึงของเสียที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น กากกาแฟ ที่เกิดขึ้นจากธุรกิจกาแฟซึ่งมีการขยายตัวและได้รับความนิยมทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย ทั้งนี้จากความนิยมบริโภคกาแฟที่สูงขึ้น รวมถึงการขยายตัวของธุรกิจกาแฟที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าเมล็ดกาแฟที่ถูกนำมาใช้ในประเทศในปี 2562 น่าจะสูงถึง 7-8 หมื่นตัน ทำให้ธุรกิจกาแฟเป็นหนึ่งในธุรกิจที่น่าสนใจและอาจนำมาพัฒนาเป็น Circular Economy ได้ และจากการรวบรวมข้อมูลพบว่า ของเสียประเภทกากกาแฟส่วนใหญ่นั้น ได้ถูกนำมาเข้ากระบวนการลดเกรดวัสดุ (Downcycling product) เพื่อใช้เป็น 1.ปุ๋ยชีวภาพ 2.ผสมถ่านเพื่อให้พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรม ขณะที่คาดการณ์ว่ามีกากกาแฟอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ถูกจัดเก็บอย่างเหมาะสม ทำให้ไม่สามารถนำไปก่อให้เกิดประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ดีจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ผู้ประกอบการอาจพิจารณานำของเสียชนิดนี้มาผลิตเป็นสินค้าเพิ่มมูลค่า (Upcycling product) ที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของ Circular Economy ของธุรกิจกาแฟในประเทศไทย โดยตัวอย่างสินค้าเพิ่มมูลค่าที่ถูกผลิตจากกากกาแฟนั้นได้มีให้เห็นในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ อังกฤษ เยอรมนีและสหรัฐอเมริกาที่นำกากกาแฟมาสกัดเพื่อใช้ประโยชน์ต่างๆ อาทิ

  • ภาชนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดสัดส่วนการใช้พลาสติกและปูนขาว
  • นำมาผสมกับพอลิเมอร์ (Polymer) เพื่อนำไปทำเส้นใยทอเครื่องนุ่งห่ม โดยมีคุณสมบัติในเรื่องของการลดกลิ่นและการแห้งที่รวดเร็ว ซึ่งอาจสามารถช่วยให้สามารถลดการใช้ใยสังเคราะห์ลงได้ 5-10จากวิธีการแบบเดิ
  • นำมาใช้ทดแทนเศษไม้ หรือพลาสติกในเฟอร์นิเจอร์และเครื่องตกแต่งบ้าน
  • น้ำมันกาแฟยังสามารถนำมาสกัดเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์เวชสำอางและเป็นส่วนผสมของไบโอดีเซลได้อีกด้วย

จากตัวอย่างสินค้าเพิ่มมูลค่าข้างต้น คงอยู่ที่ว่าผู้ประกอบการไทยที่มีระบบบริหารจัดการกากกาแฟที่ดี จะเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจจากการใช้ประโยชน์ของกากกาแฟมาสร้างมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ตลาดได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งสิ่งสำคัญคงอยู่ที่ประเด็นด้านต้นทุนและความคุ้มค่าของการลงทุน ทั้งนี้ไม่เพียงแค่กากกาแฟในธุรกิจกาแฟเท่านั้น หากสำรวจดูจะพบว่าในธุรกิจต่างๆคงมีของเสียจำนวนไม่น้อยที่ยังรอให้มีผู้ประกอบการนำมาเพิ่มมูลค่าแก่ตัวธุรกิจและเป็นการก้าวไปสู่ Circular Economy ของอุตสาหกรรมในประเทศไทยเรา

ข้อมูลจาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

แสดงความคิดเห็น